อธิบดีกรมป่าไม้ ถกร่วมกับชาวบ้านภาคอีสาน เร่งแก้ไขความเดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

อธิบดีกรมป่าไม้ ยันนโยบายทวงคืนผืนป่าต้องการจัดการนายทุน แต่อาจเกิดข้อผิดพลาดส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ย้ำจะเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขปัญหา ด้านชาวบ้านยันให้ยกเลิกทวงคืนผืนป่า ให้ยุติการบังคับ ข่มขู่ หรือการดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อความสุขของประชาชน

วานนี้ (23 ก.ค.60) เวลาประมาณ 09.30–14.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) ชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะตัวแทนรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมประชุมหารือเพื่อรับทราบข้อมูลและหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนในพื้นที่พิพาทที่ดินในเขตป่าภาคอีสาน โดยมี ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ตัวแทนเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ์สกลนคร และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหา

โดยตัวแทนองค์กรชาวบ้านผู้เดือดร้อนเสนอให้เร่งพิจารณาแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยมีข้อเสนอเรียกร้องของชาวบ้านคือ ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่า ให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างชาวบ้านผู้เดือดร้อนกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน และในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา ให้ยุติการดำเนินคดีความ และยุติการข่มขู่ คุกคาม หรือการดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อน และให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ที่ดินได้โดยปกติสุข

ในการนี้ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า เป้าหมายของนโยบายทวงคืนผืนป่า คือจัดการกับนายทุน แต่อาจเกิดข้อผิดพลาดบ้าง ทำให้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้ อธิบดีกรมป่าไม้กล่าวแสดงความกังวลใจและห่วงใยกรณีที่ชาวบ้านถูกดำเนินคดี รวมทั้งย้ำว่าจะเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหา

ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า การประชุมอย่างเร่งด่วนครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าในภาคอีสาน ร่วมออกแถลงการณ์ให้ยกเลิก 'นโยบายทวงคืนผืนป่า' ทั่วประเทศ เนื่องจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลมีความบกพร่องและมีความผิดพลาดในการเลือกปฏิบัติ อาทิ การโค่นตัดยางพารา การดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีกับชาวบ้าน รวมทั้งขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นนำมาสู่ความเดือดร้อนต่อประชาชนจำนวนมาก ทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงในการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน

ทั้งนี้ อธิบดีกรมป่าไม้ยังได้มอบหมายให้หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพรประสานกับองค์กรชาวบ้าน เพื่อเข้าร่วมประชุมหารือเพื่อรับทราบข้อมูลและร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน 

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ โพสต์สรุปผลการประชุมจากในเฟซบุ๊ก 'Chainarong Sretthachau' ในลักษณะสาธารณะโดยมีรายละเอียดดังนี้

สรุปประเด็นการแก้ปัญหา ในการประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการทวงคืนผืนป่า โดย นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นประธาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องประชุมสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น)

แนวทางในการดำเนินการฯ

1.การสืบค้น, เก็บข้อมูล, คัดแยก, ติดตาม (โดยคณะทำงานร่วมฯ)

2.ลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริงร่วมกัน (ร่วมพิจารณาข้อมูล วันที่ 8 สิงหาคม 2560)

3.การเชื่อมต่อในระดับนโยบายและเชื่อมต่อประสานงานระหว่างหน่วยงาน

4.ให้ใช้คำสั่งที่ 66/2557 พิจารณาโดยละเอียดถี่ถ้วนในทุกกรณี

ประเด็นที่ 1 (กรมอุทยาน)

อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น, เลย, ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำหนาว อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์

ข้อเสนอ

1.ต้องการให้ใช้แผนงานการบริหารจัดการทรัพยากรแบบเดิม คือโครงการจอมป่าฯ

2.ให้หน่วยงานกันพื้นที่ทำกินและชุมชนออกจากการที่จะผนวกพื้นที่เพิ่มเติมของอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน (นัดหมายคณะกรรมการร่วมฯ ลงตรวจสอบพื้นที่ วันที่ 5 สิงหาคม 2560)

หน่วยงานรับผิดชอบ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรมป่าไม้

ประเด็นที่ 2 (กรมอุทยานฯ)

อุทยานแห่งชาติไทรทอง อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ

สภาพปัญหา

1.จากการทวงคืนฯ มีการจับกุมดำเนินคดีเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2558 (จำนวน 19 คดี)

2.ชาวบ้านเกิดความวิตกกังวลต่อการสู้คดี

3.ชาวบ้านประสบปัญหาการเข้าใช้พื้นที่ทำกินเดิมเพราะถูกทางอุทยานฯ ปลูกป่าทับพื้นที่ทำกิน

4.อุทยานฯ ให้ชาวบ้านยินยอมคืนพื้นที่โดยที่ชาวบ้านไม่สมัครใจ

ข้อเสนอ

1.ให้ประสานช่วยเหลือด้านคดี ถ้าพิสูจน์ว่าเป็นผู้ยากไร้จริง ตามลำดับความเร่งด่วน

2.ให้ชะลอการดำเนินการปลูกป่าทับพื้นที่ทำกิน เพื่อให้ชาวบ้านได้ทำกินต่อไปก่อนเพื่อลดผลกระทบ

ประเด็นที่ 3 (กรมอุทยานฯ)

ขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ

สภาพปัญหา

1.การประกาศทับซ้อนที่ทำกินชาวบ้าน

ข้อเสนอ

1.ให้ดำเนินการใช้แนวเขตการผ่อนปรนที่ได้รับการตรวจสอบรังวัดแล้วระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ที่ร่วมกับประชาชนตรวจสอบมาเป็นเขตผ่อนปรน ในการแก้ปัญหาการทับซ้อน

ประเด็นที่ 4 (กรมอุทยานฯ)

อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก จังหวัดสกลนคร กาฬสินธุ์ และอุดรธานี

สภาพปัญหา

1.การประกาศเขตอุทยานทับซ้อนที่ทำกินชาวบ้าน

2.เมื่อปี 2559 มีการตรวจยึดแปลงยางพาราองนางจันทาฯ และดำเนินคดีบุตรชาย และตัดฟันแปลงยางพาราจำนวน 18 ไร่

3.มีการตรวจยึดและเตรียมตัดฟันแปลงยางพารา บ้านสมสวัสดิ์ ตำบลผาสุก อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี

ข้อเสนอ

1.ให้ดำเนินการแก้ปัญหาและเยียวยาความเสียหายจากการตัดฟันยางพาราและการดำเนินคดีแปลงยางพารานางจันทาฯ และบุตรชาย

2.ให้ยึดแนวทางการแก้ปัญหาโดยใช้แนวทางของคณะทำงานแก้ไขปัญหาเครือข่ายไทบ้าน ผู้ไร้สิทธิสกลนคร ของจังหวัดสกลนคร

ประเด็นที่ 5 (กรมป่าไม้)

ป่าสงวนแห่งชาติดงชมภูพาน ดงกระเฌอ อ.ภูพาน จ.สกลนคร

สภาพปัญหา (บ้านจัดระเบียบ)

1.มีการตรวจยึดจับกุมดำเนินคดีและดำเนินการตัดฟันแปลงยางพาราของชาวบ้าน

2.มีการปลูกป่าทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน (ไร่มันสำปะหลัง)

3.ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปทำกินในที่ทำกินเดิมได้ตามปกติสุข

ข้อเสนอ

1.ให้ประสานสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ถูกดำเนินคดีไปแล้ว และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพักโทษผู้ถูกคุมขังในคดี 7 ราย

2.ให้ประสานสำนักนายกรัฐมนตรีในการช่วยเหลือด้านกระบวนการยุติธรรมตามข้อเท็จจริงกรณีของนายสิน เงินภักดี และนางสุรัตน์ ศรีสวัสดิ์

3.ให้ใช้แนวทางการแก้ปัญหาที่ดินทำกินที่ได้เสนอผ่าน ทสจ.จังหวัดสกลนคร ถึงกรมป่าไม้

ประเด็นที่ 6 (กรมป่าไม้)

ป่าสงวนแห่งชาติภูพาน อ.สามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์

สภาพปัญหา

1.มีการดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2546 และคดีเป็นที่สิ้นสุดแล้วในปี พ.ศ.2549 และท้องถิ่นได้เก็บภาษี ภบท.5 มาโดยตลอด ต่อมาในปี พ.ศ.2557 มีการตัดฟันยางพารา 1 ราย และติดป้ายประกาศไม่ให้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินจำนวน 4 ราย

2.ถูกทำลายทรัพย์สินและอายัด 5 ราย

3.ไม่สามารถเข้าไปทำกินในที่ทำกินเดิมได้ตามปกติสุข

ข้อเสนอ

1.ช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ถูกตัดฟัน

2.ยุติการตัดฟันในแปลงยางพาราของราษฎรทั้ง 4 ราย

3.ให้ชาวบ้านได้ทำกินต่อไป

ประเด็นที่ 7 (กรมป่าไม้)

ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ต.ห้วยยาง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

สภาพปัญหา

1.มีการปลูกสร้างสวนป่าทับที่ดินทำกิน ตั้งแต่ปี 2528 จำนวน 394 ราย

ข้อเสนอ

1.ให้ช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปลูกสร้างสวนป่าและถูกผลักดันให้อพยพจากที่ดินเดิม

2.ให้มีการคัดแยกราษฎรจากจำนวน 394 ราย ที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาเป็นลำดับแรก

ประเด็นที่ 8 (กรมป่าไม้)

ป่าจำแนกตามมติคณะรัฐมนตรี ป่าเตรียมการฯ หมายเลข 10 ตำบล ถ้ำวัวแดง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ

สภาพปัญหา

1.มีความไม่ชัดเจนในการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน

2.ชาวบ้านไม่สามารถเข้าทำกินในที่ดินได้ตามปกติสุข

ข้อเสนอ

1.ให้จำแนกและสอบสวนสิทธิผู้มีคุณสมบัติให้สามารถทำกินในพื้นที่ทำกินเดิมได้

ประเด็นที่ 9 (กรมป่าไม้)

สวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

สภาพปัญหา

1.โครงการหมู่บ้านรักษ์ป่าประชารักษ์สัตว์ ปลูกสร้างสวนป่าทับที่ทำกินของราษฎร (36 ราย 850 ไร่)

ข้อเสนอ

1.ให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ทำกินในพื้นที่ 850 ไร่ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 216/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ตามแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชน ซึ่งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ได้มีมติรับรองแล้ว เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2560

ประเด็นที่ 10 (อ.อ.ป.)

สวนป่าคอนสาร ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

สภาพปัญหา

1.มีการปลูกสร้างสวนป่าทับที่ดินทำกินของราษฎร เมื่อ พ.ศ.2521

2.ราษฎรที่กลับเข้าไปทำกินในที่ดินทำกินเดิมเมื่อปี พ.ศ.2552 ถูกดำเนินคดี (31 ราย) คดีแพ่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

ข้อเสนอ

1.ให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ทำกินในพื้นที่เดิม ตามแนวทางคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 216/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชน ซึ่งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ได้มีมติรับรองแล้ว เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2560

2.ในกรณีผู้ถูกดำเนินคดีให้ยึดแนวทางตามข้อตกลงเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2554 ที่ระบุว่า

1) จะไม่เร่งรัดบังคับคดี

2) เห็นชอบในการจัดหาที่ทำกิน 1,500 ไร่ ให้ราษฎรผู้เดือดร้อน

3) แก้ไขข้อกำหนดในการใช้ประโยชน์สวนป่าของ ออป. ให้เป็นที่ยอมรับด้วยกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท