Zootopia และ Get Out: มองการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ของสหรัฐผ่านแผ่นฟิล์ม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในสหรัฐอเมริกาหรือแม้กระทั่งในทุกๆ สังคม ประเด็นเรื่องความแตกต่างทางอัตลักษณ์สีผิว ชาติพันธุ์ หรือศาสนาได้ถูกนำไปผูกติดกับเรื่องของการเมือง อีกทั้งยังถูกมองว่าเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง ความรุนแรงและความเหลื่อมล้ำทางสังคม  ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐประสบกับความตึงเครียดทางสีผิว โดยเฉพาะปัญหาอคติ การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรงที่กระทำต่อพลเมืองผิวดำหรือแอฟริกันอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของเทรวอน มาร์ติน เด็กหนุ่มผิวดำวัย 17 ปี ผู้ถูกปลิดชีวิตกลางถนนด้วยกระสุนจากพลเมืองผิวขาวผู้มีประวัติเกลียดชังคนผิวดำทั้งๆ ที่เทรวอนไม่ได้ครอบครองอาวุธใดใด (2012) การกราดยิงสังหารหมู่ในโบสถ์คนดำในเมืองชาร์ลตันโดยเด็กหนุ่มผิวขาววัย 21 ปี ผู้เชื่อในความเหนือกว่าของคนผิวขาว (2015) การเสียชีวิตของเอริค การ์เนอร์ (2014) ไมเคิล บราวน์ (2014) อัลตัน สเตอลิง (2016) ฟิแลนโด คาสตีล (2016) และพลเมืองผิวดำคนอื่นๆ ด้วยน้ำมือของตำรวจในระหว่างการจับกุม โดยฝ่ายหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ากระทำเกินกว่าเหตุ เหตุการณ์เหล่านี้ได้สร้างความคับแค้นใจในหมู่ชุมชนคนผิวดำในสหรัฐจนนำไปสู่การเดินขบวนประท้วง การปะทะอย่างรุนแรงระหว่างมวลชนและตำรวจ รวมไปถึงการลอบทำร้ายฝ่ายตำรวจจนทำให้ตำรวจเสียชีวิตไปหลายนาย ในขณะที่ภาคประชาสังคมได้จัดตั้งองค์กรที่ชื่อว่า Black Lives Matter เพื่อตอกย้ำให้คนในสังคมตระหนักว่าคนผิวดำไม่ได้เกิดมาให้กลุ่มคนที่มีอำนาจหรือสถานะเหนือกว่ายิงทิ้งยิงขว้าง หากแต่มีชีวิตที่มีคุณค่าและความสำคัญเทียบเท่าคนสีผิวอื่น ฝ่ายองค์กรตำรวจและอนุรักษ์นิยมก็ได้จัดตั้ง “ขบวนการโต้กลับ” นามว่า Blue Lives Matter เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและความเห็นใจจากสังคมต่อตำรวจที่ตกเป็นเป้าหมายความรุนแรงด้วยเช่นกัน สภาวการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เราเห็นไม่มากก็น้อยว่า สังคมอเมริกายังห่างไกลจาก “ยุคหลังสีผิว (post-racial)” สังคมอุดมคติที่ซึ่งรูปลักษณ์สีผิวไม่ได้เป็นตัวกำหนดปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมอีกต่อไป ในทางตรงกันข้าม  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมืองในรัฐสภาหรือการเมืองในชีวิตประจำวัน มันดูจะเป็นต้นตอของความขัดแย้ง แตกแยก ปฏิปักษ์กันอย่างประสานกันไม่ได้

ในปริมณฑลของแวดวงบันเทิงสหรัฐ ฮอลลีวูดมักได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ของพวกเสรีนิยม เปิดกว้างต่อความแตกต่างหลากหลายทางอัตลักษณ์วัฒนธรรม และเป็นพลังขับเคลื่อนความคิดที่ก้าวหน้า บรรดานักแสดง นักร้อง คนดังส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้สนับสนุนหลักของพรรคเดโมแครตอย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็น ลีโอนาโด คีแคปรีโอ จอร์จ คลูนี่  เคธี่ เพอรี่  เจซี ฯลฯ เมื่อไม่นานมานี้ ดาราหญิงเจ้าบทบาทอย่าง เมรีล สตีฟก็เพิ่งกล่าวกลางงานรับรางวัลในลักษณะที่ต่อว่าความคับแคบและมีอคติทางชาติพันธุ์ของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่สำคัญ ดูเหมือนว่าฮอลลีวูดจะมีความละเอียดอ่อนเป็นพิเศษเกี่ยวกับเรื่องสีผิว โดยเมื่อปีที่แล้ว ได้เกิดคำวิจารณ์ที่ว่า Oscar so white เนื่องจากผู้เข้าชิงรางวัลสำคัญๆส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว คำครหานี้ดูจะเลือนหายไปในปีนี้ เมื่อรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตกเป็นของMoonlight (2016)หนังว่าด้วยชีวิตของเด็กผิวดำเกย์ที่มีแม่เป็นคนติดยา หากจะพูดภาษาเชิงการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ นี่คือภาพยนตร์ที่เล่นกับ “ความเป็นชายขอบ” ทับซ้อนหลายระดับไม่ว่าจะเป็น สีผิว เพศสภาวะ และฐานะทางเศรษฐกิจ กล่าวโดยสรุป บ่อยครั้ง ฮอลลีวูดมักนำเสนอว่าตนกำลังทำหน้าที่พิทักษ์เสรีภาพและความเปิดกว้างที่กำลังจะหดหายไปเรื่อยๆหลังปรากฎการณ์ “เลี้ยวขวา”ในการเมืองสหรัฐและการขึ้นสู่อำนาจของทรัมป์ มักสรรเสริญเชิดชูความแตกต่างหลากหลายและความถูกต้องทางการเมือง (political correctness) นอกจากนี้ก็ยังยืนกรานที่จะวิพากษ์วิจารณ์หยอกล้อเหล่าผู้นำที่อยู่ในอำนาจ    

ภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่องพยายามใช้เรื่องราวบนแผ่นฟิล์มเป็นสื่อกลางสะท้อนประเด็นปัญหาอัตลักษณ์ทางสีผิวในโลกแห่งความเป็นจริง บทความนี้ขอเปรียบเทียบภาพยนตร์สองเรื่องที่ดูอย่างผิวเผินแล้วไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกันเลย  เรื่องหนึ่งเป็นการ์ตูนดิสนีย์ที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดีสีสันสดใส อีกเรื่องหนึ่งเป็นหนังสยองขวัญเรทอาร์ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง แต่ ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องกำลังพยายามเปิดโปงปัญหาการเหยียดสีผิวในสหรัฐผ่านเรื่องเล่าสมมติแฟนตาซีไม่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน สุดท้ายแล้วภาพยนตร์ทั้งสองก็มีชุดคำอธิบายและเสนอทางออกว่าด้วยการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ทางสีผิวที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

***คำเตือน: เนื้อหาด้านล่างจะพูดถึงพล็อทสำคัญของหนังซึ่งจะสปอยเนื้อเรื่องและทำให้ผู้อ่านเสียอรรถรสในการชมได้***

Zootopia: ก้าวข้ามอคติทางสีผิว เราทุกคนต่างเป็นทั้งผู้กระทำการและเหยื่อของการเหยียด

Zootopia (2016) เป็นทั้งชื่อภาพยนตร์และชื่อเมืองในจินตนาการซึ่งภาพยนตร์ต้องการฉายภาพเล่าเรื่องราว Zootopiaคือชื่อมหานครของเหล่าสิงห์สาราสัตว์นานาชนิดที่ใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี วัตถุและภูมิปัญญา หนังปูเรื่องให้เราทราบคร่าวๆว่าโลกของสัตว์ได้มีวิวัฒนาการมาจนถึงจุดที่สัตว์ต่างๆไม่ได้ไล่ล่าฆ่าฟันกันอย่างป่าเถื่อนอีกต่อไป สัตว์ใหญ่กินเนื้อสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติกับบรรดาสัตว์เล็กกินพืช ไม่ต้องสงสัยเลยว่าโลกของสัตว์ใน Zootopiaนั้นมีลักษณะล้อไปกับโลกของมนุษย์ในความเป็นจริง  กล่าวคือ เรากำลังพูดถึงโลกที่ห่างไกลกับสภาวะอนาธิปไตย หรือ state of nature ที่ซึ่งสมาชิกทุกคนทำสงครามต่อกันไม่จบสิ้น นี่ไม่ใช่โลกที่เต็มไปด้วยชีวิตอัน “โดดเดี่ยว แร้นแค้น น่ารังเกียจ โหดร้าย และแสนสั้น” (อย่างน้อยนี่ก็เป็นความเป็นจริงตามมุมมองของผู้ผลิตภาพยนตร์หรือคนในประเทศที่พัฒนาแล้ว) อย่างไรก็ตาม ภายใต้ระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ดูจะมีความมั่นคงตามแบบฉบับประชาธิปไตยทุนนิยมเสรี Zootopiaก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาอคติและความแตกต่างทางอัตลักษณ์ได้ ทว่า แทนที่จะเป็นสีผิว ภาษา เพศสภาวะ หรือศาสนาเฉกเช่นโลกมนุษย์ ปมปัญหาอัตลักษณ์ใน Zootopiaเกิดขึ้นจากอคติหรือการตีตราสัตว์ประเภทต่างๆตามขนาด ตามมายาคติที่ว่าสัตว์ประเภทผู้ล่าจะดุร้ายป่าเถื่อน หรือตามความเชื่ออื่นๆแบบเหมารวม เช่น พวกจิ้งจอกจะเจ้าเล่ห์ไว้ใจไม่ได้ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จูดี้ ฮอปป์ กระต่ายน้อยตัวเอกของเรื่องจึงต้องอดทนและต่อสู้กับระบบที่แบ่งแยกและกีดกันเมื่อหล่อนตัดสินใจออกจากหมู่บ้านกระต่ายชานเมืองมาทำตามความฝันที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในมหานคร Zootopia ด้วยภาระหน้าที่ในการดูแลปลอดภัย เพื่อนร่วมงานของจูดี้ต่างเป็นสัตว์ใหญ่ทรงพลังแทบทั้งสิ้นและหล่อนเป็นกระต่ายตัวแรกที่ได้เข้าไปทำงานในสำนักงานตำรวจ

เรื่องราวซับซ้อนมากขึ้นเมื่ออยู่ดีดี บรรดาสัตว์ประเภทผู้ล่าบางตัวใน Zootopia เกิดอาการคุ้มคลั่ง ไล่ขย้ำทำร้ายทุกอย่างที่ขวางหน้า อันเป็นพฤติกรรมป่าเถื่อนในโลกบุพกาล เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความตึงเครียดทางอัตลักษณ์ขึ้นระหว่างสัตว์ใหญ่กินเนื้อส่วนน้อยและสัตว์เล็กไร้เขี้ยวเล็บซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในเมือง ฝ่ายหลังต่างหวาดระแวงและเริ่มมองว่าฝ่ายแรกคือภัยคุกคามต่อชีวิตตน จูดี้เองก็ดันไปพลาดพลั้งออกความเห็นในที่สาธารณะว่าสาเหตุของปัญหาอาจจะเป็นเรื่อง “ชีวภาพ” หรือกมลสันดานที่ถูกกดทับมาหลายพันปี หล่อนเสียใจมากเมื่อทราบภายหลังว่าคำพูดเช่นนี้ไม่เพียงแต่สร้างความแตกแยกร้าวฉานใน Zootopia มากยิ่งขึ้น แต่ยังทำร้ายจิตใจนิค จิ้งจอกเพื่อนของหล่อนอีกด้วย ภายหลัง จูดี้และนิคร่วมกันไขคดีจนค้นพบว่า แท้ที่จริงแล้วอาการบ้าคลั่งป่าเถื่อนมีสาเหตุมาจากสารสกัดจากพืชที่ถูกยิงเข้าไปในร่างกายของสัตว์ผู้ล่า กลุ่มผู้ก่อเหตุกลับเป็นแกะขนปุยที่ดูไร้พิษสง โดยเป้าหมายของกลุ่มแกะก่อการร้ายก็คือ การทำให้สังคมถูกครอบงำไปด้วยความหวาดกลัวและความเกลียดชังต่อสัตว์ประเภทผู้ล่า เพื่อให้ในที่สุดแล้ว ประชากรสัตว์เล็กกินพืชจะได้ขึ้นมามีอำนาจปกครอง Zootopiaอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ภาพยนตร์จบลงด้วยการที่สมาชิก Zootopiaทุกคนได้รับบทเรียนจากอคติเหยียดความแตกต่างทางอัตลักษณ์ จูดี้และนิค กระต่ายน้อยที่ดูจะอ่อนแอนุ่มนิ่มและจิ้งจอกที่สังคมตีตราว่าไม่ซื่อสัตย์ ได้รับการยอมรับให้เข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความสงบของ Zootopia

แน่นอนว่า Zootopia กำลังส่งสารทางการเมืองเรื่องอัตลักษณ์บางอย่างให้แก่ผู้ชม มันเตือนไม่ให้เราด่วนตัดสินใครจากรูปลักษณ์ภายนอกหรือมายาคติเหมารวม ไม่มีใครเกิดมาต่ำต้อยด้อยค่า ดุร้ายป่าเถื่อน มีพฤติกรรมชั่วร้าย เป็นอาชญากรโดยสายเลือด แม้จะเป็นโลกในจินตนาการ คนดูก็อดไม่ได้ที่จะนำไปผูกโยงกับโลกแห่งความเป็นจริง อีกนัยหนึ่ง Zootopia คือ utopiaของสังคมอเมริกันที่หนังใฝ่ฝันถึง โดยชูประเด็นเรื่องอัตลักษณ์เป็นหัวใจสำคัญ มันคือโลกที่คนแอฟริกันอเมริกันสามารถขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้ โลกที่ภาษาที่เราใช้สื่อสารกันต้องมี “ความเป็นกลาง”ให้มากที่สุด สัตว์ใหญ่ไม่ควรเรียกจูดี้ว่าเจ้าปุกปุยตัวน้อยฉันใด ผู้ชายก็ไม่ควรเรียกคู่สนทนาผู้หญิงว่า หนูหรือคนสวยฉันนั้น กระต่ายเท่านั้นที่จะสามารถชมกระต่ายด้วยกันเองว่าน่ารักได้ฉันใด คนผิวดำเท่านั้นที่จะสามารถใช้คำว่า “นิกเกอร์” เรียกเพื่อนร่วมสีผิวได้ฉันนั้น (ในอเมริกา คนสีผิวอื่นๆ โดยเฉพาะคนผิวขาวห้ามเป็นอันขาดที่จะใช้คำข้างต้นหรือ “นิโกร” เรียกคนผิวดำ เพราะคำศัพท์เหล่านี้สะท้อนประวัติศาสตร์ของระบบทาสอันโหดร้ายและกดขี่ที่คนขาวกระทำต่อคนผิวดำ) นอกจากนี้ Zootopia ยังเตือนสติให้เราตระหนักอยู่เสมอว่าในบางครั้งเราก็แสดงออกถึงอคติเหยียดอัตลักษณ์โดยที่ไม่รู้ตัว และในบางครั้งเราก็ตกเป็นเหยื่อของมุมมองเหยียดอัตลักษณ์เสียเอง ดังจะเห็นได้จากในช่วงครึ่งแรกของหนัง จูดี้ต้องกล้ำกลืนกับคำสบประมาทของเพื่อนร่วมงานร่างยักษ์และฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆมากกว่าคนอื่นเพื่อที่จะพิสูจน์ว่าตนสามารถเป็นตำรวจที่ดีได้ ทว่าในครึ่งหลัง หล่อนกลับพลั้งปากตีตราสัตว์กลุ่มนักล่าและกลายเป็นผู้ผลิตความเกลียดชังเสียเอง

Zootopia อาจจะประสบความสำเร็จในการส่งเสริมค่านิยมที่ก้าวข้ามการตัดสินเพื่อนมนุษย์รอบข้างด้วยอคติเหมารวม โดยเฉพาะในหมู่ผู้ชมวัยเยาว์ที่เติบโตในสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม หนังสนับสนุนให้พวกเขามีความอดทนอดกลั้นต่อคนที่มีอัตลักษณ์แตกต่างไปจากตน อย่างไรก็ตาม อคติและการเลือกปฏิบัติในชีวิตประจำวันคือป้อมปราการเดียวที่หนังพยายามพังทลายและก้าวข้าม พูดง่ายๆก็คือ หนังไม่ได้แตะประเด็นเรื่องความรุนแรงและความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างและทางประวัติศาสตร์ สารทางการเมืองของ Zootopia เป็นตัวอย่างสะท้อนการลดทอนปัญหาทางการเมืองที่สลับซับซ้อนให้เป็นเพียงแค่ประเด็นเรื่องความแตกต่างทางอัตลักษณ์ซึ่งสามารถแก้ไขได้อย่างง่ายดายผ่านการ “เปิดพื้นที่” “ความอดทนอดกลั้น” “ให้โควต้า” และการพูดจาภาษาดอกไม้ที่มี “ความถูกต้องทางการเมือง” ต่อกัน[1] อันที่จริงการเปรียบเทียบระหว่าง โลกของสัตว์ใน Zootopia และโลกของมนุษย์ในโลกแห่งความจริงดูจะมีความตื้นเขินหรือแม้กระทั่งผิดฝาผิดตัว  ในโลกแห่งความเป็นจริง การที่คนแอฟริกันอเมริกันไม่กี่คนสามารถดิ้นรนต่อสู้ ไต่บันไดแห่งอำนาจขึ้นไปดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศได้ มันแทบไม่ได้ช่วยทำให้อคติ การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรงในสังคม ดีขึ้นแม้แต่น้อย ซ้ำร้ายกลับทวีความเข้มข้นมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ

เหนือสิ่งอื่นใด ใน Zootopia ไม่มีกลุ่มสัตว์กลุ่มใดที่มีสถานะเหนือกว่าอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หนังนำเสนอว่าสัตว์ผู้ล่าตัวใหญ่ดูจะถือไพ่เหนือกว่าในแง่การเมืองแม้พวกเขาจะเป็นชนกลุ่มน้อยก็ตาม ดังจะเห็นได้จากสิงโตน่าเกรงขามที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีหรือสัตว์ใหญ่ในสำนักงานตำรวจ แต่ภายหลังสัตว์กลุ่มผู้ล่ากลุ่มนี้กลับตกเป็นเหยื่อของอคติทางอัตลักษณ์ ถูกตีตราว่าเป็นภัยสังคม และถูกเกลียดชังอัปเปหิออกจากพื้นที่สาธารณะอย่างง่ายดาย ในโลกแห่งความเป็นจริง โครงสร้างทางประวัติศาสตร์ที่เหลื่อมล้ำกดทับให้คนกลุ่มหนึ่งอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบทางอำนาจมาโดยตลอดทั้งในเชิง เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เป็นที่ทราบกันดีว่ามายาคติของคนผิวขาวว่าด้วยความดุร้ายป่าเถื่อนของชนพื้นเมืองนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ล่าอาณานิคม และสถาปนาอำนาจในการปกครอง ทว่า Zootopia กลับฉายภาพว่าเราทุกคนต่างเป็นทั้งคนเหยียดและเหยื่อของการเหยียดได้เท่าๆกันหมด

มุมมองที่หมกมุ่นกับอัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายทำให้สังคมหันไปให้ความสำคัญกับการนำเสนอ “ตัวตน” “ลักษณะเฉพาะตัว” ที่สวยงาม โดยมืดบอดหรือหลีกเลี่ยงที่จะขุดคุ้ยค้นหาต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำและความรุนแรงของสังคม ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมที่ควรได้รับการแก้ไขเชิงกฏหมายกลับถูกมองว่าเป็นปัญหาของทัศนคติที่คับแคบและไร้ความอดทนอดกลั้นที่สามารถแก้ไขได้ด้วยภาษาที่สุภาพและการสรรเสริญความหลากหลายให้มากขึ้นเท่านั้น ดังเนื้อเพลงป็อปที่หนีไม่พ้นเรื่องซ้ำซากจำเจว่า “You are beautiful no matter what they say. Words can’t bring you down.” หรือการยืนกรานว่า “I was born this way.” สุดท้ายแล้ว ประเด็นปัญหาทางความรุนแรงและเหลื่อมล้ำที่มีประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนกลับถูกลดทอนให้เป็นเพียงเรื่องความสวยงามเฉพาะตัวของตัวฉันหรือกลุ่มของฉัน ทุกวันนี้วาทกรรมเชิดชูอัตลักษณ์ที่หลากหลายเป็นที่นิยมและแพร่หลายอย่างกว้างขวาง มันเป็นส่วนหนึ่งของโฆษณาผลิตภัณฑ์สินค้าและการสื่อสารผ่านเครือข่ายโซเซียลมีเดีย[2] การเมืองเรื่องอัตลักษณ์เช่นนี้ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างใดใดเลย มิหนำซ้ำ ความทุกข์ทางอัตลักษณ์ของทุกคนยังถูกมองว่ามีความสำคัญเท่าเทียมกันหมด (ในอีกแง่หนึ่งก็คือไม่มีความทุกข์ของใครสลักสำคัญเลย) คนผิวขาวที่มีฐานะแต่ดันอาภัพเกิดมาเป็นคนเจ้าเนื้อก็สามารถนำเสนอว่าตัวเองเป็นเหยื่อของอคติและการเหยียดไม่ต่างไปจากแรงงานเม็กซิกันหาเช้ากินค่ำ ด้วยเหตุนี้ การเมืองเรื่องอัตลักษณ์แบบZootopia จึงไม่ได้กรุยทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง มันปฏิเสธการเมืองแบบปฏิปักษ์และการเผชิญหน้า มันเหนียมอายที่จะชี้หน้าประณามกลุ่มอภิสิทธิ์ชน utopiaในที่นี้จึงหมายถึงระบบระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน

Get Out: บทวิพากษ์มุมมองแบบPC และเสรีนิยมพหุวัฒนธรรมในหมู่คนผิวขาวหัวก้าวหน้า

Get Out (2017) เริ่มเรื่องด้วยฉากที่ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะคิดถึงเทรวอน มาร์ติน ชายแอฟริกันอเมริกันคนหนึ่งกำลังเดินคุยโทรศัพท์อยู่บนทางเดินเท้าในย่าน “ชุมชนที่อยู่อาศัย” กลางดึก ดูเหมือนว่าเขากำลังหลงทาง เขารัวฝีเท้าด้วยความกังวลเมื่อรู้ตัวว่าตนเองกำลังถูกจับตามองและติดตาม เขาตระหนักดีว่าเขากำลังอยู่ในย่านที่เขาไม่คุ้นเคยและไม่ปลอดภัยสำหรับ “คนอย่างเขา” และแล้วเขาก็เผชิญกับฝันร้ายของชาวแอฟริกันอเมริกันทุกคน บุคคลปริศนาที่ติดตามเขาลงมาจากรถและตรงปรี่มาทำร้ายเขาพร้อมจับตัวเขาใส่กระโปรงรถ ฉากเปิดเรื่องข้างต้นอาจทำให้ผู้ชมด่วนคิดไปเสียว่านี่คือหนัง 12 years a slave เวอร์ชั่นร่วมสมัย ที่กำลังจะเล่าเรื่องความรุนแรงที่พลเมืองชาวแอฟริกันอเมริกันประสบทุกวันนี้ โดยเฉพาะจากกลุ่มคลั่งคนขาว คลู คลักซ์ แคลน

เรื่องหาเป็นเช่นนั้นไม่ หนังแนะนำให้เรารู้จักพระเอกและนางเอกของเรื่อง คริส หนุ่มผิวดำผู้รักการถ่ายรูปและโรสสาวผิวขาวเป็นคู่รักกัน อยู่มาวันหนึ่ง คริสและโรสตัดสินใจเดินทางไปใช้เวลาสุดสัปดาห์กับครอบครัวของโรสที่บ้านเกิดของหล่อน นี่จะเป็นครั้งแรกที่คริสจะได้พบกับพ่อแม่ของแฟนเขา “นี่พ่อแม่คุณทราบหรือไม่ว่าผมเป็นคนดำ” คริสถามแฟนของเขาตรงๆ โรสส่ายหัวพร้อมยืนกรานว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบอกพวกเขา เพราะนั่นคือการตอกย้ำความแตกต่างทางอัตลักษณ์สีผิว หล่อนปลอบคริสว่าไม่มีอะไรน่ากังวล พ่อแม่ของหล่อนไม่ใช่คนเหยียดสีผิว พวกเขาอาจจะเป็นคนแก่ผิวขาวที่เชยๆเท่านั้น อย่างแย่ที่สุด พ่อของหล่อนอาจจะพยายามชวนคริสคุยเรื่องโอบามาและแจ้งให้คริสทราบว่าเขาคือผู้สนับสนุนโอบามาตัวยง จริงอย่างที่โรสว่า พ่อแม่ของโรสดูไม่มีพิษมีภัย พวกเขาทักทายคริสด้วยการสวมกอดอย่างไม่กระอักกระอ่วน แม้บ้านของพวกเขาจะใหญ่โตหรูหราตามแบบฉบับของคนผิวขาวมีอันจะกินที่อาศัยอยู่นอกเมืองท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม พ่อและแม่ของโรสก็ไม่ใช่พวกโลกแคบ พวกเขาชื่นชมและรักที่จะเรียนรู้ “วัฒนธรรมอื่นๆ”ที่หลากหลาย พวกเขามีการศึกษา พ่อของโรสเป็นศัลยแพทย์ทางประสาท ส่วนคุณแม่ก็เป็นนักบำบัดจิตโดยใช้การสะกดจิต กระนั้น คริสก็เริ่มรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล เริ่มต้นจาก ครอบครัวนี้มีแม่บ้านและคนสวนที่เป็นคนผิวดำ แต่พ่อของคริสก็รีบออกตัวเลยว่า เขารู้ดีว่ามันอาจจะดูน่าเกลียดแต่ทั้งสองทำงานให้ครอบครัวเขามานานและไม่อยากจะไล่ออก คริสอดไม่ได้ที่จะเข้าไปชวน “คนใช้”ผิวสีทั้งสองคุยเป็นการส่วนตัว แต่ทั้งสองกลับมีแสดงท่าทีแปลกประหลาด เหม่อลอย ร้องไห้ พูดจาไม่รู้เรื่อง

เรื่องราวดำเนินมาถึงจุดที่คริสรู้สึกแปลกแยกมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะมีใครจ้องทำร้ายเขา แต่เขารู้สึกเหมือนเป็นตัวประหลาดท่ามกลางคนผิวขาวผู้มีรอยยิ้มที่เป็นมิตรต่อเขา ในงานรวมญาติมิตรของครอบครัวโรส ลุงๆป้าๆต่างเข้ามาชวนเขาคุย ลุงคนหนึ่งถามว่าเขาชอบเล่นกีฬาอะไร ชอบเล่นกอล์ฟไหมเพราะตนชอบ พร้อมเอ่ยชื่อไทเก้อ วูด นักกอล์ฟผิวดำขึ้นมา แม้ว่าคริสจะบอกว่าเขาเล่นบาสเก็ตบอลแต่คุณลุงก็ยืนกรานให้เขาลองทำท่าสวิงไม้กอล์ฟให้ดูหน่อย ในวงสนทนา มีชายชาวเอเชียมาดอาจารย์คนหนึ่งตั้งคำถามเชิงวิชาการกับคริสอย่างสุภาพว่า “คุณคิดว่าประสบการณ์แบบแอฟริกันอเมริกันเป็นข้อดีหรือข้อเสียกันแน่?” คริสมึนงงไม่รู้จะตอบคำถามลักษณะนี้อย่างไร

 

“ไอ้มืด มึงออกจากที่นั่นเดี๋ยวนี้เลย!” เพื่อนเตือนคริสทางโทรศัพท์เมื่อคริสเล่าเรื่องผิดปกติต่างๆที่บ้านของโรสให้ฟัง แน่นอนว่ากว่าคริสจะรู้ตัว มันก็สายไปเสียแล้ว ภายใต้เปลือกนอกที่เป็นมิตร คริสกำลังจะกลายเป็น “สินค้า” ซื้อขายกันระหว่างญาติมิตรของครอบครัวโรส โดยแฟนสาวของเขาไม่เพียงรู้เห็นด้วยแต่ยังทำหน้าที่ล่อเหยื่อผิวดำเข้าบ้านมานับครั้งไม่ถ้วน นานมาแล้วที่พ่อของโรสทำการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายสมองระหว่างคนรู้จักผิวขาวของเขาและเหยื่อคนดำ ประกอบกับเทคนิคการสะกดจิตของแม่ของโรส ผลที่ออกมาก็คือ เหล่าคนขาวที่กำลังจะตาย ป่วย หรือไม่พอใจกับร่างกายของตนจะได้ใช้ชีวิตในร่างใหม่ ร่างของคนผิวดำ คนใช้ผิวสีสองคนของครอบครัวโรสแท้ที่จริงคือคุณปู่และคุณย่าของหล่อนนี่เอง ส่วนกรณีของคริส ร่างกายของเขากำลังจะถูกควบคุมโดยชายแก่ผิวขาวผู้อยากจะกอบกู้ทักษะการถ่ายรูปของตนอีกครั้งผ่านตาอันเฉียบคมของคริส องก์สุดท้ายของหนังถ่ายทอดการกระเสือกกระสนเอาชีวิตรอดของคริส เขาต้อง “ฆ่า” เพื่อ get out เขาปลิดชีวิตพ่อแม่และน้องชายของโรสทีละคน เขาหนีออกจากบ้านสุดสยอง วิ่งไปตามถนน โดยมีโรสไล่ยิงเขาด้วยปืนยาว ในฉากสุดท้าย คริสหนุ่มผิวดำผู้เหน็ดเหนื่อยกำลังคร่อมบนตัวโรสและบีบคอหล่อนอยู่กลางถนน แต่แล้ว แสงไฟกระพริบรถตำรวจก็สาดเข้าตาของเขา แววตาของคริสหมดหวัง (ถูกต้อง รถตำรวจมักจะโผล่มาในตอนท้ายของเรื่องเสมอ เราต่างคุ้นเคยกับความรู้สึกโล่งอกและเรื่องราวที่กำลังจะคลี่คลายเมื่อรถตำรวจเข้าฉากมาในตอนท้ายของหนังสยองขวัญ แต่ไม่ใช่ในกรณีนี้ ไม่ใช่ในบริบทความเป็นจริงที่ Black Lives Matter ปะทะกับ Blue Lives Matter) คริสยกมือทั้งสองขึ้นโดยอัตโนมัติ ณ จุดนี้ ผู้กำกับปราณีต่อคริสและคนดู ในโลกแห่งความเป็นจริง คริสน่าจะถูกวิสามัญฆาตกรรมไปแล้ว แต่ในโลกของ Get Out ผู้มาเยือนกลับเป็นเพื่อนรักของคริสผู้ขับรถมาช่วยเขา

Get Out คือหนังที่ตบหน้าคนผิวขาวเสรีนิยม ชื่นชม PC อย่างตื้นเขิน เป็นแฟนคลับโอบามา แต่ไม่รู้ตัวว่าคำพูดหรือการกระทำของตัวเองเป็นการทำร้ายร่างกายและจิตใจในมุมมองของคนผิวสี จอร์แดน พีล ผู้กำกับผิวดำได้กล่าวอย่างชัดเจนว่าเขาอยากทำหนังตีแผ่การเหยียดสีผิวที่ไม่เพียงแต่แฝงฝังในปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันทั่วไปแต่ยังอยู่ในรูปของความเป็นมิตร สุภาพ และเปลือกนอกแห่งพหุนิยมทางวัฒนธรรม นี่ไม่ใช่หนังที่ตัวร้ายเป็นนายทาสผิวขาวถือแซ่ผู้ดูแคลนว่าคนผิวดำต่ำต้อยด้อยค่า ป่าเถื่อน เป็นสัตว์ร้ายที่ต้องล่ามโซ่ตรวนไว้ หากแต่เป็นเหล่า “คนดี” ที่พูดจาภาษาดอกไม้ สาเหตุที่เหยื่อทุกคนเป็นคนดำก็เพราะลึกๆแล้ว คนดีเหล่านี้หมกมุ่นกับอัตลักษณ์ความ “ดำ” แทนความเกลียดชัง พวกเขาใฝ่ฝันที่จะครอบครองร่างกายที่กำยำ คล่องแคล่ว หรือสายตาที่เฉียบคมของคนดำ ความดำกลายเป็นสินค้า เป็นกระแสแฟชั่น บางที ตอนนี้มันอาจไม่มี Black skin, white masks หรือการที่คนดำพยายามฟอกขาวตัวเองอีกแล้ว แต่กลับเป็นยุคโพสท์โมเดิร์นที่คนขาวถวิลหา black skin และ black masks กระนั้นก็ตาม การยอมรับเชิดชูอัตลักษณ์ความดำก็เกิดขึ้นไปพร้อมๆกับการเห็นว่าชีวิตของคนดำนั้น “ยิงทิ้งยิงขว้างได้ (disposable, expendable)”[3] หนังทำให้เราสัมผัสได้ถึงโครงสร้างความรุนแรงและความเหลื่อมล้ำในโลกแห่งความเป็นจริง หากจะมีคนดำหรือพวกใต้ถุนสังคมสักสิบยี่สิบคนหายสาบสูญไปอย่างลึกลับ จะมีใครเล่าที่ออกตามหาพวกเขาอย่างจริงจัง มิพักต้องพูดถึงฉากจบที่ทำเอาผู้ชมในโรงใจหายวูบเมื่อเห็นแสงกระพริบรถตำรวจ พีลเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกและภาพตีตราคนดำที่เราทุกคนรู้ดี แม้ว่าคริสจะถูกทรมานและเพิ่งรอดพ้นจากการถูกชำแหละหัวมาหมาดๆ ชะตาของเขาคงถึงฆาตแน่ๆหากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบเขาในสภาพเลือดท่วมตัวพร้อมศพหญิงผิวขาวข้างกาย

การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในทัศนะของ Get Out นั้นมืดมนกว่า Zootopia อย่างเทียบกันไม่ติด มันบอกอย่างไม่อ้อมค้อมว่า ในโลกมนุษย์กลมๆใบนี้ มีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็น “ผู้ล่า” อย่างชัดเจน “ผู้ล่า”เหล่านี้อาจจะนำเสนอว่าตนเองมีความใจกว้าง เปิดรับความแตกต่างหลากหลาย มีการศึกษา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะมือสะอาดไม่ได้มีส่วนในการสืบสานโครงสร้างความรุนแรงและความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสีผิว ไม่เพียงเท่านั้น เราสามารถตีความจากหนังได้ว่า ในบางครั้ง ในบางสถานการณ์ คนผิวดำมีเพียงความรุนแรงและการฆ่าเพื่อเอาชีวิตรอดด้วยตัวเอง เขาไม่สามารถหวังพึ่งระบบกฏหมายและเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบได้เลย หนังกลับหัวกลับหางพล็อตเรื่องทั่วไปที่มักจะให้ตัวละครคนดำต้องถูกสังเวยชีวิตในฐานะตัวประกอบหรือตัวร้ายของเรื่อง ฉากไล่สังหารคนผิวขาวของคริสถือเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยเห็นบ่อยในหนังฮอลลีวูด (พีลประกาศตรงๆว่า เขาดีใจเมื่อเห็นผู้ชมคนดำลุกขึ้นเชียร์พระเอกอย่างเมามันส์ในโรงหนัง) สุดท้ายแล้ว หนังไม่ได้จบลงด้วยสภาวะสมานฉันท์ปรองดอง และการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างอัตลักษณ์ที่หลากหลาย ตรงกันข้าม บทเรียนราคาแพงของคริสกลับเป็นการอยู่ให้ห่างไกลจากคนขาวได้มากที่สุด ไม่ต้องไปพูดถึงการริอ่านมีแฟนคนขาวอีกสักคน   
 

บทสรุป

การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ถือเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดการถกเถียงที่เผ็ดร้อนและความขัดแย้งที่ประสานกันไม่ได้ทั้งในและนอกแวดวงวิชาการ กลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์และกังขามักมองว่าบ่อยครั้งที่การเมืองเรื่องอัตลักษณ์สุ่มเสี่ยงต่อการลดทอนทุกๆปัญหาความขัดแย้งให้เป็นแค่เรื่องความแตกต่างหลายหลายทางวัฒนธรรม การขาดความอดทนอดกลั้น และอคติเหมารวม ซึ่งสามารถแก้ไขด้วยวิธีการง่ายๆ ผ่านการเคารพต่อกันให้มากขึ้น  เปิดพื้นที่เสรีภาพให้ทุกคน และส่งเสริมการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความแตกต่าง บ่อยครั้งโลกอุดมคติของนักพหุวัฒนธรรมนิยมมักจะหยุดอยู่ตรงที่บรรดากลุ่มคนส่วนบนของอำนาจยังครองสถานะที่เหนือกว่าต่อไป ท่ามกลางการแก่งแย่งขอพื้นที่ (ทางเศรษฐกิจ สังคม และโซเซียลเน็ทเวิร์ค) ในการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของตัวเองและจำกัดการใช้คำศัพท์ดูถูกดูแคลนต่อกันให้ได้มากที่สุด

Get Out สะท้อนความเข้าใจต่อปัญหาทางอัตลักษณ์และการเหยียดสีผิวจากมุมมองของคนผิวดำ ดูเหมือนว่าสารทางการเมืองของหนังจะแทบไม่เกี่ยวข้องกับการสรรเสริญเชิดชูวาทกรรมประเภท “black is beautiful” แม้แต่น้อย ตรงกันข้าม มันตะโกนบอกว่า “ครั้งหน้าเวลาเจอคนดำ อย่าชวนกูคุยเรื่องโอบามาหรือไทเก้อร์ วูดเลย มันสะท้อนว่ามึงเห็นความดำมาก่อนลักษณะความเป็นคนอื่นๆของกู” แม้การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในทัศนะของ Get Out จะรื้อทำลายมายาคติ ขีดเส้นแห่งความเป็นปฏิปักษ์ และกระตุ้นให้นักพหุวัฒนธรรมเสรีนิยมย้อนกลับมามองวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของตัวเอง กระนั้น มันก็ไม่ใช่หนังแห่งการปฏิวัติต่อสู้ของคนยากเสียทีเดียว หนังยังขาดแง่มุมเรื่องความขัดแย้งทางชนชั้น หนังอาจถูกตีความได้ว่ากำลังเล่าเรื่องราวความทุกข์ของคนดำชนชั้นกลางมีการศึกษาที่รู้สึกแปลกแยกจากชนชั้นกลางผิวขาว สุดท้ายแล้วประเด็นปัญหาเรื่องอัตลักษณ์เป็นเพียงปัจจัยหรือองค์ประกอบหนึ่งที่ตอกย้ำสืบสานความรุนแรงและความเหลื่อมล้ำในสังคม บ่อยครั้งการพิจารณาและแก้ปัญหาแบบแยกส่วนอาจลงเอยส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจหลักที่ครอบงำดำรงอยู่ต่อไป

               

เชิงอรรถ

[1] ผู้ที่สนใจงานเขียนวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเรื่องความอดทนอดกลั้น ดู Wendy Brown, Regulating Aversion: Tolerance in the Age of Identity and Empire (Princeton: Princeton University Press, 2008).

[2] ดูงานต่อไปนี้ของ Jodi Dean ซึ่งวิพากษ์ประเด็นเรื่องการหมกมุ่นต่ออัตลักษณ์ผ่านโซเซียลเน็ทเวิร์ค ทุนนิยม  และความล้มเหลวของฝ่ายซ้ายเสรีนิยม Jodi Dean, Crowd and Party (New York: Verso, 2016)  และ Jodi Dean, “Not us, Me,” (November 26, 2016), http://www.versobooks.com/blogs/2970-not-us-me.

[3] สำหรับผู้อ่านที่สนใจการแบ่งประเภทชีวิตตามลำดับสูงต่ำผ่านกรอบแนวคิดชีวอำนาจในปัจจุบันดู Costas Douzinas, “The Many Faces of Humanitarianism,” Parrhesia, no. 2 (2007): 1-28. Henry A. Giroux, “Reading Hurricane Katrina: Race, Class, and the Biopolitics of Disposability,” College Literature 33, no. 3 (Summer, 2006): 171-196, Didier Fassin, Humanitarian Reason: A Moral History of the Present (University of California Press, 2011).

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท