Skip to main content
sharethis
การเลี้ยงลูกด้วย iPad ดูจะเป็นเรื่องปกติมากขึ้นในสังคม Thailand4.0 สังคมก้มหน้า พ่อ แม่ ลูก ที่น่าสนใจคือเด็กเล่น iPad ในอายุที่ต่ำลงเรื่อยๆ เรื่องนี้ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กอย่างไรในแต่ละช่วงวัย ข้อดีข้อเสียของมันคืออะไร 
 
จากกรณีที่ชายคนหนึ่งแชร์ประสบการณ์ของน้องสาวที่เลี้ยงลูกวัย 1 ขวบครึ่ง ด้วย iPadในกระทู้พันทิปและมีผลต่อเด็กจนคิดว่าลูกเป็นออทิสติกเช่น เรียกชื่อไม่หัน ไม่สบตา พูดสื่อสารไม่ได้ จนถึงช่วงเวลา 2 ขวบ จึงพาไปหาหมอที่ รพ. รามา หมอทดสอบพัฒนาการแล้วแต่ยังไม่ฟันธงชัดๆ ว่าอาจเป็นโรคติดสื่อ  (ติดiPad)จึงได้
 
เบื้องต้นเราจะลองสุ่มสำรวจพ่อแม่รุ่นใหม่ในชีวิตประจำวันทั่วไปที่เราเห็นว่า เขาให้ลูกเล่น iPad หรืออินเทอร์เน็ตกันตั้งแต่กี่ขวบ คิดอย่างไรจึงให้เล่น และมองเห็นผลดีผลเสียอย่างไรบ้าง 

พ่อแม่มองอย่างไร กับพี่เลี้ยงชื่อ iPad

ปุ๊ก (นามสมมุติ) แม่ที่ให้ลูกเล่นใช้สมาร์ทโฟน กล่าวยอมรับว่า เรื่องนี้ตัวพ่อแม่เองเป็นตัวอย่างไม่ดี เด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบจากผู้ปกครองที่ดูมือถืออยู่ตลอด ทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาก็มีสิทธิ์ที่จะเล่น
 
“จริงๆ แล้วเด็กก็มีสิทธิ์ที่จะดูเพราะเรายังดูได้เลย แต่ต้องดูสิ่งที่ไม่ได้เป็นอันตรายกับเขา เราก็รู้อยู่ว่าเขาดูอะไรบ้างถือว่าอยู่ในความควบคุมของเรา ไม่ใช่ว่าเราจะบังคับห้ามดูเลย สมัยนี้โลกไปถึงไหนกันแล้ว”ปุ๊ก กล่าว
เมย์ (นามสมมุติ) แม่ที่เชื่อว่าเทคโนโลยีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สามารถเสริมพัฒนาการให้ลูกเติบโตอย่างรวดเร็วได้ ให้ข้อมูลว่า เธอให้ลูกเล่น iPad ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ เพราะเชื่อมั่นในเทคโนโลยีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่จะสามารถเสริมพัฒนาการให้ลูกเติบโตอย่างรวดเร็ว เลยทดลองการใช้สื่อส่วนนี้ และส่วนมากเด็กก็จะดู  YouTube  แต่จะจัดเลือกรายการให้ลูกดู ข้อดีคือลูกสามารถที่จะใช้สื่อเองได้ เลือกสิ่งที่ตัวเองชอบได้สามารถเลือกใช้ฟังก์ชั่นใน iPadได้

“ให้ลูกเล่นเพราะเชื่อมั่นในเทคโนโลยีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่จะสามารถเสริมพัฒนาการลูกได้ ส่วนใหญ่ก็จะเล่นYouTube เราเป็นคนเลือกรายการให้เด็กดู ตอนนี้เด็กอายุ 2 ขวบกว่า แต่เราก็อยู่ตรงนั้นไม่ไปไหน มีการควบคุมดูแลว่าตอนนี้เด็กดูอะไรอยู่” เมย์ กล่าว

เมย์ กล่าวต่ออีกว่า ข้อเสียคือเวลาที่เด็กดูนานๆ จะส่งผลให้เด็กสายตาเสีย บางทีก็เลยเวลากำหนดเวลานอนที่จะต้องปิดไฟ พอจะให้เลิกเล่นก็จะมีอาการงอแงขอดูต่อ จึงต้องมีการยืดหยุ่น เคยปล่อยให้เด็กดูจนถึง ตี 1 ตี 2 ซึ่งควบคุมไม่ได้หรือสามารถจัดการได้

แหวน (นามสมมติ) แม่ที่ให้ลูกเล่น iPad ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เผยว่า การที่ให้ลูกเล่น iPadเพราะว่าเลี้ยงง่ายไม่ให้เด็กมายุ่งมากวน การทำแบบนี้รู้ว่าไม่ดีต่อตัวเด็กแต่ถ้ารู้จักควบคุมให้เป็นก็ไม่น่าส่งผลนัก จริงๆ แล้วคิดว่าหากจำกัดมากไปผลที่จะตามมาก็คือเด็กจะแอบเล่นเอง เชื่อได้เลยว่าพ่อแม่คนไหนที่มี iPadจะให้ลูกเล่นหรือต้องเปิดให้ลูกดู พอถึงเวลาที่ไม่ให้เด็กเล่นก็จะมีอาการงอแง และแสดงความไม่พอใจ

“แต่ส่วนของพี่ไม่ได้จำกัดเวลาแต่เด็กจะรู้ว่าควรเลือกตอนไหนปล่อยให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเองจะไม่ค่อยจำกัด บางทีไปจำกัดมากเด็กก็จะแอบทำ อันไหนเกินเลยเราก็จะตักเตือน เราก็ดูอยู่ห่างๆ ตักเตือน ดูว่าเด็กทำอะไร” แหวน กล่าว

แหวน เผยต่อว่า ไม่มีความกังวลใจในอนาคตของเด็กเลย เพราะคิดว่าเป็นส่วนที่ดีกับการที่เด็กได้เรียนรู้เทคโนโลยี ความรู้บางอย่างก็ได้มาจาก iPadที่พ่อแม่บางคนให้ไม่ได้

“บางครั้งเด็กจะหาสิ่งที่เราตอบเขาไม่ค่อยได้ เขาจะหาจากใน YouTubeGoogle โดยรวมแล้วก็จะปล่อยให้เล่น พ่อแม่ยุคใหม่พี่มั่นใจว่าก็ทำแบบนี้ทุกคน ใครมี iPad ก็ต้องเปิดให้ลูกดู” แหวน กล่าว

สมชาย (นามสมมติ) พ่อที่ให้ลูกใช้ iPad ให้ข้อมูลว่า ให้ลูกเล่น iPadตั้งแต่อายุ 1 ขวบครึ่ง เพราะว่าในอดีตจนถึงปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับ IT ในยุคสมัยใหม่นี้สื่อทุกอย่างมีการตอบโต้ เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้เหมือนเป็นอวัยวะส่วนหนึ่ง เพื่อให้เด็กโตมาในยุคของเทคโนโลยีได้มีการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กจะได้ไม่ลำบากในอนาคตข้างหน้า

สมชายเผยต่อว่า ข้อดีที่ได้จาก iPadคือลูกได้ภาษาอังกฤษ พูดได้ดี ชัดถ้อยชัดคำสำเนียงดี และไม่กังวลที่ว่าให้ลูกเล่น iPad จะส่งผลเสียเพราะเสียงตอบกลับจากโรงเรียนก็บอกว่าลูกมีการพัฒนาที่ดี ดังนั้นจึงเห็นว่าiPadไม่น่าจะแย่กว่าทีวี

“อยากให้เรียนรู้ไว้ตั้งแต่เด็กๆ เพราะว่าจะกลายเป็นธรรมชาติเพราะเด็กสมองจะได้พัฒนาเติบโต เหมือนกับว่าเด็กเคยใช้แล้วตั้งแต่เด็ก เคยใช้แล้วก็จะใช้ได้เป็นโดยธรรมชาติ เพื่อโตขึ้นมาเจอเทคโนโลยีจะได้ไม่ต้องลำบาก”สมชาย กล่าว

คำแนะนำจากนักกิจกรรมบำบัด‘iPad’ควรเล่นเมื่อไร

ภูชิชย์ ฝูงชมเชย  นักกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่า  iPadเป็นแค่สื่อการเรียนการสอนอย่างหนึ่งของเด็ก มันมีทั้งข้อดีข้อเสีย มันก็เหมือนหนังสือหรือของเล่นอะไรชิ้นหนึ่ง แต่ตอนนี้สื่อส่วนใหญ่โจมตีว่า มีแต่ข้อเสียมากกว่าข้อดี

ข้อดีของอุปกรณ์ชนิดนี้คือ มีครบเครื่องทั้งเสียงและภาพเคลื่อนไหว สามารถดาวน์โหลดเพลงหรือสื่อการเรียนรู้การสอนอะไรต่างๆ ได้มากมายไม่จำกัด เป็นอะไรที่อัพเดทข้อมูลที่เร็วไม่ต้องไปหาอุปกรณ์อะไรต่างๆเยอะ สามารถรู้ได้ทันทีทันใด

ส่วนข้อเสีย iPad กับเด็กคือ 1.พ่อแม่สมัยนี้ไม่ทราบว่าข้อเสียอาจมีมากตามแต่ละช่วงวัย ถ้าให้อุปกรณ์นี้ให้เหมาะสมตามช่วงวัยกับพัฒนาการของเด็กนั้นไม่มีปัญหาเลย แต่ส่วนใหญ่อาจไม่ใช่เช่นนั้น

“ช่วงเวลาที่เหมาะสมคืออยากให้เล่นตั้งแต่ 5 - 6 ปีขึ้นไป ถึงจะมาเรียนรู้เรื่องวิธีการใช้ iPadการใช้ด้วยตัวเอง ถ้าเป็นช่วงของเด็ก 1 - 2 ขวบ สื่อการเรียนการสอนที่เด็กควรจะได้รับควรเน้นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกายร่วมถึงการใช้กล้ามเนื้อต่างๆ” ภูชิชย์ กล่าว

นักกิจกรรมบำบัด กล่าวต่อว่า ถ้าให้เล่นตอน 1 - 2 ขวบ ปัญหาอาจจะเกิดเพราะด้วยความสามารถหรือว่าพัฒนาการที่ควรจะต้องเรียนรู้แต่ไม่ได้เรียนรู้กลายเป็นเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่ควรจะส่งเสริม เพราะกล้ามมือมัดเล็กที่ควรจะต้องใช้คือเรื่องของการกำ การถือของ ใช้นิ้วในการหยิบจับของชิ้นเล็ก โดยการใช้นิ้วทุกนิ้วให้มีความสัมพันธ์กัน แต่รูปแบบในการใช้ iPad คือใช้นิ้วเดียวเลยกลายเป็นว่าไม่ได้พัฒนาการใช้กล้ามเนื้อมือมัดเล็กทักษะไม่เกิดกลายเป็นไม่สัมพันธ์กันเรื่องหยิบจับเรื่องการถือดินสอระบายสีใช้กรรไกรถือแก้วน้ำก็อาจจะช้ากว่าคนอื่น นี่คือภาพที่เห็นชัดที่สุดถ้าเอามาใช้ไม่ตรงตามช่วงวัย

“การที่เด็กเล่น iPadตอนนี้ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจนว่า เล่นแล้วจะเกิดโรคอะไร เป็นแค่โอกาสเสี่ยงที่ส่งผลให้พัฒนาการเด็กอาจจะช้ากว่าวัย พัฒนาการหลักๆ มี 4 ส่วน  คือ1.พัฒนาการเรื่องกล้ามเนื้อมัดใหญ่ 2.พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก 3.ภาษา 4.ทักษะเรื่องสังคมและการช่วยเหลือตัวเอง” ภูชิชย์ กล่าว

ภูชิชย์ วิเคราะห์ว่า ถ้าเด็กเล่น iPad ในช่วงวัย 3-4 ขวบ จะส่งผลต่อกล้ามเนื้อมัดใหญ่ อันที่จริงเด็กต้องวิ่งต้องเล่น แต่กลับมานั่งเล่นiPadทั้งวันความหมายคือ นั่งที่เดิม และท่านั่งที่ไม่เหมาะสมเช่น เอนหลัง คอบิด สะโพกไม่อยู่ในท่าที่ควรจะเป็น เรื่องอาการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อมัดใหญ่ไม่ได้ใช้ในทิศทางที่ควรจะเป็น

ภูชิชย์ กล่าวต่ออีกว่า ถ้าเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก สิ่งที่ผู้ปกครองมักมองข้ามไปก็คือกล้ามเนื้อตา กล้ามเนื้อตาถือว่าเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็กชนิดหนึ่ง พวกเด็กออทิสติกไม่มองไม่สบตาเป็นภาวะโรคอันหนึ่ง แต่ถ้าเล่น iPadเยอะๆ จะทำให้เป็นเด็กออทิสติกไหม อันนั้นไม่เกี่ยวกัน เป็นคนละเรื่องกัน แต่ความล้าของกล้ามเนื้อตาที่เด็กจ้อง ระยะห่างที่เด็กดูอาจก่อให้เกิดปัญหาสายตาสั้นหรือยาว และมีผลอยู่แล้วเรื่องของตาแห้งเพราะการจ้องตลอดเวลากับแสงที่เข้าตา

อีกอย่างที่ผู้ปกครองมองข้ามคือ ภาวะเหม่อโดยที่ไม่รู้ตัว การที่เด็กนั่งจ้องอยู่รู้เรื่องไหมหรือเหม่อไปแล้ว เรื่องนี้จะส่งผลเสียเกี่ยวกับสมาธิเด็ก ดังนั้น การเล่นจะต้องมีผู้ใหญ่อยู่ด้วยจะต้องชวนคุยว่าเล่นอะไรอยู่ ทำอะไรอยู่เป็นยังไงบ้างเล่าให้ฟังหน่อย

ส่วนเรื่องของภาษาพอเล่น iPad ก็มักไม่คุยกับใครผู้ใหญ่จะคุยด้วยจะเรียกไปทำอะไรมักไม่สนใจ โอกาสในการเล่าเรื่องหรือสื่อสารกับผู้ใหญ่ว่าต้องการอะไรก็จะน้อยลง ทำให้พัฒนาการในการใช้ภาษาของเด็กยิ่งน้อยลงไปด้วย คำศัพท์ที่ต้องใช้ไม่เพิ่ม เด็กยิ่งอายุมากขึ้นเรื่อยๆ จำนวนคำศัพท์ก็ต้องยิ่งมากขึ้นด้วยรูปประโยคในการใช้ก็ต้องซับซ้อนมากขึ้น ประโยคความต้องการประโยคปฏิเสธประโยคขอร้องหรือแม้แต่ว่าเล่าเรื่อง สิ่งเหล่านี้จะขาดหายไป เขาไม่ได้ฟังนิทาน เรื่องสังคมก็อาจมีปัญหา เพราะชอบอยู่คนเดียวแยกตัวไม่อยู่กับเพื่อน

“ผลเสียในอนาคตถ้าในระยะยาว คือเรื่องวินัยของเด็ก ถ้าลำพังเรื่องเล่นเกมของเด็กยังควบคุมไม่ได้เรื่องช่วยเหลือตัวเอง อาบน้ำแต่งตัวจัดตารางสอน เรื่องที่เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันของเด็กก็จะหายไปเลย พอกลับถึงบ้านก็ทิ้งกระเป๋าเล่น iPadอย่างอื่นไม่สนใจเลย ภาวะเรื่องอารมณ์ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว ภาวะเรื่องการยับยั้งชั่งใจในการรอคอยก็น้อยลง พอบอกให้พักค่อยเล่นใหม่ก็ไม่ยอม จะต้องเล่นให้ได้ จะกินข้าวต้องมี iPadพอยับยั้งชั่งใจไม่ได้ก็จะมีผลว่าเด็กมีแนวโน้มติดเกมสูง เพราะเด็กคิดว่าการเล่นไม่จำเป็นต้องห่วงอะไร เมื่อไหร่ก็ได้เท่าไหร่ก็ได้กี่นาทีก็ได้” ภูชิชย์ กล่าว

ภูชิชย์ ระบุว่า สำหรับทางออกนั้น คงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นว่า iPad นั้นท่านได้แต่ใดมา ใครเป็นคนให้ ต้นตอก็คือพ่อแม่คนที่คัดสรรอุปกรณ์พวกนี้ให้ลูกถ้าพ่อแม่มีข้อมูลว่าไม่ใช่แค่ iPadอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นสื่อที่สามารถพัฒนาลูกได้ มีสื่ออย่างอื่นอีกมากมายที่มีจุดเด่นต่างๆ กัน ก็จะสามารถเลือกได้ว่าควรให้ลูกเล่นอะไรในช่วงวัยไหน วัยนี้ควรจะต้องโฟกัสเรื่องอะไร เช่นว่า ขวบครึ่งแล้วลูกต้องพูดได้แล้วการเคลื่อนไหวร่างกายต้องเดินได้แล้ว ถ้ารู้แล้วต้องมาดูว่าควรจะส่งเสริมลูกยังไงดี

“ข้อมูลพวกนี้จริงๆ ในอินเตอร์เน็ตมีเยอะอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าพ่อแม่จะจัดสรรเวลาอุปกรณ์ สิ่งแวดล้อม อย่างไร ไม่ใช่โยนของเล่นเอาไว้ให้ลูกเล่นคนเดียว ถ้าจะให้ของเล่น พ่อแม่ก็ต้องไปเล่นกับเด็กด้วย ความยาวของเวลาไม่สำคัญของบางคนอาจไม่มีเวลาเยอะ ให้เวลาไม่เยอะก็ได้แต่เล่นกับลูกให้เต็มที่”

เวลาคุณภาพ พ่อแม่-ลูก สร้างได้อย่างไร

พญ.ถิรพร ตั้งจิตติพร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลเรื่องของเวลาคุณภาพที่พ่อแม่และลูกควรมีร่วมกันว่า

“การใช้เวลาที่มีคุณภาพกับลูก ไม่ได้หมายความว่าอยู่บ้านเดียวกันแล้วจะเรียกว่าใช้เวลาอย่างมีคุณภาพด้วยกัน หรือปล่อยให้ลูกนั่งเล่นอยู่ข้างๆ แต่พ่อแม่เอาแต่ดูหน้าจอมือถือ แบบนี้ก็ไม่เรียกว่าใช้เวลาคุณภาพเช่นกันนะคะ การใช้เวลากับลูกให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือการเล่น พูดคุย หยอกล้อ กอด ถามไถ่ความเป็นไปต่างๆ ในชีวิตลูก รับประทานข้าวพร้อมหน้ากันเป็นประจำอย่างน้อยๆ วันละมื้อ หรือในเวลาที่ลูกกำลังเล่นคนเดียว หรือทำกิจกรรมต่างๆ พ่อแม่ก็อาจสังเกตลูกอยู่ห่างๆ ดูว่าลูกเล่นอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้พ่อแม่รู้จักลูกน้อยของตัวเองดีขึ้น เมื่อต้องสอน หรือให้คำแนะนำแก่ลูก คุณก็จะสามารถเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกับลูกน้อยแต่ละคนได้ เพราะคุณรู้จักลูกของตัวเองเป็นอย่างดี นอกจากนี้ การให้เวลายังทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าเขามีความสำคัญ ซึ่งจะช่วยสร้างความนับถือตนเอง (self-esteem)ซึ่งเป็นพื้นฐานทางอารมณ์ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตต่อไปในอนาคต” พญ.ถิรพร กล่าว

พญ.ถิรพร กล่าวว่า การใช้เวลากับลูก ถือเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับเด็กๆ ในทุกช่วงวัย โดยพญ.ถิรพร ได้ให้คำแนะนำว่าในวัยทารกนั้น การที่คุณพ่อคุณแม่ให้เวลาและตอบสนองเสียงร้องของลูกอย่างทันที อุ้มเมื่อลูกร้อง ไม่เพียงเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ แต่ยังทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะสร้างความเชื่อมั่น (Trust) ในตัวผู้เลี้ยงดู ทำให้ทารกรู้สึกปลอดภัยในโลกใบใหม่ จะช่วยให้ลูกมีอารมณ์ที่มั่นคงและร้องไห้น้อยลง ในทางกลับกัน หากเราปล่อยให้ลูกร้อง เพราะกลัวว่าจะสปอยล์ หรือจะทำให้ลูกติดมือวางไม่ได้ ลูกจะยิ่งร้องงอแง เพราะเขาขาดความเชื่อมั่นในตัวพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู และรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจสิ่งผลต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ภายหลังได้

พญ.ถิรพร สำหรับเด็กวัยนี้ เริ่มโตขึ้นเข้าสู่วัยเตาะแตะ 1-3 ปี ว่า การใช้เวลากับลูกอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้คุณเข้าใจความต้องการของลูกน้อยได้ดี โดยเฉพาะเด็กวัยนี้ เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง แต่ทักษะการสื่อสารอาจยังไม่ดีเท่าไรนัก เมื่อลูกต้องการ หรือรู้สึกบางอย่าง แต่สื่อสารบอกพ่อแม่ไม่ได้ ลูกก็อาจมีอาการหงุดหงิดร้องไห้ หากพ่อแม่ไม่ค่อยได้ใช้เวลากับลูกมากพอก็อาจจะไม่เข้าใจสิ่งที่ลูกกำลังจะบอก ทำให้ลูกยิ่งหงุดหงิด พ่อแม่ก็อาจเริ่มโมโห ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่าย สำหรับลูกวัยนี้ พ่อแม่ควรเล่นกับลูก เล่านิทานให้เขาฟัง ชื่นชมเมื่อลูกทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง หากลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาจใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net