นักเศรษฐศาสตร์เห็นด้วยขึ้นค่าแรงตามกลุ่มจังหวัดแต่มองว่ายังน้อยเกินไป

'ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ' ระบุเห็นด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-10 บาทของไตรภาคีตามกลุ่มจังหวัด แต่มองว่าปรับน้อยเกินไป ยังไม่สะท้อนผลิตภาพแรงงานและค่าครองชีพในบางพื้นที่ เสนอใช้ระบบค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานอัตราเดียวทั่วประเทศแล้วจึงปรับเพิ่มจากฐานดังกล่าวตามปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่
 
20 พ.ย. 2559 ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ในฐานะอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึง ความพยายามของกระทรวงการคลังและกระทรวงแรงงานในการปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เพราะหากไม่ดำเนินการจะเกิดปัญหาต่อความยั่งยืนทางการเงินของกองทุนประกันสังคม ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการโดยเฉพาะสวัสดิการหลังเกษียณเพิ่มสูงอย่างก้าวกระโดดตามโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทั้งนี้ International Labour Organization (ILO) หรือองค์การแรงงานระหว่างประเทศไทยได้เคยศึกษาว่าหากรัฐบาลไทยไม่ดำเนินการแก้ไขสถานะของกองทุนภายในปี 2597 เงินกองทุนประกันสังคม จะไม่เพียงพอต่อการจ่ายให้แก่สมาชิก แต่หากแก้ไขในประเด็นใหญ่ดังกล่าวจะทำให้สถานะเงินกองทุนสามารถยืนอยู่ได้จนถึงปี 2697 
 
ดร.อนุสรณ์ ระบุว่าตนจึงขอสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมของกระทรวงการคลังและกระทรวงแรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาสถานะของเงินกองทุนเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนทางการเงิน การปรับแก้จะทำให้ “กองทุนประกันสังคม” มีเงินในการดูแลจ่ายสวัสดิการให้กับผู้ประกันตนได้เพิ่มอีก 100 ปี ตน สนับสนุนให้มีการจ่ายเงินสมทบเพิ่ม เปิดช่องให้มีการนำเงินกองทุนประกันสังคมมาลงทุนสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงขึ้น ส่วนการยืดเวลาการรับผลประโยชน์ทางด้านบำนาญ (การยืดอายุการเกษียณ) นั้นแม้นส่วนตัวจะเห็นด้วยแต่ควรทำสำรวจความเห็นผู้ประกันตนทั้งหมดก่อนหรือถามความสมัครใจก่อน
 
ดร.อนุสรณ์ ระบุว่าเท่าที่ตนมีข้อมูลแนวทางของการแก้ไขปัญหาสถานะของเงินกองทุนประกันสังคมใน 3 ประเด็นหลักคือ 1.แก้ไขอายุการเกษียณของสมาชิก จากปัจจุบันที่กองทุนประกันสังคมกำหนดอายุเกษียณที่จะทำให้สมาชิกได้รับเงินบำนาญรายเดือนไว้ที่อายุ 55 ปีจะต้องปรับเพิ่มขึ้นเป็น 60 ปี โดยเป็นการทยอยปรับขึ้น กล่าวคือ จะปรับอายุเกษียณเพิ่มขึ้น 1 ปีในทุก ๆ 5 ปี จนกระทั่งครบ 60 ปี 2. การเพิ่มเงินนำส่งเข้ากองทุน จากปัจจุบันที่สมาชิกกองทุนประกันสังคมฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง จ่ายเข้ากองทุนฝ่ายละ 5% ของเงินเดือนลูกจ้างแต่กำหนดเพดานเงินเดือนสูงสุดไว้ไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน ส่วนภาครัฐสมทบให้เงินกองทุนอีก 2.75% การปรับแก้ไขโดยการเพิ่มเงินนำส่งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างเพิ่มขึ้นเป็นฝ่ายละ 9% ของเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 2 หมื่นบาทส่วนเงินสมบทภาครัฐ อาจจะไม่ปรับเพิ่มขึ้น  และ 3. การแก้ไขกฎหมายประกันสังคมในประเด็นเรื่องการลงทุนของกองทุน ในปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้กองทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่า 60% ส่วนสินทรัพย์เสี่ยงไม่เกิน 40% 
 
ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าโดยกระบวนการปรับแก้ไขควรมีการทำประชาพิจารณ์และให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม เจ้าของกิจการนายจ้าง นักวิชาการ องค์กรแรงงาน ในปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงินในกองทุนรวมกันราว 1.4 ล้านล้านบาทแต่เงินกองทุนจะลดลงอย่างรวดเร็วมาหลายปีแล้วและมีแนวโน้มลดลงในอัตราเร่งภายใต้โครงสร้างประชากรปัจจุบันและอนาคต  กลุ่มคนในยุคเด็กเกิดมาก Baby Boom ทยอยเกษียณอายุในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะนี้สมาชิกกองทุนประกันสังคมรวมกันราว 12 ล้านคน โดย 90%ของเงินทุน เป็นเงินกองทุนเพื่อชราภาพ ควรมีการศึกษาวิจัยด้วยว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยจำนวนมากจะร่วมจ่ายเพิ่มเติมในกองทุนประกันสังคมอย่างไร เนื่องจากแรงงานต่างด้าวได้เข้ามาใช้บริการพื้นฐานของรัฐไทยมากและเป็นภาระทางการคลังของรัฐไทยสูงมากและสูงขึ้นเรื่อย ๆ 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท