ราคายางตก 'ประยุทธ์' ชี้ปัญหาหนึ่งปลูกมากเกินไป แนะปลูก 'ทุเรียน-มังคุด' แทน

พล.อ.ประยุทธ์ ชี้รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำทั้งระบบ ระบุปัญหาสำคัญคือยังคงปลูกมากเกินไป ขอเกษตรกรลดพื้นที่ปลูก ปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น ทุเรียนและมังคุด ย้ำหากไม่เปลี่ยนราคายางก็คงไม่สามารถขยับสูงไปมากกว่านี้

แฟ้มภาพ

11 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ต้องยอมรับว่า ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งของไทยคือ ยังคงมีพื้นที่ปลูกยางมากเกินไป และยังพบว่ามีการปลูกในพื้นที่บุกรุกถึง 3 ล้านไร่ แต่รัฐบาลคงไม่สามารถสั่งให้หยุดปลูกได้ทั้งหมด เพราะจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความเดือดร้อน  อยากให้เกษตรกรลดพื้นที่การปลูกยางลงและหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น ทุเรียน และมังคุดที่มีราคาสูง เพราะหากไม่เปลี่ยนแปลง ราคายางก็คงไม่สามารถขยับสูงไปมากกว่านี้ได้ 

"ทำไมไม่ตัดยางแล้วปลูกผลไม้อื่นบ้างในบางพื้นที่ มันก็จะมีรายได้ตรงนี้ขึ้นมา ถ้าไม่แก้ไขตรงนี้ ราคายางก็อยู่แค่นี้ มันไม่มีขึ้นหรอก วันโน้นกับวันนี้คนละเวลากัน โลกมันไม่ใช่แบบเดิมแล้ว โลกมันเปลี่ยนแล้ว อย่าไปคิดแบบเต่าล้านปีกันเลย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่ต้องการให้ยางมีราคากิโลกรัมละ 70 บาทนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาจากปริมาณยางว่ามีมากเพียงใด เพราะหากมียางทั้งในสต็อกของไทยและในตลาดโลก คงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้ราคาสูงขึ้น รัฐบาลคงไม่สามารถนำงบประมาณไปซื้อยางมาเก็บไว้ได้ทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งยังมียางอยู่ในสต็อกที่ยังไม่ได้ขายออกไป และยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหา เพราะสามารถสั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ นำยางไปใช้งานได้ เบื้องต้นให้ทางทหารช่าง นำยางไปใช้ในการทำถนน ที่ขณะนี้สามารถเพิ่มสัดส่วนได้ถึงร้อยละ 15 แต่จะต้องเพิ่มงบประมาณให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย นอกจากนั้นยังต้องเพิ่มการใช้ประโยชน์ในส่วนของสาธารณสุข กีฬา แต่ต้องจัดทำแผนการดำเนินงานและเพิ่มงบประมาณเช่นเดียวกัน  ซึ่งแนวทางทั้งหมดจะมีการหารืออีกครั้งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ค.) 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในการแก้ปัญหาร่วมกันของ 3 ประเทศ ที่ไทยได้ส่งตัวแทนไปพูดคุยนั้น  ที่ประชุมเห็นว่าการทำให้ราคายางสูงขึ้นนั้นทำได้ยาก เป็นผลจากปริมาณยางของไทยมีมากเกินไป ในขณะที่ทั้ง 3 ประเทศได้ปรับลดพื้นที่ปลูกยางของตนเองลงกว่าร้อยละ 50 รัฐบาลจึงต้องปรับปริมาณการผลิตยางของไทยให้เหมาะกับทั้ง 3 ประเทศ และอีกปัญหาหนึ่งคือการที่ 3 ประเทศมองว่าเสถียรภาพทางการเมืองมีผลต่อราคายางพารา โดยเฉพาะกับตลาดการซื้อขายล่วงหน้า จึงขออย่าให้มีการเคลื่อนไหวกดดันในขณะนี้ และสิ่งสำคัญนอกจากมาตรการช่วยเหลือแล้ว เกษตรกรต้องช่วยเหลือตัวเองและร่วมมือในการปฏิบัติตามแนวทางและมาตรการที่อนุมัติมา เพราะสิ่งที่พยายามทำคือการแก้ไขทั้งระบบ โดยไม่ใช้วิธีอุดหนุนที่เป็นการแก้ปัญหาปลายทางเพียงอย่างเดียว   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท