เส้นแดนของศิลปะในการนำเสนอชีวิตคน

ข้าพเจ้าจรดปลายนิ้วลงบนแป้นพิมพ์โดยที่ข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้ว่า ข้าพเจ้าจะลงมือพิมพ์มันในสถานะอะไร เหยื่อ ? วัตถุดิบ ? หรือ คนคนหนึ่ง?

ถ้าการที่ใครสักคนเอารูปของคุณไปสร้างผลงานศิลปะของเขาเองโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตจากคุณก่อน แล้วคุณอาจมองว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้วมันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย  ภาพๆ นั้นอาจจะเป็นภาพที่ผู้คนถ่ายไว้ สื่อมวลชน หรือใครก็ตาม ที่ถ่ายไว้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง สำหรับเหตุการณ์หนึ่ง ณ เวลานั้น ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะควบคุมสิ่งใดได้ เพราะ สิ่งนั้นได้กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า "ข่าว"ไปแล้ว เป็น “สาธารณะ” ไปแล้ว

แต่หลังจากนั้นหากใครสักคนจะนำมันไปสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ"ของตัวเขาเอง" เพื่อจุดประสงค์อันดีงามหรืออย่างไรข้าพเจ้าไม่สามารถทราบได้ แต่ ถ้าหากไม่ได้รับความยินยอมพร้อมใจจากตัวข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าถือว่า เป็นการเหยียบย่ำซ้ำเติมข้าพเจ้า

เพราะมันคือการย้ำเตือนให้ข้าพเจ้ารับรู้แต่เพียงว่า ข้าพเจ้าเป็นเพียงวัตถุดิบของการสร้างสรรค์งานของเขา ข้าพเจ้าเป็นเพียง “สิ่ง” ที่ใครจะนำไปใช้อย่างไรก็ได้ แต่ความจริงแล้ว ข้าพเจ้ามีชีวิต ข้าพเจ้าไม่ใช่กระดาษ ไม่ใช่ผืนผ้าใบ ไม่ใช้ปากกา และไม่ใช่เพียงภาพถ่าย

และหากหากศิลปิน มองชีวิตของข้าพเจ้าและผู้คนในงานศิลปะของเขาในฐานะวัตถุดิบแล้ว เขายิ่งจะต้องให้เกียรติเรามากขึ้นเท่านั้นด้วย

บรรทัดฐานของสื่อมวลชน กับการนำเสนอข่าวและการใช้ภาพประกอบ เป็นอย่างไร ข้าพเจ้าไม่รู้ได้ นี่อาจจะเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนและคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน อาจจะต้องถกเถียงกันต่อไป แต่สำหรับสิ่งที่ข้าพเจ้าสะท้อนได้ ก็คือการเป็นคนที่มีชีวิต มีจิตใจ แล้วถูกนำไปใช้สร้างสรรค์เป็นงานศิลปะโดยคนที่ข้าพเจ้าไม่รู้จัก ไม่ได้รับการบอกเล่า หรือขอความยินยอมแต่อย่างใด ไม่แตกต่างจากคนที่ตายไปแล้วและไม่สามารถทำอะไรได้

ชีวิตในภาพถ่ายนั้น เป็นชีวิตของข้าพเจ้า ภาพถ่าย ภาพนั้นเป็นของข้าพเจ้า ต่อให้มันถูกถ่ายโดยคนอื่น แต่ชีวิตในภาพถ่ายนั้นก็ยังเป็นชีวิตของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าไม่ได้เข้าใจในความเป็นศิลปินเท่าใดนัก ข้าพเจ้าไม่รู้หรือไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าการเป็นศิลปินนั้น มีใบอนุญาตให้นำชีวิตของผู้อื่นมาใช้สร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือไม่

ข้าพเจ้าเองยิ่งไม่ทราบว่า บรรทัดฐานของการสร้างผลงานศิลปะ โดยการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเหยื่อ  "ของคนที่พวกเขาเรียกว่า “เหยื่อ” " นั้น ควรจะมีความพอเหมาะ พอดีสำหรับเจ้าของเรื่องราวและผู้เล่าเรื่อง (ศิลปิน?) ตรงจุดไหน

การที่เรื่องราวของเราถูกบอกเล่าผ่าน "ข่าว" หรือ ข้อมูลใน "รายงาน" นั้นแปลว่าชีวิตของเราเป็นของสาธารณะชนหรือ ? ใครจะหยิบเอาเรื่องราวของเราไปสร้างสรรค์ผลงานของตนเองก็ได้หรือ

ข้าพเจ้าขอย้ำให้ชัดว่า มันไม่ใช่เลย

เพราะ ยิ่งคุณมองผู้คนเหล่านั้นเป็น "เหยื่อ" คุณ ก็ยิ่งจะต้องถนอมความรู้สึกของพวกเขา ยิ่งต้องช่วยกอบกู้ความเป็นมนุษย์ ของเขาไว้มิใช่หรือ

หรือหากศิลปินมีความเชื่อว่า ตนกำลังบอกเล่าเรื่องราวของชีวิตผู้คน สิ่งที่สำคัญยิ่งยวดไปกว่าความงามตามหลักศิลป์ คือการเคารพชีวิตของผู้คนที่เขากำลังเล่าเรื่อง

ถือเป็นความดีงามหากจะมีศิลปินสักคนหนึ่ง ในสังคมที่พยายามซ่อนเร้นความจริง ตีฝ่าวงล้อมของสังคมออกมาบอกเล่าเรื่องราวในอีกฝากฝั่งหนึ่ง

แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ยิ่งตัวศิลปินมีความปรารถนาดีต่อการเผยแพร่ผลงาน และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมประเทศ มากเท่าใด เขาก็ยิ่งจะต้องเคารพ และ ให้เกียรติชีวิตทุกชีวิต ที่เขานำมาสร้างสรรค์ผลงานมากเท่านั้น ไม่ใช่เพียงแต่ว่าหยิบเอาชีวิตของผู้อื่นมาเล่าเรื่องราว โดยที่ไม่สนใจว่าชีวิตเหล่านั้นจะดำเนินไปถึงจุดใดแล้ว เขามีความยินดีที่จะมอบชีวิตและมอบเรื่องราวของเขาให้ศิลปินท่านนั้นเป็นผู้บอกเล่าหรือไม่

ในแง่มุมของการรณรงค์ ใครจะเป็นผู้แบกรับผลกระทบที่ของการรณรงค์นั้น ข้าพเจ้าเองรู้ดีว่าความจริงแล้วการรณรงค์หรือแถลงการณ์ต่างๆ นั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำตัดสินของศาลในประเทศนี้ได้ แต่การอยู่นิ่งเฉยก็ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ซ้ำยังกัดกินจิตวิญญานของผู้คนลงไปเรื่อยๆ

หากแต่การออกมาพร่างพรูความรู้สึกของข้าพเจ้าเองนั้น ก็ยังกำกึ่งและสับสนปนเปอยู่ ระหว่างสถานะใดกันแน่ ข้าพเจ้ามีเสียงที่ดังกว่าผู้อื่น ข้าพเจ้ามีไฟสาดส่องอยู่บ้าง เสียงและภาพของข้าพเจ้าจึงดังและชัดเจนกว่าผู้อื่น....เพราะว่าความจริงแล้ว เหยื่อจริงๆ นั้นไม่มีเสียง

บางคนเช่นข้าพเจ้า แม้จะมีเสียงและไฟสาดส่องแต่พวกเขาก็ถูกทำให้ชินชาไปกับการนำเรื่องราวไปหยิบใช้ หมายใจว่าจะช่วยให้ประเด็นการต่อสู้นั้นขยายวงกว้างออกไปสู่ผู้คนมากขึ้น หวังเพียงว่าข้อมูลที่ถูกบ้างผิดบ้างจะช่วยให้ใครสักคนตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น "ยังไงข้อมูลมันก็ออกไปกับสาธารณะไปแล้ว"

แต่กับผู้คนที่ ถูกเรียกว่าเหยื่อนั้น พวกเขาอาจจะไม่เคยรับรู้ เลยด้วยซ้ำว่า มีใครกำลังบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาอยู่ มีใครกำลังสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากการถูกจองจำของพวกเขาอยู่

พวกเขาไม่รู้แม้กระทั่งว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่คนอื่นกำลังนำเสนอนั้นจะส่งผลกระทบอย่างไรกับชีวิตของเขา ชีวิตของพวกเขามีความหมายในแง่มุมไหนของศิลปิน มีคุณค่าอย่างไรในแวดวงศิลปะ เส้นแบ่งบางๆของการเป็นแรงบันดาลใจกับการหยิบเอามาใช้ มันอยู่ที่ตรงไหน เพราะศิลปินเองอาจจะไม่ได้ต้องการที่จะรับรู้เรื่องราวจากปากของพวกเขา จากห้วงลึกในความรู้สึกของพวกเขามากไปกว่า การเอาเรื่องราวที่รับรู้อย่างฉาบฉวย มาทำให้เป็น "ภาพถ่ายที่ถูกจัดเรียงอย่างเก๋ไก๋" เพื่อจะได้แสดงเป็นผลงานศิลปะที่มีอุดมการณ์ และต้องการจะบอกเล่าเรื่องราวของชีวิตคน ????

แต่ถ้าจะพูดกันในฐานะ "วัตถุดิบแบบนี้" ต่อให้มันกลายสาธารณะไปแล้ว แต่มันถูกเอามาเล่าใหม่ในโครงสร้างการเล่าเรื่องของศิลปิน มันไม่ใช่คลิปที่เป็นแค่คลิป มันถูกเอามาตัดต่อ เรียบเรียง จัดแสดง  มันไม่ใช่ภาพที่เป็นแค่ภาพ มันถูกเอามาพิมพ์ใหม่ วางและจัดแสงตามโครงสร้างใหม่ที่ศิลปินออกแบบไว้ซึ่งต่อให้มันไม่ได้บิดเบือนข้อเท็จจริงแต่ ปัญหาคือมันกลายเป็นงานชิ้นใหม่ เป็นงานศิลปะที่มีชื่อศิลปินคนนั้นๆ เป็นเจ้าของอยู่นั่นไง ฉะนั้นมันไม่ใช่วัตถุดิบสาธารณะที่ลอยอยู่ในอากาศที่ไหนและจะคว้าไปใช้เมื่อไรก็ได้

ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ควรจะต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจของคนที่จะกลายมาเป็น "วัตถุบอกเล่า" นั้นด้วย

และถ้าจะพูดกันในนิยามของการสร้างสรรค์งานศิลปะ ซึ่งข้าพเจ้ามีความรู้เพียงน้อยนิดนั้น มันควรจะละเอียดอ่อนกับชีวิตและความรู้สึกของผู้คน (ที่ไม่ใช่เพียงผู้เสพ แต่หมายรวมถึงผู้ที่ถูกจัดวางในฐานะตัวแสดง) กว่าที่เป็นอยู่ไม่ใช่หรือ ?

"เรา" ข้าพเจ้าหมายถึง ทั้งผู้ทำงานศิลปะ งานรณรงค์ งานข้อมูล งานใดๆก็แล้วแต่ ที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตของผู้คนในสังคมโกโรโกโสนี้ ควรจะต้องหันมา สร้างพลัง และความมั่นใจให้แก่เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ ให้พวกเขาสามารถบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาด้วยวิถีทางที่สากลจะเข้าใจได้ ด้วยปาก ด้วยร่างกาย ด้วยภาพ แทนที่จะมีใครต่อใครไปทำแทนพวกเขา เรามาสร้างการมีส่วนร่วมในการบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้น ร่วมกันกับเขา แทนการหยิบเอาส่วนหนึ่งที่เราต้องการจากเขามาใช้ ได้หรือไม่

เส้นแห่งความพอดีนั้นควรอยู่ที่ตรงไหน

มันอาจจะเป็นคำถามที่ไร้ค่ากว่าการจะฉุกคิดของใครหลายคน แต่ หากคำถามนี้จะสะท้อนสิ่งที่ค้างคาได้นั้นก็ถือว่าดีแล้ว ส่วนใครจะหาว่าข้าพเจ้าจิตใจคับแคบ ก็ไม่เป็นไร หรือใครจะหาว่าข้าพเจ้ากำลังจะก่อเรื่องดราม่าขึ้นมา นั่นก็ยิ่งไม่เป็นไร

ป.ล. สืบเนื่องจากการถูกนำภาพถ่ายไปใช้ในการแสดงงานศิลปะงานหนึ่ง ของศิลปินคนหนึ่ง โดยที่ไม่ได้รับรู้มาก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท