จุฬาฯ ขออีกหน่อยละกัน: CU A while longer

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

นี่ไม่ใช่บทความดราม่า และผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาให้ “สถาบันซึ่งเป็นที่เคารพ” ที่ถูกพาดพิงถึงเสื่อมเสียชื่อเสียง

เริ่มได้

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ จะมีอายุเก่าขนาดไหนนั้นขอละประเด็นไว้ ณ ที่นี้ ด้วยมีผู้เขียนถึงมากอยู่แล้ว แต่ในความทรงจำร่วมกันของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ซึ่งมีเครือข่ายประชาคมอยู่กว้างขวางเหลือเกิน ความทรงจำบางอย่างประดิษฐ์ขึ้น ไอ้การเป็นวัฒนธรรมจำลองใหม่ไม่ใช่เรื่องร้ายกาจอะไร แต่ที่แย่คือการปฏิบัติต่อมันอย่างลืมเปลือก ๆ ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ แคมเปญรณรงค์การแต่งเครื่องแบบโดยสำนักบริหารกิจการนิสิตที่ปล่อยออกมา ไม่ได้สะท้อนว่ามีการทบทวนความเป็นมาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แต่ประการใด ทั้ง ๆ ที่เพิ่งฉลองครบรอบร้อยปีไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

นิสิตทุกคนจึงควรตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณ

และต้องเทิดทูนไว้ด้วยศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจ**

สำนักบริหารกิจการนิสิตสนับสนุนให้นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่งกายถูกระเบียบ

เครื่องแบบที่ถูกต้องจะส่งเสริมภาพลักษณ์ของตัวเองให้สง่างาม ให้ภาคภูมิใจในเกียรติภูมิจุฬาฯ[1]

 

ซึ่งก็ยังดีที่ไม่ได้บังคับขู่เข็ญกันเหมือนในหลายๆ มหาวิทยาลัย ปัญหาโลกแตกเกี่ยวกับความเหมาะสมของการแต่งกายไปเรียนในสถาบันอุดมศึกษาก็จะไม่กล่าวถึงในที่นี้เช่นเดียวกันกับเรื่องความเก่าแก่ แต่มันจะมีปัญหาแน่ เพราะหากเราเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยในข้อความที่ยกมาข้างต้นให้เป็นแหล่งอื่น เป็นมหาวิทยาลัยอะไรก็ได้ดู มันจะสะท้อนถึงสภาพปัญหาของสถาบันอุดมศึกษาสมัยนี้ที่มีร่วมๆ กันบางอย่างนั่นคือ การที่มีเจ้าหน้าที่/ผู้ปฏิบัติงานที่ไม่รู้รากเหง้าหรือถ้ารู้ก็รู้อย่างปลอมๆ เปลือกๆ ยิ่งมีแนวโน้มที่ภาครัฐจะให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบมากขึ้นแล้ว มันเป็นไปได้ที่หน่วยงานพวกนี้ โดยเฉพาะกิจการนิสิตนักศึกษาที่จะรับเอา “ใครก็ได้” มาทำงาน เพราะงานกิจการนิสิตมันเหนื่อย! มันจุกจิก ต้องยุ่งกับเด็ก ต้องลงทะเบียนอะไรมากมาย ดราม่ามันเยอะ ฯลฯ ในสายตาของผู้มีอำนาจก็คงจะคิดมั้งว่ามันจะไปยากอะไร ก็เปิดรับสมัครพนักงานมหาวิทยาลัยสักอัตราหนึ่ง ให้คุมเด็กให้อยู่ก็แล้วกัน ปฏิบัติงานให้ได้ก็แล้วกัน เอาแบบไม่ต้องมี Political correctness ไม่ใช่ว่าคนไม่ใช่ศิษย์เก่ามาทำงานในมหาวิทยาลัยนี้ไม่ได้ แต่ต้องเรียนรู้บริบทว่าเขาทำอะไรกัน ถ้าหน่วยงานไม่อยากให้อัตลักษณ์สถาบันเสียก็อย่าเอาคนที่มารู้เรื่องมาคุม เพราะถึงเวลาต้องจัดพิธีต่างๆ ซึ่งมีอยู่เต็มไปหมดมันจะไม่รู้เรื่อง เราก็รู้กันว่าจุฬาฯ (และที่อื่นก็กำลังจะเป็น) เป็นรัฐนาฏกรรม มันต้องมีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์โชว์สิทธิธรรมของผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ตลอดเวลา ถ้ามองแบบขวาๆ เลยมันก็เข้าใจได้แบบนี้ และผลของการทำให้ระบบมันรวนก็ทำให้พลังฝ่ายขวาไม่มีคุณภาพ

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าคนเขียนอยากให้ยกเลิกเครื่องแบบนิสิตจุฬาฯ (และในสถาบันอื่นๆ) แต่ถ้าจะมีก็ขอให้ปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง ให้ชุดความผิดที่ปฏิบัติต่อเครื่องแบบมันมีความทันสมัย และที่สำคัญ อย่าไปมโนเอาเองว่าเครื่องแบบที่เราเคยใส่ตามปกติทุกวันเป็นของสูงของล้ำ

พ.ร.ฎ.กำหนดเครื่องแบบนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2499 เป็นกฎหมายที่ออกมาในช่วงปลายๆ ของรัฐบาลจอมพลป พิบูลสงคราม ซึ่งมีประวัติว่าเคยเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัย (ซึ่งเคยทำประโยชน์ให้มาก แต่ไม่ปรากฎอยู่ในชื่ออาคาร หอประชุม ชื่อสวน ฯลฯ แม้แต่น้อย) ประสบการณ์บริหารของท่านเดินมาคู่กันกับ พล.ต.ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งไม่แน่ใจว่าตกลงแล้วเคยดำรงตำแหน่งอะไรกันแน่ รองฯ ฝ่ายกิจการนิสิต? กรรมการสภามหาวิทยาลัย? ผู้ช่วยอธิการบดี? เพราะท่านอาจจะดำรงตำแหน่งทั้งหมดนี้พร้อมๆ กันก็ได้ แต่ที่แน่ๆ ในฐานะเจ้ากรมยุวชนทหาร “ท่านประยูร” ได้มีบทบาทมากในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา การโฆษณาชวนเชื่อให้คนหนุ่มสาวเฮละโลกับความยิ่งใหญ่ของชาติไทย อีกมรดกที่คู่หูแปลก – ประยูรสร้างไว้คือเคยพยายามจะให้นิสิตต้องแต่งเครื่องแบบฝึกอย่างทหารมาเรียนทุกวัน หมวกก็ต้องใส่ ถ้าไม่ใส่ผ่านประตูไม่ได้[2] แบบอย่างของจอมพลป จะมีใครเป็นไอดอลของท่านเราก็ไม่ทราบ แต่ดูจากบริบทของยุคแล้ว การที่ให้เด็กๆ แต่งชุดพร้อมเพรียงมาเรียนนี่อาจลอกอย่างมุสโสลินีหรือฮิตเลอร์มากระมัง

ยังมีเรื่องให้ใจชื้นอยู่บ้าง สโมสรนิสิตจุฬาฯ ณ ตึกจักรพงศ์ในเวลานั้น[3] เลือกที่จะไม่ต้องการแต่งชุดนิสิตมาเรียนทุกวัน และพร้อมใจกำหนดเครื่องแบบของตัวเองขึ้นมา คือ เครื่องแบบจุฬา ฯ นิยม ในช่วงสงคราม นิสิตจุฬาฯ ไม่ต้องมีเครื่องแบบมาเรียนก็เรียนกันได้ดีทุกคน ต่อมาเครื่องแบบนี้จะเป็นต้นธารของเครื่องแบบนิสิตทั้งหมดในปัจจุบัน แม้เครื่องแบบที่เก่าที่สุดคือเครื่องแบบนิสิตพระราชพิธี (ภาษาปาก “ชุดราชปะแตน”) ก็ไม่ได้เก่าไปกว่าสมัยรัชกาลที่ 8 ผู้เขียนเคยได้ยินมิตรสหายเล่าถึงท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา คณบดีท่านแรกของคณะครุศาสตร์ เมื่อมีคนไปถามว่าสมัยเรียนท่านมีเครื่องแบบยังไง ท่านก็บอกว่าสมัยท่านยังไม่มี ทุกคนก็แต่งตัวออกจะเรียบร้อยและผลการเรียนก็ออกมาดี ลูกๆ สมัยนี้มีเครื่องแบบก็แต่งให้มันดีๆ หน่อยแล้วก็ตั้งใจเรียนก็แล้วกัน[4] กลายเป็นว่าเราเห็นวิธีคิดของคนสองรุ่นเทียบกัน คนรุ่นเก่าไม่มีชุดใส่ จะให้มีก็ไม่ว่าอะไร แต่ขอเป็นชุดที่ตัวเองเลือกก็แล้วกัน คนในยุคปัจจุบันเห็นอะไรที่มันดูเป็นเก่า ๆก็ รับตามโดยไม่ตั้งคำถาม ไม่ไตร่ตรองอะไรเลย

กลับมาที่เรื่องของเรา “นิสิตทุกคนจึงควรตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณ และต้องเทิดทูนไว้ด้วยศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจ” ก็คงจะทำได้ แต่ไม่ใช่ด้วยการแต่งเครื่องแบบนิสิต นิสิตจุฬาฯ คงต้องทำงานหนักมากกว่านั้นเพื่อรำลึกถึงล้นเกล้าฯ ผู้พระราชทานพระมหากรุณาประการต่างๆ ต่อมหาวิทยาลัยนี้ คนทำงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ถ้าพอจะตระหนักถึงความเป็นมาที่กล่าวไว้ข้างต้นอยู่บ้าง คงจะไม่ประดิษฐ์คำสวยแต่ขาดภูมิปัญญาออกมาแบบนี้

“เครื่องแบบที่ถูกต้องจะส่งเสริมภาพลักษณ์ของตัวเองให้สง่างาม ให้ภาคภูมิใจในเกียรติภูมิจุฬาฯ” ซึ่งเผอิญว่าคำ “เกียรติภูมิจุฬาฯ” นั้นมาจากเพลงในชื่อเดียวกัน (ไม่ทราบปีแต่ง น่าจะแต่งในทศวรรษ 2480 - 2490) ถ้าบอกว่า  “เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชนจะกลายเป็นคำขวัญช่วงเดือนตุลาไปเลย จะยึดคำคำไหนก็ไม่สำคัญถ้าทำให้เราเป็นคนดี แต่ในเมื่อเครื่องแบบเป็นเครื่องมือของการผูกตัวเองเข้ากับอัตลักษณ์สถาบัน จะแต่งให้ถูกก็สงสัยต้องคุยกันอีกมากว่าถูกของใคร เพราะพี่เชียร์คณะ กิจการนิสิตคณะ กิจการนิสิตกลาง พระราชกฤษฎีกาปี 2499 ข้อบังคับเรื่องเครื่องแบบนิสิตปี 2551 ลัทธิธรรมเนียมการแต่งเครื่องแบบของนักเรียนในพระราชสำนัก กับ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ พูดถึงชุดเครื่องแบบคนละชุดเดียวกันแน่ ๆ

จริงอยู่ คนทุกยุคทุกสมัยมีสิทธิ์โดยธรรมชาติที่จะเลือกชุดที่เหมาะสมกับตัวเอง แต่ถ้ามหาวิทยาลัยนี้ (และมหาวิทยาลัยอื่นด้วย) จะเน้นว่าการแต่เครื่องแบบ = การระลึกย้อนรากเหง้าแล้ว ก็เท่ากับปฏิเสธว่าคนในปัจจุบันมีสิทธิ์เลือกว่าจะแต่งตัวอะไร เพราะเลือกมาให้แล้วว่าต้องแต่งแบบนี้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าอยากให้นิสิตนักศึกษาโดยทั่วๆ ไปยังแต่งเครื่องแบบอยู่ แน่จริงก็ให้คนรุ่นนี้เขาเลือกแบบเองสิว่าจะเอาแบบเก่าหรือแบบใหม่หรือจะวางกติกาอย่างไร ขอให้สวย ถูกใจ สุภาพเป็นใช้ได้ ถ้าต้องแต่งชุดที่คนอื่นเลือกให้แย่แล้ว ทำไมต้องแต่งอะไรที่มันดูแย่ล่ะ โชคดีที่เครื่องแบบนิสิตรุ่นแรกก็ถูกมองว่าสวย ก็เลยได้ใส่ต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้[5] ที่แน่ๆ ถึงอย่างไรเราก็หนีประวัติศาสตร์ไม่พ้น เพราะประวัติ เครื่องแบบ พิธีกรรม มันเป็นเรื่องเดียวกันในการสร้างอัตลักษณ์มหาวิทยาลัยไทยสมัยนี้

โดยอุดมการณ์แล้วผู้เขียนสนับสนุนให้ยกเลิกการบังคับให้แต่งชุดเครื่องแบบมาเรียน คือใส่เฉพาะวันที่มันมีอะไรสำคัญจริงๆ แต่เห็นว่าถ้าจะมีก็ขอให้มีแบบผ่านการศึกษาค้นคว้ามาเสียหน่อย ต่อไปนี้คือข้อเสนอแนะที่ไม่รู้จะพูดที่ไหน เพราะไม่เคยเห็นว่ามีคนทำงานที่มีท่าทีเปิดรับต่อข้อเสนอแนะใดๆ แต่โครงการ CU a bit more รวมถึงกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยอีกมากที่เน้นให้นิสิตได้สำนึกรักอะไรต่อมิอะไรมากมาย เงินทองจุฬาฯ เรามีมากมาย เสียดายแต่เวลาที่เสียไป คนทำงานควรจะใช้เวลามากขึ้นอีกนิด (A while longer) ในการศึกษาหาความรู้ ตั้งคำถามและหาคำตอบเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยรอบคอบ เคารพรุ่นพี่ในอดีตให้มากว่าเขาเคยทำอะไรกัน รักสถาบันจริงหรือรักสักแต่ว่าพูดก็ดูกันตรงนี้นี่แหละ

 


เชิงอรรถ

[1] ดูแคมเปญรณรงค์ได้ที่ : https://web.facebook.com/media/set/?set=a.1254876971306230.1073741831.1212181505575777&type=3 อันที่จริงมีทุกปี และเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยอื่นก็มีเช่นกัน

[2] เต็มสิริ บุณยสิงห์, “ชิวิตนิสิตาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2481 – 2485” ใน 70 ปีจุฬาฯ ระลึกอดีต, (กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531), หน้า 66.

[3] ปัจจุบัน สโมสรนิสิตจุฬาฯ ตั้งอยู่ที่ตึกจุลจักรพงศ์ และไม่ใช่แค่ประเด็นเครื่องแบบ แต่เรื่องอื่นที่ควรจะเรียกร้องให้แก่นิสิตจุฬาฯ ก็แทบจะไม่ได้เรียกร้องอะไรที่เป็นธรรมบ้างเลย ดังนั้น จะถือว่าไม่ได้สืบทอดอะไรเลยมาจากรุ่นพี่ก็อาจจะไม่ผิด (ทั้งในทางอุดมการณ์และในทางวัตถุ) เพราะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนคนก็ต้องเปลี่ยน มนุษย์เราถูกรังแกโดยสิ่งแวดล้อมเสมอ หรือพูดง่ายๆ ว่า คนเราสมัยนี้ก็ต้อง “อยู่เป็น”

[4] จากความทรงจำส่วนตัว แต่ก็มีหลักฐานอื่นอีกที่ยืนยันถึงสภาพที่เรียนกันได้โดยไม่ต้องมาทำอะไรกันให้วุ่นวาย เช่น เต็มสิริ บุณยสิงห์, “ชิวิตนิสิตาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2481 – 2485” ใน 70 ปีจุฬาฯ ระลึกอดีต หน้า 66.

[5] ,พูนสิน ดิษฐบรรจง, “เรื่องของพูนสิน จากเด็กหญิงถึงคุณหญิง ตอน “นิสิตจุฬาฯ 2490 - 94” ใน 70 ปีจุฬาฯ ระลึกอดีต, (กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531), หน้า 94. และ สุจริต เพียรชอบ,  “อดีตเมื่อวันวานยังหวายอยู่,” ใน เรื่องเดียวกัน, หน้า 124.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท