Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกาชี้ 'สุเทพ' แถลงข่าวปี 52 ว่าจะมีคนต่างชาติแฝงตัวชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงไปทำลายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณถนนราชดำเนิน ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปคลางแคลงสงสัยในตัวเสื้อแดง ดังนั้น 'จตุพร' ย่อมที่จะมีสิทธิโต้ตอบโดยสุจริตเพื่อป้องกันส่วนได้ของตัวเอง 

 

2 ธ.ค. 2559 คมชัดลึกออนไลน์และมติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.855/2553 ที่ สุเทพ  เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.52 จตุพร จำเลย ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า สุเทพ โจทก์เตรียมดำเนินการใส่ร้ายป้ายสีคนเสื้อแดง โดยให้คนต่างชาติ 5,000 คน แฝงตัวเข้าร่วมชุมนุมกับ นปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดง เพื่อไปทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ บริเวณ ถ.ราชดำเนิน

โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องจตุพรจำเลยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2554 เนื่องจากเห็นว่าทางนำสืบ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 ขณะนั้นซึ่งรับผิดชอบดูแลความเรียบร้อยควบคุมการชุมนุมก็ได้เบิกความว่า ทางการข่าวทราบว่ามีบุคคลต่างชาติมาร่วมชุมนุมคนเสื้อแดง ซึ่งได้พยายามควบคุม ขณะที่การสืบสวนสอบสวนพบว่าเหตุการณ์การชุมนุมบางครั้งสามารถถูกสร้างสถานการณ์ได้ทุกฝ่าย การแถลงข่าวของจำเลยจึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ของโจทก์ที่ติดตามดูแลความเรียบร้อยการชุมนุม ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นเพื่อความชอบธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ที่ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์

จากนั้น สุเทพ โจทก์ ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2556 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง

โจทก์ยื่นฎีกาต่อ โดยในวันนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวจตุพรมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า สุเทพ โจทก์ ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ดูแลความเรียบร้อยการชุมนุม ขณะที่จำเลยเป็นแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงได้จัดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งโจทก์ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงได้แถลงข่าวว่าจะมีคนต่างชาติมาร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงจึงเตือนผู้ประกอบการโรงงานต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑลกำชับห้ามไม่ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นบุคคลต่างชาติเข้าร่วมชุมนุม ซึ่งโจทก์ได้ข้อมูลมาจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติและแหล่งข่าว ข้อความดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงภาพลักษณ์ของจำเลยซึ่งเป็นแกนนำ นปช. อีกทั้งจำเลยยังเคยตั้งกระทู้ถามโจทก์ในรัฐสภาถึงเรื่องนี้ จากนั้นจำเลยจึงได้มีการแถลงข่าวตอบโต้คำพูดของโจทก์

โดยตัวจำเลยเบิกความว่า หากตัวจำเลยไม่ได้แถลงข่าวอาจจะเกิดเหตุการณ์ตามที่โจทก์อ้าง การแถลงข่าวของจำเลยเป็นการแถลงข่าวดักคอโจทก์ พยานโจทก์ที่นำมาเบิกความที่อ้างว่าได้ข่าวกรองว่าจะมีต่างชาติเข้ามาร่วมชุมนุมกับ นปช.นั้น ก็เบิกความยอมรับว่าไม่ได้เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องการวิเคราะห์หรือหาข่าว เป็นพียงผู้มีหน้าที่ให้คำปรึกษากับ ผอ.สำนักข่าวกรองทางด้านกฎหมาย และโจทก์ก็ไม่ได้นำ ผอ.สำนักข่าวกรองมานำสืบข้อเท็จเกี่ยวกับเรื่องการแฝงตัวของต่างชาติในการชุมนุมแต่อย่างใด

อีกทั้งทนายจำเลยนำพยานปาก อารีย์ ไกรนรา และ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ เบิกความสอดคล้องต้องกันว่าจะมีผู้เข้ามาก่อเหตุในพื้นที่ชุมนุม จนนำไปสู่การจับกุมตัวได้ 3 ราย และก็ไม่มีเหตุตามที่โจทก์กล่าวอ้างเกิดขึ้น ส่วนเหตุที่มีการพบวัตถุระเบิดในการชุมนุมซึ่งหลังจากการตรวจสอบพบว่าเป็นการสร้างสถานการณ์โดยใช้ระเบิดปลอม ซึ่งการสร้างสถานการณ์ดังกล่าวไม่แน่ชัดว่าเป็นฝีมือของกลุ่มใด อาจจะเป็นฝีมือของรัฐบาลหรือผู้ชุมนุมก็ได้ คำเบิกความ พล.ต.ต.วิชัยถึงเรื่องดังกล่าวจึงเป็นคำเบิกความของข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง เป็นคนกลาง ไม่มีส่วนได้เสีย ย่อมมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

ศาลยังเห็นว่าพรรคการเมืองของโจทก์และจำเลยเป็นคู่แข่งปฏิปักษ์ทางการเมืองอย่างชัดเจน การที่โจทก์แถลงข่าวผ่านทางหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ว่าจะมีคนต่างชาติแฝงตัวชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงไปทำลายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณถนนราชดำเนิน ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปที่ได้รับฟังเกิดความเสื่อมเสียและประชาชนคลางแคลงสงสัยในตัวจำเลย จำเลยย่อมที่จะมีสิทธิโต้ตอบโดยสุจริตเพื่อป้องกันส่วนได้ของตัวเอง ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยพิพากษายืน ยกฟ้อง

วืดประกันรอบ4 แม้ระบุสำนึกผิด สาบานไม่ทำผิดเงื่อนไข

ขณะที่เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจตุพร จำเลยที่ 2 ในอีกคดีคือคดีหมายเลขดำที่ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ฐานร่วมกับแกนนำ นปช.รวม24 คน คดีก่อการร้าย เดินทางมายื่นคำร้องเพื่อขอปล่อยชั่วคราวจตุพร จำเลยที่ 2 โดยเป็นการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งที่ 4 หลังศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว จตุพร จำเลยที่ 2 อ้างเหตุผลประกอบว่า ถูกคุมขังมานานกว่า 1 เดือนเศษแล้ว ได้รับความทุกข์ทรมานและคิดถึงบุตร ภรรยาเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาจำเลยรู้สึกเข็ดหลาบและสำนึกผิดที่ได้กระทำผิดเงื่อนไขของศาล หากจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวออกไป ขอสาบานด้วยความสัตย์จริงว่าจะไม่กระทำการใดๆ ที่จะผิดเงื่อนไขของศาลอีก และจะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโดยเคร่งครัด จึงขอความกรุณาจากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยอีกครั้ง

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้องของนายจตุพร

ขณะที่การยื่อนขอประกันตัวในครั้งต่อไป วิญญัติ กล่าวว่าคงประมาณ 1-2 สัปดาห์ก็จะยื่นขอปล่อยชั่วคราวอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ศาลยกคำร้องไป เนื่องจากอาจเป็นในส่วนของเรื่องเวลาความเหมาะสม แต่ส่วนตัวตนเชื่อว่าใกล้แล้วที่ศาลจะพิจารณาปล่อยชั่วคราวนายจตุพร โดยคำร้องในครั้งก่อนเราก็ให้เหตุผลว่านายจตุพรมีความสำนึกผิดและเข็ดหลาบ โดยจะให้สัตย์สาบานตนว่าจะไม่กระทำผิดเงื่อนไขของศาลอีก

 

ที่มา คมชัดลึกออนไลน์และมติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net