ศาลสั่งเพิกถอนประกันตัว ไผ่ ดาวดิน คดีแชร์บทความ BBC เหตุโพสต์เยาะเย้ยอำนาจรัฐ

ศาลจังหวัดขอนแก่น สั่งเพิกถอนปล่อยตัวชั่วคราว ไผ่ ดาวดิน คดี 112 หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจยื่นคำร้อง ปมเชื่อว่าโพสต์เยาะเย้ยพนักงานสอบสวน ทนายยื่นประกันตัวอีกครั้ง ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

22 ธ.ค. 2559 14.00 น. ศาลจังหวัดขอนแก่น ได้นัดพิจารณาคำร้องของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ที่ขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" หนึ่งในสมาชิกของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ในคดีแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC thai โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จตุภัทร์ ได้ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว จึงสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว ทั้งยังเห็นว่านายประกัน ซึ่งเป็นบิดา ไม่ได้ทำการห้ามปราบการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด

โดยศาล พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลได้มีคำสั่งกำชับให้นายประกัน, ผู้ต้องหาให้มาศาลตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือก่อความเสียหายใดๆ หลังปล่อยตัวชั่วคราว หากผิดนัด ผิดเงื่อนไข ศาลอาจถอนประกันและอาจไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอีก และภายหลังปล่อยตัวชั่วคราว ได้ความจากทางไต่สวนว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มจะกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มีอายุ 25 ปี ย่อมรู้ดีว่า การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล จึงฟังได้ความตามคำร้องว่า ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายภายหลังการปล่อยตัวชั่วคราว ประกอบกับนายประกันผู้ต้องหาไม่ได้กำชับหรือดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลที่มีคำสั่ง จนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว จึงให้เพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา หมายขังผู้ต้องหา ตรวจคืนหลักประกันให้นายประกัน

ด้าน อธิพงษ์ ภูผิว ทนายความได้ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ศาลใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที ในการพิจารณาไต่สวนคำร้องเพิกถอนสัญญาปล่อยตัวชั่วคราว โดยทนายความได้ยื่นคัดค้านคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยระบุว่า ศาลไม่ได้สั่งเน้นย้ำเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว จึงทำให้ผู้ต้องหาไม่ทราบว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร จึงดำเนินชีวิต และแสดงความความคิดเห็นในเฟซบุ๊กตามปกติ เพราะเชื่อว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในการการแสดงออก

ทนายความกล่าวด้วยว่า ประเด็นที่พนักงานสอบสวนยกมาให้ศาลพิจารณาประกอบด้วยการโพสต์สเตัสในเฟซบุ๊ก 3 สเตตัสคือ การถ่ายรูปกับเพื่อนที่มีลักษณะเยาะเย้ยหลังจากที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยเป็นรูปซึ่งมีการทำลักษณะท่าทางคล้ายกับตัวละครที่ชื่อว่า "หน้ากากแอคขั่น" ในการ์ตูนเรื่อง "ชินจัง" ประเด็นต่อมาเกี่ยวข้องกับการโพสต์เรื่องที่ ผู้ต้องหา เดินทางไปแจ้งความกับสถานนีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น เนื่องจากวันที่ถูกควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดโทรศัพท์มือถือไป แต่ไม่ได้เขียนบันทึกไว้ในรายการของกลางที่ถูกยึด และได้ถ่ายรูปทำท่าทางในลักษณะเดิม และประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับการโพสต์เฟซบุ๊กของผู้ต้องหา ซึ่งกำลังรับประทานข้าวราดผัดกระเพรา และระบุว่า ติดคุก กินข้าวฟรี ราคา 112 บาท ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ปรากฎอยู่ในคำร้องขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว ของพนักงานสอบสวน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของพนักงานสอบสวน ระบุว่า หลังจาก ที่จตุภัทร์ได้รับการประกันตัว ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะที่เชื่อได้ว่าเป็นการเยาะเย้ยพนักงานสอบสวน โดยข้อความดังกล่าวระบุว่า "เศรษฐกิจมันแย่แม่งจะเอาแต่เงินประกัน"

ทั้งนี้ในการพิจารณาคำร้อง ศาลได้สั่งให้เป็นการพิจารณาลับ โดยกันไม่ให้บุคคลอื่นเข้าฟังการพิจารณา โดยให้เหตุผลว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ทั้งยังเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอาจจะกระทบจิตใจของคนในสังคม

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากฟังคำพิจารณาของศาลแล้ว จตุภัทร์ ยังมีท่าทีปกติ ไม่ได่แสดงความวิตกกังวล และล่าสุดทนายความกำลังทำเรื่องประกันตัวจตุภัทร์อีกครั้ง โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้นำตัว จตุภัทร์ ไปฝากขังยังเรือนจำจังหวัดขอนแก่นแล้ว

สำหรับการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง อธิพงษ์ ระบุว่า เหตุผลในการยื่นขอปล่อยตัวมี 3 เหตุผลคือ ผู้ต้องหากำลังศึกษาอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นปีสุดท้าย และกำลังจะมีการสอบในวิชาคอมพิวเตอร์ในวันที่ 16 ม.ค. 2560 หากไม่ได้การปล่อยตัวชั่วคราวจะทำให้ศึกษาไม่จบตามหลักสูตร และผู้ต้องหาไม่มีพฤติกรรมหลบหนี หรือเข้าไปยุ่งกับพยานหลักฐานแต่อย่างใด

ทนายความความกล่าวด้วยว่า หากวันนี้ไม่ได้รับการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ก็จะดำเนินการทำเรื่องขอประกันตัวไปจนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว โดยอำนาจในการฝากขังผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนสามารถขอให้ศาลฝากขังได้ทั้งหมด 7 ผัด ผัดละ 12 วัน สำหรับคดีนี้ นับว่าอยู่ในช่วงของการฝากขังในผัดที่ 2

ในรายงานข่าวก่อนหน้านี้ระบุด้วยว่า สเตตัสที่ถูกนำมาเป็นเหตุผลในการร้องขอให้ถอนประกันนั้น จตุภัทร์ ยืนยันว่าการโพสต์แสดงความเห็นบนเฟซบุ๊กเป็นเรื่องปกติ สำหรับสเตตัสนี้จตุภัทร์กล่าวว่าได้โพสต์หลังจากทราบข่าวว่าศาลจังหวัดพระโขนงไม่อนุญาตให้นักวิชาการใช้ตำแหน่งประกันตัวเพื่อนนักกิจกรรมที่ถูกฟ้องในคดีฉีกบัตรลงคะแนนประชามติ เป็นเหตุให้ต้องถูกขังอยู่ในเรือนจำ และเพื่อนๆ ต้องลำบากหาหยิบยืมเงินสดมาเป็นหลักทรัพย์ประกันทั้งสามคนเป็นจำนวนถึง 600,000 บาท

ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตต่อกรณีการถอนประกันนายจตุภัทร์ในครั้งนี้ว่า

1. ตามหลักสิทธิมนุษยชนได้กำหนดหลักการพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไว้ว่า “บุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีความผิดอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาโดยเปิดเผยและผู้นั้นได้รับหลักฐานทั้งหลายที่จำเป็นในการต่อสู้คดี” ดังปรากฏอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ 11

เมื่อนายจตุภัทร์ ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยจนเสร็จสิ้นครบถ้วนกระบวนความจนถูกพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายจริง จึงย่อมต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์โดยกฎหมาย สิทธิต่าง ๆ และพยานหลักฐานหรือสิ่งของอื่นใดย่อมจะต้องได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้บริสุทธิ์ ทั้งนี้ รวมถึงข้อความที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในเฟซบุ๊กด้วย

2. เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่นอนุญาตให้ประกันตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา โดยกำชับกับนายประกันเพียงว่า ให้มาศาลตามนัด ห้ามยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือก่อความเสียหายใดๆ เท่านั้น ไม่ได้มีข้อกำชับหรือเงื่อนไขให้ลบข้อความในเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด การลบหรือไม่ลบข้อความในเฟซบุ๊กจึงไม่น่าจะเป็นสาระสำคัญของการพิจารณาเพิกถอนการประกันตัว เพราะไม่มีความเกี่ยวข้องกับข้อกำหนดในสัญญาประกันตัวแต่อย่างใด

และหากข้อความในเฟซบุ๊กของนายจตุภัทร์ เป็นข้อความที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของพยานหลักฐานในคดี การลบข้อความดังกล่าวนั้นก็เท่ากับเป็นการทำลายพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดหรือบริสุทธิ์ของนายจตุภัทร์เอง ซึ่งอาจกระทบต่อสิทธิในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่เป็นธรรมตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 8

3. การวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงออกซึ่งความคิดเห็นใดโดยสุจริตย่อมเป็นสิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่ถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นใด ๆ จึงชอบที่จะทำได้ หากเห็นว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย ก็ชอบที่จะว่ากล่าวหรือฟ้องร้องเป็นคดีความผิดอื่นแยกต่างหากได้

ที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวของนายจตุภัทร์ ว่า “ผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มจะกระทำการในลักษณะเช่นนี้”

จึงอาจถือเป็นการใช้ดุลพินิจจำกัดกรอบการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ถูกรับรองไว้ตามกฎหมาย อันเป็นการสร้างภาระหน้าที่หรือเงื่อนไขให้แก่นายจตุภัทร์เกินจำเป็น ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 112 วรรคท้าย

และคำสั่งศาลที่ระบุว่าเย้ยหยันอำนาจรัฐ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก็ไม่มีเนื้อหาระบุชัดเจนว่าเป็นการเย้ยหยันอำนาจรัฐอย่างไรบ้าง มีองค์ประกอบอย่างไร  รวมทั้งที่ศาลจังหวัดขอนแก่นระบุว่า “ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ” ก็ยังคงคลุมเครือไม่มีเหตุผลระบุว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างประจักษ์ชัดเจนคืออะไร

00000

สำหรับคดีดังกล่าว สืบเนืองจากการเข้าแจ้งความโดย พันโทพิทักษ์พล ชูศรี รองหัวหน้าหน่วยยุทธการมณฑลทหารบกที่ 23 ขอนแก่น เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2559 เนื่องจากพบว่า จตุภัทร์ ได้แชร์บทความจากเว็บไซต์ BBC Thai ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. จุตภัทร์ ถูกควบคุมตัวที่จังหวัดชัยภูมิ ขณะกำลังร่วมขบวนธรรมยาตรา กับพระไพศาล วิสาโล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสดงหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดขอนแก่น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาความผิดตาม มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14

ต่อมาในวันที่ 4 ธ.ค. 2559 ศาลได้พิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์ โดยทนาย พร้อมนายประกันได้ยื่นหลักทรัพย์ 4 แสนบาท และให้เหตุผลไว้ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวว่า จตุภัทร์ เป็นผู้ต่องหาคดีการเมืองอยู่ 4 คดี แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีพฤติกรรมหลบหนี อีกทั้งในวันที่ 8 ธ.ค. ผู้ต้องหามีสอบเป็นวิชาสุดท้าย หากไม่ได้เข้าสอบวิชาดังกล่าวจะส่งผลให้เขาเรียนไม่จบตามหลักสูตร ศาลจึงพิจารณาให้ประกันตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ประเด็นเรื่องสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหา เมื่อวันที่ 27 ส.ค.56  ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์  มีการจัดเสวนาเรื่อง “การแก้ปัญหาสิทธิผู้ต้องหาในการได้รับการประกันตัว” โดย ศ.ดร.คณิต ณ นคร ได้เคยให้ความเห็นไว้ว่า การปล่อยชั่วคราวเป็นมาตรการหนึ่งในการดำเนินคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมีคุณลักษณะ 2 ประการคือ เป็นกฎหมายที่มุ่งรักษาความสงบเรียบร้อยและเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล แต่ในการเรียนการสอนวิชากฎหมายเรามักเน้นแนวคิดอำนาจนิยม ไม่ค่อยเน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ทั้งที่กฎหมายดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเสรีนิยม มุ่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ (อ่านต่อที่นี่)

ขณะที่ ศราวุฒิ ประทุมราช ผู้อำนวยการสถาบันหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน ได้เคยเขียนบทความลงในเว็บไซต์ประชาไท เรื่อง สิทธิได้รับการประกันตัวคือ สิทธิมนุษยชน โดยมีใจความสำคัญว่า

สิทธิในการได้รับการประกันตัวนั้นเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ต้อง หาที่ต้องได้รับในฐานะเป็นหลักประกันความก้าวหน้าของกระบวนการยุติธรรม และเป็นสากล หมายถึงว่าการได้รับการประกันตัวเป็นสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาทุกคน ทุกคดี ทุกข้อกล่าวหา

การไม่ให้ประกันตัวในกรณีของคดีดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ หรือกรณีคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงอื่นๆนั้น เหตุผลที่ศาลมักไม่ให้ประกันตัว มักให้เหตุผลว่า เช่น ตามพฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะการกระทำนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย สู่สถาบันกษัติริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ หรือว่าพนักงานสอบสวนได้คัดค้าน จึงเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว เป็นต้น

คำถามคือว่า การมิให้ประกันตัวตามหลักสิทธิมนุษยชนนั้นสามารถกระทำได้เพียงใด และข้อคำนึงถึงการใช้ดุลพินิจ ในการไม่อนุญาตให้ประกันตัวนั้น เป็นไปตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย (Due Process of Law) หรือไม่

หลักสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการได้รับการประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราว คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ซึ่งมีหลักการว่า สิทธิประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี จะต้องเป็นหลักที่ได้รับความคุ้มครอง การมิให้ประกันตัวถือเป็นข้อยกเว้นหรือจะกระทำได้ต่อเมื่อไม่มีวิธีการที่ เบากว่านี้

โดยปกติบุคคลผู้ถูกตั้งข้อหาคดีอาญามีสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่ว คราวระหว่างการพิจารณาคดี โดยการวางหลักประกันหรือมีบุคคลค้ำประกัน การปฏิเสธคำขอประกันตัวควรจะเป็นข้อยกเว้น อย่างเช่น มีความเป็นไปได้ว่าบุคคลนั้นจะหลบหนีและไม่มาปรากฏตัวในศาลในช่วงการพิจารณา คดี หรือบุคคลนั้นอาจจะทำลายหลักฐาน หรือบุคคลนั้นอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้อื่น การปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างการพิจารณา ถือว่าเป็นการละเมิดข้อ 9(3) ของ ICCPR ซึ่งกำหนดว่า “ การควบคุม คุมขังบุคคลระหว่างการพิจารณาคดี ไม่ควรเป็นกฎที่ใช้ทั่วไป”

การคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีนานเกินระยะเวลาที่สามารถยกเหตุผลอันเหมาะ สมมากล่าวอ้างได้ เป็นการกระทำโดยไม่มีกฎเกณฑ์และละเมิดข้อ 9(1) ของ ICCPR ที่ว่า “ บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้”

ขณะที่เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2559 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยใจความตอนหนึ่งระบุว่า

"เราอาจจะต้องใช้มาตรา 44 ในการควบคุมตัวเข้าจับกุม เพราะว่ามันหลายอย่างด้วยกันนะครับท่านก็รู้ดีอยู่ กฎหมายปรกติไม่ค่อยเชื่อ แต่เข้าไปจับกุมดำเนินคดีก็ใช้วิธีการอันละมุนละม่อมไม่เคยต้องไปทำร้าย ไปทุบตีอะไรต่างๆ ไปทรมาน ไม่เคยทำซักอย่าง  ถ้าทำผมก็ลงโทษนะ  ฉะนั้นก็เพียงนำพามา และสอบสวน ให้สู้คดี ต่างคนต่างก็พยายามที่จะบิดเบือน  หลายคนก็เคยให้ความเมตตาแล้ว ให้ออกมา ให้ประกัน  บอกไม่ประกันอีก จะขออยู่ในคุกก็แล้วแต่ตามใจ ก็ต้องเข้าใจนะครับ ไม่ใช่ผมไปบังคับให้เขาอยู่ ต้องการให้เขาติดคุกไม่ใช่  ผมเมตตาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะนิสิต นักศึกษา  แต่เขาบอกเขาไม่อยากออกจากคุก จนกว่าจะมีประชาธิปไตย ก็แล้วแต่นะ ผมบังคับท่านไม่ได้อยู่แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับประเทศไทย คนไทย จะคิดยังไงนะ ว่าผมรังแกเขาหรือเปล่า พ่อแม่ก็เดือดร้อน ร้องไห้ แล้วก็กลายเป็นว่าพ่อแม่ก็มาเกลียดชังผม จริงๆ มันไม่น่าใช่นะไปคิดเอา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท