ศัพท์ภาษาอังกฤษที่น่ารู้เกี่ยวกับบรรพตและเทอดศักดิ์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในรอบปีสองปีที่ผ่านมา บรรพต (ชื่อจริง คือ นายหัสดิน อุไรไพรวัน ซึ่งบัดนี้อยู่ในคุกไปแล้ว) และนายเทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา ได้สร้างความฮือฮาให้กับโลกสังคมออนไลน์ ในลักษณะคล้ายคลึงกัน แม้ว่าจะมีการนำเสนอและวิเคราะห์ข่าวบนจุดยืนที่ต่างกัน คนแรกถูกจัดให้อยู่ทางฝ่ายเสื้อแดง[1]  ส่วนคนที่ 2 ถูกจัดให้เป็นฝ่ายเสื้อเหลือง[2]

ปรากฏการณ์ของทั้ง  2 คน ให้ผมนึกถึงศัพท์ภาษาอังกฤษซึ่งทั้งหมดเป็นคำนาม (Noun) พร้อมการวิเคราะห์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้

1.Guru มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ครู ผู้ชี้นำ หรือผู้เชี่ยวชาญ (ในบทความนี้ขอใช้คำว่า “กูรู” ทับศัพท์ไปเลย)

บรรพตและเทอดศักดิ์ พยายามนำเสนอตัวเองในฐานะเป็นกูรูทางโลกสังคมออนไลน์ (ภาษาอังกฤษอีกคำก็คือ Cyber Guru)  มีการพูดวิเคราะห์สารพัดข่าวและประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยจะเน้นเรื่องแรกเป็นหลัก และเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ แต่สื่อกระแสหลักไม่กล้านำเสนออย่างรอบด้าน ฝ่ายบรรพตอยู่ใต้ดินแบบลึกลับ และปรากฏเพียงเสียงดัดแปลงบนยูทูบ (สาธารณชนรับรู้ตัวตนและใบหน้าของเขาเฉพาะตอนที่ถูกจับ) ไม่มีแฟนคลับมาแสดงตนในยูทูบเท่าไรนัก บรรพตมักจะถ่ายทอดรายการของเขาโดยใช้เวลาเป็นชั่วโมงขึ้นไป อันส่งผลให้เขาต้องด้นสดเหมือนบ่นไปเรื่อยเปื่อยอยู่บ่อยครั้ง บางทีก็เล่าเรื่องเป็นฉาก ๆ  และทำเสียงเลียนแบบผู้ถูกพาดพิงสลับกับหัวเราะเหมือนคนบ้า สำหรับเทอดศักดิ์ อยู่บนดินและแสดงตัวชัดเจน มีช่องยูทูบเป็นของตัวเอง แม้เวลาในคลิปของเขาไม่นานนัก แต่มีการนำเสนออย่างเป็นระเบียบกว่าบรรพตผ่านการพูดอย่างเนิบนาบดูน่าเชื่อถือ และมีการนำคลิปของเหตุการณ์ที่เขาต้องการวิเคราะห์มาแสดงประกอบให้เห็นภาพ เหมาะสำหรับการรับฟังแบบเร่งด่วน เขามีแฟนคลับแห่กันมาเชียร์กันคับคั่งทั้งในยูทูบและเฟซบุ๊คของตน (ซึ่งบรรพตไม่มี)  กระนั้นอาจด้วยสารของเขาเทิดทูนเจ้าจึงทำให้มีคนกล้าแสดงออกมากกว่าบรรพตก็เป็นได้

 

2.Self –Promotion แปลว่า การโฆษณาตัวเอง

ทั้งคู่มีวัตถุประสงค์ของการจัดรายการเหมือนกัน คือ การโฆษณาตัวเอง บรรพตมักโอ้อวดจำนวนคนคลิกมาฟังรายการของเขา อีกทั้งตอนต้นรายการเขามักกล่าวประโยคทักทายคนไทยและเทศ ที่อาศัยอยู่ทั่วโลกอย่างยาวเหยียดหลายนาที จนทำให้รู้สึกว่ามีคนติดตามรายการเขาเป็นล้าน ๆ เช่นเดียวกับการอ่านจดหมายจากทางบ้านที่ผู้เขียนยกย่องตัวเขา ส่วนเทอดศักดิ์นอกจากกล่าวยกย่องตัวเองเป็นบางครั้งแล้วยังมุ่งประโคมวุฒิการศึกษาและประสบการณ์ซึ่งมีผู้จับผิดว่าให้ข้อมูลผิดพลาดในบางส่วน เช่น อ้างว่าเคยเป็นอาจารย์พิเศษ หรือวิทยากรที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีเพียงคณะมนุษยศาสตร์ 

พฤติกรรมดังกล่าวโดยเฉพาะของบรรพต สำหรับผู้เขียนเป็นเรื่องที่น่ารำคาญสำหรับวงวิชาการ (หากนับพวกเขาว่าเป็นนักวิชาการ) ด้วยแวดวงอาจารย์มหาวิทยาลัยก็มีคนแบบนี้อยู่ไม่น้อย เช่น ไปงานสัมมนาก็พูดในเชิงยกย่องตัวเองหรือเรื่องส่วนตัวเสียค่อนรายการ สำหรับคนที่จัดได้ว่าเป็นกูรูหรือนักปราชญ์จริง ๆ มักนำเสนอวิชาการเป็นหลักมากกว่าจะคุยเรื่องตน และประวัติส่วนตัวก็มักประกอบกับงานวิจัยและผลงานทางวิชาการอื่น ๆ ด้วยมากกว่าการนำเสนอประวัติการศึกษาลอย ๆ ที่ข้อมูลไม่ชัดเจน กรณีเทอดศักดิ์ยังสะท้อนถึงความล้มเหลวของวงการการศึกษาที่มุ่งเน้นวุฒิหรือปริญญาบัตรมากกว่ากระบวนการหาความรู้อย่างแท้จริง

3.Conspiracy แปลว่า ทฤษฎีสมคบคิด

ทฤษฎีสมคบคิด หมายถึง การอธิบายเหตุการณ์ซึ่งไม่ดีไม่งามหรือผิดกฎหมายอันนำไปสู่ผลเสียแก่สาธารณชน และผู้กระทำมักเป็นรัฐบาล ไม่ว่าระดับประเทศ หรือต่างประเทศ หรือองค์กรลึกลับ กลุ่มผู้มีอำนาจ มนุษย์ต่างดาว ภูตผีปีศาจ ฯลฯ ในฐานะที่เป็น “แพะ” (scapegoat) อย่างเช่น การอธิบายว่าสาเหตุที่ทำให้เรือหรือเครื่องบินหายในสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาก็คือมนุษย์ต่างดาว วงวิชาการถือว่าทฤษฎีสมคบคิดเป็นเพียงทฤษฎีหนึ่งที่ขาดความน่าเชื่อถือ เพราะไม่จำเป็นต้องเอาทฤษฏีหรือปัจจัยอื่นมาร่วมวิเคราะห์ด้วยเหมือนกับหนังสือวิชาการ  แต่ก็สอดคล้องกับความชอบของมวลชนที่ต้องการคำอธิบายแบบง่าย ๆ เป็นเรื่องเป็นราว ง่ายต่อการจินตนาการ ทฤษฎีสมคบคิดจึงมักอยู่คู่กับวัฒนธรรมแบบประชานิยม อย่างเช่น ภาพยนตร์ ละคร นิทาน ฯลฯ  ซึ่งเหมาะสำหรับความเพลิดเพลินมากกว่า

สำหรับบรรพตนั้น มักพาดพิงเบื้องสูงและกลุ่มอำนาจรอบข้าง ส่วนเทอดศักดิ์พาดพิงทักษิณและกลุ่มอำนาจรอบข้างว่าทำให้ประเทศไทยหายนะ โดยทั้งคู่หากไม่จำคำพูดของนักวิชาการชื่อดังมาบางเรื่องก็อาศัยแหล่งข้อมูลอันเลื่อนลอย ปราศจากหลักฐาน เช่น การเล่ากันแบบปากต่อปากหรือจากเว็บไซต์ที่ไร้สาระพอกัน  หรือบางทีพวกเขาอาจจินตนาการขึ้นมาเองก็ได้  กระนั้นก็ต้องยอมรับว่าทฤษฎีสมคบคิดของพวกเขา ต้องสอดคล้องกับอุดมการณ์บางประการ อย่างเทอดศักดิ์อิงอยู่บนอุดมการณ์ที่ชัดเจนกว่าบรรพต เช่น ลัทธิราชานิยมอย่างล้นเหลือ (Hyper-Royalism) และลัทธิชาตินิยม (Nationalism) ที่มีรัฐบาลทหารเป็นพระเอก อันทำให้สันนิษฐานได้ว่า เขาไม่มีวันจะพบกับชะตากรรมเดียวกับบรรพต (แม้ผู้มีอำนาจจะออกมาขู่เทอดศักดิ์ก็ตาม) กระนั้น ทั้งเทอดศักดิ์และบรรพตก็อิงอยู่บนอุดมการณ์เกลียดชาวต่างชาติ (Xenophobia) โดยการอ้างเหมือนกันว่ามหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จีน รัสเซีย  มักเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทย หรืออยู่เบื้องหลังสถานการณ์ทางการเมืองสำคัญ ๆ ของโลก โดยเฉพาะเทอดศักดิ์นั้น บางคลิปของเขาเป็นเรื่องไร้สาระอย่างน่าตกใจ เช่น เขากล่าวหาว่าพวกโรฮิงญาเป็นเครื่องมือของฝรั่งในการเข้ามายึดแหล่งน้ำมันของไทยและเพื่อนบ้าน หรือแก้ตัวแทนน้องเบสว่า เพราะมีขบวนการล้มเจ้าและแบ่งแยกดินแดนอยู่ในอีสาน อันส่งผลให้เธอจำเป็นต้องพูดทำนองกระตุ้นคนอีสานให้รักในหลวง จึงถูกตัดต่อคลิปให้เข้าใจว่ากำลังดูถูกคนภาคนี้อยู่

4.Misinformation แปลว่า ข้อมูลที่บิดเบือนจากความเป็นจริง

ทั้งบรรพตและเทอดศักดิ์ มีลักษณะสำคัญอันส่งผลให้คนที่ไม่ชอบเขานำมาโจมตีมากที่สุด คือ การนำเสนอข้อมูลบิดเบือนจากความเป็นจริง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจเพราะความเขลา สำหรับบรรพตมีอยู่มากมาย หลายเรื่องไม่สามารถนำมาเขียนในที่นี้ได้ (ทั้งผิดกฎหมายและมีมากเกินไป) นอกจากการโฆษณาไข่ดองน้ำส้มสายชูหมักว่าจะช่วยแก้โรคได้สารพัด กระนั้นเขาก็พยายามกลบเกลื่อนความบกพร่องเช่นนี้ผ่านคำคมภาษาอังกฤษ หรือแม้แต่ภาษาละตินตอนต้นรายการเช่นเดียวกับการกล่าวอ้างคำสอนหรือคำทำนายของพระเกจิ สำหรับเทอดศักดิ์ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ผิด ๆ อย่างเช่น อับราฮัม ลินคอล์น เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ หรือ จอมพล ป. เป็นคนออกแบบธงชาติไทย เป็นต้น สาธารณชนที่ไม่ใช่แฟนคลับ จึงมักโจมตีพวกเขาว่าเป็น "กูรูเก๊"  (fake guru) หรือ Charlatan อันหมายถึงนักต้มตุ๋น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนทั้งคู่เปิดช่องให้แฟนคลับสนับสนุนทางการเงิน (สำหรับบรรพตอ้างเรื่องขายเสื้อ)  อย่างไรก็ตามเขาทั้งคู่ก็มีกลไกป้องกันตัวเอง คือ การอ้างแพะหรือศัตรูในจินตนาการ อย่างเช่น บรรพตกล่าวโทษกลุ่มผู้รักเจ้าหรือคนไม่ชอบเขา  หรือเทอดศักดิ์ล่าสุดก็โทษพวกเสื้อแดงและกลุ่มล้มเจ้าว่าจับผิดและใส่ร้ายเขา เพราะเขาปกป้องสถาบัน อันเป็นตรรกะเดียวกับคนที่ออกมาปกป้องน้องเบส อรพิมพ์

5. Slander หมายถึง การใส่ร้ายป้ายสี

ทั้งบรรพตและเทอดศักดิ์ได้ใช้ข้อมูลบิดเบือนดังกล่าวประกอบกับทฤษฏีสมคบคิดเพื่อใส่ร้ายป้ายสีคนอื่น แรงจูงใจนั้นยังคงเป็นเรื่องไม่ชัดเจนนักว่ามีใครเป็นผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง แต่ที่แน่นอนคือจะช่วยสร้างภาพให้แก่พวกเขาว่าเป็นกูรูผู้ปราดเปรื่อง เหมือนทศวรรษที่ 50 ที่วุฒิสมาชิกโจเซฟ  แม็คคาร์ธี กล่าวหาคนอเมริกันในวงการต่าง ๆ ว่า มีพฤติกรรมเป็นคอมมิวนิสต์อันส่งผลให้เขาได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงหนึ่ง พฤติกรรมทั้งหมดที่ได้กล่าวมาเป็นข้อ ๆ นี้ จะส่งผลหรือเอื้อต่อกันเป็นลูกโซ่ จนพวกเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ โดยเฉพาะเทอดศักดิ์ ซึ่งมีโอกาสในการจัดรายการต่อไป อย่างเช่น การใช้ทฤษฎีสมคบคิดจะช่วยให้การใส่ร้ายป้ายสีบุคคลที่เป็นเป้าหมายมีสีสันยิ่งขึ้น และการซื่อสัตย์ต่อข้อมูลย่อมทำให้ทฤษฎีสมคบคิดขาดพลัง ดังข้อกล่าวหาที่ว่า ปรีดี พนมยงค์ ลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ทำให้เทอดศักดิ์ต้องมองข้ามหรือบิดเบือนข้อมูลบางอย่างที่ยืนยันว่าปรีดีไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้เลย หากเขาพยามทำตัวเป็นกลางและอิงกับทฤษฎีหรือข้อมูลอื่นอย่างเป็นเหตุเป็นผล จะทำให้ปรีดีซึ่งถูกมองว่าเป็นวีรบุรุษของกลุ่มเสื้อแดงดูดีขึ้นและจะไม่มีกลุ่มนิยมเจ้ามาติดตามมากมายเหมือนเดิม

6.Devout follower แปลว่า สาวกผู้เชื่อมั่น

ในที่นี้อาจหมายถึงแฟนคลับของทั้งคู่  หากเราไม่เชื่อข้อกล่าวหาของบางกลุ่มที่ว่าพวกเขามีหน้าม้ามาช่วยสร้างภาพก็จะพบว่ามีสาวกผู้เชื่อมั่นต่อเทอดศักดิ์มากกว่าบรรพตอย่างเทียบไม่ได้ ผ่านการกดไลค์และการแสดงความเห็นเป็นเชิงปกป้องในทุกกรณี[3] แม้จะทราบหรือยอมรับว่ากูรูของเขาจะให้ข้อมูลผิด ๆ เช่น พูดแก้ต่างว่า “พูดผิดบ้างจะเป็นไรไป”  อันสะท้อนให้เห็นว่าสังคมนั้นพร้อมจะยึดติดอยู่กับความเชื่อ (faith) บางประการ โดยปราศจากการพินิจพิเคราะห์ข้อมูลประกอบอื่น ๆ  อุปมาดังการทานอาหารจานด่วนซึ่งไม่ต้องปรุงอะไรมากแต่ให้รสชาติเอร็ดอร่อย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาเพราะการศึกษาและสื่อมวลชนไทยตั้งแต่อดีตก็ยัดเหยียดข้อมูลเฉพาะบางเรื่องให้กับมวลชนเพียงด้านเดียวมานานแล้ว

อย่างไรก็ตามหากมองอีกด้าน มันเป็นความต้องการของมวลชนต่อกูรูผู้จะมายืนยันหรือตอกย้ำอุดมการณ์ที่แต่ละกลุ่มยึดมั่นอย่างสุดโต่งคนละด้าน คือ ความต้องการวิพากษ์สถาบันและลัทธิราชานิยมอย่างเหลือล้น ในขณะที่พวกเขาพบว่าไม่สามารถเชื่อมต่อได้ถนัดนักกับนักวิชาการซึ่งมีอุดมการณ์แบบเดียวกัน อันเป็นผลจากอคติต่อภาพของนักวิชาการบนหอคอยงาช้างที่ผลิตผลงานวิชาการอันแห้งแล้ง ยากจะเข้าใจ (อาจจะมีข้อยกเว้น เช่น นักวิชาการพลัดถิ่นอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งมีผู้ติดตามเป็นจำนวนไม่น้อยแต่งานของพวกเขานอกจากในเฟซบุ๊กก็เป็นวิชาการมากไป) ไม่เร้าใจเหมือนทฤษฎีสมคบคิดและการใส่ร้ายป้ายสีบุคคลที่พวกเขาเกลียดอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พวกเขาจึงแสวงหาบุคคลซึ่งเป็น “กูรู” อย่างบรรพตและเทอดศักดิ์ ซึ่งในอนาคตก็จะมีหน้าใหม่ปรากฏตัวอีกเรื่อย ๆ        

                    

 

เชิงอรรถ         

[1] ความจริงแล้วเรายังต้องรวมถึงช่องยูทูบของกลุ่มเสื้อแดงอื่นๆ ที่ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศซึ่งมีความหลากหลาย บางกลุ่มนำเสนอข้อมูลและวิเคราะห์ได้ดี แต่บางกลุ่มก็เหมือนบรรพต และมักถูกนักวิชาการบางท่านแม้อยู่อุดมการณ์เดียวกันโจมตีว่า “มโน” (imagine) หลายๆ เรื่องเกี่ยวกับชนชั้นปกครอง และบัดนี้เหตุการณ์บางอย่างก็ได้พิสูจน์ว่าเป็นการมโนไปไกลของพวกเขาจริงๆ

[2] ฝั่งเสื้อเหลืองนั้นถือได้ว่ามีจำนวนไม่มากนักในยูทูบ (หากไม่นับประเภทขาอินดี้ที่ออกมาด่าฝ่ายตรงกันข้ามอย่างหยาบคาย) สำหรับบุคคลที่เป็นต้นแบบของเทอดศักดิ์ได้แก่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งบัดนี้อยู่ในคุกไปแล้ว แต่บทความในเว็บไซต์ผู้จัดการได้สรรเสริญเขาประดุจดัง มหาตมา คานธี แม้จะเป็นคดีเกี่ยวกับเอกสารเท็จก็ตาม

[3] ทฤษฎีหน้าม้านี้คือการที่ผู้มีอำนาจบางคนให้ทุนสนับสนุนและยังอาศัยหน่วยทางไซเบอร์ของรัฐและเอกชนในการสนับสนุนนายเทอดศักดิ์เพื่อกดไลค์และการสนับสนุน เพื่อเป็นการสร้างข่าวลือโต้กลับ (Counter –Rumor) ในบางประเด็นที่สังคมไทยมีอยู่เต็มไปหมด และถูกผลิตซ้ำโดยกลุ่มที่อยู่ตรงกันข้ามกับรัฐอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามทฤษฎีนี้มีจุดอ่อนเช่นเหตุใดผู้มีอำนาจจึงจ้างให้คนอย่างเทอดศักดิ์ที่ขาดความรู้อย่างแท้จริงมารับภารกิจเช่นนี้ และยังระดมทรัพย์จากสาธารณชนด้วย แต่ก็มีคนแก้ต่างได้ว่าเพราะผู้มีอำนาจก็ไม่ได้ฉลาดแบบเดียวกับเทอดศักดิ์ เช่นขาดความรู้ทางประวัติศาสตร์เหมือนกัน หรืออีกประการหนึ่งคือพวกเขาเข้าใจดีว่ามวลชนเองก็ไม่ค่อยมีความรู้ทางประวัติศาสตร์ไปยิ่งกว่าการหลงยึดติดกับภาพพจน์ของผู้แสดงตนว่าเป็นกูรู  ส่วนการระดมทรัพย์นั้นแท้ที่จริงอาจเป็นสิ่งช่วยวัดความนิยมอย่างเป็นรูปธรรมต่อตัวรายการ หรือการทำให้แนบเนียนว่าเขาไม่ได้มีใครอยู่เบื้องหลัง กระนั้นทฤษฎีนี้ก็ถือได้ว่าเป็นทฤษฎีสมคบคิดเพราะยังไม่มีหลักฐานชัดเจน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท