สนช.มีมติเห็นสมควรประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ เป็นกฎหมาย

สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ตั้ง กก.แข่งขันทางการค้า 7 คน ด้าน สนช.สายเศรษฐกิจอัด ม. 51 ปมห้ามรวมธุรกิจที่ส่อผูกขาดหรือลดการแข่งขันเว้นแต่จะได้รับอนุญาต ด้าน กมธ.ยอมแก้แยกลดการแข่งขันกับผูกขาด ก่อนลงมติผ่านวาระ 2-3 เอกฉันท์ 200 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง

ที่มาภาพ เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา 

24 มี.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ....ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 200 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 204 คน พร้อมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของกรรมาธิการฯ

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ก่อนลงมติ มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ที่มีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับรูปแบบและพฤติกรรมการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีเนื้อหาสำคัญคือ ให้มีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า จำนวน 7 คน ที่ต้องมีผลงาน ประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญไม่น้อยกว่า 10 ปีในสาขานิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงิน อุตสาหกรรม การบริหารธุรกิจ การคุ้มครองผู้บริโภค ที่จะเป็นประโยชน์ในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า และยังกำหนดคุณสมบัติต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดๆในสถาบันหรือสมาคมซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของผู้ประกอบธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์หรือประโยชน์ร่วมกันทางการค้า โดยคณะกรรมการจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 วาระ

สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีออกกฎกระทรวง ออกระเบียบ กำกับดูแลการประกอบธุรกิจและกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นรูปธรรม พิจารณากำหนดโทษปรับทางการปกครอง เป็นต้น ที่สำคัญร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้มีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการการแช่งขันทางการค้าขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจและให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล จากเดิมสังกัดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงาน นอกจากนี้ยังมีการกำหนดในเรื่องการป้องกันการผูกขาดและการค้าที่ไม่เป็นธรรม ทั้งการกำหนดราคา เงื่อนไขในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบธุรกิจ การแทรกแซง และห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการรวมธุรกิจที่ก่อให้เกิดการผูกขาดหรือลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ

สมาชิกในส่วนของ สนช.ที่เป็นสายธุรกิจ อาทิ สุพรรณ มงคลสุธี อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อิสระ ว่องกุศลกิจ อดีตประธานหอการค้าไทย สุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ กรรมการบริหาร บริษัท คอลเกต ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด สาธิต ชาญเชาวน์กุล อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้แสดงความไม่เห็นด้วยในมาตรา 51 ที่เป็นเรื่องของการควบรวมธุรกิจ ที่คณะกรรมาธิการฯ ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาจากเดิมที่กำหนดมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาด ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ซึ่ง กมธ.ฯ ได้มีการเติมข้อความตอนท้ายว่า ”เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ” ซึ่งหมายความว่า การรวมธุรกิจที่ทำให้เกิดการผูกขาดหรือลดการแข่งขันทุกประเภทหากจะรวมธุรกิจจะต้องมีการขออนุญาตจากคณะกรรมการก่อน นอกจากนี้ยังเพิ่มข้อความใหม่อีกหลายวรรคที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมธุรกิจ
       
โดยส่วนใหญ่เห็นว่า การควบรวมธุรกิจเป็นเรื่องปกติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขั้น แต่ กมธ.กลับมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการจากร่างเดิมที่มาจากคณะรัฐมนตรี ที่เดิมนั้นได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบธุรกิจและคณะกรรมการประสานงานจนลงตัว แต่ กมธ.กลับมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้การควบรวมธุรกิจที่อาจเกิดการผูกขาดหรือลดการแข่งขัน ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ และยกเลิกการแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รวมธุรกิจออกไป ซึ่งการทำแบบนี้ก็เหมือนเป็นการผูกขาดไปในตัวเพราะคณะกรรมการจะเป็นผู้อนุญาตเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสียหายจากธุรกิจและหากการไปขออนุญาตซึ่งจะมีการแจ้งข้อมูลต่างๆ ทางธุรกิจ อาจทำให้ความลับทางการค้าเกิดการรั่วไหล ทำให้คู่แข่งทางการค้ามีการได้เปรียบเสียเปรียบทันทีส่งต่อความเสียหายต่อธุรกิจ หรือทำให้ราคาหุ้นเกิดการเปลี่ยนแปลง
       
อย่างไรก็ตาม มาตราดังกล่าวได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งสมาชิกยังคงยืนยันไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของ กมธ.ฯ ทำให้ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้ขอพักการประชุมเพื่อให้ กมธ.ไปดำเนินการแก้ไขให้สอดคล้องกับการอภิปรายของสมาชิก ซึ่งหากไม่ทบทวนการที่จะผ่านมาตรานี้คงเป็นไปได้ยาก ซึ่ง กมธ.ก็ยินยอมไปปรับปรุงมาตราดังกล่าวใหม่ โดยให้สมาชิกที่อภิปรายและกมธ.มาหารือและปรับแก้ไข ซึ่งภายหลังการหารือนอกรอบ ศิริพล ยอดเมืองเจริญ ประธาน กมธ.ฯ กล่าวว่า หลังจากการหารือ กมธ.ได้แก้ไขมาตรา 51 เป็น 2 ส่วนคือ 1. ให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่กระทำการรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาดใดตลาดหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการภายใน 7 วันนับแต่วันที่รวมธุรกิจ และ 2. ให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่กระทำการรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดใดตลาดหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ
       
พรนภา ไทยเจริญ อดีตคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ในฐานะ กมธ.ชี้แจงว่า กฎหมายการแข่งขันทางการค้าถือเป็นกฎหมายสากลที่ 133 ประเทศใช้บังคับโดยมีหลักการดูแลโครงสร้างและกำกับการควบรวมธุรกิจ เพื่อป้องกันการผูกขาดและลดการแข่งขัน อย่างมีนัยสำคัญเท่านั้นที่จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ทั้งนี้ ในมาตรา 51 ที่มีการปรับปรุงนั้นจะไม่รวมธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง หรือเอสเอ็มอี ที่จะไม่เข้าเกณฑ์หรืออยู่ในข่าย หรือธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีส่วนแบ่งการตลาด 30% หรือมียอดขายต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ก็ไม่ต้องทำอะไรและไม่ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจ แต่ในกรณีธุรกิจขนาดใหญ่เมื่อรวมแล้วเกิดการผูกขาด มีอำนาจเหนือตลาดและส่งผลกระทบต่อตลาดต้องมีการขออนุญาตก่อน
       
 หลังจากการปรับแก้ไขมาตรา 51 เรียบร้อยแล้วไม่มีสมาชิกคนใดติดใจอีก จากนั้นก็ได้มีการพิจารณาเรียงลำดับรายมาตราจนเสร็จสิ้นครบ 89 มาตรา ที่ประชุมได้ลงมติในวาระ 2 และลงเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 200 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

 

ที่มา เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา และผู้จัดการออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท