อ่าน “ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน” ของโบฮุมิล ฮราบัล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หากว่าตามคำของชไลเออร์มาเคอร์ นักปรัชญาศาสตร์การตีความโรแมนติกแล้ว การแปลคือ ‘การนำผู้อ่านเข้าหาผู้แต่ง’ หรือ ‘การนำผู้แต่งไปหาคนอ่าน’ ในกรณีแรกคือการแปลโดยยึดตัวบทเป็นหลัก อย่างหลังคือการแปลโดยเน้นความคุ้นเคยของวัฒนธรรมภาษาปลายทาง

เนื่องจากผมเองไม่รู้ภาษาเช็ค จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะวินิจฉัยได้ว่าแท้จริงแล้วผู้แปลแปลยึดตัวบทหรือยึดผู้อ่านมากน้อยเพียงไร ที่พูดได้คือหลังจากอ่าน ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน ของโบฮุมิล ฮราบัล สำนวนแปลของอาจารย์วริตตา ศรีรัตนาแล้ว คงต้องบอกว่าในด้านของภาษาเธอแปลภาษาตะวันตกเป็นภาษาไทยโดยไม่ต้องแปลไทยเป็นไทยอีกรอบ ยิ่งกว่านั้น สำนวนแปลยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นวรรณศิลป์ เห็นได้ชัดจากการนำสำนวนของ น.ม.ส.ในสามกรุงมาเล่นแร่แปรธาตุในประโยคสั้นๆประโยคหนึ่ง

ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน เป็นเรื่องราวของฮัญจา ซึ่งเป็นคนงานอัดบดกระดาษขยะในกรุงปราก เขาเป็นคนรักการอ่าน แต่กลับมีหน้าที่ทำลายหนังสือ บริบททางสังคมในช่วงนั้นคือสาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวะเกีย (ค.ศ. 1948-1990) มีนโยบายขจัดหนังสือและงานศิลปะที่เป็นปฏิปักษ์กับอำนาจเผด็จการ ฮัญจาทำงานบดอัดกระดาษเป็นเวลาถึงสามสิบห้าปี ในท่ามกลางความโดดเดี่ยวนั้นเขาได้อ่านหนังสือเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานปรัชญา รวมทั้งเขายังได้ซาบซึ้งกับงานศิลปะชิ้นเอกในรูปของงานผลิตซ้ำ แม้แต่งานผลิตซ้ำที่ถูกบีบอัดจนบิดเบี้ยวแล้ว ภาพของโกแกงก็ยังสร้างความประทับใจได้ ฮัญจาเองไม่ได้มองว่าการบดอัดกระดาษที่เขาทำเป็นการทำลาย หากแต่เป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างหนึ่งเลยทีเดียว ย่อมสะท้อนว่าแม้มีพื้นที่และโอกาสจำกัดแคบยิ่ง คนเราก็ไม่ยอมทิ้งความเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์ แม้หลายครั้งเขาจะแสดงท่าทีกังขาต่อมนุษยธรรมในเพื่อนมนุษย์อยู่ซ้ำๆจนดูเมือนจะเป็นโมทีฟของเรื่องก็ตาม

ผู้แปลเองได้กล่าวไว้ในคำนำว่าผู้อ่านไทยอาจจะพบอุปสรรคในการอ่านนวนิยายเรื่องนี้ เนื่องจากความแตกต่างทางสังคมการเมือง และวัฒนธรรม ซึ่งหมายรวมถึงศาสนา ศิลปะและปรัชญา ผมคิดว่าความข้อนี้มิได้เกินเลยแต่อย่างใด ในด้านของบริบททางสังคมการเมืองนั้น ผู้แปลได้เขียน “บทแนะนำ” อันมีประโยชน์อย่างยิ่งไว้ในตอนท้ายหนังสือ แต่สำหรับแนวคิดทางปรัชญาและเทววิทยานั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่เลยทีเดียว ที่กล่าวมาดูเหมือนว่านวนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้จะหินและแห้ง ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ การดำเนินเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้ชวนติดตามอย่างยิ่ง เรื่องราวความสัมพันธ์ที่น่าจะเป็นความรักโรแมนติกระหว่างฮัญจากับผู้หญิงที่เขารัก ผู้แต่งก็เล่นกับ ‘ขี้’ เสียจนมันกลายเป็นสิ่งที่มีลักษณะเชิงสุนทรียะขึ้นมาได้อย่างน่าทึ่ง

การเอ่ยชื่อปรัชญาหรือผลงานของนักปรัชญา มิใช่เพียงการเอ่ยวิสามานยนามเท่านั้น แต่คำนามเหล่านี้ล้วนบีบอัดนัยทางปรัชญาอันลุ่มลึก รวมทั้งคำที่เป็นแนวคิดอย่าง ‘ไดโอนีเชียน’ ซึ่งแสดงนัยปรัชญาของฟรีดริช นีทเชอ ที่มุ่งอธิบายแรงผลักดันสองด้านที่ก่อให้เกิดศิลปะอันล้ำเลออย่างละครโศกนาฏกรรมกรีก นั่นคือ ไดโอนีเชียนกับอพอลโลเนียน  สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้คนอ่านที่ไม่คุ้นเคยปรัชญาตะวันตกเข้าใจตัวงานได้ยาก ทางออกที่มักจะทำกันคือการทำเชิงอรรถอธิบายความ แต่ในฉบับแปลนี้ทางสำนักพิมพ์ไม่ได้ตัดสินใจทำเช่นนั้น ซึ่งน่าจะทำถูกแล้ว หาไม่ตัวเชิงอรรถจะยาวกว่าตัวบทนวนิยายอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม หากจะถือตามที่ผู้แปลได้เกริ่นแนวทางการอ่านเอาไว้ในบทนำ ซึ่งแนะให้เราอ่านโดยใช้ใจสัมผัส เพราะตัวนักประพันธ์เองก็หาได้มุ่งยัดเยียดคุณค่าหรือแนวคิดทางการเมือง นวนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้ดูจะเป็นเสียงตอบโต้เผด็จการได้อย่างแยบยล วัฒนธรรมหนังสือหรือวัฒนธรรมการอ่านดูจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะตอบโต้เผด็จการด้วยความคิด การเอ่ยอ้างนักปรัชญาเยอรมันอย่างคานท์ที่เชื่อในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และเหตุผลอันเป็นรากฐานสำคัญของแนวคิดทางจริยศาสตร์ของเขา การกล่าวถึงนักปรัชญาเยอรมันอย่างเฮเกลที่เห็นว่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติคือการคลี่คลายให้เห็นถึงเสรีภาพของมนุษย์อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของรัฐสมัยใหม่ หรือกวี/นักปรัชญาโรแมนติกเยอรมันอย่างชิลเลอร์ที่เห็นว่าถึงที่สุดแล้วเหตุผลของมนุษย์อาจจะไม่เพียงพอ จึงต้องเน้นอีกด้านคืออารมณ์ความรู้สึก สุนทรียศึกษาจึงควรจะมีบทบาทสำคัญในการบ่มเพาะมนุษย์

รากฐานทางความคิดเหล่านี้ มิใช่ว่าจะลงรอยหรือเห็นพ้องต้องกัน เนื่องจากนักคิดนักปรัชญามีข้อเสนอของตนซึ่งหลายกรณีเห็นแย้งกับกันเอง แต่นวนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้ได้ตอกย้ำให้เห็นว่าตราบใดที่มีการอ่าน การครอบงำทางความคิดก็สัมฤทธิ์ผลได้ไม่ง่าย เนื่องจากมีการเปรียบเทียบหรือบทสนทนาทางความคิดเกิดขึ้นตลอดเวลา ตัวอย่างที่ชวนขบขันคือตอนที่ฮัญจาวาดภาพพระเยซูเป็นหนุ่มไฟแรงและเล่าจื๊อเป็นชายชราผู้ล้าโรย “ศาสนาเปรียบเทียบ” ฉบับกระเป๋า ที่พรรณนาโดยโวหารของนักเขียนในที่นี้ก็แสดงให้เห็นถึงลักษณะดังกล่าวได้ดี

นอกจากนี้ ใช่ว่าฮัญจา จะเป็นดื่มด่ำหรือเชื่อนักปรัชญาไปเสียทั้งหมด หลายครั้งเขาแสดงท่าทีเสียดสีนักปรัชญาเหล่านี้ด้วยซ้ำ อย่างเช่นมีอยู่ตอนหนึ่งที่เขาบอกว่าถ้าหากให้เฮเกลกับโชเพนฮาวร์มานำทัพแล้วละก็ จะต้องลงเอยที่หายนะเป็นแน่ การนำนักปรัชญาจิตนิยมเยอรมันที่เป็นคู่แข่งกันมาล้อเล่นเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่นักอ่านที่จะถูกครอบงำได้โดยง่าย (ที่จริงแล้วโชเพนฮาวร์เคยจัดชั่วโมงบรรยายให้ตรงกับเฮเกลเพื่อวัดกันดูสักตั้งว่าใครจะแน่กว่ากันโดยดูที่จำนวนนักศึกษาที่มาฟังบรรยาย) มุกขบขันบางอย่างก็เกิดจากการนำคำพูดของนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่มาล้อเลียน มีอยู่ตอนหนึ่งที่ฮัญจานำคำพูดของคานท์ที่เจ้าตัวเอ่ยด้วยน้ำเสียงเหมือนจะชื่นชมในตอนต้น แต่เขากลับนำมาล้อเลียนในตอนท้ายกลายเป็นคำบ่นเรื่องการงานอันไม่สิ้นสุดของเขา (ซึ่งเขาเปรียบเทียบกับงานเข็นก้อนหินของซิซิฟัสในงานเขียนของกามูส์ เมื่อเข็นไปถึงยอดปลาย หินก็ตกลงมาให้เข็นขึ้นไปอีก)

นวนิยายเรื่องนี้ยังสะท้อนความห่วงกังวลต่อกระบวนการเข้ารีตหรือล้างสมองต่อเยาวชน ดังจะเห็นได้จากตอนที่นักเรียนช่วยกันอย่างขะมักเขม้นในการรื้อปกหนังสือแล้วโยนเข้าไปในเครื่องบีบอัดไฮโดรลิกกระดาษโดยมิพักต้องอ่าน ใช่หรือไม่ที่เผด็จการมุ่งเซ็นเซอร์หรือกวาดล้างหนังสือและงานศิลปะที่เป็นปฏิปักษ์กับตนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดการความคิดและความทรงจำ วรรณกรรมของโบฮุมิล ฮราบัล เรื่องนี้น่าจะเป็นตัวอย่างของการวิพากษ์อุดมการณ์ทางอ้อม เพื่อที่จะเตือนให้เราไม่ถลำลึกไปกับโฆษณาชวนเชื่อจนหันไปในทิศทางเดียวกันโดยไม่คิด

ในตอนท้ายก่อนจบเรื่อง ฮัญจา ได้เอ่ยถึงนักปรัชญาสโตอิกอย่างเซเนกา ซึ่งเป็นอาจารย์และที่ปรึกษาของจักรพรรดิเนโร ในบั้นปลายชีวิตของเขานั้นถูกจักรพรรดิเนโรสั่งลงโทษด้วยการกรีดเส้นโลหิตให้เลือดไหลออกจากร่างจนตาย โดยข้อกล่าวหาคือการพยายามลอบสังหาร (ที่จริงแล้วผู้มีส่วนสมคบคิดคือหลานของเขา) เซเนกาในช่วงปัจฉิมวัยยินดีตายเพื่อรักษา “ความจริง” เอาไว้ เฉกเช่นที่โสเครตีส นักปรัชญากรีกก็ยอมรับโทษประหาร แทนที่จะหนีเอาตัวรอดตามคำเชื้อเชิญของมิตรสหาย  ฮัญจาพูดว่า “กูกลับขอเลือกเป็นสาวกเดินตามรอยเท้าของเซเนกาและโสเครติส” (น. 116)

มีนักทฤษฎีเสนอว่า การแปลย่อมมีนัยทางการเมืองอยู่เสมอ นั่นคือ การแปลมักจะตอบโจทย์ต่อภาษาปลายทางด้วยเช่นกัน นั่นคือ ‘การนำผู้แต่งไปหาผู้อ่าน’ แต่ไม่ว่าเจตนาของผู้แปลจะเป็นเช่นไร ใน พ.ศ. นี้ ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน ฉบับภาษาไทยช่างเหมาะกับห้วงยามเช่นนี้ของประเทศไทยอย่างยิ่ง

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  คงกฤช ไตรยวงค์ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สมาชิกกลุ่ม Black Circle

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท