Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ภาพหมุดคณะราษฎร

ในปัจจุบันได้เกิดปรากฏการณ์พยายามทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่คณะราษฎรได้มอบไว้ ดั่งเช่นการที่มวลชนกลุ่มอนุรักษ์นิยมผู้ต่อต้านการอภิวัฒน์สยาม 2475 ในยุคปัจจุบันบางกลุ่มได้มีการปลุกผีคณะราษฎรมาวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบอีกครั้งอย่างกว้างขวาง แม้ว่าประวัติศาสตร์ในช่วงระยะเวลาประมาณ 30 ปีมานี้ เมื่อ บุคคลในคณะราษฎรได้มีการถูกนำกลับมาพูดสรรเสริญเกียรติคุณ [1] เช่น นายปรีดี พนมยงค์ ก็ยังได้รับการถูกเสนอชื่อโดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ต่อองค์กรยูเนสโก ซึ่งการที่พรรคการเมืองของชนชั้นนำไทยได้เสนอชื่อนายปรีดี พนมยงค์ ไปนั้น ก็แสดงถึงการให้การยอมรับในตัวนายปรีดี ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือนได้อย่างมีนัยยะ แต่เหตุไฉน ในช่วงเวลาเพียงไม่นานมานี้ หลังรัฐประหาร 2557 จึงได้เกิดกระแสต่อต้านคณะราษฎรอย่างเด่นชัดอีกครั้ง จนถึงขั้นมีกระแสว่าจะมีการขุดหมุดคณะราษฎร ดั่งกรณีของนาย เทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ได้ทำการโพสต์ข้อความ Facebook ในหน้าโปรไฟล์ตน ในลักษณะสาธารณะว่า “ประกาศหาเจ้าของ ถ้าไม่มาขุดเอาไป ภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2559 ผมกับเพื่อนๆ ถือว่าไม่มีเจ้าของ จะไปเอาออกหรือทำให้หมดสภาพเอง ถ้ายังอยากเก็บรักษาไว้ รีบขุดออกไปเสียให้พ้น”[2] และต่อมาไม่นานเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2560 ได้มีข่าวการถอดหมุดคณะราษฎรออกไป และได้นำหมุดอันใหม่มาแทน[3] ซึ่งได้มีหลายบุคคลได้สงสัยว่าเหตุใด จึงเกิดปรากฏการณ์ที่มีบุคคลต้องการทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่คณะราษฎรได้สร้างไว้อย่างหมุดเช่นนั้นได้ อะไรคือกลไกที่อาจนำให้บุคคลผู้ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองพ.ศ.2475 มีพฤติกรรมการแสดงออกถึงขั้นนี้ได้?


ย้อนความหลังสุดแสลงใจของกลุ่มอนุรักษ์นิยมไทยผู้ต่อต้านการอภิวัฒน์สยาม 2475

เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นการยุติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยในเวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งคณะราษฎรได้กระทำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ทำการอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1[4] และหลังจากการปฏิวัติครั้งนั้น ได้มีการสร้างหมุดคณะราษฎรขึ้นมาเพื่อเป็นการระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง โดยหมุดคณะราษฎรมีข้อความว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ” ซึ่งเราจะต้องกล่าวถึงบริบทของกลุ่มอนุรักษ์นิยมผู้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองว่าย่อมไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติครั้งนี้ พวกเขาซึ่งในที่นี้ คือ กลุ่มกษัตริย์นิยม ได้มีการต่อต้านคณะราษฎรอย่างเห็นเด่นชัด เช่น พระองค์บวรเดชในเหตุการณ์กบฏบวรเดช[5] ที่ได้มีการนำกองกำลังทหารมาใช้เพื่อปราบปรามคณะราษฎร และเพื่อฟื้นฟูอำนาจของพระมหากษัตริย์ หรือผู้มีแนวคิดต่อต้านคณะราษฎรในวงการการเมือง เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช[6] เป็นต้น

บุคคลเหล่านี้ได้ทำการต้านการอภิวัฒน์สยาม 2475 เรื่อยมา จนฝ่ายกษัตริย์นิยมได้รับชัยชนะและทำลายอิทธิพลของคณะราษฎรจนแทบหมดสิ้นไปในพ.ศ.2500 หลังการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์[7] เป็นการฟื้นกลับมาที่ยิ่งใหญ่ของกลุ่มกษัตริย์นิยม ซึ่งอาศัยความร่วมมือกันกับอำนาจฝ่ายทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนถึงขั้นหมุดคณะราษฎรนี้เคยถูกถอนออกไปในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ครั้งหนึ่งเลยเสียด้วยซ้ำ

การถอนหมุดคณะราษฎรออกในครั้งแรกนี้ อาจเป็นตัวอย่างของการทำลาย “สิ่งแสลงใจ” ของกลุ่มอนุรักษ์นิยมเหล่านี้ เมื่อเราพิจารณาต่อว่า ในบริบทของพ.ศ.2500 การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นแทบเป็นสิ่งเพ้อฝันเสียแล้ว บริบทสังคมโลกและประเทศไทยได้พัฒนารุดหน้าไปมากตามกาลเวลาซึ่งไม่เคยหยุดนิ่ง ไปไกลเกินกว่าบริบทสังคมไทยของเหตุการณ์กบฎบวรเดชในสมัยพ.ศ.2476 ถึงแม้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกลับไปสู่ระบอบเก่าได้แล้วนั้น เหตุไฉนเขาจึงต้องกระทำการทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งๆที่เขาก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงเรื่องที่คณะราษฎรกระทำการเปลี่ยนแปลงการระบอบการปกครองได้สำเร็จในปีพ.ศ. 2475?


ภาพหมุดใหม่ซึ่งถูกนำมาแทนที่หมุดคณะราษฎร
 

พินิจการกระกระทำของกลุ่มอนุรักษ์นิยม ผู้ไม่สามารถย้อนกาลเวลาได้แม้แต่วินาทีเดียว ด้วยหลักจิตวิทยาเรื่องการหลอกตนเอง และกลไกป้องกันตนเอง

จากความพยายามทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร เช่น กรณีหมุดคณะราษฎร อันมีความพยายามกระทำมาตั้งแต่ยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ในปีพ.ศ. 2500 จนมาถึงยุคของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้กระทำการสำเร็จเป็นครั้งที่สองนี้ หาได้เปลี่ยนแปลงเรื่องราวเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 แต่อย่างใด แต่การดื้อรั้นของกลุ่มอนุรักษ์นิยมกลุ่มนี้ อาจพิจารณาด้วยหลักทางจิตวิทยา โดยพวกเขาต้องการปลอบประโลมใจตนเองอย่างหลอกๆ หรือการหลอกตนเอง (positive illusion) นั่นเอง โดยวิธีการที่คนเราจะหลอกตนเองได้นั้นต้องอาศัยกลเม็ดทางจิต (mental tricks) หรือกลยุทธ์อื่นหลากหลายวิธีตามหลักแนวคิดการหลอกตนเองของจิตวิทยาสังคม[8] โดยบริบทในที่นี้อาจเปรียบเทียบได้ว่า มีการหลอกตัวเองว่าเหตุการณ์การปฏิวัติ 2475 หาได้เกิดขึ้นไม่ โดยการพยายามทำให้เรื่องราวของพวกคณะราษฎรถูกลืมเลือน ประการแรกโดยการทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งยืนยันการกระทำและการดำรงอยู่ของพวกเขาเสียก่อน พวกเขาจึงตัดสินใจลงมือดำเนินการถอนหมุดคณะราษฎรออกไป เป็นการทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชั้นต้นในกรณีนี้ เพื่อที่จะสามารถเลือกรับหรือเลือกจดจำประวัติศาสตร์ได้ง่ายยิ่งขึ้น ในเมื่อไม่มีหลักฐานอะไรเหลือไว้เป็นที่จดจำให้แสลงตาแสลงใจเสียแล้ว พวกเขาจะได้มีความสุขอิ่มเอมกับการเลือกรับประวัติศาสตร์ที่ถูกจริตตน และสามารถดำเนินการขั้นสูงต่อไป ที่จะสามารถเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ตามจริตของตนได้ง่ายยิ่งขึ้นในอนาคตกาล เป็นลักษณะของการเลือกรับข้อมูลที่ดีตามจริตตน และคัดที่ไม่ตรงจริตตนเองออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ คล้ายกลยุทธ์ “Junk Mail of Self-Deception”

ในที่นี้มีการเลือกประวัติศาสตร์ใหม่เพื่อที่จะจำ และคัดแยกประวัติศาสตร์ที่ตนให้ความสนใจน้อยหรือไม่สนใจออกไปจากกระแสการรับรู้หลักของตน โดยกรณีหมุดใหม่ที่ถูกนำมาแทนที่หมุดคณะราษฎรนี้ มีข้อความว่า “ประชาชนสุขสันต์หน้าใส - ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง” ซึ่งหากสังเกตข้อความจะพบว่าไม่มีสิ่งที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองพ.ศ.2475 อยู่แม้แต่น้อย โดยข้อความในวงขอบนอกของหมุดใหม่ มีข้อความว่า "ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง" เป็นคำแปลที่ตรงกับคาถาภาษิตดั้งเดิม คือ "ติรตเนสกรฏฺเฐจ สมฺพํเสจมมายนํ สกราโชชุจิตฺตญฺจ สกรฏฺฐาภิวัฑฺฒนํ" ซึ่งตรงกับคาถาภาษิตซึ่งอยู่บนขอบจักรพระราชลัญจกรประจำเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 หากเราลองพินิจดูก็จะเห็นได้ว่า ผู้กระทำเปลี่ยนหมุดนั้นต้องการเปลี่ยนหมุดซึ่งแสดงข้อความถึงชัยชนะของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไปสู่หมุดที่แสดงข้อความในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งอาจเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาเหล่านั้นปรารถนาว่าได้บังเกิดขึ้นในความจริงปัจจุบันขณะนี้

นอกจากนี้ พวกเขาเหล่านั้นยังมีการใช้กลไกป้องกันตนเอง (defense mechanisms)[9] โดยพวกเขาได้มีกลไกการปฏิเสธความจริง (denial) และการที่เขาพยายามเลือกปฏิเสธความจริงนี้ ก็ทำให้พวกเขาอาจหลอกตนเองได้ชั่วครั้งชั่วคราวว่าเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่เจ็บปวดสำหรับพวกเขายามที่นึกถึง และพวกเขาจึงมีกลไกการแสดงออกด้วยการกระทำ (acting out) โดยได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงหมุดคณะราษฎรมาเป็นหมุดใหม่ที่พวกเขาปรารถนา เป็นการเสริมสร้างการปฏิเสธความจริงมากยิ่งขึ้น
 

การพยายามทำลายหมุดคณะราษฎรและผลที่ตามมา

ในทัศนะของข้าพเจ้า ถึงแม้กลุ่มอนุรักษ์นิยมจะสามารถทำลายหลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรอย่างหมุดคณะราษฎรนี้ไปได้แล้ว แต่เขาก็หาได้ทำลายคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้แต่อย่างใด ระบอบนี้ก็ยังมีคุณค่าสูงยิ่งในตัวเอง เพราะเจตจำนงประชาธิปไตยหาได้ขึ้นอยู่กับวัตถุใดๆ แต่ขึ้นอยู่กับเจตจำนงประชาธิปไตยของประชาชนชาวไทยทุกคน พวกเขาผู้ทำลายหลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์อย่างหมุดคณะราษฎรนั้น ก็เป็นเพียงการปลอบประโลมใจและหลอกตนเองและปฏิเสธความจริงเท่านั้น ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงหาได้เป็นโลกแบบที่พวกเขาต้องการไม่ การกระทำของพวกเขานี้ย่อมไม่เป็นการส่งผลดีต่อพวกเขาไม่ว่าจะในทางจิตวิทยา โดยการหลอกตัวเองหรือการอาศัยกลไกป้องกันตัวเองบางอย่างมากเกินไป อาจนำไปสู่ความผิดปกติทางจิตได้ นอกจากนั้น อาจยังมีผลเสียทางการเมืองซึ่งจากกรณีนี้ พวกเขาย่อมถูกมองว่าไม่ยอมรับความจริงทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย สามารถทำได้แม้กระทั่งทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งย่อมส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์กลุ่มผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม โดยอาจทำให้การประนีประนอมและการปรองดองทางการเมืองไทย ในประเด็นของกลุ่มผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมที่มีต่อสองอุดมการณ์ทางการเมืองอย่าง อุดมการณ์ทางการเมืองแบบเสรีนิยม, และอุดมการณ์ทางการเมืองแบบสังคมนิยมในประเทศไทย ในอนาคตข้างหน้าเป็นไปได้ลำบากยิ่งขึ้น

หากจะกล่าวโดยสรุป พวกเขาเหล่าอนุรักษ์นิยมกลุ่มนี้สามารถหลอกตนเองและปฏิเสธความจริงได้เพียงชั่วขณะเท่านั้น แต่ในที่สุดเขาก็จะต้องรู้สึกถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่ากาลเวลาได้ล่วงเลยมาแล้ว และยังคงดำเนินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เขาอาจจะพยายามหยุดยั้งกาลเวลาภายในห้วงจิตใจของตนเอง แต่เขาหยุดยั้งกาลเวลาภายในห้วงจิตใจของตนเองไม่ได้ตลอดไป สักวันหนึ่งเขาก็จะต้องยอมรับความจริงว่าประเทศไทยมีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นระบอบที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน หาใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างที่พวกเขาเพ้อฝันอยากย้อนเวลาให้กลับไปได้ไม่



เชิงอรรถ

[1] อ้างอิงแนวความคิดของธงชัย วินิจจะกูล ในหัวข้อ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ในความเข้าใจของเราและบทความนี้” - หนังสือ ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง (2556) ธงชัย วินิจจะกูล, หน้า 200

[2] อ้างอิงข่าวเหตุการณ์ โดยเหตุการณ์ในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 กรณีของเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ได้ทำการโพสต์ภาพหมุดคณะราษฎร ผ่าน Facebook ในหน้าโปรไฟล์ตน ที่มีชื่อว่า “Thepmontri Limpaphayorm” ในลักษณะสาธารณะ - https://prachatai.com/journal/2016/11/68621

[3] อ้างอิงข่าวเหตุการณ์ โดยข่าววันที่ 14 เมษายน 2560 กรณีหมุดคณะราษฎรหายไป และมีการนำหมุดใหม่มาเปลี่ยนไว้แทน - http://www.matichon.co.th/news/529711

[4] อ้างอิงข่าวเหตุการณ์ โดยข่าววันที่ 14 เมษายน 2560 จากเนื้อหาใน “แถลงการณ์ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เรื่อง ขอทวงคืนหมุดคณะราษฎร” เนื้อหาเรื่องการอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ซึ่งอ่านโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา - http://www.matichon.co.th/news/529818

[5] อ้างอิงจากข้อมูลเรื่องเหตุการณ์กบฏบวรเดช ในวันที่ 11 ตุลาคม 2476 พระองค์เจ้าบวรเดชนำ “กองทัพสีน้ำเงิน” จากภาคอีสานเข้าสู่กรุงเทพฯ – หนังสือ ขอฝันใฝ่ ในฝัน อันเหลือเชื่อ (2556) ณัฐพล ใจจริง, หน้า 30

[6] อ้างอิงจากข้อมูลที่ว่าในปีพ.ศ.2489 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรคก้าวหน้า ซึ่งมีสมาชิกอันประกอบไปด้วยฝ่ายกษัตริย์นิยมหลายท่าน เช่น ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์, ม.ร.ว. นิมิตมงคล นวรัตน, และสอ เสถบุตร เป็นต้น ซึ่งมีนโยบายที่สำคัญคือการต่อต้านคณะราษฎร - หนังสือ ขอฝันใฝ่ ในฝัน อันเหลือเชื่อ (2556) ณัฐพล ใจจริง, หน้า 166

[7] อ้างอิงจากแนวคิดเรื่องการฟื้นคืนของกลุ่มกษัตริย์นิยม อันมีผลมาจากเหตุการณ์รัฐประหารรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยอาจถือได้ว่าเหตุการณ์รัฐประหารครั้งนี้เป็นการสิ้นสุดการเมืองภายใต้อิทธิพลของคณะราษฎร – หนังสือ หนังสือ ขอฝันใฝ่ ในฝัน อันเหลือเชื่อ (2556) ณัฐพล ใจจริง, หน้า 53

[8] อ้างอิงจากแนวความคิดเรื่องการหลอกตนเอง และการรักษาภาพลวงตา - หนังสือ จิตวิทยาสังคม (2500) นพมาศ อุ้งพระ (ธีรเวคิน), หน้า 31

[9] อ้างอิงจากแนวคิดกลไกป้องกันตนเอง (defense mechanisms) ในหัวข้อการปฏิเสธความจริง (denial) และการแสดงออกด้วยการกระทำ (acting out) - https://psychcentral.com/lib/15-common-defense-mechanisms/

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน ธรณ์เทพ มณีเจริญ เป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net