Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ความขัดแย้งในชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมไทยทวีขึ้นมาก และมักจะดำเนินต่อไปจนจบเรื่องด้วยการใช้ความรุนแรงต่อกัน ไม่ว่าจะในระดับของ  “คนอยู่บ้านใกล้ชิดติดกัน” หรือในการใช้พื้นที่สาธารณะบนท้องถนนร่วมกัน ดังข่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้ เพียงแค่การไม่ยอมออกรถจากจุดจ่ายน้ำมันในปั๊มน้ำมัน ก็ทำให้ทะเลาะกันรุนแรง เป็นต้น

แน่นอนว่า การอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนหรือสังคมนั้น ย่อมไม่มีใครที่ทำอะไรถูกใจคนอื่นได้หมด ความไม่พึงพอใจต่อการกระทำของผู้อื่นที่สัมพันธ์กับเราหรืออยู่ใกล้ชิดเราย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ  ในสมัยก่อน สังคมไทยได้สร้างระบบความสัมพันธ์ทางสังคมลักษณะหนึ่งขึ้นมาเพื่อลดทอนปัญหาความขัดแย้งในชีวิตประจำวันนี้ด้วยการทำให้คนแต่ละคนรู้จักและสำนึกที่จะควบคุมการกระทำของตนเองไม่ให้ไปรบกวนคนอื่นด้วยความคิดเรื่อง “ความเกรงใจ”

“ ความเกรงใจ” คือ ความรู้สึกระมัดระวังที่จะไม่ให้การกระทำใดๆของตนไปทำให้คนอื่นรู้สึกถึงความลำบาก /เดือนร้อน/ ยุ่งยาก ในทุกมิติ  ในกาลก่อนนั้น สังคมไทยได้ทำให้ “ความเกรงใจ” กลายเป็นบรรทัดฐานของความสัมพันธ์ทางสังคม  ซึ่งมีผลทำให้การกระทำที่จะกระทบกระทั่งผู้อื่นเกิดขึ้นไม่มากนัก

“ความเกรงใจ” เป็นระบบความหมายที่มีพลังในสังคมที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก  โดยเฉพาะในชุมชนขนาดเล็กและชุมชนขนาดย่อมทั่วไปของสังคมไทยที่ผู้คนยังหมายรู้กันได้ว่าใครเป็นใคร อยู่ที่ไหนอย่างไร  แต่เมื่อเกิดรัฐแบบใหม่และเกิดการขายตัวของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา  ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่ได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้นตามลำดับ ความพยายามจะควบคุมการกระทบกระทั่งระหว่างผู้คนที่มีความสัมพันธ์กันมากขึ้นนั้น จึงทำให้ชนชั้นนำไทยในระยะหลังได้ผลักดันให้ “ความเกรงใจ” ขยายตัวครอบคลุมสังคมให้มากยิ่งขึ้น  ด้วยการทำให้เกิด "คุณลักษณะใหม่" ของผู้คนที่จะใช้ความสำนึกเรื่อง “ความเกรงใจ” ในการจัดความสัมพันธ์ทางสังคม   

กระบวนการนี้ทำได้โดยการนิยาม “ ความเกรงใจ” ให้กลายเป็นคุณสมบัติบุคคลที่มีเกียรติในสังคม หรือเป็นบุคคลที่พึงประสงค์ นั่นคือ  การทำให้ “ ความเกรงใจ” กลายเป็น “สมบัติผู้ดี” และได้นิยาม “ ความเป็นผู้ดี” ที่ข้ามพ้นพรมแดนชนชั้นที่มีรากฐานอยู่บนหลักชาติวุฒิหรือชาติกำเนิดของคนในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ผู้มีคุณงามความดีตามระบบคุณค่าใหม่ๆ ในระยะหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕  ซึ่งความหมายของกระบวนการนี้ก็คือ การขยายสำนึก “ความเกรงใจ” ออกไปครอบคลุมสังคมไทยกว้างขวางมากขึ้น ในขณะที่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และระบบคุณค่าเดิมๆในสังคมบางส่วนไม่มีพลังในการจรรโลงความสัมพันธ์ทางสังคมในดำเนินไปอย่างราบรื่น และระบบคุณค่าใหม่ๆ ยังไม่เป็นที่รับรู้หรือยอมรับมากนัก


คนรุ่นผมที่เคยเข้าค่ายลูกเสือหรือไปโรงเรียนในยุคสมัยที่มีการร้องเพลงหน้าเสาธง คงพอจะจำเพลง “ความเกรงใจ” ได้นะครับ ผมจำได้แม่นว่าเนื้อเพลง คือ “ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี ตรองดูซิทุกคนก็มีหัวใจ เกิดเป็นคนถ้าหากไม่เกรงใจใคร คนนั้นไซร้ไร้คุณธรรมประจำตน”

การควบคุมพฤติกรรมผู้คนในสังคมด้วยการขยาย “ความเกรงใจ” ให้มาเป็นคุณสมบัติของ “ผู้ดีมีคุณธรรม” นี้ ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพพอสมควรในสังคมที่การเคลื่อนย้ายทางสังคมไม่เข้มข้นมากนัก หรือผู้คนมีความสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าไม่ถี่มากเหมือนในสังคมปัจจุบัน แม้ว่าจะมีผู้คนย้ายถิ่นเข้าไปอยู่ในชุมชนที่ตนเองกลายเป็นคนแปลกหน้า  ทั้งคนที่อยู่มาก่อนและคนที่อพยพเข้าไปอยู่ใหม่ ก็จะใช้ความรู้สึก “เกรงใจ” ในการจัดความสัมพันธ์ทางสังคม ไม่ทำอะไรให้กระทบกระเทือนหรือสร้างปัญหาให้แก่คนอื่นๆ ซึ่งก็จะส่งผลให้การดำเนินชีวิตของตนดำเนินต่อไปโดยมีปัญหาความขัดแย้งน้อยที่สุด

การที่ต้องอยู่ร่วมกันหรือพบหน้ากันไปนานๆ ตลอดจนความจำเป็นที่ต้องร่วมมือหรือช่วยเหลือกันในบางเรื่อง (แม้มิใช่การพึ่งพากันอย่างรอบด้านเหมือนในสังคมโบราณ) นับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ “ความเกรงใจ” มีพลังกำกับความสัมพันธ์ทางสังคม ดังนั้น เมื่อสังคมไทยมีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วยิ่งขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2520  เป็นต้นมาอันเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจ  “ความเกรงใจ” จึงมีพลังน้อยลงเป็นลำดับ เมื่อประกอบกับการที่รัฐไทยเน้นความมั่นคงของชาติและความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นสองมิติหลัก ทำให้ “คุณธรรม” ที่ได้รับการเน้นจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” และเกี่ยวกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น ความขยันและรับผิดชอบในการทำงาน ฯลฯ  ไม่ใช่เรื่องของ “ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี” อีกต่อไป

ดังนั้น “ความเกรงใจ" ที่เคยเป็นคุณลักษณะสำคัญที่รัฐบาลและครอบครัวปลูกฝังให้เยาวชนและลูกหลาน จึงเหลืออยู่ในพจนานุกรมมากกว่าในชีวิตจริงของคนไทย

แม้แต่ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนที่เป็นคนคุ้นเคยกัน “ความเกรงใจ” ก็เหลือน้อยลง มิพักต้องพูดถึงในระดับสังคมซึ่งก็ไม่เคยสร้างความคิดเรื่อง "ความเกรงใจสังคม " มาก่อน ยื่งทำให้การละเมิด “สังคม” เป็นไปได้ง่ายดายยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่า การใช้พื้นที่สาธารณะในสังคมไทยในปัจจุบันเป็นไปโดยขาด “ความเกรงใจ” คนอื่นๆ และแทบจะไม่มีความเกรงใจต่อ “สังคม” เอาเสียเลย ทำให้พร้อมที่จะยึดเอาความพึงพอใจ ผลประโยชน์ หรือความสะดวกของตนเองเป็นหลัก ซึ่งการขาดความเกรงใจเช่นนี้เองที่คนไทยด้วยกันเองนั่นแหละที่มักจะพูดกันทำนองปรับทุกข์ว่า “คนสมัยนี้เห็นแก่ตัวมากขึ้น”
         

การสูญสลายไปของ “ความเกรงใจ” ก่อปัญหาการละเมิดกันมากมายได้อย่างไร  และสังคมไทยในวันนี้จะต้องคิดอะไรกันบ้างเพื่อรักษาสังคมให้เป็นสังคมกันต่อไป 

การสูญสลายไปของ “ความเกรงใจ” ก่อปัญหาการละเมิดกันมากมายในทุกมิติ ตั้งแต่การดำเนินชีวิตประจำวันในพื้นที่สาธารณะทุกแห่ง เช่น ถนน โรงเรียน โรงพยาบาล ร้านกาแฟ โลกโซเชียล ฯลฯ เรื่อยไปจนถึงความใฝ่ฝันถึง " บรมธรรม" ก็ล้วนแล้วแต่วางอยู่บนความปรารถนาส่วนตัวอย่างไม่แคร์คนอื่นและสังคมเลย ลองนึกถึงการสร้างพระพุทธรูปรุ่น " ดูดทรัพย์" ที่เน้นความร่ำรวยส่วนตัวอย่างไม่มีแก่ใจคิดไปถึงเรื่องของ " ความเมตตา" ที่ควรจะมีต่อผู้อื่น  ไม่ใช่คิดเพียงแค่จะดูดทรัพย์คนอื่นเท่านั้น

คนที่ "ขี้เกรงใจ" คนอื่น  ก็จะพบว่า "ความเกรงใจ" ที่ตนมีและทำให้ตนเอง "ถอย" สักหน่อยเพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่คนอื่นมากขึ้นกลับกลายเป็นช่องทางและโอกาสให้คนอื่นนั้นได้ใช้ " ความเกรงใจ" ที่ได้รับมากระทำการรุกล้ำ ล่วงเกิน ละเมิด และขูดรีด ตนมากขึ้นไปอีก
 


ท่ามกลางสังคมที่ปราศจาก " ความเกรงใจ" กันและกันเช่นนี้ เราจะอยู่กันอย่างไร

ผมเชื่อว่าปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างผู้คนในทุกระดับและทุกมิติจะทวีมากขึ้น  ลองนึกถึงการเกิดขึ้นและการขยายตัวของ " มนุษย์ป้า/มนุษย์ลุง/มนุษย์แว้น/มนุษย์ลูกคนรวย " ที่พร้อมจะเอาเปรียบคนอื่นและสังคมได้อย่างหน้าตาเฉยที่มากขึ้นตามวันเวลา เพื่อนสนิทผมคนหนึ่งก็พบกับพฤติกรรมเบรครถแล้วถอยมาจะชนแบบเดียวกับมนุษย์หนุ่มชื่อดังที่เคยทำเมื่อไม่นานมานี้


สังคมไทยในวันนี้จะต้องคิดอะไรกันบ้างเพื่อรักษาสังคมให้เป็นสังคมต่อไป

ผมคิดว่ามีสองทางเลือกที่จำเป็นต้องช่วยกันสร้างขึ้นมา ตั้งแต่ครอบครัว ระบบการศึกษาทุกระดับ และระดับของสังคมโดยรวม ทางเลือกแรก ได้แก่  การคืนและขยาย "ความเกรงใจ" ให้ครอบคลุมกว้างขวางจนเป็น " ความเกรงใจสังคม" ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อสังคมไทยสร้างการรับรู้และให้ความหมายของ " พื้นที่สาธารณะ" กันใหม่ว่าไม่ใช่พื้นที่ที่ใครจะมาถ่มถุยอะไรก็ได้อย่างที่เคยทำกันมา  หากแต่ต้องเข้าใจและตระหนักว่า "พื้นที่สาธารณะ" นั้นเป็น " สมบัติร่วมของสังคม" ที่ปัจเจกบุคคลไม่ควรล่วงละเมิด

ระบบการศึกษาในทุกระดับจะต้องสอนและสร้างกิจกรรมที่เชื่อมโยงตัวผู้เรียนเข้ากับ "สมบัติร่วมของชุมชนและสังคม" ตลอด  และต้องทำให้ตระหนักถึงสายตาของคนรอบข้างที่จะตำหนิเด็กหากละเมิดกฏเกณฑ์ของ "สมบัติร่วม" ซึ่งแน่นอนว่ามีความยากลำบากในการปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีรู้สึกของคนไทยอยู่บ้างเพราะหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจเป็นต้นมา สังคมไทยมักจะสั่งสอนให้ใส่ใจคนรอบข้างน้อยลง เช่น คำพูดทำนองว่า "อย่าไปแคร์ใคร เพราะเราไม่ได้ไปขอข้าวใครกิน" แต่ก็จำเป็นต้องคิดถึงการสร้างจินตนาการเชื่อมต่อผู้คนกับ "สมบัติร่วม" เช่นนี้ให้ได้

ทางเลือกประการที่สอง ได้แก่ การทำให้คนในสังคมไทย "เคารพสิทธิของผู้อื่น" แม้ว่าสังคมไทยจะพูดหรือเขียนประโยคนี้ถี่มากขึ้น แต่น่าแปลกใจที่การกระทำมากมายในสังคมกลับเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าการจะสร้าง "สังคมที่เคารพสิทธิผู้อื่น" จำเป็นที่จะต้องสร้างความคิดและความรู้สึกถึง " ความเท่าเทียม" ของคนขึ้นมาให้ได้ก่อน แต่สังคมไทยที่ผ่านมาได้ได้สร้างให้เกิดความคิดและความรู้สึกถึงความเท่าเทียมกันแต่อย่างใด  ความหมายของ" ความเป็นไทย"ยังคงฝังลึกอยู่กับความสัมพันธ์ในเชิงลำดับชั้นอยู้ไม่เสื่อมคลาย

แม้ว่าจะแยก"ความเกรงใจสังคม" และ " การเคารพสิทธิผู้อื่น" ออกเป็นสองทางเลือก แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองชุดความคิดนี้จะแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด เพียงแต่แยกให้เห็นว่าหากเราจะเลือกอยู่กับ " วัฒนธรรมไทย" ให้มากหน่อยก็จำเป็นต้องเลือกทางไปสู่การสร้าง " ความเกรงใจสังคม" แต่หากเราจะเลือกเดินไปสู่ " วัฒนธรรมสากล" ก็คงต้องเน้นการสร้าง " การเคารพสิทธิผู้อื่น" แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สองชุดความคิดนี้เป็นเสมือนสองหน้าของเหรียญเดียวกัน

หลายคนก็พูดกันนะครับว่าสังคมไทยอยู่ยากมากขึ้น ซึ่งผมก็เห็นด้วย แต่เราก็ยังพอจะช่วยทำให้สังคมไทยอยู่กันอย่างสงบ สันติ และอยู่สบายๆ ได้ครับ โดยที่พวกเราทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกันสร้างระบบความหมายในการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมกันใหม่ครับ

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 24,31 มีนาคม 2560

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net