จดหมายจากครอบครัวสีรุ้ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เนื่องในเทศกาลรณรงค์ความเท่าเทียมทางครอบครัวระหว่างประเทศ (The International Family Equality Day :IFED)  7 พฤษภาคม และวันรณรงค์วันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ (International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia หรือ IDAHOT) วันที่ 17 พฤษภาคม

0000

ถึงแม่ 2 คน

ความรู้สึกที่อยู่กับแม่สองคน

รู้สึกมีความสุขมากคะ ตั้งแต่ครั้งแรกที่มาอยู่ด้วย

ก็มีคำถามอยู่หลายอย่าง ก็คือ

มนุษย์เราชอบเพศเดียวกันได้จริง(เ)หรอ

แล้วเค้าจะดูแลเราได้จริง(เ)หรอ

เขาไม่กลัว(เ)หรอที่จะถูกนินทา

แต่พอได้อยู่กับแม่ทั้งสอง

ฉันรู้สึกอบอุ่นมากๆ

เพราะฉันไม่เคยได้รับสิ่งเหล่านี้

ทั้งการกอด การหอมแก้ม

ตั้งแต่ยังเล็กฉันไม่ได้อยู่กับพ่อ - แม่

ตอนยังจำความได้

พ่อกับแม่ทะเลาะกัน เลิกกัน

พ่อคงไม่รู้จะเลี้ยงลูกยังไง

เลยพาฉันไปหายาย

ผ่านไป 2 ปี

ฉัน(ได้)พบกับคนที่ไม่รู้จักเลย

เขายิ้ม พูดคุย และก็หายไป

(หมายเหตุ ผู้เขียนเคยพบกับลูกสาวครั้งเดียวก่อนที่จะรับอุปการะลูกสาว)

ในตอนนั้น ฉันรู้สึกขาดไร สักอย่างไป

จนอยู่ ป. 3 เทอม 2

ยายพาฉันไปเที่ยวที่เชียงใหม่ แล้วฉันก็ได้พบกับแม่ทั้งสองคน

ที่ผ่านมาตั้งแต่มาอยู่เชียงใหม่ ฉันมักจะถูกตั้งคำถามหลายอย่าง ทั้ง

“ไม่มีพ่อ จะอยู่ได้(เ)หรอ”

“สองคนนั้นเป็นใคร”

“สองคนนั้นเป็นไรกัน”

“คนที่ขับรถเป็นพ่อเธอ(?)”

บางครั้งคำถามทำให้ฉันโกรธนิดๆ แต่ฉันก็ตอบว่า

“เราไม่มีพ่อ เราก็อยู่ได้”

“สองคนนั้นเป็นแม่เราเอง”

“สองคนนั้นเป็นคู่ชีวิตกัน”

“คนที่ขับรถ ไม่ใช่พ่อ แต่เป็นแม่ของเราเอง”

ฉันไม่อายที่มีแม่สองคน แต่ฉันภูมิใจที่มีแม่ 2 คน

อยากจะบอกทุกคนที่มีแม่ 2 คน ที่มีพ่อสองคน หรืออื่นๆก็ตาม

ว่าไม่ต้องเสียใจ ที่มีแม่ 2 คน

เพราะต่อให้จะถูกรังแก ถูกว่าร้าย

ถ้าเราปฏิเสธว่า นั้นไม่ใช่แม่เรา มันก็เหมือนเรากำลังยอมแพ้

กับเรื่องที่แม่ของเรากำลังทำกันอยู่

แม่ของเรากำลังต่อสู้เพื่อให้เราไม่ยอมแพ้ ทั้งสอนสิ่งต่างๆ

เรื่องบางเรื่องพ่อ-แม่ ทั่วไปยังไม่กล้าบอกลูกด้วยซ้ำ

อยากบอกทุกคนว่า ให้สู้ต่อสิ่งที่อยู่ข้างหน้า อย่ายอมแพ้ที่จะเผชิญหน้ากับสังคม

จากลูกสาวของแม่ๆ

0000

ถึงลูกสาวของแม่..แม่

แม่อยากบอกลูกว่า

มันมีเหตุผลมากพอที่ผู้หญิง 2 คนนี้

(รวมถึงชายรักชาย คนรักสองเพศ คนข้ามเพศและอินเตอร์เซ็ก)

ที่จะรักและ/หรือ ตกลงใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน รวมถึงการก่อตั้งครอบครัว

เมื่อแม่..แม่ ได้ตัดสินใจว่าจะมีลูกนั้น

มันเป็นความตั้งใจ

ลูก คือ ความรัก

ซึ่งความรักนี่เองที่สร้างครอบครัวของเรา

ในวันที่ลูก มาอยู่กับแม่ซึ่งเป็นเลสเบี้ยน

มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

แม่ .. แม่ รู้ว่าลูกอาจไม่ทันได้ตั้งตัว

แต่ลูกก็สามารถใช้ศักยภาพที่มีในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว

จนแม่..แม่แทบจะลืมไปเลยว่า ครั้งแรกที่เราเจอกัน

ลูกแทบจะไม่สามารถสื่อสารได้และกระบวนการเรียนรู้ของลูกแตกต่างจากเด็กๆคนอื่นๆอยู่บ้าง

แม่ แม่ ยืนยันสิทธิ์ที่จะดูแลลูก

และลูกรู้ไหมว่า ยังมีครอบครัวอีกหลากหลายรูปแบบมากกว่าครอบครัวคู่รักต่างเพศ

เช่นเดียวกับครอบครัวของลูก ที่มี แม่ แม่

บางครอบครัวมีพ่อ พ่อ

บางครอบครัวมีกัน 3 คน

บางคนมีพ่อเลี้ยงเดี่ยว หรือแม่เลี้ยงเดี่ยว

บางคนมีแม่เป็นหญิงข้ามเพศ

บางคนมีพ่อเป็นผู้ชายข้ามเพศที่ให้กำเนิดลูกอีกด้วย

อีกหลายครอบครัวที่ใช้การเข้าถึงเทคโนโลยี ในการตั้งครรภ์และให้กำเนิดลูกๆ

เพื่อนของแม่บางคน ครอบครัวของเขามีแม่เลสเบี้ยน 2 คนและพ่อเกย์ อีก 2 คน ทั้ง 4 คน ตั้งใจดูแลลูกร่วมกัน

และอาจจะมีรูปแบบครอบครัวรูปแบบอื่นๆ

ลูกเห็นใช่ไหม ว่าในทางปฏิบัติเราก้าวข้ามเส้นบรรทัดฐานรักต่างไปเพศไปไกลมาก

แต่ทางกฎหมาย แม่ แม่ และ ครอบครัวสีรุ้งกลับไม่ได้รับการรับรอง

นั่นหมายความว่า การเลือกที่จะทำหน้านี้ด้วยหัวใจ ซึ่งสามารถสะท้อนผ่านการกระทำ

เช่น การดูแลลูกด้วยความรัก ความเข้าใจ เมื่อผ่านไปเพียงสองปี ลูกสามารถสื่อสารได้เป็นอย่างดี

และมีพัฒนาการด้านอื่นๆ รวมถึงลูกได้พัฒนาทักษะด้านศิลปะที่ลูกสนใจ

จนลูกขอทำเพจ Her story_My Daughter ไว้เพื่อเอางานศิลปะของหนูออกมาสื่อสารกับสังคม

แต่ถึงเราจะเอาสิ่งเหล่านี้ มาหลักฐานที่น่าเชื่อถือ แล้วใช้ต่อสู้ในทางกฎหมายเพื่อพิสูจน์ว่า เราทำหน้าที่นี้ได้

และมันเป็นประโยชน์สูงสุดต่อลูกและเด็กๆ ในครอบครัวพ่อแม่หลากหลายทางเพศ

มันก็ยังไม่เพียงพอที่จะชนะ

แต่เราก็ยังสู้

ขอบคุณลูกรัก

ที่เข้มแข็งและต่อสู้อย่างกล้าหาญ

ต่อความไม่เข้าใจของสังคม

และต่อเพื่อนๆ ที่โรงเรียนของลูก

ลูกรับรู้ว่าแม่ต้องต่อสู้อะไรบ้าง

ความความหวาดระแวงของสังคม ต่อคนหญิงรักหญิง ชายรักชาย คนรักสองเพศ คนข้ามเพศ และอินเตอร์เซ็ก (LGBTI)

ส่งผลต่อการแบ่งแยกกีดกันและเลือกปฏิบัติต่อครอบครัวสีรุ้ง

ไม่มีกฎหมายไม่รองรับสถานภาพคู่ชีวิตของแม่..แม่

แม่ แม่ ไม่สามารถเป็นผู้ปกครองตามกฎหมาย ทั้งๆที่ในทางปฏิบัติแม่ดูแลหนูมาตั้งแต่ปี 2554

หากแม่คนนี้ ซึ่งมีความเชื่อมโยงทางสายเลือดกับหนูอยู่บ้าง (แม่เป็นพี่สาวของพ่อหนู) ได้เสียชีวิตด้วยเหตุใดๆ

แม่อีกคนของหนูจะสูญเสียสิทธิ์ที่จะเลี้ยงดูหนูทันที

ครอบครัวสีรุ้ง จำนวนมากไม่มั่นใจว่าที่จะเปิดตัว ในที่ทำงาน และในสังคม

เพราะกังวลว่าจะถูกเลือกปฏิบัติ

รวมถึงพ่อ แม่ หลายคนสูญเสียโอกาสที่จะได้ทำหน้าที่นี้ เพียงเพราะเป็น เลสเบี้ยน เกย์ คนรักสองเพศ คนข้ามเพศ หรือ อินเตอร์เซ็ก

แม่ แม่ และชาวครอบครัวสีรุ้งทั่วโลก จึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อสร้างความตระหนักถึงการมีอยู่ของเรา

ในวันที่ 7 พฤษภาคม ของทุกๆปี ซึ่งเป็นวันความเท่าเทียมทางครอบครัวระหว่างประเทศ (The International Family Equality Day :IFED)

วันนี้นานาประเทศ จะมีการเฉลิมฉลองการยอมรับและเคารพในความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆบนพื้นฐานของการเคารพตัดสินใจที่ต่างหลากหลาย ตามหลักการสิทธิมนุษยชน ในกาสร้างครอบครัว (Right to Family) ซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของมนุษย์อันได้รับการปกป้องคุ้มครองมิให้ถูกเลือกปฏิบัติในมิติต่างๆ

เรามีความหวังลึกๆว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

สังคมจะเข้าใจและตระหนักถึงความเท่าเทียมและยุติธรรมระหว่างเพศ

ซึ่งครอบคลุมสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว

สิทธิในการรับรองสถานะคู่ชีวิตในทางกฎหมาย

สิทธิในการเข้าถึงเทคโนโลยีในการตั้งครรภ์

สิทธิในการการอุปการะเลี้ยงดูบุตรและบุตรบุญธรรม

ตลอดจนการปกป้องลูกของเรา จากการถูกรังแกในโรงเรียนและในสังคม

ลูกรักของ แม่ แม่

วันนี้เสียงของเรา มีคนได้ยินมากขึ้น

และแม่เชื่อมั่นว่า จะมีเสียงสนับสนุนที่ดังขึ้นอีก ดังขึ้นอีก

และนี่เองจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

รัก
แม่ แม่

0000

 

หมายเหตุ: วันที่ 7 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันความเท่าเทียมทางครอบครัวระหว่างประเทศ (The International Family Equality Day :IFED) ซึ่งผู้คนสามารถสนับสนุนความเทียมเทียมของมิติทางครอบครัวโดยเฉพาะ ต่อครอบครัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Rainbow Family) โดยการเปลี่ยนโปรไฟล์ เพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุน สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวอย่างเท่าเทียม ได้ที่ https://twibbon.com/Support/love-makes-a-family-2#
และติดแอซแท๊ก #IFED2017

วันที่ 11 - 12 พฤษภาคม 2560: ประชุมสัมนานานาชาติ เอเชีย - แปซิฟิก ครอบครัวสีรุ้ง (Asia - Pacific Rainbow Family Forum) เพื่อร่วมกันเฉลิมฉลองวันความเท่าเทียมทางครอบครัวระหว่างประเทศ (The International Family Equality Day :IFED) และ วันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ (Interna-tional Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia หรือ IDAHOT)

วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี ร่วม การเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศทั่วโลก: วันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ (International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia หรือ IDAHOT)  สำหรับประเทศไทยปีนี้ สามารถร่วมเฉลิมฉลองในประเด็น พวกเรา คือ ครอบครัวสีรุ้ง IDAHOT Thailand 2017: WE are a #RainbowFamily เวลา 16.30 น. - 20.30 น. ณ Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

https://www.facebook.com/events/1134688903344519/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท