Skip to main content
sharethis

ผู้ชนะการเลือกตั้งรอบแรก 2 คน คือ เอ็มมานูเอล มาครง ผู้สมัครสายเสรีนิยมใหม่ 'En Marche!' กับ มารีน เลอ แปน นักโวหารชาตินิยมที่มีมุมทางสังคมแบบก้าวหน้าเป็นบางมุม ทั้งคู่ต้องชิงชัยกันในการเลือกตั้งรอบสอง 7 พ.ค. ที่จะถึงนี้ คำถามคือ ใครจะมีโอกาสชนะมากกว่ากัน นโยบายกับโวหารการหาเสียงของสองคนนี้มาในแนวไหน แต่ที่แน่ๆ คือ 2 พรรคใหญ่แนวทางทางเดิมซื้อใจชาวฝรั่งเศสไม่ได้อีกแล้ว

คู่ชิงการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบ 2 ระหว่าง มารีน เลอ แปน (ซ้าย) และ เอ็มมานูเอล มาครง (ขวา)

25 เม.ย. 2560 จากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกของฝรั่งเศสผู้ที่มีคะแนนนำสูงสุด 2 อันดับแรกคือ เอ็มมานูเอล มาครง จากพรรค/ขบวนการอองมาร์ช (En Marche!) ที่ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 23.8 หรือ 8.5 ล้านคะแนน และอันดับสอง มารีน เลอ แปน จากพรรคเแนวร่วมแห่งชาติ (FN) ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 21.4 หรือ 7.6 ล้านคะแนน ทำให้ทั้งสองคนต้องไปตัดสินกันอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ในวันที่ 7 พ.ค. ที่จะถึงนี้

เดอะการ์เดียนทำกราฟประเมินว่าในการเลือกตั้งรอบที่ 2 มาครงมีโอกาสชนะสูงกว่าเลอ แปน โดยระบุว่าในการเลือกตั้งครั้งที่สองที่จะมีการตัดสินกันแค่ระหว่างสองผู้สมัคร โดยมาครงน่าจะได้รับคะแนนเสียงจากผู้ที่เคยลงคะแนนให้ฌอง-ลุค เมลองชอง จากพรรคฝ่ายซ้าย และเบอนัว อามง จากพรรคสังคมนิยม ขณะที่ผู้โหวตให้ฟรองซัวส์ ฟิยง จากพรรครีพับลิกัน มีแนวโน้มที่จะโหวตให้เลอ แปน และมาครงใกล้ๆ กัน แต่มีแนวโน้มโหวตให้มาครงมากกว่าเล็กน้อย

บทบรรณาธิการของเดอะการ์เดียนยังวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งรอบแรกของฝรั่งเศสเอาไว้ว่าเป็นการตัดสินใจในระดับที่ทำให้การเมืองของฝรั่งเศสเปลี่ยนทิศ กลุ่มพรรคเก่าดั้งเดิมทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาต่างก็แพ้อย่างย่อยยับโดยที่ผู้แทนพรรคสังคมนิยมอย่างอามงที่ถูกมองว่าเป็นตัวแทนสืบทอดของอดีตประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ 6.2 ขณะที่ฟิยงที่เป็นสายอนุรักษ์นิยมขวากลางถึงแม้จะทำได้ดีกว่าคือมีคะแนนร้อยละ 19.7 แต่ก็เป็นครั้งแรกที่ตัวแทนสายซ้ายกลางไม่สามารถเข้ารอบสุดท้ายได้นับตั้งในรอบ 60 ปีที่ผ่านมา จากที่เขามีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการใช้เงินงบประมาณรัฐ ไปจ้างภรรยาเป็นผู้ช่วยส่วนตัว

ถึงแม้ว่าเมลองชองจะไม่ชนะแต่เขาก็ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคสังคมนิยมของอามงแสดงให้เห็นว่าผู้เลือกตั้งในฝรั่งเศสเริ่มแสดงความชื่นชอบในตัวซ้ายจัดที่มุ่งปฏิรูปสังคมในหลายๆ ด้านอย่างเมลองชองมากกว่า

อย่างไรก็ตามถึงแม้เลอ แปน จะมีโอกาสแพ้ในรอบที่สองมากกว่าแต่บทบรรณาธิการเดอะการ์เดียนก็ระบุว่ามันไม่ใช่เรื่องที่น่านิ่งนอนใจสำหรับผู้ที่ไม่ชอบฝ่ายขวา เพราะเลอ แปน ก็ถือว่าได้รับคะแนนเสียงสูงเหมือนกันแบบเดียวกับความพ่ายแพ้ของเคียร์ต วิลเดอร์ส ในการเลือกตั้งเนเธอร์แลนด์เมื่อไม่นานมานี้

 

มาครง VS เลอ แปน นโยบายและโวหารของสองผู้เข้ารอบชิง

ในแง่ของคุณสมบัติตัวผู้ชนะผ่านรอบแรกทั้งสองคนนั้น ทางเอ็มมานูเอล มาครง เป็นคนที่มีแนวทางฝ่ายซ้ายในทางสังคมแต่เป็นเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ เขาเคยบอกว่าพรรค "อองมาร์ช" จะเป็น "ขบวนการก้าวหน้า" ที่รวบรวมทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ก่อนหน้านี้มาครงเคยมีประวัติการเมืองเป็นข้าราชการ นายธนาคารการลงทุน และเคยเป็นที่ปรึกษาระดับสูงของรัฐบาลออลลองด์ในปี 2555 เขาได้เป็นรัฐมนตรีการคลังในปี 2557 ก่อนที่จะลาออกในปี 2559 และก่อตั้งอองมาร์ชขึ้น

ถึงแม้ว่า อองมาร์ช จะเคยแสดงตัวเปรียบเทียบตัวเองกับเสรีนิยมก้าวหน้าในประเทศอื่นอย่างสเปนและมาครงจะเคยทำงานกับพรรคสังคมนิยมมาก่อน แต่แนวคิดของมาครงเป็นไปในเชิงเอาใจผู้ชื่นชอบเสรีทางเศรษฐกิจอย่างการผ่อนผันกฎหมายแรงงาน การลดภาษีธุรกิจ การเปลี่ยนระบบผู้ตกงาน ปรับลดงบประมาณรัฐแต่ก็หันมาส่งเสริมการลงทุน ลดขนาดภาครัฐ ลดจำนวน ส.ส. จ้างงานตำรวจและทหารบังคับกฎหมายมากขึ้น ขณะเดียวกันมาครงก็มีท่าทีส่งเสริมการขับเคลื่อนทางสังคม ส่งเสริมการจัดตั้งรัฐบาลภาคพื้นทวีปยุโรป

มาครงยังได้ปราศรัยหาเสียงในทำนองที่ชวนให้ประชาชนรู้สึกว่าพวกเขาจะได้เปลี่ยนแปลงจากระบบแบบเดิมที่มาครงบอกว่า "สร้างปัญหาให้ประเทศมาเป็นเวลา 30 ปี" และพวกเขาต้องการคนใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองและความมั่นคงของชาวฝรั่งเศส ในช่วงแรกๆ ที่มาครงลงสมัครในฐานะตัวแทนอิสระเขายังใช้โวหารในเชิงต่อต้านสิ่งที่เป็นฐานแบบเดิมๆ ของฝรั่งเศสจนมีคนหาว่าเขาเป็น "ประชานิยม" แต่มาครงก็ปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่นักประชานิยม

หลายคนมองว่ามาครงเป็น "พวกฝักใฝ่สหภาพยุโรป" หรือ "นิยมการปกครองแบบสมาพันธรัฐ" แต่เขาก็ปฏิเสธการแปะป้ายเหล่านี้แล้วบอกว่าเขาเป็นแค่คนที่สนัสนุนยุโรปในแง่พลังทางการเมืองในฝรั่งเศสเท่านั้น

ทางด้านเลอ แปน นำเสนอตัวเองในแบบที่เน้นชาตินิยมฝรั่งเศสมากกว่า เธอเสนอให้เน้นสวัสดิการ การเคหะ และการสร้างงานให้กับชาวฝรั่งเศสก่อน ขณะเดียวกันก็เน้นให้ขึ้นภาษีแรงงานต่างชาติ ปรับลดจำนวนผู้อพยพเหลือ 10,000 คนต่อปี ลดสิทธิในสัญชาติ ในแง่ของสหภาพยุโรปเลอ แปน เสนอการทำประชามติเกี่ยวกับสมาชิกภาพสหภาพยุโรป และจะเจรจาหารือกับอียูให้มี "อธิปไตยอย่างเต็มที่" โดยเฉพาะกับค่าเงินฟรังค์ด้วย ในแง่ความมั่นคงเลอ แปน มีส่วนที่คล้ายกับมาครงคือการเพิ่มจำนวนตำรวจ นอกจากนี้เลอ แปน ยังเสนอให้สร้างเรือนจำเพิ่มอีก 40,000 แห่ง

วิธีการปราศรัยหาเสียงของเลอ แปนยังคล้ายกับมาครงในแง่ที่เน้นพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลง โดยมีการใช้คำว่า "การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง" และพูดคล้ายมาครงในแง่ที่ว่าผู้โหวตเป็นผู้ที่มีส่วนในการร่วมเปลี่ยนแปลง รวมถึงมีการใช้โวหารชาตินิยมที่ฟังดูการปลดแอกจากอียูอย่างการใช้คำว่า "ปลดปล่อย" ฝรั่งเศสจาก "พวกชนชั้นนำเย่อหยิ่งจองหอง"

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะถูกกล่าวหาในเรื่องเหยียดเชื้อชาติ แต่เลอ แปน เองก็เคยปฏิรูปพรรคตัวเองโดยการไล่คนที่เหยียดเชื้อชาติออกจากพรรคและยังเคยไล่พ่อของตัวเองออกด้วยในปี 2558 เลอ แปน พูดถึงการปฏิรูปพรรคว่าเธอต้องการทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคที่ถูกเป็นปีศาจร้ายดูนุ่มนวลลง อีกทั้งยังมีบางนโยบายของเลอ แปน ที่ค่อนข้างก้าวหน้าต่างจากจุดยืนเดิมของพรรคเนชันแนลฟรอนต์อย่างการสนับสนุนกฎหมายคุ้มครองการอยู่ร่วมแบบคู่ชีวิต (civil unions) ของคนรักเพศเดียวกัน สนับสนุนให้สตรีมีทางเลือกทำแท้งอย่างไม่มีเงื่อนไข และยกเลิกโทษประหารชีวิต

การขับเคี่ยวรอบตัดสินของการเลือกตั้งฝรั่งเศสจึงคล้ายเป็นการต่อสู้กันระหว่างผู้แทน "เสรีนิยมใหม่" กับ "ฝ่ายชาตินิยมต้านอียู"

 

เรียบเรียงจาก

French presidential election: first round results in charts and maps, The Guardian, 24-04-2017

The Guardian view on France’s election: a win for Macron and hope, The Guardian, 23-04-2017

Emmanuel Macron v Marine Le Pen: who are they, and who will win?, The Guardian, 23-04-2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Emmanuel_Macron

https://en.wikipedia.org/wiki/En_Marche!

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net