“เป็นนักข่าว-อย่าฝักใฝ่เผด็จการ” เมื่อองค์กรสื่อคัดค้าน กม.คุมสื่อของ คสช.

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เคยกล่าวไว้ว่า

“ผู้ใดต้องการอำนาจที่ละลายไปโดยเร็วเหมือนหยาดน้ำค้างเมื่อต้องแสงแดด จงแสวงจากปืน ผู้ใดต้องการอำนาจที่ประกอบด้วยพรแห่งธรรมและความยั่งยืน จงแสวงจากประชาชนและในท่ามกลางประชาชนของท่าน”

ดูจะเป็นคำเตือนส่งไปยังผู้ต้องการอำนาจและสื่อรุ่นหลังที่ยังคงใช้ได้ถึงปัจจุบัน

ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.... กำลังกลายเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างสภาการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) องค์กรวิชาชีพสื่อ 30 องค์กร เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างกฎหมาย จนเป็นเหตุนำมาสู่การลาออกของอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท. 4 คน คือประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ จักร์กฤษ เพิ่มพูล สุวรรณา สมบัติรักษาสุข และอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ นอกจากนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อยังเรียกร้องให้ปลด พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการฯ เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจต่อเรื่องนี้ ทำให้กฎหมายฉบับนี้ถูกชะลอออกไปก่อน

จักร์กฤษ กล่าวถึงสาเหตุที่ตัดสินใจลาออกว่า เพราะไม่เห็นด้วยกับกับร่างกฎหมายที่เดิมที่คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้จัดทำรายงานข้อเสนอส่งไปยังคณะกรรมาธิการ แต่ทางคณะกรรมาธิการกลับปรับข้อเสนอจนแตกต่างจากข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการฯ และขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานสำคัญในการรับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

โดยหลักการสำคัญที่ถูกแก้ไขคือ 1.การให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติมีอำนาจออกใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ ซึ่งเคยปรากฏในกฎหมายช่วงเผด็จการ และขัดกับบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติที่รับรองให้สื่อและประชาชนมีสิทธิในการแสดงความเห็น จึงเป็นกฎหมายย้อนยุคไปสู่เผด็จการ 2.องค์ประกอบสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีปลัดกระทรวง 4 กระทรวง ร่วมเป็นกรรมการ ถือว่าบิดเบือนหลักการโดยสิ้นเชิงจากที่เคยเสนอมาตั้งแต่ สปช. ที่ให้สื่อมีความเข้มแข็ง แต่กลับกลายเป็นสื่อถูกบังคับควบคุมโดยกฎหมาย

"ไม่ได้แปลว่า สปท. จะแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ได้ แต่เนื้อหาที่แก้ไขเป็นสาระสำคัญ ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่ อนุฯ นำเสนอจากที่ไปรับฟังภาคส่วนต่างๆ มา การที่สื่อออกมาคัดค้านไม่ใช่การปกป้องสิทธิของตัวเอง แต่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้คือการปิดหูปิดตาประชาชน สุดท้ายจะไปกระทบกับข้อมูลที่ประชาชนได้รับ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ต้องให้เกียรติที่ประชุม สปท. ซึ่งควรเปิดใจให้กว้าง รับฟังเสียงคัดค้าน ไม่ใช่ยืนยันจะเดินหน้าอย่างเดียว สิ่งที่ไม่สบายใจคือมีน้ำเสียงคล้ายๆ ว่า การปฏิรูปสื่อต้องฟังเสียงรัฐบาลและผู้มีอำนาจด้วย ถือเป็นหลักที่ผิดโดยสิ้นเชิง เพราะสื่อไม่สามารถรับใช้อำนาจรัฐได้"

ประเด็นนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสื่อมวลชน ซึ่งอันที่จริงก็เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แต่งตั้งสื่อมวลชนเข้าไปนั่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประกอบด้วย บัญญัติ ทัศนียะเวช ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมชาย แสวงการ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ภายหลังเกิดแรงกดดันจนทั้งสามคนต้องลาออกจากตำแหน่ง เพราะสื่อมวลชนไม่ควรรับตำแหน่งใน สนช. ไม่ใช่เพียงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

แต่ประเด็นที่ลึกและใหญ่โตกว่านั้นคือ รากฐานในเชิงอุดมการณ์ที่ว่าสื่อมวลชนไม่ควรจูบปากกับเผด็จการตั้งแต่ต้น

และเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารทั้งสองครั้งในปี 2549 และ 2557 สื่อจำนวนหนึ่งนอกจากไม่แสดงจุดยืนไม่ยอมรับรัฐประหาร ยังสนับสนุนรัฐประหาร ไปจนถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมกับคณะรัฐประหารในลักษณะต่างๆ

หากมองย้อนกลับไปก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่สื่อวิทยุ โทรทัศน์ ถูกควบคุมโดยรัฐ เกิดการปิดกั้นข่าวสถานการณ์ความรุนแรงในกรุงเทพฯ นำไปสู่การเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสื่อ ในความหมายที่ว่าดึงคลื่นความถี่ออกจากมือรัฐและจัดสรรให้แก่เอกชน สาระนี้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540

แต่ภายหลังสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่คุกรุ่นตั้งแต่ช่วงก่อนรัฐประหาร 2549 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สภาวะเสมือนไร้ระเบียบในอาชีพสื่อ ภูมิทัศน์สื่อที่พลิกโฉมจากการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดีย การเลือกข้างทางการเมือง การปฏิรูปสื่อครั้งที่ 2 ค่อยๆ ปรากฏขึ้นด้วยแนวคิดว่าต้องจัดระเบียบสื่อและควบคุมกันเอง ซึ่งก็ชวนตั้งคำถามว่าการควบคุมสื่อกันเองผ่านองค์กรวิชาชีพจะเท่ากับปล่อยให้ระดับแกนของสื่อแต่ละสำนักผูกขาดจรรยาบรรณ รวมถึงแนวทางการนำเสนอข่าวหรือไม่ เพราะความขัดแย้งระหว่างองค์กรวิชาชีพกับสำนักข่าว จนฝ่ายหลังประกาศลาออกก็มีให้เห็นมาแล้ว

อธึกกิต แสวงสุข สื่อมวลชน เจ้าของนามปากกา 'ใบตองแห้ง' เคยแสดงทัศนะว่าไม่เห็นด้วยกับการกำกับดูแลกันเอง เพราะจะตีความได้หรือไม่ว่า ถ้าไม่อยากให้รัฐเซ็นเซอร์หรือจำกัดเสรีภาพ สื่อก็ต้องเซ็นเซอร์หรือจำกัดเสรีภาพกันเอง ซึ่งเขามองว่าต้องต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อเป็นหลัก ไม่ใช่จำกัดเสรีภาพกันเอง แนวคิดนี้จึงผิดตั้งแต่ต้น สื่อไม่ควรต้องควบคุมกันเองด้วยซ้ำไป สื่อจะควบคุมกันเองได้ด้วยการแข่งขัน เนื่องจากสื่อหลากหลายมากขึ้น สื่อจะเปิดโปงกัน และประชาชนก็จะรู้ทันสื่อ เพราะฉะนั้นหลักการคือเปิดให้แข่งกันโดยเสรีด้วยทัศนะและข้อมูล

อธึกกิตยังเห็นว่า คนที่เข้าร่วม สปช. เพื่อร่างกฎหมายคือคนที่ยอมรับการรัฐประหารและอาศัยอำนาจร่างกฎหมายซึ่งจะควบคุมสื่อที่ส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร

เหตุผลของจักร์กฤษที่ว่า การให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติมีอำนาจออกใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ ซึ่งเคยปรากฏในกฎหมายช่วงเผด็จการ และขัดกับบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติที่รับรองให้สื่อและประชาชนมีสิทธิในการแสดงความเห็น จึงเป็นกฎหมายย้อนยุคไปสู่เผด็จการ จึงดูย้อนแย้งและชวนตั้งคำถามกลับไปยังองค์กรวิชาชีพสื่อ

ก็ในเมื่อสถานการณ์ปัจจุบันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ มีการออกคำสั่งลิดรอนเสรีภาพสื่อ และการจัดทำกฎหมายฉบับนี้ก็เกิดขึ้นจากกลไกของ คสช. แต่องค์กรวิชาชีพสื่อกลับเข้าไปร่วมวงไพบูลย์กับ คสช. แล้วกลับบอกว่ากฎหมายฉบับนี้ย้อนยุคไปสู่เผด็จการ ทั้งที่องค์กรวิชาชีพสื่อควรตระหนักตั้งแต่ต้นแล้วว่า กระบวนการทั้งหมดนี้เริ่มต้นแบบเผด็จการ แล้วจะเรียกร้องเสรีภาพจากเผด็จการได้อย่างไร

ชวนให้นึกถึงคอลัมน์ฉลามเขียวในหนังสือพิมพ์บ้านเมืองเรื่อง 'บาปของข้า' ที่ว่า

ขอฝากแก่นักข่าวทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่และยังได้ทำงานต่อไป หรือคนที่กำลังอยากเป็นนักข่าว เอาไว้สั้นๆ ว่า

"เป็นนักข่าว-อย่าฝักใฝ่เผด็จการ"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท