Skip to main content
sharethis
นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์เผย ศาลรับฟ้อง คดี "ดร.นิด้า" หมิ่นประมาทกล่าวหา กลุ่มเอ็นจีโอมีผลประโยชน์จากโครงการ สปสช. ยันการทำหน้าที่โปร่งใส เป็นไปตามกฎหมาย ชี้ที่ผ่านมาดูแลผลประโยชน์หลักประกันสุขภาพให้กับประชาชน ร่วมผลักดันสิทธิประโยชน์หลายเรื่อง เพิ่มสิทธิรักษาผู้ป่วยไตวาย เอดส์ ดูแลสิทธิฉุกเฉิน
 
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมานายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ยื่นฟ้อง นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในคดีหมิ่นประมาทหลังจากนายอานนท์เขียนข้อความพาดพิงกล่าวหาเอ็นจีโอตระกูล ส. ซึ่งมีการระบุชื่อว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อน โกงงบประมาณแผ่นดินในโครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  ทั้งนี้ หลังจากศาลได้ไต่สวนพบว่า คดีมีมูลจึงรับฟ้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนพยานโจทก์หลังจากไต่สวนฝั่งพยานจำเลยเสร็จแล้ว
 
นายนิมิตร์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ได้ทำหนังสือขอให้นิด้าสอบสวนเรื่องนี้เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและลบข้อความที่กล่าวหาออก แต่เมื่อไม่ดำเนินการจึงจำเป็นต้องฟ้องร้อง
 
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ แกนนำภาคประชาชน นำโดย นส.รสนา โตสิตระกูล, นส.สารี อ๋องสมหวัง, นายนิมิตร์ เทียนอุดม, นส.บุญยืน ศิริธรรม, นส.สุภัทรา นาคะผิว และ นส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ทำจดหมายใช้สิทธิ​ร้องเรียนตามกฎหมายโดยสุจริตต่อนายกสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เพื่อให้สอบสวนจริยธรรมและพิจารณาลงโทษ นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ หากมีความผิดจริงเนื่องจาก นายอานนท์ เขียนข้อความในเฟสบุ๊คของตนเอง กล่าวหาบุคคลองค์กรจำนวนมาก โดยใช้ถ้อยคำดูถูก ดูหมิ่น และยังได้เขียนบทความนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เผยแพร่ในสื่อสิ่งพิมพ์ พูดกล่าวหาในเวทีสาธารณะ โดยไม่มีการตรวจสอบ ในหลายการกระทำ
 
นายนิมิตร์ กล่าวว่า ข้อกล่าวหาที่พูดกันว่า เอ็นจีโอบางกลุ่มเข้าไปมีบทบาทในการร่างกฎหมาย สปสช. เมื่อร่างเสร็จ ก็เข้าไปนั่งเป็นกรรมการ และแสวงประโยชน์จากโครงการต่างๆ นั้น ไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง และขอชี้แจงว่า ช่วงที่ภาคประชาชนร่วมกันล่ารายชื่อประชาชน 5 หมื่นคนเพื่อให้มีกฎหมายหลักประกันสุขภาพ เพราะเห็นว่า มันเป็นเรื่องสำคัญ ที่ประชาชนคนไทยทุกคนต้องมีหลักประกันสุขภาพในยามเจ็บป่วยที่ควรมีระบบมารองรับ ดูแลการรักษาพยาบาล ซึ่งในที่สุดก็ผลักดันสำเร็จ ทำให้กฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาที่ดีและสนับนสนุนให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ วางนโยบายของระบบหลักประกันสุขภาพ ถือว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกๆ ของประเทศที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติในพื้นที่
 
นายนิมิตร์ กล่าวว่า เอ็นจีโอกลุ่มตนเองที่เข้าไปเป็นกรรมการ สปสช. ก็ไปตามช่องทางของกฎหมาย ที่เขียนไว้ชัดว่า ต้องมีประชาชน 9 ด้านที่มีส่วนร่วมในการดูแลจัดการระบบหลักประกันสุขภาพเข้าร่วมเป็นกรรมการ กฎหมายกำหนดต่อว่า ให้แต่ละด้านเลือกตัวแทนขึ้นมา 1 คน ให้ครบ 9 ด้าน และตัวแทนทั้ง 9 คน ก็เลือกกันเองให้เหลือ 5 คน ซึ่งตรงนี้เป็นบทบาทที่ตัวแทนประชาชนเข้าไปตามกฎหมายเพื่อดูนโยบายและทิศทางให้เป็นหลักประกันว่า ระบบนี้จะรับผิดชอบการดูแลรักษาพยาบาลให้กับประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งกฎหมายก็รอบคอบเพราะได้กำหนดขอบเขตและบทบาทของกรรมการไว้ชัดเจนว่า ทำอะไรได้หรือไม่ได้ ฉะนั้นกรรมการไม่ได้มีหน้าที่ที่จะไปอนุมัติโครงการหรือการใช้จ่ายงบประมาณให้กับใคร หรือโครงการใดโครงการหนึ่ง 
 
นายนิมิตร์ กล่าวว่า โครงการที่จะใช้จ่ายเงินในระบบหลักประกันสุขภาพนั้นถูกเขียนเงื่อนไขไว้ชัดเจนตั้งแต่การจัดทำงบประมาณว่า จะใช้เพื่ออะไร เช่น ค่ารักษาพยาบาลเหมาจ่ายรายหัวอย่างไร เพื่อส่งเสริมและป้องกันโรคแบบไหน หรือ ในโครงการโรคเฉพาะ ดังนั้นกฎหมายและระเบียบที่ สปสช.ดำเนินการรอบคอบ รัดกุม และโปร่งใส ภาคประชาชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆ ที่จะไปเกี่ยวกับการอนุมัติและใช้จ่ายเงินตามที่เขากล่าวหากัน
 
"เราขอยืนยันว่า จะยังทำงานกับระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป เพราะมันจำเป็นที่ต้องมีคนคอยส่งเสียง บอกความเดือดร้อนของประชาชน คอยดูและทบทวนว่าสิทธิประโยชน์ที่วางไว้ ครอบคลุมการรักษาเรื่องใด มันเพียงพอ มีจุดอ่อน จุดแข็งอะไรหรือไม่ เพราะในบางมุมมองของผู้รักษา หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข มันก็เป็นมุมมองหนึ่งซึ่งบางทีอาจจะไม่เห็นปัญหาด้านสุขภาพของประชาชน ดังนั้นการมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะช่วยสะท้อนปัญหาที่แท้จริงได้ดี" อดีตกรรมการ สปสช. กล่าว
 
นายนิมิตร์ กล่าวว่า ตัวแทนภาคประชาชนที่เข้าร่วมเป็นกรรมการ สปสช. ได้เข้าไปผลักดันเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์หลายเรื่อง เช่น ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ฉุกเฉินไม่จำกัดจำนวนครั้ง การเรียกร้องให้เพิ่มสิทธิประโยชน์การดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง การจัดระบบให้มีการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในกรณีที่มีการติดเชื้อเอชไอวี การผลักดันให้เกิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ที่เป็นอิสระ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูว่า กองทุนสุขภาพตำบล และกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ควรเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไร ทั้งหมดเกิดขึ้นเนื่องจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เข้าไปช่วยจัดตั้งภาคีที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net