Skip to main content
sharethis

เดโมแครตแพ้การเลือกตั้งปี 2559 เพราะอะไรเป็นคำถามที่คนในสหรัฐอเมริกาให้ความสนใจอย่างมากและมีการตั้งสมมติฐานไปหลายแนวทางบางครั้งก็คิดเองเออเอง แต่งานวิจัยล่าสุดชี้ให้เห็นแนวโน้มว่าสิ่งที่ทำให้พรรครีพับลิกันชนะเลือกตั้งครั้งล่าสุดน่าจะเป็นเพราะนโยบายสงครามของสหรัฐอเมริกานั่นเอง

ฮิลลารี คลินตัน และโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2016 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Gage Skidmore/Wikipedia [1][2])

19 ก.ค. 2560 มีงานวิจัยล่าสุดสำรวจเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในช่วงเดือน ธ.ค. 2559 ที่ศึกษาตัวแปรว่าจำนวนทหารสหรัฐฯ ที่เสียชีวิตผู้มีที่อยู่หรือคนรู้จักในเขตเลือกตั้งต่างๆ มีผลกับการเลือกผู้แทนจากพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคหรือไม่ ผลออกมาว่าในชุมชนที่มีทหารสหรัฐฯ เสียชีวิตมากกว่ามักจะลงคะแนนให้ผู้แทนพรรครีพับลิกันอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ มากกว่าเมื่อเทียบกับชุมชนที่ทหารจากชุมชนของพวกเขาเสียชีวิตน้อยกว่า

การศึกษาเรื่องนี้อาจจะเกี่ยวโยงกับการที่ทรัมป์เคยหาเสียงโดยทำให้ภาพลักษณ์ของตัวเองดูเป็นผู้แทนที่ต่อต้านสงคราม แต่ก็เป็นสิ่งที่เขาไม่ได้ทำจริงหลังจากเป็นประธานาธิบดีแล้ว เทียบกับฮิลลารี คลินตัน ผู้แทนจากพรรคเดโมแครตที่ยังรักษาสภาพที่สหรัฐฯ ยังคงมุ่งทำสงครามอยู่แบบเดิม เช่นในกรณีที่เกิดกับซีเรีย

การวิจัยดังกล่าวมาจากดักลาส คริเนรา ศาตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอสตัน และฟรานซิส เฉิน ศาตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา พวกเขาทำการเปรียบเทียบระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2555 กับปี 2559 พวกเขาสรุปได้ว่าในพื้นที่ที่มีทหารชาวอเมริกันจากชุมชนนั้นๆ เสียชีวิตสูงกว่าในช่วงที่สหรัฐฯ ไปทำสงครามกับประเทศอื่น 15 ปี ที่ผ่านมาจะหันไปสนับสนุนทรัมป์ในการเลือกตั้งมากกว่า

พวกเขาศึกษาเรื่องนี้โดยมีการควบคุมตัวแปรอื่นๆ อย่างเชื้อชาติ, รายได้ และการศึกษา รวมถึงจำนวนของคนในชนบทและประชากรทหารผ่านศึกที่โดยรวมๆ แล้วจะเอียงไปในทางสนับสนุนทรัมป์ การควบคุมตัวแปรนี้เป็นไปเพื่อให้พิสูจน์ได้ว่าตัวแปรเรื่องการเสียชีวิตของทหารมีผลเป็นไปในทางเดียวกันในเชิงสถิติกับการลงคะแนนหรือไม่

เมื่อพิจารณาดูแล้วแม้แต่ในพื้นที่ชนบทก็พบว่าการลงคะแนนเป็นไปในทางเดียวกับประเด็นนี้คือพื้นที่ที่มีทหารเสียชีวิตจากสงครามมากกว่ามักจะลงคะแนนให้ทรัมป์มากกว่า นี่รวมถึงรัฐที่คะแนนเสียงเหวี่ยงไปมาระหว่างสองพรรคอย่างรัฐวิสคอนซิน เพนซิลวาเนีย และมิชิแกน ก็แสดงให้เห็นสถิติในแบบนี้เช่นกัน จนอาจจะตีความได้ว่าถ้าหากมีทหารถูกส่งไปเสียชีวิตในสงครามน้อยกว่านี้คลินตันก็อาจจะชนะการเลือกตั้งได้

เฉินกล่าวว่าสถิติในเรื่องนี้เป็นมุมมองที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนักในการเลือกตั้งสหรัฐฯ น่าจะเพราะทั้งนักวิชาการและสื่อต่างก็ไม่ใช่กลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชิดกับเรื่องการเสียชีวิตจากสงครามมากเท่าครอบครัวหรือชุมชนที่มีสมาชิกเป็นทหารถูกส่งไปในสงคราม ซึ่งมักจะเป็นชุมชนที่ยากจนกว่า อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมากกว่าและได้รับการศึกษาน้อยกว่าด้วย และเฉินก็บอกว่าเป็นไปได้ที่โวหารของทรัมป์จะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้

อย่างไรก็ตามงานวิจัยของครีเนราและเฉินก็วิเคราะห์ว่าเมื่อพิจารณาการลงคะแนนของชุมชนที่เป็นไปในทางเดียวกับเรื่องการทำสงครามโดยสหรัฐฯ แล้ว ถ้าหากทรัมป์ยังดำเนินนโยบายแบบเดิมคือแบบที่ไม่เบี่ยงเบนสหรัฐฯ ให้อยู่ห่างจากสงครามก็อาจจะส่งผลต่อการเลือกตั้งในปี 2563 ได้

ในขณะที่หลายคนรวมถึงพรรคเดโมแครตมัวแต่โทษว่าสาเหตุที่พรรคเดโมแครตไม่สามารถเข้าถึงชนชั้นแรงงานและผู้มีสิทธิเลือกตั้งในชนบทนั้นมาจากเรื่องอื่นๆ อย่าง การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ นโยบายการค้า หรือความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ แต่งานวิจัยล่าสุดนี้ก็ดูจะชี้ให้เห็นตัวแปรที่สัมพันธ์กัน (correlation) เกี่ยวกับอีกประเด็นหนึ่งคือการก่อสงครามของสหรัฐฯ โดยถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน (causation) มากน้อยแค่ไหน แต่ก็ทำให้เห็นแนวโน้มที่อาจจะเป็นการเตือนให้พรรคเดโมแครตหันมามองเรื่องท่าทีนโยบายการต่างประเทศมากขึ้นได้

 

เรียบเรียงจาก

STUDY FINDS RELATIONSHIP BETWEEN HIGH MILITARY CASUALTIES AND VOTES FOR TRUMP OVER CLINTON, The Intercept, 10-07-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net