พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: ความเสื่อมของซีเอ็นเอ็น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หากเป็นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เอ่ยชื่อซีเอ็นเอ็น (CNN) สำนักข่าวนานาชาติสัญชาติอเมริกัน น้ำหนักและความหนักหน่วงของชื่อนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์กันดีในวงการสื่อมวลชนทั่วโลก นับแต่ “สงครามอ่าว” สมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช เป็นต้นมา

ทว่า วันนี้ อยู่ในช่วงขาลงของซีเอ็นเอ็นอเมริกา

ขาลงเหมือนกับสื่อสำนักอื่นๆ ในอเมริกา ทั้งสื่อโทรทัศน์และสื่อหนังสือพิมพ์จากยอดรายได้ที่ลดลง ยิ่งซีเอ็นเอ็นด้วยแล้ว ไม่เป็นสื่อทีวีที่ป็อพปูล่า สำนวนไทยก็คือ ไม่ขลังอีกต่อไป ในยุคที่สื่อต่างๆ ทั่วโลกต่างตะเกียกตะกายนำองค์กรเข้าสู่โลกออนไลน์กันอย่างขะมักเขม้น เพื่อประคับประคองตัวเองให้รอดไปวันๆ

ซีเอ็นเอ็นเองไม่ต่างจากสื่ออื่นๆ เหล่านั้น แม้ภาพภายนอกของสถานีทีวีข่าวช่องนี้ของอเมริกันจะดูเข้มแข็งเหมือนสื่อทีวีช่องอื่นโดยทั่วไป แต่ทว่าลึกๆ แล้ว มันได้ซ่อนความอ่อนแอไว้ภายใน จากคู่แข่งธุรกิจแนวเดียวกันที่แข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยที่ผลของการแข่งขันดังกล่าวอาจทำให้องค์กรข่าวยาวนานของอเมริกันแห่งนี้ ปลาสนาการไปจากสาระบบสื่อโลกก็เป็นได้

เป็นที่ทราบกันดีว่าวัฒนธรรมสื่อมวลชนอเมริกันหรือสื่อมวลชนใดในโลกก็ตามนั้น การนำเสนอข่าวหรือข้อมูลมักเน้นข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเทศของตัวเองเป็นหลัก ซีเอ็นเอ็นก็เช่นกัน การนำเสนอข่าวและข้อมูลส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปที่ผลประโยชน์ของอเมริกันเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ด้านใดหรือผลประโยชน์ในภูมิภาคใดของโลกก็ตาม ดังเป็นที่ทราบกันว่า ซีเอ็นเอ็นคืออเมริกัน อเมริกันคือซีเอ็นเอ็น ภาพของซีเอ็นเอ็นผูกติดกับสังคมอเมริกัน จึงยากที่สำนักข่าวของอเมริกันแห่งนี้จะสร้างเครือข่ายหรือพันธมิตรนอกประเทศได้ง่ายเหมือนที่บีบีซีของอังกฤษทำ เพราะหากว่าไปแล้ว บีบีซีนั้นให้ภาพของความเป็นสากลมากกว่าซีเอ็นเอ็นเสียด้วยซ้ำ  แม้สำนักข่าวของอังกฤษแห่งนี้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลยู.เค.ก็ตาม

การที่ซีเอ็นเอ็นหมกมุ่นอยู่กับข่าวที่คาบเกี่ยวกับผลประโยชน์ของอเมริกันเป็นหลักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้จะนำเสนอประเด็นเชิงลึกได้ดีแต่ปัญหาคือ การสร้างพันธมิตรทางด้านการข่าวและข้อมูลที่ยากมากขึ้น คือ ยากที่จะมีสำนักข่าวต่างประเทศ สำนักใดผูกพันทำเงื่อนไขธุรกิจการค้าข่าว (Business Dealing)  กับซีเอ็นเอ็น เพราะสื่อของแต่ละชาติเองส่วนใหญ่จะนำเสนอเนื้อหาเชิงผลประโยชน์ของชาตินั้นๆ เช่น สื่อมวลชนไทยก็นำเสนอข่าวและข้อมูลของไทยหรือคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ในไทยเป็นหลัก ดังนั้น ปัญหาตรงนี้อีกประการหนึ่งก็คือ ซีเอ็นเอ็นไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของสื่อนอกอเมริกาได้ หากซีเอ็นเอ็นยังคงเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับอเมริกันมากกว่าเนื้อหาของภูมิภาคอื่นของโลกเหมือนเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ตอบโจทย์ความต้องการของสื่อนานาชาติแต่อย่างใด หากจะเผอิญมีแมงเม่าสื่อนานาชาติชาติใด บินเข้าไปให้ไฟซีเอ็นเอ็นลนก้นบ้างก็นับว่าเป็นโชคของซีเอ็นเอ็น เป็นความฟลุ๊คทางธุรกิจของสื่อทีวีอเมริกันช่องนี้เสียมากกว่า

ทั้งนี้ ต้องทราบก่อนว่าในอเมริกาเองนั้น มีสื่อมวลชนนานาชาติเข้ามาทำงานกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ทำเนียบขาว มีสื่อมวลชนเฝ้าอยู่โยงประจำ 24 ชม. ทุกๆ วัน ไม่มีวันหยุด มีกล้องทีวีจับจ้องทำเนียบตลอดเวลา สื่อมวลชนเหล่านี้เป็นสื่อมวลชนหลากหลาย เป็นสื่อนานาชาติทั่วไป เช่น สื่อญี่ปุ่น สื่ออินเดีย สื่อสัญชาติอาหรับ เป็นต้น

แน่นอนว่าสื่อสัญชาติต่างๆ เหล่านั้น ต่างได้รับมอบหมายจากบรรณาธิการ ให้ถามแหล่งข่าวฝ่ายอเมริกันในประเด็นสำคัญของประเทศตนที่ผู้ชมของตนสนใจ เช่น สื่อญี่ปุ่นอาจถามทรัมป์ เรื่องกรณีพิพาทหมู่เกาะญี่ปุ่นกับรัสเซียหรือท่าทีของรัฐบาลอเมริกันต่อการทดลองยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ที่กระทบต่อญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่สื่อใหญ่อย่างซีเอ็นเอ็น ย่อมมุ่งประเด็นไปในส่วนผลประโยชน์ของอเมริกัน หรือส่วนที่คาบเกี่ยวกับอเมริกันมากกว่าประเด็นของชาติอื่น

เป้าหมายของสื่อใหญ่อย่างซีเอ็นเอ็น ที่มุ่งตอบสนองผู้บริโภคสื่อชาวอเมริกันมากกว่าอย่างอื่น จึงไม่ตรงกับเป้าหมายของสื่อสัญชาติอื่น เช่น ไม่ตรงกับสื่อญี่ปุ่น สื่ออินเดีย หรือสื่ออาหรับ การผูกดีลทางการข่าวหรือข้อมูลระหว่างซีเอ็นเอ็นกับสื่ออื่น จึงเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย เพราะเป้าหมายไม่ตรงกัน ขณะที่สื่อสัญชาติอื่นที่ไม่มิใช่สื่อสัญชาติอเมริกันก็มีโอกาสในการแสวงหาข่าวและข้อมูลในอเมริกา ไม่น้อยกว่าซีเอ็นเอ็น มิหนำซ้ำบางสื่อเหล่านี้มีความคล่องตัวมากกว่าซีเอ็นเอ็นเสียอีกด้วยซ้ำ

ด้วยองคาพยพที่ใหญ่ของซีเอ็นเอ็น ทำให้สำนักข่าวแห่งนี้เคลื่อนไหวได้ช้ากว่าสื่อนานาชาติ ไม่รวมถึงสื่อกระแสรองที่ เช่นสื่อออนไลน์ที่มีการขยับปรับบทบาทของตัวเองให้จริงจังเป็นมืออาชีพมากขึ้น สื่อกระแสรองเหล่านี้ บางสื่อกลายเป็นแหล่งข้อมูลของสื่อกระแสหลักแบบเดียวกับซีเอ็นเอ็น ทั้งยังเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายมากกว่าซีเอ็นเอ็นที่เป็นองค์กรอุ้ยอ้าย ไม่กระฉับกระเฉงเหมือนเดิมอีกต่อไป

ในส่วนการแข่งขันกับนานาชาติ ซีเอ็นเอ็นเองมีปัญหาเช่นกัน เป็นปัญหาเดียวกับที่บริษัทอีคอมเมิร์ชของอเมริกันอย่างอีเบย์ และแอมะซอน เคยปะทะกับอาลีบาบาดอทคอมของ แจ็ค หม่า จนในที่สุดบริษัทเหล่านี้ ต้องพ่ายให้กับอาลีบาบาเจ้าถิ่นในจีน สำหรับซีเอ็นเอ็นนั้น พวกเขาต้องสูญเสียพื้นที่ด้านข่าวและข้อมูลที่เคยถือครองมาก่อนให้กับ CCTV ของจีน Al Jazeera ของอาหรับ (มีฐานอยู่ในการ์ต้า) NHK ของญี่ปุ่น  Australia Plus ของออสเตรเลีย  RUSSIAT ของรัสเซีย หรือแม้แต่ Channel News Asia ของสิงคโปร์ ซ้ำยังต้องเผชิญกับคู่แข่งที่ยาวนานอย่าง BBC ของอังกฤษอยู่เช่นเดิม หนักไปกว่าเดิม คือ สื่อโทรทัศน์กระแสหลักในอเมริกา เช่น CBS ABC และ Fox ล้วนใช้ Platform  การทำงานแบบเดียวกันหมด

ไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่สื่อนานาชาติจะต้องพึ่งซีเอ็นเอ็นเหมือนที่ผ่านมา แม้ผู้บริหารของซีเอ็นเอ็นจะตระหนักถึงปัญหาอันเนื่องมาจากการแข่งขันที่เกิดจากสื่อที่มีรูปแบบ (Platform) เดียวกับซีเอ็นเอ็น แต่ประเด็นสำคัญคือ สื่อนานาชาติเหล่านี้ต่างมีตัวแทนของตนทำงานอยู่มากมาย กระจายอยู่แทบทุกพื้นที่ในอเมริกา เพราะฉะนั้นข้อมูลที่สื่อนานาชาติได้มาจึงไม่แตกต่างจากซีเอ็นเอ็นแต่อย่างใด จึงเป็นที่แน่นอนแล้วว่า สินค้าซีเอ็นเอ็นเริ่มขายไม่ออกมากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังจะเกิดปัญหากับองค์กรแห่งนี้ ไม่เร็วก็ช้า

ผู้บริหารของซีเอ็นเอ็นเองพยายามหาทางออกแต่ดูเหมือนไม่ทันการณ์ เพราะโลกของสื่อมวลชนในยุคโลกาภิวัตน์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก พวกเขาพยายามหาข้อมูลและสร้างระบบที่เร้าใจผู้ชม  เช่น การวิเคราะห์ หรือการแปรสาส์นแบบที่น่าสนใจ เป็นต้น แต่นับว่าไม่ง่าย หนทางอยู่รอดขององค์กรข่าวอเมริกันที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแบบอย่าง และเป็นแรงบันดาลใจให้กับสื่อมวลชนโทรทัศน์ทั่วโลก วันนี้อนาคตช่างดูเลือนลางเสียเหลือเกิน

นอกเหนือจากความอืดช้า และการเข้าถึงแหล่งข้อมูลในระดับนานาชาติ ที่กลายเป็นข้อด้อยของซีเอ็นเอ็นมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับข่าวสารในโลกอาหรับไม่มีใครคิดว่าซีเอ็นเอ็นจะเร็วและเข้าถึงข้อมูลได้มากเท่า Al jazeera หรือในโลกเอเซียที่อาจเป็น CCTV ของจีนมากกว่าซีเอ็นเอ็น

แค่นี้ก็ทำให้ซีเอ็นเอ็นอยู่อย่างยากลำบาก สามารถหลุดออกไปจากวงโคจรในยุคสื่อสมัยใหม่เมื่อไหร่ก็ได้.

    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท