สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

มีข่าวหนึ่งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา คือ เรื่องที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ด้วยคะแนน 227 ต่อ 1 เสียง โดยมตินี้ หมายความว่า จะยังไม่มีการตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" “แต่จะมีการ “ซื้อเวลา” โดยนำเนื้อหาเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปใส่ไว้ในข้อสังเกต เสนอให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นภายใน 60 วัน เพื่อทำหน้าที่พิจารณาศึกษาถึงรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสม แล้วกำหนดให้ทำงานเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

ปัญหาที่คนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจว่า เรื่องนี้มาได้อย่างไร และ ปตท.(การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย) ไม่ได้เป็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติของไทยดอกหรือ ถึงต้องมีการตั้งใหม่

ในเรื่องนี้ คงต้องย้อนหลังอธิบายว่า กระบวนการนำมาสู่กฎหมายฉบับนี้ เริ่มมาจากการเคลื่อนไหวของฝ่ายพันธมิตร และ กปปส. ที่โจมตีบริษัท ปตท,ว่าเป็นกิจการฝ่ายทักษิณ และเป็นของนายทุน ไม่ได้เป็นของประชาชนไทย รสนา โตสิตระกูล ผู้นำการเคลื่อนไหวต่อต้าน ปตท. อธิบายว่า แม้ว่า ปตท.เคยมีลักษณะเป็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แต่ต่อมา รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้แปรรูปให้เป็นบริษัทมหาชน ทำให้สถานะนั้นหมดสิ้นไป เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ต่างชาติ และนายทุนนักการเมือง เข้ามาครองครองกรรมสิทธิ์ ดังนั้น ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านฝ่ายทักษิณ จึงได้มีการเคลื่อนไหวในลักษณะทวงคืนน้ำมัน ทวงคืนท่อก๊าซ ทวงคืน ปตท. ควบคู่ไปด้วยเสมอมา

ในที่สุด กลุ่มทวงคืนพลังงานนี้ ก็ตั้งขึ้นมาเป็นองค์กร เรียกว่า “เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) มีผู้ที่มีบทบาทเช่น ม.ร.ว.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เป็นต้น

ข้อเสนอที่ชัดเจนของฝ่าย คปพ. คือ การนำเอาพลังงานกลับสู่ประชาชนไทย โดยการจัดตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ”ขึ้นมาใหม่ โครงสร้างของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติใหม่นี้จะเป็น “หน่วยงานที่เป็นของรัฐ” ทำหน้าที่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทั้งหมดในแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศ และจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งหมด และจะเป็นตัวกลางให้บริษัทเอกชนต้องเข้ามาทำสัญญาเพื่อจัดการใหม่ในระบบแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) และ ระบบรับจ้างผลิต (Service Contract) ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งปิโตรเลียมในทะเล

ข้อเสนอนี้ จะเป็นการล้มเลิกระบบการให้สัมปทานแบบเดิม ซึ่งถูกมองว่าเอื้ออำนวยประโยชน์นายทุนมากเกินไป ซึ่งถ้าเป็นไปตามข้ออ้างนี้ ผลประโยชน์ที่ได้ก็จะเป็นของประชาชนทั้งหมด แทนที่จะตกเป็นของผู้ถือหุ้นอย่าง ปตท.

เมื่อเกิดการรัฐประหารพฤษภาคม พ.ศ.2557 ฝ่าย คปพ.ก็มีความหวังว่า คณะรัฐบาลเผด็จการทหารจะเห็นด้วยและช่วยผลักดันการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และสถานการณ์ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้น เมื่อมีการนำเสนอร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่เข้าสู่สภาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2558 แต่ในกระบวนการพิจารณา คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติ ที่มี พลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน ได้เพิ่มมาตราที่ 10/1 เรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในเงื่อนไขเมื่อ "มีความพร้อม" ซึ่งจะกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกโจมตีต่อมา

วันที่ 24 มีนาคม นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ได้ออกข่าวโจมตี ร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ว่า มีความบกพร่องถึง 10 จุด ถือว่าเป็นกฎหมายอัปยศ เปิดช่องให้รัฐบาลวางเกณฑ์เรื่องพลังงานตามใจชอบ และไม่ตั้งบรรษัทพลังงานขึ้นมารองรับ เพื่อเอื้อให้เอกชนได้ต่อสัมปทานแหล่งบงกช – เอราวัณ ที่กำลังจะหมดสัมปทานลง

ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม ก่อนที่กฎหมายนี้จะถูกนำกลับเข้ามาสู่สภาเพื่อลงมติเห็นชอบเพียง 3 วัน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกลับออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ประเด็นสำคัญ ที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรนำเสนอที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ไม่ใช่เป็นเพียงแต่เรื่องของการบิดประเด็นในสภา สนช. แต่ยังเป็นเรื่องที่ว่า มีกลุ่มทหารกำลังพยายามจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อดำเนินกิจการปิโตรเลียมทั้งระบบ ทั้งเป็นผู้กำกับดูแล เป็นผู้ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และจะเป็นผู้ขายและจัดจำหน่าย  ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงได้มีการสอดไส้อำนาจเบ็ดเสร็จไว้รองรับ โดยมาตราที่ว่าจะให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม ก็จะมีการนำเสนอให้กรมพลังงานทหารเป็นผู้บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในระยะเริ่มต้น และเมื่อกำหนดให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติควบคุมกรรมสิทธิ์ในพลังงานทุกชนิด ก็จะสร้างความกังวลต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตของ บริษัท ปตท. และถ้า ปตท.ประสบปัญหาจะกระทบต่อวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรนำเสนอเช่นนี้ ฝ่ายรัฐบาลก็ปฏิเสธข่าวทันทีว่า ว่าไม่ได้มีแผนการจะฮุบกิจการพลังงานไว้ในฝ่ายทหาร ในขณะที่ฝ่าย คปพ.ก็เรียกร้องให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติโดยทันที และเมื่อมีการลงมติเลื่อนการพิจารณาตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำกลุ่ม คปพ. ก็อธิบายว่า มติของสภาถือเป็นความล้มเหลว เพราะการนำมาตรา 10/1 ไปอยู่ในข้อสังเกตเท่ากับว่าเป็นการ”ถอดเครื่องยนต์” กลับไปสู่การทำสัมปทานรูปแบบเดิม และการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารายละเอียดของรูปแบบและวิธีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติภายใน 1 ปี ก็ยังจะไม่ใช่เป็นการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ คปพ.ก็จะเคลื่อนไหวต่อไป

สรุปความเห็นต่อเรื่องนี้ก็คือ เราคงต้องติดตาม แต่ไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจสนับสนุน เพราะส่วนหนึ่งต้องเข้าใจว่า การเคลื่อนไหวเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติทั้งหมด มาจากสมมติฐานที่ผิดในการโจมตี ปตท. เพราะบริษัท ปตท.ก็เริ่มมาจากการเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาตินำเอาวิธีการบริหารแบบบริษัทสมัยใหม่เข้ามาใช้ เพื่อแก้ข้อบกพร่องขององค์การเชื้อเพลิงและบริษัทน้ำมันสามทหารสมัยดั้งเดิม ที่มีลักษณะการบริหารแบบระบบราชการ และพัวพันกับการทุจริตของฝ่ายทหาร การแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็เป็นวิธีการบริหารแบบทุนนิยมสมัยใหม่ลักษณะหนึ่ง ไม่ได้เป็นการ”ขายชาติ” หรือยกประโยชน์ให้นายทุนกลุ่มทักษิณ ตามที่ คปพ.พยายามโจมตีเสมอมา เพราะสำหรับบริษัท ปตท. กระทรวงการคลังก็ยังเป็นผู้ถือหุ้น 51 % และกองทุนวายุภักดิ์ก็ยังถือหุ้นอีกราว 15 %

นอกจากนี้ การตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เป็นองค์กรของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ แล้วให้สิทธิผูกขาดแต่เพียงรายเดียว ในการดำเนินการเรื่องพลังงานซึ่งมีมูลค่านับแสนล้าน จะกลายเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง

ประเด็นที่ต้องอธิบายอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ความจำเป็นของประเทศที่จะต้องมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ดังที่นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงพลังงานอธิบายก็คือ ไทยยังไม่จำเป็นต้องจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพราะมีโครงสร้างที่รองรับ มีการแบ่งภารกิจที่ชัดเจน มีการคานอำนาจ และตรวจสอบ โดยมีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำกับดูแลภารกิจภาครัฐ ขณะที่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (ปตท.สผ.) เป็นผู้สำรวจและผลิต มีการแข่งขันกับบริษัทอื่นอย่างเสรี ไม่ผูกขาด ขณะที่บริษัท ปตท.ในฐานะผู้ค้า ก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดังนั้น หากมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานเดียว ก็อาจจะกลายเป็นการผูกขาด และถ้าจะให้รัฐลงทุนเพื่อสำรวจและผลิตปิโตรเลียม อาจเสี่ยงกับการสูญเสียเงินจำนวนมาก ถ้าไม่พบปิโตรเลียม

แม้จะมีข้อเสนอประเภทที่จะให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาตินี้ ต้อง ”ปลดจากทุน ปลอดจากราชการ ปลอดจากการแทรกแซงของทหาร” ซึ่งอาจจะฟังดูดี แต่อย่าเพิ่งรีบเชื่อ เพราะต่อให้เป็นจริงก็มีปัญหาในทางปฏิบัติว่าจะให้ใครเข้าไปทำ

ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็อย่าไปสนับสนุนเลยครับ

 

จาก โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 611 วันที่ 8 เมษายน 2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท