Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


หลักการปกครองของฮ่องกงซึ่งสามารถสรุปเป็นวลีที่ว่า "1 ประเทศ 2 ระบบ" แต่แรกได้รับการเสนอโดยจีนเพื่อกล่อมให้ไต้หวันยอมรับการปกครองจากแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงควรจะแสดงให้เห็นว่าหลักการอันสร้างสรรค์ดังกล่าวใช้ได้ผลในเชิงปฏิบัติ

แต่ภายหลัง 2 ทศวรรษ การทดลองก็ได้ถูกระงับในเชิงปฏิบัติ และในขณะที่จีนเริ่มรวบอำนาจยิ่งขึ้นเหนืออดีตอาณานิคมของอังกฤษ ประชาชนในฮ่องกงเห็นว่าตนนั้นแตกแยกจากจีนมากขึ้นเรื่อยๆ  บัดนี้ประชาชนที่คิดคล้ายกันแบบนี้ในไต้หวันก็รู้สึกแปลกแยกเหมือนกัน


เพื่อนยามยาก

วิธีการอันหนักมือของกรุงปักกิ่งก่อให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างฮ่องกงและไต้หวันในการต่อต้านจีน  ไม่ถึง 1 เดือนก่อนการฉลองครบรอบ 20 ปีของการส่งคืนเกาะฮ่องกงสู่จีน บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครติกโปรเกรสซิฟปาร์ตีและพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีขนาดเล็กคือพรรคนิวเพาเวอร์ ปาร์ตีได้ร่วมจัดการประชุมในการแลกเปลี่ยนความเห็นยิ่งขึ้นไปกับฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยในอาณาเขตของจีน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่าง นาธาน ลอว์ คุน จุง , เรย์มอนด์ ชาน ชี เฉิน และเอดดี  จือ ฮอย ดิก เช่นเดียวกับนักกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างโจชัว หว่อง ชิ ฟุง และ อเล็กซ์ จ้าว ย่ง คังได้ปรากฏตัวในช่วงเริ่มต้นของการประชุมที่กรุงไทเปเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคนิวเพาเวอร์ปาร์ตี คือซือ ยุ่งหมิงได้กล่าวกับนิกเคอิเอเชียน  รีวิวว่า สมาชิกรัฐสภาของไต้หวันซึ่งถูกตีตราว่าเป็นพวกสนับสนุนการแยกตัวจากจีนไม่สามารถทำวีซ่าเข้าฮ่องกงได้ เพราะกรุงปักกิ่งนั้นมีอิทธิพลเหนือนโยบายการเดินทางเข้าประเทศของฮ่องกง 

“ทั้งไต้หวันและฮ่องกงต่างพบกับการท้าทายภายนอกอันเกิดจากจีน และพวกเขายังพบกับประเด็นทางด้านเศรษฐกิจสังคมอันคล้ายคลึงกัน... พวกเราอาจจะสามารถร่วมกันแก้ไขในบางประเด็นทางสังคมร่วมกัน” นายซือกล่าวและยังเสริมว่าเรื่องการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันและเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อมคือประเด็นที่ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถหารือกัน นายจือซึ่งเป็นตัวแทนของฮ่องกงได้สะท้อนถึงมุมมองนี้ “ถัดจากคุณคืออภิมหาอำนาจพร้อมด้วยพันกว่าล้าน [ประชากร] เราไม่สามารถจำกัดสมรภูมิได้เพียงที่ฮ่องกง” เขากล่าว 

กรุงปักกิ่งไม่ได้ปลื้มนัก นายหม่า เสี่ยวกวาง โฆษกของสำนักงานกิจการไต้หวันของรัฐบาลจีนกล่าวว่า การประชุมครั้งนั้นคือ “การซ่องสุมของพวกแบ่งแยกดินแดนไต้หวันและฮ่องกง” ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน เขากล่าวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเข้าไป “แทรกแซงการใช้หลักการ ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ กับฮ่องกง และทำลายความมั่งคั่งกับเสถียรภาพของฮ่องกง”      

สูตรทางการเมืองซึ่งในที่สุดถูกนำมาปกครองฮ่องกงได้รับการนำเสนอโดยกรุงปักกิ่งในวันปีใหม่ของปี 1979 ในฐานะเป็นคำประกาศต่อชาวไต้หวัน  มันเกิดขึ้นทันทีภายหลังจากที่    นายเติ้ง เสี่ยวผิงได้กลับมาครั้งสุดท้ายในฐานะผู้นำสูงสุดและนำประเทศไปบนทางของ “การปฏิรูปและการเปิดประเทศ” ในการประชุมครั้งสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนธันวาคมปี 1978  ปีต่อมา นายเติ้งสัญญาว่าไต้หวันสามารถคงไว้ซึ่งระบบทางสังคม เศรษฐกิจทุนนิยมและแม้แต่การทหาร เพียงถ้ามันยอมรับสถานะเป็นรัฐปกครองตัวเองภายใต้อำนาจอธิปไตยของสาธารณรัฐประชาชนจีน     

นายเติ้งได้เสนอสูตรนี้อย่างเป็นทางการสำหรับฮ่องกงไปยังนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรในสมัยนั้นคือนางมาร์การ์เรต แทตเชอร์ที่การประชุมเมื่อเดือนกันยายน ปี 1982    คำประกาศระหว่างจีนและอังกฤษได้รับการลงนามและทำให้แผนการของเขาเป็นรูปเป็นร่าง

ไต้หวันในเวลานั้นถูกปกครองโดยเผด็จการแบบพรรคเดียวภายใต้ก๊กมินตังหรือพรรคชาตินิยม  แต่เกาะก็ได้พัฒนาไปสู่การเป็นประชาธิปไตยอันเป็นการสิ้นสุดกฎอัยการศึกในเดือนกรกฎาคม ปี 1987 และชาวไต้หวันก็ได้เลือกผู้นำสูงสุดเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคมปี 1996

อนึ่ง จีนกลับเดินไปอีกทางหนึ่งนั่นคือการปราบปรามประชาชนที่ไร้อาวุธจนเกิดการนองเลือดในจัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1989 และยังยิงขีปนาวุธไปตกลงทะเลใกล้ไต้หวันในช่วงการรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกของเกาะอันเป็นความพยายามในการกำหนดผลการเลือกตั้ง เมื่อกรุงปักกิ่งได้ละเมิดสัญญาอยู่หลายครั้งต่อเกาะฮ่องกงตั้งแต่ปี 1997  ความหวาดระแวงของไต้หวันต่อเจตนาของจีนก็ได้ทวีขึ้น


เราคือเรา

ชาวไต้หวันนั้นเริ่มรู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนบ้านข้ามช่องแคบขึ้นเรื่อยๆ การสำรวจประจำปีครั้งล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงชีเกี่ยวกับอัตลักษณ์ไต้หวันระบุว่ามีเพียงร้อยละ 3.4 ถือว่าตัวเองเป็นชาวจีน ในขณะที่ร้อยละ  58.2 ถือว่าตัวเองเป็น “ชาวไต้หวัน” ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เริ่มแสดงตนว่าเป็นชาวไต้หวันตั้งแต่ปี 1995 และช่องว่างก็ได้เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 1997

ซยารุ เชอร์ลีย์ ลิน ศาสตราจารย์ของยูนิเวอร์ซีตีไชนิสออฟฮ่องกงและตัวเธอเองเป็นชาวไต้หวัน กล่าวว่าฮ่องกงภายหลังการกลับสู่จีน “ควรจะเป็นนครที่เจิดจรัสบนเชิงเขา แต่ว่าทุกอย่างได้จางหายไป ระบบ ‘ 1 ประเทศ 2 ระบบ’ ไม่ได้มีเสน่ห์ต่อไต้หวันเลย” เธอกล่าว

การเปลี่ยนแปลงในฮ่องกงภายใต้การปกครองของจีนคือประเด็นซึ่งชาวไต้หวันรุ่นใหม่ตระหนักถึงเช่นกัน ไมเคิล เหลียว นักศึกษาระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ได้แสดงถึงความกลัวต่ออนาคตทางการเมืองของเกาะฮ่องกง “เป็นเวลาหลายปีที่ผ่านมา เราเห็นว่าจีนได้รวบอำนาจยิ่งขึ้นอย่างไร และชาวฮ่องกงได้รับการปฏิบัติโดยจีนอย่างไร ... จีนต้องการเข้าควบคุมฮ่องกงอย่างแท้จริงในวิถีที่เข้มงวดกว่าเดิมนั่นคือทางการเมือง” เหลียวกล่าว “ผมคิดว่าสิ่งที่ชาวฮ่องกงได้ประสบพบเมื่อหลายปีที่ผ่านมาสามารถให้บทเรียนแก่ไต้หวันได้อย่างดี”

นายกรัฐมนตรีของไต้หวันคือนายหลิน ชวนบอกกับนิกเคอิเอเชียนรีวิวระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนว่า “เกาะฮ่องกงจะมีอนาคตสดใสถ้าจีนยอมให้ฮ่องกงสามารถดำรงสังคมให้เป็นประชาธิปไตยและเปิดกว้าง”

เจ้านายของเขาคือประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินนั้นเป็นบุคคลสำคัญในการเขียนกฎหมายปัจจุบันซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับฮ่องกงและมาเก๊า ขณะที่เธอเป็นนักวิชาการเมื่อกลางทศวรรษที่ 90  กฎหมายดังกล่าวระบุว่าไต้หวันต้องให้ “การช่วยเหลือที่จำเป็น” ต่อผู้อยู่อาศัยในอาณาเขตของจีนทั้ง 2 เขต เมื่อความมั่นคงและเสรีภาพของพวกเขาอยู่ภายใต้การคุกคามอย่างชัดเจนอันเกิดจาก “เหตุทางการเมือง”


 


หมายเหตุ: แปลจากบทความ Beijing's crackdown on Hong Kong is alienating Taiwan

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net