Skip to main content
sharethis

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ “พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์” โดยมีผลยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 / 2484 และ 2491 โดยในมาตรา 5 กำหนดให้ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ได้แก่ ทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

16 ก.ค. 2560 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ในช่วงท้ายของ พระราชบัญญัติได้ระบุ เหตุผลในการประกาศใช้ ดังนี้โดยที่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ทรงใช้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ จึงสมควรให้การจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อให้การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินนั้นเป็นไปโดยเหมาะสมตามที่จะทรงมีพระราชวินิจฉัยและเป็นไปตามโบราณราชประเพณี ซึ่งจะสอดคล้องกับการจัดระเบียบราชการในพระองค์ตามที่ได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์ขึ้นใช้บังคับแล้วด้วยจึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

โดยรายละเอียดทั้งหมดของ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 มีดังนี้

พระราชบัญญัติ

จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์

พ.ศ. 2560

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ให้ไว้ ณ วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิก

(1) พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479

(2) พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉะบับที่ 2) พุทธศักราช 2484

(3) พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉะบับที่ 3) พ.ศ. 2491

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

“ทรัพย์สินส่วนพระองค์” หมายความว่า ทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์อยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และทรัพย์สินที่ทรงได้มาไม่ว่าในทางใดและเวลาใดอันเป็นการส่วนพระองค์ ทั้งนี้ รวมถึงดอกผลที่เกิดจากบรรดาทรัพย์สินเช่นว่านั้นด้วย

“ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” หมายความว่า ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์นอกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์

มาตรา 5 ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ได้แก่ ทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

การใดที่มีผลทำให้สิ้นสุดการเป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว

มาตรา 6 การจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อการนี้พระมหากษัตริย์จะทรงมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์สำหรับทรัพย์สินใดภายใต้เงื่อนไขอย่างใดก็ได้

เมื่อได้ทรงมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์สำหรับทรัพย์สินใดแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อได้มีการประกาศตามวรรคสองแล้ว ในกรณีทั้งปวงเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ห้ามมิให้ระบุพระปรมาภิไธยหรือข้อความใด อันแสดงหรืออนุมานได้ว่าพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ ให้ระบุเพียงชื่อผู้ได้รับการมอบหมายดังกล่าวแล้ว และในกรณีที่ทรงมอบหมายให้บุคคลหรือหน่วยงานอื่นใดที่มิใช่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้จัดการ ให้ต่อท้ายด้วยคำว่า “ผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์” หรือ “ผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” แล้วแต่กรณี สำหรับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ทรงมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้จัดการ ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ

มาตรา 7 ให้มีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีฐานะเป็นนิติบุคคลเป็นหน่วยงานในพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่จัดการ ดูแลรักษา จัดหาผลประโยชน์ และดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ตามที่จะทรงมอบหมาย

มาตรา 8 ในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการอื่น ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย และในจำนวนนี้จะได้ทรงแต่งตั้งกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ

การพ้นจากตำแหน่งกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีอำนาจหน้าที่ดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในการนี้ ให้มีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับการบริหารกิจการและการบริหารงานบุคคลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์

ผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และที่คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กำหนด และเป็นผู้แทนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก

รายได้จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นำไปจ่ายหรือลงทุนได้ ทั้งนี้ ตามที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายหรือใช้สอยได้ก็แต่โดยพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย

มาตรา 9 ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์จะต้องเสียภาษีอากรหรือได้รับยกเว้นภาษีอากรย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

มาตรา 10 ให้ทรัพย์สินส่วนพระองค์ตามพระราชบัญ ญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ตามพระราชบัญญัตินี้

ให้ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 11 ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัตินี้

ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ ความผูกพัน และพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์พุทธศักราช 2479 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 12 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ทรงใช้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ จึงสมควรให้การจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อให้การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินนั้นเป็นไปโดยเหมาะสมตามที่จะทรงมีพระราชวินิจฉัยและเป็นไปตามโบราณราชประเพณี ซึ่งจะสอดคล้องกับการจัดระเบียบราชการในพระองค์ตามที่ได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์ขึ้นใช้บังคับแล้วด้วยจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้








ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net