Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

หลายปีมาแล้วที่ไทยเป็นประเทศเจ้าภาพจัดงาน “วันวิสาขบูชาโลก” ในฐานะที่เราเป็นประเทศ “ศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก” งานวิสาขบูชาจึงเป็นงานระดับชาติและนานาชาติ โดยมีทั้งส่วนพิธีการของรัฐ และส่วนที่เชิญตัวแทนชาวพุทธนานาชาติมาร่วมด้วย เพื่อฉลองความสำคัญของวันวิสาขบูชาที่ถือเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระศาสดาแห่งพุทธศาสนา

แต่คำถามคือ นอกจากการจัดพิธีการที่ยิ่งใหญ่เพียงชั่วข้ามคืนแล้ว การรำลึกถึงความสำคัญของการรู้แจ้งทางดับทุกข์ของพุทธะมีความหมายอย่างไรต่อการทำความเข้าใจทุกข์ในชีวิตและทุกข์ทางสังคมอันหนักหนาสาหัสที่เรากำลังเผชิญอยู่

เมื่อมองว่าพุทธศาสนาเกิดขึ้นจากการรู้แจ้งทางดับทุกข์ของพุทธะ เราก็มองภาพของพุทธะผู้หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์อย่างโรแมนติก ทำให้มองข้ามไปว่ากว่าจะเดินทางมาถึงการรู้แจ้งหรือ “ตรัสรู้” พุทธะต้องเผชิญความเจ็บปวดจากการสูญเสียอะไรบ้าง ต้องเอาชีวิตของตนเองไปทดลองเรียนรู้ ลองผิดลองถูก เปลี่ยนศาสนาหรือแนวปฏิบัติตามลัทธิต่างๆ อย่างไรบ้าง และต้องผ่านความทุกข์ทรมานเฉียดตายอย่างไรกว่าจะพบทางพ้นทุกข์

ยิ่งมีประเพณีการอ้างคำสอนของพุทธะเป็นหนทางของการสร้าง “บุญบารมี” เพื่อการมีชีวิตที่ร่ำรวยสมบูรณ์พูนสุข มียศถาบรรดาศักดิ์เจริญรุ่งเรือง มีคนนับหน้าถือตาทั้งในชาตินี้และชาติหน้า กระทั่งตีความคำสอนของพุทธะสนับสนุนระบบศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาส ก็ยิ่งทำให้มองไม่เห็นว่าชีวิตของพุทธะหลังการตรัสรู้ก็ไม่ใช่ชีวิตที่สุขสบาย ไม่ใช่ชีวิตที่เดินหนีจากปัญหาหรือทุกข์ทางสังคมในเวลานั้น และไม่ใช่ชีวิตที่ได้รับแต่เสียงสรรเสริญ หากแต่ยังถูกก่นด่าประณาม และถูกท้าทายสารพัดอย่าง

สังคมพุทธบ้านเราโฆษณาชวนเชื่อเกินจริงว่า “ธรรมะคือทางสู่ความสุข” ตั้งแต่ความสุขทางใจ ไปจนถึงความสุขจากความมั่งคั่งร่ำรวย การมีอำนาจวาสนา มีบุญญาธิการเป็นชนชั้นสูงในสังคม ทำให้พุทธศาสนากลายเป็นลัทธิแสวงหาความสุขยิ่งกว่าลัทธิสุขนิยม (hedonism) เสียอีก

แต่หากไปดูวิถีชีวิตหลังตรัสรู้ธรรมของพุทธะ กลับไม่ใช่ชีวิตที่มุ่งแสวงหาความสุขสบาย ไม่ใช่ชีวิตที่เดินหันหลังให้ทุกข์ทางสังคม และ “ธรรมะ” ก็คือสิ่งที่พุทธะนำไปสนทนากับบุคคลที่กำลังเผชิญกับความทุกข์ การเผยแผ่ธรรมะคือการเดินเข้าไปหาคนที่เป็นทุกข์ คือการร่วมสนทนาถกเถียงกับประเด็นปัญหาหรือทุกข์ทางสังคมในบริบทของยุคสมัยนั้น

ประเด็นสนทนาธรรมที่สัมพันธ์กับทุกข์ของบุคคลที่เราเห็นได้จากพระไตรปิฎก จึงมีตั้งแต่การทำความเข้าใจเรื่องทุกข์ของบุคคลอันเกิดจากการพลัดพราก ความสูญเสียสิ่งของและบุคคลที่เรารัก ความกลัวต่อความเจ็บป่วย ความแก่ ความตายและอื่นๆ

ส่วนประเด็นเรื่องทุกข์ทางสังคม ก็มีตั้งแต่การใช้พิธีกรรมทางศาสนาครอบงำปิดกั้นการใช้ปัญญา เช่นพิธีบูชายัญ การล้างบาปในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ ไปจนถึงการใช้ศาสนาสร้างระบบวรรณะ การเหยียดหยามกันด้วยเรื่องชาติกำเนิด และการปกครองที่ใช้อำนาจเผด็จการตามอำเภอใจกดขี่เบียดเบียนผู้ใต้ปกครอง

บทสนทนาธรรมที่สัมพันธ์กับทุกข์ของบุคคลและทุกข์ทางสังคมของพุทธะ นำเราไปสู่ความเข้าใจสาเหตุของทุกข์ในหลากหลายมิติ ทั้งมิติที่เป็นกิเลสในใจเราแต่ละคน มิติที่เป็นทิฐิหรือทัศนะที่ผิดในการมองโลกและชีวิต ไปจนถึงทัศนะที่ผิดในทางศาสนาและระบบสังคมการเมืองที่มีลักษณะครอบงำกดขี่ในรูปแบบต่างๆ

แต่พุทธศาสนาหลังยุคพระศาสดาได้มีพัฒนาการมาอย่างซับซ้อน โดยเฉพาะเมื่อพุทธศาสนาเชิงสถาบันเข้ามาผูกติดกับรัฐมากขึ้น พุทธศาสนาก็กลายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม (legitimacy) และการครอบงำ (domination) ของรัฐตลอดมา

คำสอนที่ถูกตีความและเผยแพร่ผ่านพุทธศาสนาแห่งรัฐ จึงไม่ได้เน้นธรรมะที่ให้คุณค่าสูงกับความเป็นตัวของตัวเองของปัจเจกบุคคล และไม่เน้นธรรมะที่ถอดรื้ออำนาจครอบงำทางศาสนาและระบบสังคมการเมืองแบบชนชั้น แต่พุทธศาสนาแห่งรัฐกลายเป็นพุทธศาสนาที่เสนอคำสอนรองรับระบบชนชั้นศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาส จนฝังรากลึกมายาวนาน

ตรงกันข้ามกับธรรมะของพุทธะที่เน้น “อิสรภาพ” ในการกำหนดตัวเองของบุคคลอย่างสัมพันธ์กับการแสวงหาความจริง เช่นถ้าไม่มีอิสรภาพในการเลือกทางเดินของตนเอง สิทธิธัตถะก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากอิทธิพลครอบงำของพ่อ ครอบครัว ครูอาจารย์ ลัทธิศาสนาต่างๆ จนกระทั่งพบ “ทางของตนเอง” ได้ และหลักกาลามสูตรก็คือหลักแห่ง “อิสรภาพทางปัญญา” ให้แต่ละคนวินิจฉัยถูกผิดได้ด้วยปัญญาของตนเอง

ขณะเดียวกันข้อโต้แย้งของพุทธะในอัคคัญญสูตรและจักกวัตติสูตร ก็คือข้อโต้แย้งต่อการใช้ศาสนาสร้างอำนาจครอบงำด้วยการสร้างระบบวรรณะขึ้นมา และโต้แย้งต่อการใช้อำนาจปกครองแบบเผด็จการตามอำเภอใจที่ย่อมจะนำหายนะมาสู่บ้านเมือง

สำหรับผม การให้ความสำคัญต่ออิสรภาพของปัจเจกบุคคลในการกำหนดตัวเอง และการปฏิเสธการใช้ศาสนาสร้างอำนาจครอบงำด้วยการสร้างระบบชนชั้น และการปฏิเสธการปกครองที่ใช้อำนาจเผด็จการตามอำเภอใจ คือ “สารัตถะ” สำคัญของพุทธศาสนา

จริงอยู่พุทธะไม่ได้เสนอระบบสังคมการเมืองแบบใหม่ขึ้นมาแทนระบบเดิม แต่สารัตถะนั้นเราสามารถนำมาตีความสนับสนุนคุณค่าสมัยใหม่ที่เน้นเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และระบบสังคมการเมืองที่ปฏิเสธการใช้อำนาจเผด็จการตามอำเภอใจได้ 

คำถามสำคัญจึงมีว่า หากทุกข์ทางสังคมในบ้านเราปัจจุบันมีสาเหตุสำคัญมาจากการใช้ศาสนาครอบงำ แบ่งแยกเป็นเขาเป็นเขา จนเกิดปัญหาขัดแย้งในการเมืองเชิงอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมธรรมในสามจังหวัดภาคใต้ ภายใต้ปัญหาการเมืองระดับชาติที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ชาวพุทธจะนำสารัตถะของพุทธศาสนาดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแนวทางเยียวยาหรือบรรเทาทุกข์ทางสังคมร่วมสมัยได้อย่างไร

พุทธะมีชีวิตที่ยากลำบากตั้งแต่เริ่มใช้อิสรภาพเลือกทางเดินของตนเองจนค้นพบสัจธรรม หลังจากค้นพบสัจธรรมแล้วก็ไม่ได้มีชีวิตที่สุขสบาย เพราะการสอนธรรมะไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อให้คนมาสร้างบุญบารมีเพื่อความยิ่งใหญ่หรือการมีชีวิตที่สุขสบาย แต่คือการนำธรรมะไปสนทนากับทุกข์ของบุคคลและทุกข์ทางสังคม

ฉะนั้น ทุกข์ทางสังคมในปัจจุบันจึงท้าทายชาวพุทธว่า เราจะนำธรรมะของพุทธศาสนามาสร้างแนวทางเยียวยาบรรเทาทุกข์ทางสังคมในภาวะที่บ้านเมืองไร้เสรีภาพ ไม่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร โดยเฉพาะการปกป้องพื้นที่ความขัดแย้งที่จะไม่นำไปสู่ความรุนแรงและการสูญเสียมากไปกว่านี้

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net