อดีต สปท. ชี้ 2 ปี สปท.คาดหวังไม่ได้ เพราะโครงสรัางเป็นราชการ

อดีต สปท. ชี้ 2 ปี สปท.คาดหวังไม่ได้ เพราะโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นราชการ ขณะที่ตัวแทนพรรคการเมืองและนักวิชาการชี้ประเทศอยู่ในวังวนรัฐราชการ 
 
23 ก.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่าสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา ในหัวข้อ "2 ปี สปท.สังคมได้อะไรจากการปฏิรูป" ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยนายนิกร จำนง อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า โครงสร้างของ สปท.ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ และผลงานส่วนใหญ่จะเป็นรายงานทั้งหมด ไม่มีอำนาจดำเนินการในรูปแบบอื่นได้ สปท.ถูกแต่งตั้งเป็นเพียงที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ไม่นับเป็นสมาชิกรัฐสภา ดังนั้น จึงคาดหวัง สปท.ไม่ได้ ส่วนการทำงานของ สปท.นั้น ได้แบ่งคณะกรรมาธิการเป็นด้านต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ และตั้งคณะกรรมาธิการด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมอีก เช่น คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สปท.หรือ วิป สปท. และคณะกรรมาธิการวิสามัญด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ คณะกรรมาธิการวิสามัญปฏิรูประบบการปลอดภัยทางถนน และคณะกรรมการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา  
 
นายนิกร กล่าวว่า สปท.มีเวลาทำงานอย่างจำกัดตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งงานของ สปท.เป็นงานในเชิงปฏิรูปน้อยมาก ขณะที่นักการเมือง 9 คนที่เป็น สปท.ถูกใช้เป็นข้ออ้างว่า การปฏิรูปครั้งนี้มีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมด้วย ทำให้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ตนมักทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านเพื่อยืนยันในวิธีคิดของฝ่ายการเมือง ส่วนกรณีการตั้งคำถามประชามติ ขณะนั้นไม่ใช่หน้าที่ของ สปท. แต่เมื่อ สปท.เสนอคำถามแล้วได้รับความเห็นชอบ หากมีอะไร ก็จะถูกโยนมาที่ สปท. ดังนั้น สปท.จึงกลายเป็นสภาหนังหน้าไฟ ทั้งที่ไม่มีหน้าที่ตั้งคำถามตั้งแต่แรก และกลายเป็นหมากทางการเมืองที่สำคัญซึ่งมีประโยชน์ต่อรัฐบาล เพราะเป็นฝ่ายโยนหินถามทางให้รัฐบาล อย่างแนวทางการปฏิรูปสื่อที่ล้วนมาจาก สปท.
 
นายนิกร กล่าวว่า อยากให้พรรคการเมืองปฏิรูปตัวเองเพื่อเป็นความหวังของประชาชนในอนาคต ที่ผ่านมา ตนได้คัดค้านเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในตอนแรก และเสนอว่า ให้กำหนดเป็นวิสัยทัศน์ ไม่ต้องออกมาเป็นแผน ซึ่งล่าสุดก็มีการแก้ไขใหม่ว่า สามารถแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติได้ทุก 5 ปี ซึ่งตนก็เบาใจที่ยืดหยุ่นได้ อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดให้มีปฏิรูป 11 ด้าน คนที่จะขับเคลื่อนต่อก็น่าจะเป็น สปท. ส่วนเรื่องวัฒนธรรมประชาธิปไตย ตนได้เสนอให้เริ่มปฏิรูปเรื่องนี้จากโรงเรียน และได้มีการยกร่างกฎหมายส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองแล้ว
 
ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาขาดการจัดลำดับความสำคัญ หากรัฐบาลตั้งใจทำงานเรื่องใดเป็นพิเศษ ควรจัดลำดับความสำคัญและมอบหมายให้สปท.ไปศึกษาโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิรูป อีกทั้งไม่ได้ค้นหาหัวใจของปัญหาของบ้านเมืองในปัจจุบัน ซึ่งหัวใจของปัญหาคือ ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง จะเห็นได้ว่า หลังจากการเกิดปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้งจะเกิดรัฐราชการครอบคลุมทุกอย่าง ทำให้ระบบย้อนหลัง 40-50 ปี เช่น คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รัฐวิสาหกิจ และสปท. มีแต่ข้าราชการ แล้วจะเอาสิ่งใดไปต่อสู้กับเวทีโลก 
 
นายชวลิต กล่าวว่า ตนไม่ได้รังเกียจราชการ แต่ขณะนี้ราชการลงทุนขาเดียว เพราะภาคเอกชนจะเอาเงินมาลงทุนก็ต่อเมื่อจะคุ้มทุนแล้วมีกำไรเท่านั้น และตนมองว่า ระบบราชการขับเคลื่อนไม่ได้ในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งตามปกติแล้ว ภาคเอกชนจะเป็นหัวขบวนรถจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ส่วนภาคราชการเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนเดินไปได้ แต่ขณะนี้เป็นระบบที่ผิดปกติ กลับหัวกลับหาง วิธีแก้ปัญหาคือ เมื่อระบบไม่ปกติ ต้องทำให้เป็นปกติ โดยคนไทยต้องมีสำนึกร่วมกันว่าจะทำบ้านเมืองให้เป็นปกติอย่างไร
 
นายชวลิต กล่าวว่า ปัญหาปากท้องของประชาชนก็เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลยังแก้ปัญหาไม่ได้ ก่อนหน้านี้ ตนได้เข้าร่วมเวทีปรองดองที่กองทัพภาคที่ 1 แต่ไม่ได้ให้ความเห็นใด ๆ เพราะไม่ต้องการแสดงความเห็นแล้วเกิดการกระทบกระทั่ง โดยบรรยากาศในวันดังกล่าว มีการเสนอที่จะให้รัฐบาลอยู่บริหารประเทศต่อเพราะเห็นว่าบ้านเมืองสงบ ให้ปฏิรูปก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง และมีคนปรบมือเป็นระยะ แต่ในโลกของความเป็นจริง ศักยภาพของประเทศไทยกลับเติบโตต่ำสุดในกลุ่มอาเซียน ปัญหาปากท้องของประชาชนก็ยังแก้ไม่ได้ เป็นเพราะระบบหรือไม่ ดังนั้น ทุกคนควรร่วมมือกัน 
 
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ สปท. มีมาเพื่อเป็นกลไกสร้างความชอบธรรมเพื่อรองรับอำนาจไว้ เนื่องจากตอนรัฐประหารไม่ได้มีการเตรียมแผนในระยะยาว แต่เมื่อเข้ามาทำหน้าที่แล้ว หน้าที่สำคัญของ สปท. คือการวางรูปแบบของรัฐในอนาคต ที่ควรจะเป็นแนวทางให้มีประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ตนเชื่อว่า ในอนาคตชีวิตทางการเมืองของตน จะไม่เห็นประชาธิปไตยเต็มใบอีกแล้ว ประชาธิปไตยเหมือนกับต้นไม้ ดินบางอย่างต้นไม้ขึ้นไม่ได้ ดินบางอย่างต้นไม้ขึ้นได้แต่ไม่งอกงาม ประเทศไทยอาจจะไม่เหมาะสมกับประชาธิปไตยก็ได้ ตนคิดว่า ประเทศไทยอาจจะเหมาะกับรัฐกึ่งประชาธิปไตยมากกว่ารัฐประชาธิปไตย 
 
นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ถามว่า สิ่งที่ สปท.ทำมาจะได้ผลเท่ากับที่คาดหวังหรือไม่นั้น ตนไม่แน่ใจ แต่สิ่งที่ สปท.ไม่ได้ทำคือ การปฏิรูปวัฒนธรรมประชาธิปไตย มนุษย์ทั่วไป เวลาพูดถึงคนอื่นไม่ดีแต่ก็ไม่ได้มองตัวเองว่าดีหรือไม่ ในอนาคตข้างหน้า จะไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างที่เราเห็น แต่เปลี่ยนไม่ได้ เพราะกำหนดโดยรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งต้องยอมรับกติกานั้น รัฐไทยต้องเดินไปในรูปแบบรัฐกึ่งประชาธิปไตย ความขัดแย้งของคนยังมีอยู่ แต่ไม่ได้เอาออกมาแก้ปัญหา 
 
นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย จะขับเคลื่อนด้วยนักการเมือง ไม่ใช่ระบบราชการ แต่หากจะมองว่า นักการเมืองไม่ดี นักการเมืองก็มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ประชาชนเป็นอย่างไร นักการเมืองเป็นเช่นนั้น คนจะดีหรือไม่ดีให้ดูที่การใช้อำนาจ การบริหารพรรคการเมืองยากกว่าการบริหารบริษัทใหญ่ เพราะพรรคการเมืองหลากหลายและเป็นอิสระ ต้องบริหารคนที่จะไปบริหารประเทศ ส่วนยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดให้แก้ไขได้ใน 5 ปี ส่วนตัวมองว่า แก้ไขได้ยาก ดังนั้น ปัญหาที่ต้องเผชิญในอนาคตคือ รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้ทันการ ปัญหาจะถูกกดทับ และประชาชนก็จะตั้งคำถามกลับมาอีกว่า ทำไมเลือกตั้งมาแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ ทั้งนี้ การปกครองทุกระบบของโลกมีมุมมืดทุกระบบ แม้ประชาธิปไตยจะมีมุมมืด แต่อย่ารังเกียจประชาธิปไตยจนไปหาระบบอื่น ทุกคนต้องช่วยกัน 
 
นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หากจะปฏิรูปในตอนนี้ เริ่มที่ คณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคี ปรองดอง (ป.ย.ป.) น่าจะสำเร็จมากที่สุด และหากจะเริ่มปฏิรูปเรื่องแรก ควรเริ่มที่ระบบราชการ ทั้งนี้ แผนปฏิรูป 36 วาระของ สปท.ดีทุกเรื่อง แต่เมื่อส่งไปยังรัฐบาล กลับถูกตีตกเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น หากจะประเมิน 2 ปี สปท.บอกได้แค่ว่า อำนาจการปฏิรูปอยู่ที่รัฐราชการเป็นหลัก จึงฝากว่า หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องสร้างแรงส่งของการปฏิรูปให้เป็นรูปธรรมและมีพลัง พรรคการเมืองจะช่วยกันสร้างแรงส่งได้อย่างไร ขณะนี้ระบบราชการพยายามที่จะปรับตัวต่อการปฏิรูป แต่พรรคการเมืองก็ควรผลักดันกระแสการปฏิรูปเข้าสู่กระแสสังคมหรือผลักดันให้แก่ภาคประชาชน ซึ่งตนเห็นว่า เรื่องปรองดองที่ดีที่สุดคือการปฏิรูปให้เป็นจริงที่สุดและเร็วที่สุด 
 
นายสุริยะใส กล่าวว่า คำถามใหญ่ที่นักการเมืองต้องตอบคือ  ทำไมยุครัฐประหารถึงมาพูดเรื่องปฏิรูป ทำไมปล่อยให้ความคาดหวังเรื่องการปฏิรูปอยู่ในรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง  แล้วทำไมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่พูดเรื่องปฏิรูป คำถามคือ พรรคการเมืองพร้อมที่จะต่อยอดโจทย์เรื่องการปฏิรูปหรือไม่ เพราะประชาชนพร้อมและตื่นตัวอยู่แล้ว
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท