Skip to main content
sharethis

คุยกับผู้เชี่ยวชาญงานสาธารณประโยชน์ของอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ หวั่น มหาวิทยาลัยเน้นสร้างบัณฑิตตอบโจทย์ตลาดแรงงานหลงลืมบทบาทน้ำพุทางปัญญาให้สังคม ชี้ ทุกคนควรเข้าถึงความรู้ ให้การศึกษา การแลกเปลี่ยนความเห็นค้นหาสิ่งที่ตนและสังคมต้องการจริงๆ

ถ้อยแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานพิธีเปิดงานวันแรงงานประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ใจความว่า  สำหรับผู้ปกครองขอให้ส่งเสริมลูกหลานให้เรียนในสาขาอาชีพที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน อย่ายึดติดกับปริญญาบัตร ขอให้เน้นเรียนจบมาแล้วมีงานทำต่อไป สะท้อนถึงความพยายามผูกสถาบันการศึกษาเข้ากับความต้องการของตลาดแรงงานได้ชัดเจน

ประชาไท นั่งพูดคุยกับโจชัว ฟอร์สเทนเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานสาธารณประโยชน์ของสถาบันอุดมศึกษา จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ ถึงปัญหาเมื่อทำให้มหาวิทยาลัยเป็นสินค้า การนำสถาบันและผู้เรียนไปผูกกับกลไกตลาดและความต้องการของตลาดแรงงานดังที่ท่านผู้นำเรียกร้อง ทางสองแพร่งของนักเรียนระหว่างอยากเรียนกับอยากรวย คุณค่าของมหาวิทยาลัยที่สังคมคู่ควร การเรียนปรัชญาในโรงเรียนอังกฤษและฝรั่งเศสที่เตรียมนักเรียนและพลเมืองที่คิดเป็น และความเห็นที่มีต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่

โจชัว ฟอร์สเทนเซอร์ ได้รับเชิญมาเป็นหนึ่งในวิทยากรการเสวนาในประเด็นการทบทวนบทบาทของมหาวิทยาลัยในยุคที่ประชาธิปไตยกำลังถดถอย ที่งานเสวนา  “บทบาทอุดมศึกษาในยุคประชาธิปไตยถดถอย การสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม” จัดโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และมูลนิธิ ฟอน เอแบรต์ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 20-21 เม.ย. ที่ผ่านมา

หวั่นมุ่งเข็นบัณฑิตเข้าตลาดแรงงานอย่างเดียวเปลี่ยนวัฒนธรรมการเป็นคลังปัญญาของสังคม

โจชัว ฟอร์สเทนเซอร์

ในวงเสวนา โจชัว กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีวัตถุประสงค์ในทางเศรษฐกิจที่ไปกันได้กับคุณค่าประชาธิปไตยอยู่ 3 ประการ

1. สร้างทักษะที่มีมูลค่าทางตลาดให้นักศึกษา ที่ผ่านมามีพัฒนาการเพื่อตอบสนองตลาดได้อย่างดีเยี่ยม

2. สร้างความเคลื่อนไหวทางสังคม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สร้างโอกาสให้นักศึกษา ให้ไปพัฒนาโอกาสในสาขาต่างๆที่ตนเรียน ไปจนถึงการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม

3. เป็นพื้นที่บ่มเพาะความสามารถทางอุตสาหกรรมและนวัตกรรม เป็นแหล่งงานวิจัยและพัฒนาที่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ

หน้าที่ของมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ถูกลดทอนคุณค่าให้มีหน้าที่เพียงข้อที่ 1 และ 3 รัฐบาลทำให้การศึกษาเป็นสินค้าซึ่งสะท้อนได้จากการวัดผล จัดอันดับ และการแข่งขันต่างๆ โดยได้ยกแนวคิด “การคลั่งไคล้สภาวะแข่งขัน(Competition Fetish)” ของ ศ.ราชานี ไนดู (Rajani Naidoo) กูรูด้านการจัดการการอุดมศึกษามาอธิบาย โดยกล่าวว่า สภาวะหมกมุ่นกับการแข่งขันเป็นเวลานานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมการบริหารจัดการในหมู่อาจารย์ นักศึกษา นักวิจัย ให้เกิดการมุ่งเน้นไปที่การสร้างผลงาน สร้างชื่อเสียงจากงานวิจัยและตำแหน่งแห่งที่ทางวิชาการ ตัวกิจกรรมนอกหลักสูตรการเรียนการสอนก็ทำไปเพื่อให้ประสบการณ์แก่ตัวนักศึกษาให้พร้อมสู่การเป็นแรงงาน

สถานการณ์การอุดมศึกษาในบริบทของสหราชอาณาจักรเองสะท้อนชัดถึงความเป็นทาสของตลาดและการแข่งขัน 40 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของงานวิจัยและการกลายสภาพเป็นเอกชนของมหาวิทยาลัย ในปัจจุบัน มีร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวกับนิยามความหมายของมหาวิทยาลัยกำลังถกเถียงในสภา โดยมีใจความโดยย่อว่า มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ที่ต้องคงไว้ซึ่งเสรีภาพการแสดงความเห็นและเสรีภาพทางวิชาการ มีบุคลากรที่มีคุณภาพที่จะทำให้นักศึกษาเป็นผู้ที่เรียนรู้ได้ตลอดชีพ เป็นสถาบันที่อุทิศตนให้กับสังคมและต้องเป็นผู้วิจารณ์รัฐบาล และเครื่องเตือนสติของสังคมอย่างเป็นอิสระ

โจชัวกล่าวว่า รัฐบาลเห็นว่า ร่างฯ ดังกล่าวเป็นการค้านกระแสการทำให้อุดมศึกษาเป็นสินค้า ในขณะที่รัฐสภาให้ความเห็นว่า การทำให้อุดมศึกษาเป็นสินค้านั้นควรจะมีข้อจำกัด โดยมหาวิทยาลัยจะต้องมีอยู่เพื่อประโยชน์ของสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ คือการเป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้เรียนรู้ว่าตนเองต้องการอะไรและด้วยเหตุผลอะไร มหาวิทยาลัยจะต้องช่วยเหลือปัจเจกและสังคมในการหาสิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งข้อสรุปดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากการต่อรองและถกเถียงกัน

ประชาไท: อยากให้ขยายสิ่งที่พูดในเวทีเสวนาที่ว่า หน้าที่ของการศึกษาคือการช่วยให้คนทำตามความปรารถนาที่แท้จริงให้ได้มากที่สุด

โจชัว: จริงๆมันเป็นเรื่องที่ว่า มนุษย์ทุกคนมีความปรารถนา แต่ว่าเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราหวังมันเป็นสิ่งที่เราอยากได้จริงหรือเปล่าจนกว่าเราจะคิดถึงเหตุผล การศึกษากับประชาธิปไตยนั้นมีคุณค่าบางอย่างที่เหมือนกัน คือมันเอามนุษย์ไปอยู่ในสถานการณ์ที่เราไปถึงสิ่งที่มุ่งหวังช้าลง ด้วยการพูดคุย การพูดคุยเพื่อขยายกรอบความคิดของเราว่ามีอะไรอยู่บนโลกบ้าง และในสิ่งเหล่านั้นมีอะไรบ้างที่เราต้องการ มันทำให้เราหงุดหงิดในช่วงแรกๆ แต่ผลที่เราได้รับก็คือ เราสามารถตระหนักถึงทางเลือกต่างๆมากไปกว่าสิ่งที่เราหวัง มันเปลี่ยนจากสิ่งที่เราต้องการ ไปสู่สิ่งที่เราเลือกแล้วจริงๆ จากการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ซึ่งในแง่หนึ่งก็สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อมีคนมาท้าทายความเชื่อ ความหวังของคุณ หรือท้าทายทางเลือกที่คุณเลือกไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเริ่มค้นหาสิ่งที่เราต้องการจริงๆ

แต่ความคิดเรื่องการได้รับในสิ่งที่ต้องการมันสำคัญ แน่นอนว่ามันหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสังคมเสรีนิยมใหม่ที่มาพร้อมความคิดที่ว่า “ฉันอยากได้ ฉันก็ไปซื้อ พอไปซื้อแล้วมันก็เป็นของฉัน” แต่ถ้าเราอยากเป็นพลเมืองที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เราต้องเรียนรู้ว่าเราจะให้ค่า ให้ความหมายกับความปรารถนาของเราอย่างไร เพราะคนเรามีความปรารถนาหลายอย่าง ซึ่งบางครั้งบางทีไม่ได้สอดคล้องไปกับความมุ่งหวังของคนอื่นในสังคม และเราจะให้ค่าความปรารถนาของเราได้ดีขึ้นด้วยการรู้จักโลก และความปรารถนาของคนอื่นในโลกให้มากขึ้นผ่านการพูดคุย

การทำให้การศึกษาเป็นสินค้าหรือการลงทุนเป็นปัญหาจริงหรือ สมมตินะ ถ้าผมลงทุนเรียนหมอเพราะหมอมีรายได้ดี มันผิดตรงไหน

การทำให้มหาวิทยาลัยเป็นสินค้าเป็นปัญหา เพราะมันทำให้ประสบการณ์ของผู้เรียนในระบบการศึกษาแปลกแยกไปจากการศึกษาที่ดี การศึกษาที่ดีมุ่งให้คนศึกษาเพื่อเรียนรู้ การทำให้มหาวิทยาลัยเป็นสินค้าบีบบังคับให้นักเรียนคิดถึงการศึกษาในเชิงการลงทุน ผมไม่โทษนักเรียนที่คิดแบบนั้น เพราะเงื่อนไขดังกล่าวมันทำให้เด็กคิดไปตามธรรมชาติถึงผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่การศึกษาจะให้เขาเพื่อให้เขามีชีวิต มีรายได้ที่ดีขึ้น ซึ่งความคิดแบบนั้นในยุคที่เด็กไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องจ่ายถึงจะได้เรียนนั้นมันสมเหตุสมผลแล้ว แต่ถ้ามองในเชิงโครงสร้างระบบการศึกษา การทำให้การศึกษาเป็นสินค้าทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับนักเรียนในอีกแบบหนึ่ง นักเรียนจะให้ความสำคัญกับผลที่นักเรียนจะได้รับหลังเรียนจบมากกว่าประสบการณ์ที่พึงได้รับในมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกันมันทำให้ผู้สอนอยู่บนความลักลั่นระหว่างหน้าที่ที่ต้องช่วยเหลือให้ผู้เรียนพัฒนาตัวเองให้มากที่สุด กับหน้าที่ที่ต้องสอนตามเนื้อหาให้ครบ ซึ่งหน้าที่สองอย่างนี้มักไปด้วยกันไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การกดดันให้มหาวิทยาลัยลดจำนวนปีที่นักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยลงเพื่อลดราคา เพิ่มประสิทธิภาพ แต่อย่าลืมว่าเวลาก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ แม้แต่การให้เวลาเด็กกลับไปอ่านหนังสือและนั่งครุ่นคิดก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ เมื่อใดที่คุณบอกว่าทำให้เรียนจบเร็วขึ้น บางทีก็พูดได้ว่าคุณทำให้ประสบการณ์ที่มีค่าในมหาวิทยาลัยน้อยลง เมื่อใดก็ตามที่ทำให้การศึกษาไปโยงกับการลงทุน ลดภูมิต้านทานต่อแรงกดดันจากพลังเงินที่ต้องการผลผลิตอย่างเร่งด่วน แถมทำให้คุณภาพด้านการศึกษาคลายความลุ่มลึกลง

แล้วจะสร้างสมดุลระหว่างอำนาจการเงิน การทำให้เป็นสินค้า กับบทบาทการสร้างพลเมืองที่ดี สร้างความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร

มีหลายทาง ทางหนึ่งคือการจัดให้มีการเรียนรู้เชิงบริการสังคมมากขึ้น เพราะมันจะทำให้นักเรียน นักศึกษามีโอกาสที่จะตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ที่ได้เรียนจากมหาวิทยาลัยที่มีลักษณะเป็นนามธรรม เข้ากับความเป็นจริงด้วยการเอาความรู้ไปช่วยเหลือสังคม ทำให้นักศึกษาตระหนักว่าความรู้เขามีค่าต่อการพัฒนาสังคมมากขนาดไหน

ผมคิดว่าการมีการศึกษาเรื่องอารยธรรม ประวัติศาสตร์ของความคิดมนุษย์จะเป็นประโยชน์ การให้ความสำคัญกับงานเขียนโบราณ งานเขียนคลาสสิคและเรียนรู้พัฒนาการของความคิดเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น การขาดความเข้าใจความคิดใหญ่ๆในอดีตทำให้การคิดเชิงวิพากษ์ของมนุษย์มีขีดจำกัด คุณอาจจะจับประเด็น หรือถกเถียงในประเด็นต่างๆได้ดี แต่การเข้าใจพลวัตของวิวัฒนาการทางความคิดช่วยให้เราวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน ความคิดเชิงวิพากษ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่โลกทุกวันนี้ที่เราต้องการ เราจำเป็นต้องเข้าใจถึงเดิมพันของอารยธรรมต่างๆ อะไรคือสิ่งที่อารยธรรมเห็นว่าสำคัญ และเกิดอะไรขึ้นบนโลกของเรา ซึ่งส่วนหนึ่งมันหมายรวมถึงความเข้าใจในประวัติศาสตร์ความคิด เพื่อเข้าใจว่าผู้คนกำลังถกเถียงอะไรกัน อะไรเป็นสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการถกเถียงดังกล่าว

จะเป็นอะไรที่ดีมากถ้าหลักสูตรการศึกษาจัดให้มีความรู้ดังกล่าวไว้ ซึ่งควรเป็นประวัติศาสตร์ของปรัชญา ความคิดทั่วโลก ในโลกตะวันตกไม่ได้พูดถึงขงจื่อ หรือหลักพุทธศาสนามากนัก ในทางกลับกัน ถ้าไม่มีการเรียนรู้ปรัชญาของโสเครตีส ถ้าไม่มีพัฒนาการทางความคิด ก็จะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่เกิดขึ้นบนโลกได้ยากขึ้น หลักความคิดที่หลากหลายนั้นไม่จำเป็นต้องดึงเอาแก่นที่มีร่วมกันมาสร้างเป็นสิ่งสากลสิ่งเดียว การเรียนรู้ดังกล่าวนั้นแค่ทำให้ผู้เรียนเข้าหามัน ได้เผชิญหน้ากับความคิดที่หลากหลายและได้ครุ่นคิดก็เพียงพอ

การบรรจุสิทธิมนุษยชนกับประชาธิปไตยในหลักสูตรการศึกษาสำคัญแค่ไหนภายใต้ยุคที่มีกระแสประชาธิปไตยถดถอย สถานศึกษามีส่วนต่อปรากฎการณ์เลี้ยวขวาในสหรัฐฯ หรืออังกฤษไหม

การบรรจุสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในหลักสูตรการเรียนการสอนทำให้คนมีความอดทนอดกลั้นและพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนความเห็น ซึ่งในทางเดียวกัน ผมเลยไม่คิดว่าสถานศึกษามีผลต่อกระแสดังกล่าว อย่างที่เห็นจากผลโหวตให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป วัยรุ่นจำนวนมากโหวตให้อยู่ต่อ แต่ผลดังกล่าวเกิดจากคนในสังคมกลุ่มที่ใหญ่กว่า คนรุ่นก่อนที่คิดว่าสังคมในแบบที่มันเป็นอยู่มันแย่สำหรับพวกเขา และก็คิดแทนไปว่าสังคมมันแย่สำหรับลูกหลานพวกเขาด้วย แม้ตัวเด็กจะไม่เห็นด้วยก็ตาม

ผู้เชี่ยวชาญด้านงานสาธารณประโยชน์ของสถาบันอุดมศึกษา อธิบายข้อสังเกตที่เป็นที่มาของกระแสปฏิเสธระบอบประชาธิปไตย การขึ้นมาของกระแสอนุรักษ์นิยมในโลกตะวันตกว่า เกิดขึ้นเพราะคนมีความเชื่อถือในระบอบประชาธิปไตยน้อยลง เหนื่อยหน่ายกับระบบการเมืองที่ตัวเองรู้สึกไม่ได้มีส่วนร่วม โลกตะวันตกเห็นความสำเร็จด้านเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ได้แก่จีนและรัสเซีย แสดงให้เห็นว่าความมั่งคั่งไม่ได้แปรผันตรงกับความเป็นประชาธิปไตย ประเทศที่ตัดสินใจทางเศรษฐกิจได้เร็วและมีประสิทธิภาพจะเป็นผู้ชนะ  เราจึงเห็น Brexit ในสหราชอาณาจักรและการขึ้นมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ

แต่การเพิ่มต้นทุนในการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาทำให้เป้าหมายทางการศึกษาเอียงจากเรื่องคุณค่าความเป็นพลเมืองไปสู่คุณค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเวลาเศรษฐกิจไม่ดีมันทำให้เกิดปัญหา เพราะคนที่เข้าไปเรียนมุ่งหวังกันว่าจบมหาวิทยาลัยแล้วจะได้งาน ส่วนหนึ่งก็เป็นความผิดของมหาวิทยาลัยที่สื่อสารออกไปหาตัวผู้เรียนเช่นนั้น ทำให้คนที่อยากเข้าเรียนต้องคิดถึงการศึกษาในแง่ของการลงทุน

“เอางี้ เวลาคุณเข้ามหาวิทยาลัยเขา [สังคมและมหาวิทยาลัย – ผู้สื่อข่าว] สัญญาว่าจบไปคุณจะได้งาน แต่ทีนี้คุณจบไปไม่มีงานทำ ทักษะความเป็นพลเมืองก็ไม่มี คุณไม่ผิดหวังเหรอ อย่างน้อยถ้าไม่ได้งานก็ต้องได้ความเป็นพลเมืองออกไป” 

อยากรู้เรื่องการเรียนการสอนปรัชญา ความคิดเชิงวิพากษ์ในหลักสูตรการศึกษาต่างประเทศ

ในอังกฤษ หลังนักเรียนผ่านการศึกษาวิชาบังคับต่างๆ นักเรียนในระดับมัธยมปลายจะมีเวลา 3 ปี ก่อนสำเร็จการศึกษา ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกเรียนวิชาต่างๆ ได้เก็บหน่วยกิตให้จบการศึกษา วิชาปรัชญาเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งวิชาปรัชญาในอังกฤษจะไปในเชิงวิพากษ์เสียมากกว่า

ในฝรั่งเศส เด็กในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถเลือกคอร์สเรียนหรือที่เรียกว่า แบ็คคาลอเรีย (baccalauréat) ในคอร์สทั่วไปจะมีวิชาปรัชญาให้เรียนเป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งเพียงพอกับการปูพื้นการทำความเข้าใจปรัชญา และการเรียนปรัชญาที่ฝรั่งเศสก็หนักไปทางการตีความ การทำความเข้าใจประวัติศาตร์ของปรัชญาและความหมายของคำต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับหลักสูตรของสหราชอาณาจักร

รัฐบาลอังกฤษในยุคที่ผ่านๆ มาลดความสำคัญของวิชาปรัชญาในโรงเรียนลงเรื่อยๆ แต่ผมและเพื่อนร่วมงานที่ทำงานด้วยกันในเรื่องการผลักดันให้สังคมเห็นความสำคัญของการศึกษาปรัชญาคิดว่า วิชาปรัชญาเอื้อให้เกิดการอภิปราย การแลกเปลี่ยนความเห็นแบบเป็นประชาธิปไตย ทำให้ผู้เรียนเข้าใจตนเองและความแตกต่างของผู้อื่น ซึ่งในมุมนี้ผมคิดว่า วิชาปรัชญาจะทำให้เกิดพัฒนาการที่ทำให้เกิดพลเมืองที่มีความคิดและใฝ่หาความยุติธรรม

แล้วคิดอย่างไรเมื่อมีคุณค่าบางอย่าง เช่น ค่านิยมดั้งเดิมในเอเชียที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

ผมถือหางการใช้สิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือทางการเมือง การปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งสำคัญในยุคนี้ เพราะมันเป็นเครื่องมือให้คนรุ่นเราสามารถหาทางทำความเข้าใจคนอื่น และตระหนักถึงความเป็นเจ้าของสถาบันการเมืองในวิถีประชาธิปไตย ผมขอค้านประเด็นที่ว่าความขัดแย้งระหว่างสิทธิมนุษยชนกับขนบเดิมเป็นจุดจบ เราแค่ต้องมองในมุมอื่นที่เข้ากันได้

อยากฝากอะไรทิ้งท้ายให้ผู้อ่านบ้างไหม

เด็กวัยรุ่นทั่วโลก ไม่ว่าจะอยู่ในระบอบไหน ต่างกำลังพบเจอแรงกดดันอะไรหลายๆอย่างที่คล้ายคลึงกัน มากดพวกเขาไม่ให้เขาเป็นในสิ่งที่อยากเป็น ไม่ให้เขาสร้างสังคมที่เขาอยากอยู่ หรือแม้แต่ลักษณะความสัมพันธ์กับคนอื่นในสังคมที่เขาอยากให้เป็น แต่คนรุ่นนี้มีความคิดที่เปิดกว้างกว่า มีความอดกลั้น มีความสนใจในความต่าง และมีความทะเยอทะยานมากกว่าคนรุ่นที่อาบน้ำร้อนมาก่อน ดังนั้นหน้าที่ของเยาวชนคือการฝันให้ใหญ่ และผนึกกำลังกันปลดปล่อยพันธนาการต่างๆ ถึงจะสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้างก็ตามแต่ สิ่งที่คนรุ่นเก่าอย่างผมทำได้คือต้องบอกเขาว่า เราเห็นสิ่งที่คุณทำ และควรพูดคุยกับเยาวชนเหล่านั้นให้มาก เพื่อสานสะพานแห่งความอดทนอดกลั้นในความแตกต่าง และเพื่อสร้างโลกที่เราทุกคนพอใจที่จะอยู่ร่วมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net