Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

เมื่อวันที่ 4-5 เมษายน 2560 คณะทำงานโครงการ “พุทธศาสนากับการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกลุ่มใหญ่กลุ่มน้อยในสังคมไทย ได้จัดงานสานเสวนาภายในกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มชาวพุทธจากหลากหลายภาคส่วนทั้งภาคใต้และส่วนอื่นๆ ของประเทศ การสานเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นสำหรับชาวพุทธในส่วนกลาง และเป็นการสานเสวนาภายใน (intra dialogue) งานดังกล่าวจัดขึ้นที่ห้อง 118 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทุนจากกระทรวงการต่างประเทศสหพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์และวางยุทธศาสตร์ในการติดตามกระบวนการสันติภาพ-สันติสุข เพื่อร่วมกันวางยุทธศาสตร์และออกแบบวิธีการที่จะช่วยลดอุปสรรคที่อาจมีต่อกระบวนการสันติภาพ-สันติสุข  เพื่อร่วมกันวางยุทธศาสตร์และออกแบบกิจกรรมที่จะช่วยผลักดันนโยบายกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเช่น รัฐบาล สภาความมั่นคง ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล มหาเถรสมาคมและหน่วยงานศาสนาอื่นๆ  โครงการนี้เป็นการริเริ่มจากนักสันติวิธีสตรีคนสำคัญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาด สุวรรณบุบผา อดีตผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และยังเป็นผู้บุกเบิกงานด้านการสานเสวนา (Dialogue) ทั้งภายในและระหว่างศาสนา (Intra-Inter faith Dialogue) ตลอดจนอุทิศตนทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจและสานสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องต่างศาสนิกในชายแดนใต้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อปลายปี พ.ศ. 2559 ด้วยโรคมะเร็ง

ในวันแรกของการสานเสวนามีวิทยากรพิเศษ 2 ท่านได้รับเชิญมาร่วมเสวนาเพื่อประเมินสถานการณ์การสร้างสรรค์สันติสุขในสังคมพุทธ-ไทย วิทยากรท่านแรกคือ พลตรีสิทธิ ตระกูลวงศ์ นายทหารผู้รับหน้าที่เป็นเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้  ส่วนอีกท่านเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยดุสิตซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับพุทธศาสนาในสังคมไทยมาพอสมควรนั่นคือ ผศ.สุรพศ ทวีศักดิ์ วิทยากรทั้งสองท่านได้รับการมอบหมายให้พูดภายใต้โจทย์ที่ท้าทายสังคมพุทธ-ไทยอย่างยิ่งว่า “องค์กรพุทธ ช่วย-ไม่ช่วยให้สถานการณ์ภาคใต้กลับคืนสู่สันติสุข”

ความโดดเด่นของวงสานเสวนานี้เริ่มต้นจากนายทหารที่ทำหน้าที่อยู่ในคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พลตรีสิทธิ ตระกูลวงศ์ นำการเสวนาด้วยการกล่าวแสดงความถ่อมตนเยี่ยงนักปรัชญาโสเครติสผู้มีประโยคเด็ดสะดุดใจว่า “ข้าพเจ้ารู้ว่า ข้าพเจ้าไม่รู้อะไรเลย” ด้วยถ้อยคำว่า “ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติวิธี แต่ผมจะขอพูดในนามของผู้ปฏิบัติงาน” อาจจะกล่าวได้ว่าน่าจะเป็นนายทหารจำนวนน้อยนิดในกองทัพที่กล้ายืดอกพูดอย่างหนักแน่นเช่นนั้นทั้งๆ ที่ทำงานในหน้าที่ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องจนน่าเชื่อได้ว่าเป็นผู้รู้เกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยสันติสุขดีที่สุดคนหนึ่ง  คงต้องกล่าวด้วยว่า ท่าทีและคำพูดเช่นนั้นยากยิ่งนักที่จะได้ยินจากปากชายชาติทหารคนอื่นๆ ที่มักเป็นร่างทรงของนักรบ ผู้เข้มแข็งห้าวหาญ ดุดัน สมเป็นรั้วผู้ทำหน้าที่ปกป้องกันภัยให้ชาติและคนในชาติ หรือภาพลักษณ์ที่มักเห็นจนชินตา คือ ผู้ที่มีเครื่องแบบอันทรงอำนาจ ทะนงว่าเป็นผู้รู้รอบและตอบได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยากจนของพลเมือง เงินคงคลัง ไปจนเข็มขัดนิรภัย หรือความปลอดภัยท้ายกระบะรถ  หากแต่ด้วยท่าทีที่สุภาพถ่อมตนและดูไม่เหมือนนายทัพนายกองที่ต้องปั้นหน้าเคร่งขรึมพูดจาเสียงห้วนห้าว บทสนทนาที่เริ่มขึ้นจึงกระชากใจผู้ร่วมสานเสวนาที่มีทั้งพระภิกษุ แม่ชี ฆราวาส ครูบาอาจารย์ นักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม และนักศึกษาให้จดจ่อและตั้งใจฟังจนครบถ้วนกระบวนความอย่างไม่ลุกหนีไปไหน และที่สำคัญด้วยท่าทีชื่นชมต่อผู้พูด บ่งบอกว่านายทหารผู้นี้สื่อสารอย่างชนิดที่เรียกว่า “ได้ใจผู้ฟัง” อย่างยิ่ง

กลับมาที่วงสานเสวนา คำถามแรกที่พลตรีสิทธิ เริ่มต้นชวนสนทนายิ่งดึงดูดความสนใจมากขึ้นอีกเมื่อท่านถามว่า “จริงๆ แล้ว สังคมไทยเรายึดสันติวิธีจริงหรือไม่” และตามมาด้วยการยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยหลายกรณีเป็นต้นว่า การฆ่ากันด้วยเหตุความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์รัฐไทย และข่าวแต่ละวันที่นำเสนอแต่ภาพความรุนแรง แม้กระทั่งขับรถยนต์กันไปบนท้องถนนก็ไม่เว้นมีการใช้ความรุนแรง ก็ต้องถามว่าเราชอบใช้ความรุนแรงกันใช่ไหม?

และเมื่อโยงถึงเหตุการณ์ในชายแดนใต้ดังที่คณะผู้จัดงานได้ตั้งชื่อโครงการไว้ แน่นอนว่ามีประเด็นเรื่องคนกลุ่มน้อย พลตรีสิทธิตั้งคำถามว่า “การเป็นคนกลุ่มน้อย เป็นความรู้สึกหรือว่าเป็นเพราะการปฏิบัติที่ไม่ดีต่อกันแน่ และในพื้นที่ชายแดนใต้ ก็ยังต้องมีคำถามว่าใครเป็นคนกลุ่มใหญ่เป็นคนกลุ่มน้อยกันแน่ ทหารเป็นคนกลุ่มน้อยหรือเปล่า แต่เมื่อพูดถึงคนไทยพุทธในพื้นที่ คนไทยพุทธก็บอกว่าตนเองเป็นคนกลุ่มน้อย แต่ถ้าเราแหงนหน้ามองไปในสังคมใหญ่ มองขึ้นไปทางกรุงเทพฯ เราก็จะเห็นว่าคนกลุ่มใหญ่เป็นคนไทยพุทธหมดเลย เช่นเดียวกันที่พี่น้องมุสลิมหรือมลายูในภาคใต้พวกเขาก็บอกว่าเขาเป็นคนกลุ่มน้อย แต่ถ้ามองกลับเข้าไปข้างหลังไปทางมาเลเซีย อินโดนีเซีย ใครเป็นคนกลุ่มน้อยกลุ่มใหญ่กันแน่ ทีนี้ทำอย่างไรเราจะทำให้ความรู้สึกเป็นคนกลุ่มน้อยกลุ่มใหญ่นี้มันไม่ใช่ ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมกันให้ได้” น่าสนใจว่าหากผู้คนในสังคมไทยเข้าใจบริบททางสังคมเช่นเดียวกับที่นายทหารผู้นี้เข้าใจ ปฏิสัมพันธ์และท่าทีที่ผู้คนซึ่งแตกต่างหลากหลายในสังคมปฏิบัติต่อกันน่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

เมื่อกล่าวถึงเรื่องความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ พลตรีสิทธิชี้ให้เห็นว่า “เรามักจะมองเห็นว่านโยบายของรัฐบาลพยายามจะสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน แต่ว่าสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่รับรู้กันมันไม่ใช่ ที่รือเสาะมีการยิงคนไทยพุทธ สื่อมีความพยายามจะสื่ออะไรให้สังคมรับทราบว่าไทยพุทธเป็นคนโดนกระทำไหม แต่ว่าอย่างที่มุสลิมตายทุกวัน สื่อลงว่าอย่างไร สื่อลงว่าราษฎรตาย ชาวบ้านตาย นี่คือสิ่งที่สื่อพยายามจะเน้นย้ำ ก็เป็นการทำให้รู้สึกไม่สบายใจต่อคนไทยพุทธ ก็มีปฏิกิริยาในเชิงตอบโต้กัน และเป็นปัญหาที่พลตรีสิทธิเองก็ตั้งคำถามมาตลอดว่า “จริงๆ แล้วคนไทยชอบความรุนแรง หรือไม่ชอบความรุนแรงกันแน่”  นอกจากนี้เขายังกล่าวอีกว่า “ความรุนแรงไม่ได้ช่วยให้แก้ปัญหาภาคใต้ได้เลย สะท้อนจากเหตุการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ มีการวิสามัญที่รือเสาะ 2 ศพ ที่เกี่ยวข้องกับการลอบยิงผู้ใหญ่บ้านตาย ตามมาด้วยการยิงถล่มโรงพักรือเสาะ และตามมาด้วยการยิงถล่มตำรวจที่รือเสาะ นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าความรุนแรงไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่กลับทำให้ปัญหาเลวร้ายลงไปอีก” 

ถ้าย้อนกลับไปถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่รือเสาะ 2 ศพก็คงไม่มีเหตุการณ์ดังที่เล่ามา เขากล่าวย้ำว่า “ความรุนแรงโดยตัวมันเอง มันมีความรุนแรงเกิดขึ้นทุกวัน เราจะลดทอนมันได้อย่างไร ที่ผมถามว่าสังคมไทยจริงๆ แล้วนิยมความรุนแรงหรือไม่ ส่วนหนึ่งส่วนตัวก็อยากจะเชื่อว่าไม่นิยมความรุนแรง” พลตรีสิทธิกล่าว

เขาย้อนภาพสถานการณ์ในชายแดนใต้ที่ผ่านมา 12-13 ปีโดยชี้ให้เห็นปรากฏการณ์ที่นำไปสู่การตั้งคำถามต่อสังคมไทยซ้ำๆ ว่า “เมื่อมีการฆ่าคนไทยพุทธ พุทธก็ขอมีอาวุธเพื่อจะปกป้องคุ้มครองตัว แต่เอาเข้าจริงก็มีการใช้อาวุธไปทำร้ายคนมุสลิม เมื่อคนมุสลิมถูกทำร้าย ถูกยิง คนมุสลิมก็ร้องขอมีอาวุธเพื่อป้องกันตัว และอย่างที่รู้กัน ต่างฝ่ายต่างก็ใช้อาวุธไปห้ำหั่นโจมตีตอบโต้กัน นายทหารท่านนี้จึงย้อนถามผู้ร่วมสานเสวนาเพื่อชวนคิดว่าเป็นการสมควรหรือไม่ที่ต่างฝ่ายต่างร้องขอเพื่อให้รัฐจัดงบประมาณเพื่อติดอาวุธให้พลเรือน และที่สุดก็ไม่สามารถจะควบคุมได้ ตกลงสังคมไทย คนไทย นิยมสันติวิธีแน่หรือ”

นอกจากคำถามข้างต้นแล้ว เขายังให้ข้อสังเกตชวนขบคิดต่อไปว่า “ที่ผ่านมา ชาวไทยพุทธเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับหรืออยู่กับมุสลิมให้ได้ แต่ว่าคำถามคือ มุสลิมเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับไทยพุทธให้ได้หรือไม่?”

ต่อข้อเสนอเพื่อเป็นทางออกสำหรับการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งรุนแรง และการขับไล่ชาวพุทธออกจากพื้นที่เพื่อให้ชายแดนใต้เป็นสังคมอัตลักษณ์เดี่ยว ซึ่งเขาเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ และทางออกของปัญหาการอยู่ร่วมกันในพื้นที่ดังกล่าวยังคงต้องยึดแนวทาง “สังคมพหุวัฒนธรรม” โดยเขายกตัวอย่างภาพสังคมพหุวัฒนธรรมที่น่าสนใจ คือ สังคมมาเลเซีย โดยเล่าว่า “มาเลเซียเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมมีหลากหลายเชื้อชาติ เด็กจีนเล่นด้วยกันใช้ภาษาจีน แต่พอเพื่อมุสลิมมาเขาก็ปรับเป็นพูดภาษาอังกฤษเพื่อให้สื่อสารด้วยกันได้ แต่สำหรับสังคมไทย ผมคุยกับเพื่อนมุสลิมอยู่ด้วยภาษาไทย แต่พอมีเพื่อนมุสลิมอีกคนมาเขากลับลุกไปและพูดภาษามลายูด้วยกัน แล้วเราจะเป็นพหุวัฒนธรรมได้อย่างไร”
ต่อจากนั้น ผศ.สุรพศ ได้นำเสนอแนวคิดชวนผู้เข้าร่วมสานเสวนาวิเคราะห์ภาพความเป็นจริงของสังคมไทยซึ่งเขาเห็นว่า ปัญหาชายแดนใต้มีงานวิจัย บทวิเคราะห์ บทความ การอภิปรายและการสานเสวนาเป็นจำนวนมากหากแต่คำตอบที่จะเป็นทางออกจากปัญหาที่แท้จริงนั้นยังมาไม่ถึง อย่างไรก็ดี ผศ.สุรพศชี้ให้เห็นรากเหง้าของปัญหาประการหนึ่งคือ “ความไม่เป็นประชาธิปไตยของสังคมไทย” และขยายความว่า ที่สังคมการเมืองไทยไม่เป็นประชาธิปไตยทำให้มีการต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเดือนตุลาคม 2514, 2519 แต่การต่อสู้ที่ศูนย์กลางรัฐมักใช้การต่อรองบ้าง หรือไม่ก็ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและรุนแรงในการจัดการปัญหา แต่สำหรับปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ รัฐไม่อาจใช้อำนาจจัดการอย่างง่ายๆ ได้ ด้วยมีความซับซ้อนมากกว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่วนกลางเนื่องจากมีมิติของการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม และยังมีกลุ่มขบวนการต่างๆ ที่มีอุดมการณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงและกลุ่มที่ไม่ใช้ความรุนแรงในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ

ผศ.สุรพศ ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้มีเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน แต่หลายฝ่ายมองว่า “ไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างศาสนา” คือ ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมกับชาวพุทธในพื้นที่โดยตรง ข้อมูลจากผลศึกษาวิจัยต่างๆ บ่งชี้ว่ามีการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือของฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐ และในการดึงคนให้ไปอยู่ในฝ่ายตัวเอง หรือใช้ศาสนาปลุกปั่นสร้างความรุนแรง ซึ่งขัดกับหลักคำสอนของศาสนาโดยพื้นฐาน ขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นภาครัฐ องค์กรเอกชน มหาวิทยาลัย สื่อต่างๆ พยายามที่จะใช้ความเชื่อทางศาสนา พลังของผู้นำทางศาสนา หรือองค์กรทางศาสนาในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ฉะนั้น ศาสนาจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งของการสร้างความขัดแย้งรุนแรง หรือเป็นพลังในการแก้ปัญหาก็ได้

ที่ว่าศาสนาอาจเป็นทั้งพลังสร้างปัญหา และเป็นพลังในการแก้ปัญหา ย่อมสอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมไทยที่ “ไม่มีการแยกศาสนาออกจาการเมือง” ได้จริง จะเห็นได้ว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์และปัจจุบัน มักจะมีการอ้างศาสนา หรือมีกลุ่มพระสงฆ์ กลุ่มคนที่อ้างศาสนาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งมีทั้งการเคลื่อนไหวสนับสนุนและต่อต้านประชาธิปไตย กระทั่งสนับสนุนความรุนแรง เช่นบทบาทของกิตติวุฑโฒภิกขุ เจ้าของวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป” เป็นต้น ปัญหาภาคใต้ก็ย่อมมีเรื่องทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นเราคงไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นทางศาสนาในวันนี้

ก่อนจะจบการนำเสนอ ผศ.สุรพศ ตั้งคำถามชวนขบคิดต่อว่า  “ถ้าเรายอมรับว่าศาสนาอาจเป็นทั้งเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง และอาจเป็นทั้งพลัง แก้ปัญหาความขัดแย้ง เราจะทำอย่างไรต่อ”  และให้ข้อเสนอด้วยว่า “เราควรใช้พลังศรัทธาของศาสนาสร้าง “ขันติธรรม” (tolerance) หรือความอดกลั้น การเปิดกว้างต่อความแตกต่างหลากหลายในสังคมพหุ วัฒนธรรม (cultural pluralism)” โดยได้เชื่อมโยงกับกรอบแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนและแก่นสาระของแต่ละศาสนา มองในแง่หลักสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ความแตกต่างของความเชื่อและอัตลักษณ์ทางศาสนา, วัฒนธรรม ย่อมเป็น “สิทธิ” อย่างหนึ่ง คือ “สิทธิทางวัฒนธรรม”(cultural rights) การมีขันติธรรมต่อความแตกต่างของอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรม ก็คือการเคารพสิทธิทางวัฒนธรรมของกันและกัน ผศ.สุรพศกล่าว

ยิ่งกว่านั้น ผศ.สุรพศ ยังชี้ให้เห็นว่าการสร้างอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรม ย่อมเป็นการสร้างความเป็น “พวกเดียวกัน” ขณะที่การเคารพสิทธิทางวัฒนธรรมของกันและกัน ก็คือการสร้าง “เอกภาพ” ในความแตกต่างหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม และเท่ากับเป็นการสร้าง “หลักประกัน” ให้ความแตกต่างหลากหลายเป็นไปได้ และอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ และชวนให้ผู้ร่วมสานเสวนามองให้เห็นมิติหลักธรรมคำสอนของพระศาสดาในศาสนาที่นับถือพระเจ้า (God) เช่น ศาสนาคริสต์, อิสลาม การเคารพความแตกต่างหลากหลาย ย่อมเป็นการเคารพ “พระประสงค์ของพระเจ้า” เนื่องจากพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ในฐานะเป็น “จินตภาพ” (image) ของพระองค์ และทรงสร้างมนุษย์ให้มี “เจตจำนงอิสระ” (free will) เป็นของตนเอง ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจึงเสมอภาคกันในฐานะเป็นจินตภาพของพระเจ้า หรือเสมอภาคกันในสายตาของพระเจ้า และเมื่อมีเจตจำนงอิสระของตนเอง ก็แปลว่ามนุษย์มีเสรีภาพที่จะเลือก เมื่อมีเสรีภาพที่จะเลือก ย่อมเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์จะเลือกแตกต่างกัน ฉะนั้น ความแตกต่างทางความคิดเห็น ความเชื่อ ศาสนา อุดมการณ์ และอื่นๆ จึงเป็น “พระประสงค์ของพระเจ้า” ถ้าพระเจ้าไม่ต้องการให้มนุษย์แตกต่างกัน พระองค์ย่อมไม่สร้างมนุษย์ให้มีเจตจานงอิสระตั้งแต่แรก ด้วยเหตุนี้ ผศ.สุรพศ จึงสรุปว่า การมีขันติธรรมหรือมีความอดกลั้น เปิดกว้าง เคารพต่อความแตกต่างทางศาสนา จึงเท่ากับเคารพต่อพระประสงค์ของพระเจ้า ศาสนาที่ไม่มีพระเจ้าอย่างพุทธศาสนา ก็ถือว่ามนุษย์มี “ธรรมชาติพื้นฐานที่ดีงามเสมอกัน” พุทธสายเถรวาทเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมี “โพธิปัญญา” เป็นศักยภาพด้านในเสมอกัน ขณะที่พุทธสายมหายาน เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมี “พุทธภาวะ” หรือความเป็นพุทธะภายในตัวเองเสมอกัน ขณะเดียวกันในคาสอนเรื่อง “กรรม” หรือการกระทำ พุทธศาสนาก็ถือว่า มนุษย์ทุกคนมี “เจตจำนงอิสระ” ในการเลือกกระทำถูกหรือผิดทางศีลธรรมด้วยตนเอง เมื่อแต่ละคนเลือกทำถูก ทำผิดด้วยเจตจำนงอิสระของตน เขาหรือเธอย่อมต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง ฉะนั้น จุดเน้นของคำสอนเรื่องกรรม ก็คือ การยืนยันว่ามนุษย์มีเสรีภาพในการเลือกกระทำสิ่งต่างๆ และต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของของตนเอง เมื่อมนุษย์มีเจตจำนงอิสระหรือมีเสรีภาพที่จะเลือกการกระทำ (รวมทั้งการคิด การพูด) ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่มนุษย์จะเลือกคิด เลือกเชื่อ เลือกกระทำ หรือเลือกนับถือศาสนาและอื่นๆ แตกต่างกันได้เสมอ การบังคับกะเกณฑ์ให้คนต้องคิด ต้องเชื่อ (เป็นต้น) เหมือนกันไปเสียทุกอย่าง ย่อมขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ และก่อปัญหาขัดแย้งต่างๆ ตามมา

ผศ.สุรพศย้ำว่า หากมองในมิติของคำสอน ไม่ว่าจะเป็นคำสอนของศาสนาที่นับถือพระเจ้าอย่างคริสต์ อิสลาม หรือศาสนาไม่มีพระเจ้าอย่างพุทธศาสนา ต่างก็เชื่อใน “ความเป็นมนุษย์” ที่มีความเสมอภาคและมีเจตจำนงอิสระเป็นของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนที่ปกป้อง “สิทธิในเจตจำนงอิสระของตนเองของปัจเจกบุคคล” ทั้งนี้เพราะปรัชญาเสรีนิยม (Liberalism) ที่เป็นรากฐานของหลักสิทธิมนุษยชนก็ “แบ่งปัน”  ความคิดเรื่องความเสมอภาคมาจากศาสนาคริสต์ เช่น แนวคิดเรื่องสิทธิของนักปรัชญาเสรีนิยมอย่าง จอห์น ล็อค (John Locke) ที่ว่า “สิทธิตามธรรมชาติ (natural rights) เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาแก่ทุกคนพร้อมกับการเกิดมาเป็นมนุษย์” โดยทั่วไปแล้ว แนวคิดเสรีนิยมย่อมถือว่า “ความเป็นมนุษย์” หมายถึง “ความเป็นปัจเจกบุคคล (individuality) ที่มีเจตจำนงอิสระ และมีสิทธิ อำนาจเป็นของตนเอง” ความเป็นมนุษย์ในความหมายดังกล่าวนี้ คือรากฐานของหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์ “ความเป็นมนุษย์” ในคำสอนของศาสนาคริสต์  อิสลาม พุทธศาสนา และตามหลักสิทธิมนุษยชน จะพบว่ามี “จุดร่วม” ที่สำคัญคือ ความเชื่อใน “ความเป็นมนุษย์ที่มีความเสมอภาค มีเสรีภาพ มีสิทธิ อำนาจเป็นของตนเอง” ขณะที่ ความเป็นมนุษย์ในความหมายพื้นฐานนี้ จึงหมายถึง ความเป็นมนุษย์ของทุกคน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม เพศ ผิว ฯลฯ อะไร ความแตกต่างทั้งหลายทั้งปวงที่เห็นได้ในสังคมมนุษย์ ย่อมสะท้อนออกมาจาก “ความเป็นมนุษย์” ที่ทุกคนมีเสมอภาคกัน ฉะนั้น การเคารพความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม เพศ ผิว ฯลฯ จึงหมายถึงการเคารพใน “ความเป็นมนุษย์” ที่โยงไปถึงการเคารพต่อพระประสงค์ของพระเจ้า หรือเคารพเจตนารมณ์แห่งธรรมะ หรือพูดอีกอย่างว่า ศรัทธาในพระเจ้าและธรรมะ ก็คือศรัทธาใน “ความเป็นมนุษย์” ของตนเองและผู้อื่นเท่าเทียมกัน นี่คือรากฐานของความรักความเมตตา และความดี ความงามในทางศาสนา ซึ่งมีความหมายสำคัญในเชิงสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ

ก่อนสิ้นสุดการนำเสนอ ผศ.สุรพศ ท้าทายว่าถ้าองค์กรพุทธศาสนา (หรือองค์กรคริสต์ อิสลาม) จะมีบทบาทสนับสนุนให้สถานการณ์ภาคใต้กลับคืนสู่สันติได้ จำเป็นต้องตรวจสอบความเชื่อพื้นฐานของตนเองว่า “เชื่อ” หรือศรัทธาอย่างลึกซึ้งใน “ความเป็นมนุษย์” ที่มีความเสมอภาค มีเจตจานงอิสระ และมีสิทธิ อำนาจเป็นของตัวเองหรือไม่ เพียงใด ถ้าศรัทธาอย่างลึกซึ้งในความเป็นมนุษย์ในความหมายดังกล่าว ย่อมสามารถแปรพลังศรัทธานั้นมาเป็นพลังให้เกิด “ขันติธรรม” บนพื้นฐานของการเคารพความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรมได้

ผู้เขียนเห็นว่า การนำเสนอของ ผศ.สุรพศ เป็นเหมือนกุญแจไขไปสู่ประตูคำตอบที่พลตรีสิทธิตั้งไว้ต่อสังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะหากสังคมไทยซึ่งกล่าวกันว่าคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธจะย้อนไปตรึกตรองสะท้อนคิดว่าพึงจะดึงเอาหลักธรรมคำสอนที่สอดคล้องกับการมอง การปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกันด้วยความเคารพต่อหลักคำสอนโดยเฉพาะคำสอนที่ว่า “ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต” ขณะเดียวกันก็ชี้ทางออกจากคำถามอีกประการที่พลตรีสิทธิถามต่อพี่น้องชาวมุสลิมด้วยเช่นกันว่าพร้อมจะเรียนรู้เพื่อจะอยู่ด้วยกันกับชาวพุทธและชาวศาสนิกอื่นๆ อย่างสันติและเคารพในความแตกต่างหลากหลายศาสนาที่นับถือและวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ทั้งพุทธและศาสนิกอื่นๆ ก็พึงได้รับการเคารพให้เกียรติในฐานะสิ่งสร้างของพระเจ้าเช่นกัน

กล่าวให้ถึงที่สุด ตัวกลัวตายและอยากมีสันติสุขขณะดำรงชีวิตในโลกมนุษย์ โดยเฉพาะในรัฐที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายและผ่านประวัติศาสตร์แห่งการฆ่ามาอย่างโชกโชน ทั้งยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนว่าจะมีชีวิตยืดยาวได้เพียงใดว่า “หากเรา/ท่านเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์ ไม่ว่าพุทธหรือมุสลิมต่างก็เป็นสิ่งสร้างของพระเจ้าทั้งสิ้น” ควรหรือที่เราจะเข่นฆ่าทำลายมนุษย์ที่พระเจ้าได้ทรงสร้างขึ้น และที่สำคัญ “ความเป็นมนุษย์” ก็มีมาก่อนสิ่งใดๆ ก็ตาม รวมทั้งการนับถือศาสนา หรือการสังกัดรัฐชาติใดๆ

ในฐานะที่ผู้เขียนร่วมจัดงานสานเสวนาในโครงการนี้มาเป็นปีที่ 3 แล้ว ภาพแห่งความหวังว่าพลังของศาสนาจะนำมาสู่การสร้างสังคมการเมืองที่ผู้คนแตกต่างความเชื่อสามารถอยู่ร่วมกันได้โดย “ไม่ต้องฆ่ากัน” เด่นชัดขึ้นทุกทีๆ ย้อนไปก่อนหน้านั้น วันที่ 2 เมษายน 2560 ในวงสานเสวนาเรื่องเดียวกันที่คณะฯ ได้จัดขึ้นในจังหวัดปัตตานี พระภิกษุในชายแดนใต้รูปหนึ่งเสนอความคิดที่สำคัญยิ่งต่อการสร้างบรรยากาศการอยู่ร่วมกันโดย “ไม่ฆ่า” ว่า “เราอยู่ร่วมกันแบบไม่ฆ่าได้ไหม อยู่กันแบบต่างคนต่างมีวิถีของตน แต่ทำไงก็ได้ ไม่ต้องมาฆ่ากัน” ข้อเสนอนี้นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งทั้งต่อชาวพุทธเองและต่อพี่น้องชาวมุสลิมในชายแดนใต้ที่อยากฝากไว้ให้คิด 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ เป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา นักวิจัยในโครงการสานเสวนาพุทธศาสนากับการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกลุ่มใหญ่และกลุ่มน้อยในสังคมไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net