Skip to main content
sharethis
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อภิปรายความเข้าใจผิดที่ว่า 'ทุนนิยมสามานย์' เท่ากับ 'ระบอบทักษิณ' หรือความเชื่อที่ว่า 'รัฐบาลเผด็จการทหาร' หรือ 'เลือกตั้ง' ก็ไม่เห็นหัวชาวบ้านเหมือนๆ กัน พร้อมทั้งชี้ว่า จริงๆ แล้วชาวบ้านกำลังต่อสู้กับอะไร 

25 ก.ค. 2560 เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา เวทีเสวนา “สถานการณ์ประชาชนอีสาน ภายใต้การรัฐประหาร 3 ปีผ่านไปเกิดอะไรขึ้นบ้าง” ในอีสานกลางกรุง ครั้งที่ 2  “แถลงผลกระทบ 3 ปี ของประชาชน” นั้น รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในวิทยากร กล่าวถึง 'ระบอบเผด็จการกับทุนนิยมสามานย์'

ความเชื่อผิดๆ ว่าด้วย ล้มล้างรัฐบาลทักษิณเท่ากับ ยุติระบอบทุนนิยมสามานย์

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทุนนิยมเสรีนิยมใหม่กับระบอบการเมือง เป็นหัวข้อที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงนักในสังคมไทย ทั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะความเชื่อโดยนัยว่า ระบบเศรษฐกิจประเภทนี้หากไม่ใช่เป็นสิ่งที่ปลอดพ้นจากการเมือง ก็เป็นผลผลิตเฉพาะของการเมืองแบบประชาธิปไตยเท่านั้น การพยายามล้มล้างทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ภายใต้คำเรียก “ทุนนิยมสามานย์” ในความหมายที่คนไทยใช้กัน คือ การให้อำนาจกับตลาดในการควบคุมกำกับทุกอย่าง และคอรัปชั่นอันเกิดจากการสมรู้ร่วมคิดระหว่างรัฐกับตลาด และการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน จึงมักถูกมองว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ในทางรูปธรรม วิธีคิดดังกล่าว ได้นำไปสู่ความเชื่อผิดๆ อย่างน้อย 2 ประเภท ที่ได้สร้างหายนะให้กับสังคม ทรัพยากร วิถีชีวิตของชุมชน และขบวนการภาคประชาชน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความเชื่อประเภทแรก ได้แก่ การล้มล้างรัฐบาลทักษิณ เท่ากับเป็นการยุติระบอบทุนนิยมสามานย์ ทั้งนี้ เพราะเชื่อว่ามีแต่รัฐที่มาจากนักการเมืองเท่านั้น ที่ผลิตสร้างระบอบทุนนิยมที่พล่าผลาญทรัพยากร แปรรูปทรัพย์สินส่วนร่วม นำกลไกตลาดเข้ามาบริหารจัดการสังคม และใช้เป้าหมายของตลาด เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของการพัฒนาประเทศ
 
รศ.ดร.ปิ่นแก้ว อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ความเชื่อประเภทดังกล่าวนี้ ยังนำไปสู่ความคิดอีกสองประเภทที่มีปัญหาคือ มีแต่นักการเมืองเท่านั้น ที่เล่นการเมือง และที่กอบโกยผลประโยชน์จากทุนนิยมสามานย์ และทหารหรือรัฐทหาร ไม่ใช่นักการเมือง ระบอบทหารกับระบอบทุนนิยมสามานย์ เป็นสองระบอบที่ไม่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน การล้มล้างระบอบทุนนิยมสามานย์ ที่มาพร้อมกับระบอบประชาธิปไตยตัวแทน จึงเป็นเรื่องเดียวกัน และมีความสำคัญมากกว่าการต่อสู้กับเผด็จการ ทั้งนี้ เพราะเชื่อว่า เผด็จการกับทุนนิยม ไม่มีความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน หรือกล่าวให้ชัดคือ ได้รัฐเผด็จการมา ยังดีกว่าตกอยู่ใต้รัฐทุนนิยมสามานย์ หรือทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ที่น่าสนใจคือ เราพบความคิดประเภทนี้ ในหมู่ชนชั้นกลาง ที่ไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อน และในฝ่ายซ้าย ที่เคยผ่านการต่อสู้กับเผด็จการทหารมาแล้ว รวมทั้งเอ็นจีโอ และภาคประชาชนจำนวนหนึ่ง
 
ฐานคิดประเภทนี้ มีเดิมพันที่สูงมาก เพราะเชื่อว่าการปิดประเทศ ล้มเลือกตั้ง มอบอำนาจให้กับรัฐทหาร สร้างสุญญากาศทางการเมือง แล้วจะสามารถปฏิรูปสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ให้ปลอดพันจากทุนนิยมสามานย์ได้ และนั่นเป็นที่มาของข้อเสนอเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ตอนนี้ เราก็ได้มาแล้วซึ่ง สุญญากาศทางการเมือง ที่ซึ่งหลักนิติธรรมทั้งหลาย ถูกแขวนไว้กลางอากาศ แต่ระบอบทุนนิยมสามานย์กลับยังทำงานเป็นปกติ และทำงานโดยไร้สิ่งกีดขวางเสียด้วย

ความเชื่อผิดๆ ที่ว่า รบ.นักการเมือง-ทหาร ต่างก็ไม่เห็นหัวประชาชนทั้งนั้น

สำหรับความเชื่อที่ผิดๆ ประเภทที่สอง รศ.ดร.ปิ่นแก้ว กล่าวว่าคือ ความคิดที่ว่าไม่ว่ารัฐบาลประเภทใด ก็สามานย์เหมือนๆ กัน รัฐบาลนักการเมือง รัฐบาลทหาร ต่างก็ไม่เห็นหัวประชาชนทั้งนั้น ดังนั้น ระบอบการเมืองใดๆ ย่อมไม่สลักสำคัญ ผู้ที่เชื่อในความคิดประเภทนี้ วางตนเองอยู่นอกอุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ และสามารถทำงานกับรัฐทุกประเภท สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขาคือ ขอเพียงรัฐ ไม่ว่ารัฐใด สามารถช่วยให้พวกเขาทำงานได้อย่างราบรื่น ไม่ขัดขวางผลประโยชน์ของพวกเขาก็เพียงพอแล้ว

สำหรับสาเหตุของความเชื่อทั้งสองประเภทนี้ วางอยู่บนความเข้าใจที่ผิดนั้น รศ.ดร.ปิ่นแก้ว อธิบายว่า หากผู้ที่เชื่อในความคิดดังกล่าว มองออกไปในประวัติศาสตร์ของรัฐเผด็จการทั่วโลก ก็จะพบว่า แทบจะไม่มีรัฐทหารใด ที่ไม่สนับสนุนระบอบทุนนิยมสามานย์ งานศึกษาเกี่ยวกับระบอบเผด็จการกับทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ได้ชี้ให้เห็นว่า อันที่จริงแล้วทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ทำงานได้ดีภายใต้ระบอบเผด็จการ มากเสียยิ่งกว่าภายใต้ระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยเสียอีก 

ยิ่งรัฐทหารเผด็จการรวมศูนย์อำนาจมากเท่าไหร่ ยิ่งส่งเสริมทุนนิยมสามานย์หนักขึ้นเท่านั้น

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว กล่าวว่า ในหลายๆ กรณี ยิ่งรัฐทหารเผด็จการรวมศูนย์อำนาจมากเท่าไหร่ ยิ่งส่งเสริมและสนับสนุนทุนนิยมสามานย์หนักขึ้นเท่านั้น รัฐบาลเผด็จการชิลี ภายใต้นายพลปิโนเชต์ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารที่นำเอาทุนนิยมเสรีนิยมใหม่มาใช้เป็นประเทศแรกในลาตินอเมริกา และถูกยกให้เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จ ปิโนเชต์ปกครองชิลีอยู่ 17 ปี และทำทุกอย่างที่ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่จะทำได้ แปรรูปกิจการรัฐ และรัฐวิสาหกิจ แปรรูปทรัพยากรสาธารณะและทรัพยากรชุมชนเป็นสินค้า นำที่ดินไปมอบแก่นายทุนเพื่อสร้างกำไร ตัดงบประมาณภาครัฐในการดูแลสวัสดิการของประชาชน ใช้กลไกตลาดในการบริหารจัดการประเทศ ทุบทำลายกิจการรายย่อย เปิดทางให้ทุนขนาดใหญ่เข้าแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศ เป็นยุคที่เทคโนแครตเสรีนิยมใหม่เรืองอำนาจ ชนชั้นนำ และชนชั้นนายทุนร่ำรวยและกอบโกยผลประโยชน์ มีการอวดอ้างว่าเผด็จการชิลี ประสบความสำเร็จในการสร้างชาติจากทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ในขณะที่คนจน ชาวชนบทกลับถูกเบียดขับออกจากที่ดินและทรัพยากรของตนอย่างกว้างขวาง อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ก่อให้เกิดช่องว่าง และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนอย่างหนัก แม้สิ้นสุดยุคของเผด็จการปิโนเชต์ในปี 2533 รัฐบาลประชาธิปไตยที่มาแทนที่ ก็ยังรับทอดเอานโยบายทุนนิยมของเผด็จการมาใช้ต่อมา สิ่งที่น่าสนใจคือรัฐเผด็จการในลาตินอเมริกา ต่างก็กระสันอยากจะเป็นรัฐเสรีนิยมใหม่กันทั้งนั้น และมองไปยังชิลีในฐานะต้นแบบ

การกล่าวเช่นนี้ ฟังดูเผินๆ อาจเข้าใจว่า ถ้าเช่นนั้นแล้ว ความเชื่อประเภทที่สอง ก็น่าจะถูก กล่าวคือ ไม่ว่ารัฐบาลประเภทไหน ก็เหมือนกัน ทุกๆ รัฐต่างก็เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ชนชั้นนำ ไม่ว่ารัฐเผด็จการ หรือรัฐประชาธิปไตย ต่างก็เป็นรัฐที่ค้ำจุนทุนนิยมสามานย์ที่ไม่เห็นหัวประชาชนเหมือนๆกัน ความเชื่อประเภทนี้ ถูกแค่ครึ่งเดียว แม้ว่ารัฐทุกรัฐ ไม่ว่าจะระบอบการเมืองใด เผด็จการ สังคมนิยม ประชาธิปไตย ต่างก็เป็นรัฐที่ค้ำจุนระบอบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่กันทั้งสิ้น แต่รัฐภายใต้ระบอบการเมืองที่ต่างกัน ใช้มรรควิธีทางการเมืองที่ต่างกันในการผลักดันทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่เผด็จการในชิลีผลักดันการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ เป็นสองทศวรรษแห่งความรุนแรง กวาดจับและกดปราบประชาชน ที่ได้นำไปสู่การประท้วงอย่างกว้างขวาง ซึ่งแตกต่างไปจากรัฐในยุคหลังปิโนเชต์ รัฐในระบอบประชาธิปไตย อย่างน้อยที่สุด ไม่สามารถทุบทำลายกลไกของการตรวจสอบ การถ่วงดุล การคัดง้างได้โดยง่าย รัฐทุกรัฐ ต่างมีแนวโน้มในการโอบรับเอาทุนนิยมเสรีนิยมใหม่เป็นแนวทางเศรษฐกระแสหลัก นั่นคือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่ในรัฐภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ที่มาจากการเลือกของประชาชน “จำนวน” ของประชาชน ย่อมมีน้ำหนักในการคัดง้างกับรัฐ และอย่างน้อยที่สุด การอ้าปากแสดงออกซึ่งความคิดเห็น การชุมนุมโดยสันติ ยังเป็นสิ่งที่ทำได้ ความแตกต่างในเรื่องนี้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ในรัฐทหารที่ไม่มีความเกาะเกี่ยว หรือยึดโยงใดๆกับประชาชน ไม่ได้ถูกเลือกโดยประชาชน การผลักดันโครงการขนาดใหญ่ การทำลายเศรษฐกิจรายย่อย เพื่อผลประโยชน์ของทุนขนาดใหญ่ จึงสามารถดำเนินไปได้อย่างรุนแรง และกว้างขวางกว่าในรัฐที่ปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

เราจึงไม่แปลกใจ ที่เห็นว่า เพื่อจะเดินหน้าผลักดันทุนนิยมสามานย์ได้อย่างราบรื่น สิ่งที่รัฐเผด็จการทำคือ บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย และโอกาสที่คนในสังคมจะสามารถออกมาขัดขวางการสมรู้ร่วมคิดระหว่างรัฐทหารกับทุน วาทกรรมจอมปลอมรายวัน อาทิ ธรรมาธิปไตยนั้น ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการฉาบหน้าระบอบอันฉ้อฉล ด้วยศีลธรรมที่ไม่เคยถูกนำมาใช้ปฏิบัติภายใต้ระบอบทหาร

เหตุใดรัฐเผด็จการจึงสนับสนุนระบอบทุนนิยมสามานย์

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว อธิบายว่า สิ่งที่ต้องเข้าใจคือ ทหารนั้นไม่ได้รับใช้ทุนนิยม หรือถูกนายทุนใช้เป็นเครื่องมือ แต่ตัวทหารเองนั่นแหละ เป็นตัวขับเคลื่อนทุนนิยมสามานย์ ใช้กลไกของรัฐ เพื่อสร้างเศรษฐกิจเพื่อรับใช้ความมั่งคั่งของชนชั้นตนเอง บนความทุกข์ยากของประชาชน เช่นเดียวกับรัฐที่ประกอบไปด้วยนักการเมือง รัฐเผด็จการสนับสนุนทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ก็เพื่อความอยู่รอดทางการเมืองของตนเอง งานศึกษาเรื่อง “Military Regimes, Neoliberal Restructuring, and Economic Development: Reassessing the Chilean Case” โดย Glen Biglaiser (1999) ได้ชี้ให้เห็นว่า ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ เป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐเผด็จการใช้ในการผนึกรวมอำนาจของตน เพื่อเป้าประสงค์ในการครองอำนาจในระยะยาว สิ่งที่รัฐทหารสนใจ จึงไม่ใช่เรื่องการอยู่ดีกินดีของประชาชน หากแต่เป็นคำถามที่ว่าจะสร้างฐานอำนาจของตนที่มั่นคงได้อย่างไร การเรียกใช้นักเศรษฐศาสตร์บริกร จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ทั้งนี้ ตัวเลือกของนโยบายเศรษฐกิจประเภทใด จะถูกนำมาใช้ ขึ้นอยู่กับว่า ความสัมพันธ์ทางอำนาจภายในของกลุ่มทหารเป็นอย่างไร ในยุคของปิโนเชต์ การขายทอดกิจการรัฐให้เอกชน การลดการสนับสนุนสวัสดิการทางสังคมลง ดำเนินไปพร้อมๆกับการเพิ่มงบประมาณกองทัพ การแต่งตั้งให้ผู้นำเหล่าทัพต่างๆไปนั่งบริหารในกระทรวงและวิสาหกิจต่างๆ และการใช้เทคโนแครทเสรีนิยมใหม่ในการวางแผนนโยบายเศรษฐกิจ ดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ และคัดง้างกับกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม

ในรัฐเผด็จการที่สามารถรวบอำนาจอยู่ในตัวผู้นำคนเดียว การ “ปฏิรูปเศรษฐกิจ” จะดำเนินไปอย่างถอนรากถอนโคน ในขณะที่ในรัฐที่มี faction มาก การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจดำเนินไปท่ามกลางการคานอำนาจ และการแจกจ่ายผลประโยชน์ให้กับกลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างความจงรักภักดีผ่านการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทนและลดแรงเสียดทานทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ และนั่นเป็นเหตุผลที่ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ในชิลี อาร์เจนติน่า และอุรุกวัย ต่างก็มีหน้าตาที่แตกต่างกัน  ความสัมพันธ์ระหว่างระบอบการปกครอง กับระบอบเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก น่าเสียดายที่จนเดี๋ยวนี้ เรายังไม่พบงานศึกษาประเภทนี้ในไทยเลย

ชาวบ้านกำลังต่อสู้กับอะไร

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์แล้ว เราจะเห็นได้ว่า ชาวบ้านย่อมไม่ได้กำลังต่อสู้อยู่กับบริษัทเพียงบริษัทเดียว นายทุนคนเดียว โครงการเดียว หรือนโยบายใดนโยบายหนึ่ง หากแต่เป็นการต่อสู้กับ "ระบอบ" ที่เอื้ออำนวย และให้อภิสิทธิ์กับทุนอุตสาหกรรมในการเข้ายึดฉวยทรัพยากร การทำความเข้าใจกับโครงสร้างอำนาจที่ควบคุมกำกับความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับชาวบ้าน และโอกาสในการต่อรองจึงเป็นสิ่งสำคัญ ภายใต้ระบอบการเมืองใด ที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถพัฒนากลไกในการต่อรองได้ สามารถรวมกลุ่มในการแสดงออกได้ และสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้? หากพิจารณาจากมิตินี้ การต่อสู้กับทุนนิยมสามานย์ จึงเป็นสิ่งเดียวกับการต่อสู้เพื่อเพิ่มฐานอำนาจในการต่อรองให้ขบวนการของประชาชน และการจะทำเช่นนั้นได้ มีความจำเป็นต้องยกระดับความทุกข์ยากให้กว้างขวางกว่าเพียงความทุกข์ยากรายประเด็น เพราะสิ่งที่กลไกตลาดภายใต้รัฐเผด็จการกระทำต่อสังคมในปัจจุบัน ได้สร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า คำถามคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถร้อยรัดความทุกข์ยากเหล่านี้ให้เป็นความทุกข์ยากสาธารณะ และให้เป็นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมที่สามารถสร้างแนวร่วมได้กว้างขวางระดับสังคมได้

การต่อสู้กับระบอบทุนนิยมสามานย์นั้น เป็นการต่อสู้ตลอดชีวิต คำถามสำคัญจึงเป็นเรื่องที่ว่า จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองอย่างไร จึงจะเอื้ออำนวยต่อการต่อสู้ของชาวบ้านได้มากที่สุด จะต่อสู้อย่างไร จึงจะสามารถพัฒนากลไกพื้นฐานที่จะสามารถช่วยให้ชาวบ้านได้มีเครื่องไม้ เครื่องมือ ในการต่อสู้ได้มากที่สุด และเมื่อเป็นเช่นนั้น การคิดทางลัด จึงเป็นส่ิงที่เป็นไปไม่ได้ และเมื่อเป็นเช่นนั้น ระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยจึงสำคัญที่สุด ไม่ใช่เพราะว่าเป็นระบอบที่สร้างทุนนิยมที่สามานย์น้อยหรือมากกว่าระบอบใด หากแต่เพราะเป็นระบอบที่ทำให้ชาวบ้านสามารถสร้างพันธมิตรเพื่อการต่อสู้ได้กว้างขวางที่สุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net