Skip to main content
sharethis

ศาลสูงสุดอินเดียตัดสินให้เปิดเพลง "ชนะ คณะ มนะ" ซึ่งเป็นเพลงชาติอินเดียทุกครั้งในการฉายภาพยนตร์ พร้อมระบุว่าควรมีการบังคับใช้ให้ได้ภายใน 10 วัน ผู้ชมภาพยนตร์ต้องยืนเคารพเพลงชาติด้วย ศาลให้เหตุผลว่าผู้คนต้องเลิกทำตัวตามเสรีภาพแบบปัจเจก หันมายึดแนวทางชาตินิยมมากขึ้น

ตำรวจรัฐนาคาแลนด์บรรเลงเพลง ชนะ คณะ มนะ ระหว่างเทศกาลนกเงือก ซึ่งเป็นงานประจำปีของรัฐ (ที่มา: YouTube/WildFilmsIndia)

เพลงชาติอินเดีย ชนะ คณะ มนะ แบบมีผู้ขับร้อง (ที่มา: YouTube/Aman Kalra)

(ซ้าย)  รพินทรนาถ ฐากูร ผู้แต่งเพลง ชนะ คณะ มนะ (ขวา) ธงชาติสามสีของอินเดีย และโน๊ตเพลงชนะ คณะ มนะ (ที่มา: Wikipedia)

บีบีซีรายงานว่า ในช่วงทศวรรษที่ 1960-1970 โรงภาพยนตร์ในอินเดียมักจะมีการเปิดเพลงชาติแต่ก็เริ่มมีคนปฏิบัติตามลดลงเรื่อยๆ ในอินเดียไม่มีกฎหมายที่กำหนดชัดเจนให้ต้องเปิดเพลงชาติและใน 29 รัฐก็มีกฎหมายของตัวเองในเรื่องนี้ แต่คำสั่งล่าสุดจากศาลที่ให้มีการเปิดเพลงชาติพร้อมธงชาติอินเดียทุกครั้งก็ทำให้เกิดความคิดเห็นแบ่งเป็นสองฝ่ายหลักๆ ในโซเชียลมีเดีย

มีผู้คนแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ผ่านแฮชแท็ก #NationalAnthem ในทวิตเตอร์ เช่น ผู้ใช้รายหนึ่งระบุว่า "ผู้คนไปที่โรงภาพยนตร์เพื่อความบันเทิง ไม่ใช่เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาชาตินิยมหรือภักดีต่อชาติหรือไม่" ส่วนฝ่ายสนับสนุนอ้างว่ายืนต่อคิวซื้อตั๋วยังทำได้ ทำไมถึงยืนเคารพเพลงชาติแค่ 1-2 นาที ไม่ได้

คำสั่งในครั้งนี้มาจากการที่ ชยัม นารายัน ชุกสี อายุ 77 จากเมืองโบปาลส่งคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งเรื่องเพลงชาติ เขาให้สัมภาษณ์ต่อบีบีซีว่าเขาเห็นคนไม่เคารพเพลงชาติมาเป็นเวลาหลายปีทั้งจากคนทั่วไปและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยที่โฆษกของพรรคภารติยะ ชนตะ หรือบีเจพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลชมว่าคำสั่งศาลในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ "ยอดเยี่ยม"

แต่ก็มีผู้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กเพจของบีบีซีอินเดียในเรื่องนี้ว่าทำไมพวกเขาต้องถอยหลังลงคลองกันด้วย และเรื่องความรักชาติเป็นสิ่งที่ทำผ่านการศึกษา บ้างก็บอกว่ามันเป็นความรู้สึกวิเศษที่ได้ยืนร่วมกับทุกคน

ในเรื่องของการยืนเคารพเพลงชาตินั้นไม่มีกฎหมายระบุบังคับไว้ชัดเจนเช่นกันแต่คำสั่งของกระทรวงมหาดไทยของอินเดียที่มีอำนาจทางกฎหมายก็บังคับให้ต้องยืนเคารพเพลงชาติทุกครั้ง ในโรงภาพยนตร์ก็มีข้อความระบุให้ผู้ชมต้องยืนเคารพเพลงชาติ อยางไรก็ตามเคยมีหลายกรณีที่ชวนให้เกิดข้อถกเถียงในเรื่องการยืนเคารพเพลงชาติอินเดีย เช่น กรณีที่ชายพิการคนหนึ่งถูกทำร้ายเพราะไม่ยืนในโรงภาพยนตร์เมื่อช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา เมื่อปีที่แล้วมีคนถูกโยนออกจากโรงภาพยนตร์เพราะไม่เคารพเพลงชาติ และในปี 2014 ก็เคยมีกรณีกลุ่มอันธพาลในเมืองมุมไบทุบตีชาวแอฟริกาใต้ที่ไม่ยอมยืนเคารพเพลงชาติอินเดีย และในปีเดียวกันก็มีคนถูกฟ้องร้องข้อหาปลุกปั่นเพราะไม่ยอมยืนเคารพเพลงชาติอินเดีย

เพลง "ชนะ คณะ มนะ" หรือ "จิตใจแห่งปวงชน" เป็นชื่อของเพลงชาติแห่งสาธารณรัฐอินเดีย บทเพลงนี้เขียนขึ้นด้วยภาษาเบงกาลีสันสกฤตและประพันธ์ทำนองโดย รพินทรนาถ ฐากูร นักเขียนรางวัลโนเบลชาวเบงกาลี โดยบทที่นำมาใช้เป็นเพลงชาตินี้นำมาจากบทแรกของเพลงเดิมซึ่งเป็นเพลงสรรเสริญแบบพฺราหฺมะ ของแคว้นเบงกอล มีเนื้อหาทั้งหมด 5 บท เพลงดังกล่าวได้มีการขับร้องอย่างเป็นทางการครั้งแรกในที่ประชุมคองเกรสแห่งชาติของอินเดีย (Indian National Congress) ที่เมืองกัลกัตตา เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1911 ภายหลังเพลง "ชนะ คณะ มนะ" ได้รับการยอมรับให้ใช้เป็นเพลงชาติอินเดียอย่างเป็นทางการโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1950

 

เรียบเรียงจาก

India cinemas ordered to play national anthem, BBC, 30-11-2016 http://www.bbc.com/news/world-asia-india-38155630

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net