หน้าที่พลเมืองต่อพระมหากษัตริย์ จากแบบเรียน พ.ศ.2493

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์

ข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ยังคงสร้างความเศร้าโศกต่อพี่น้องประชาชนชาวไทยหลายล้านคนอย่างหาที่สุดมิได้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อชาวไทยดังที่เราได้ประจักษ์และรับทราบผ่านการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

ในธรรมเนียมประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ พระราชบัลลังก์จะว่างลงมิได้ วาทะสำคัญที่เป็นธรรมเนียมมาช้านา ดังที่นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวปิดท้ายแถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ว่า “...พี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งหลาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตแล้ว  ขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใหม่ ทรงพระเจริญ” (Le Roi Est Mort, Vive Le Roi!) แม้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ยังมิได้ทรงรับราชสมบัติตามธรรมเนียมโดยทันที ด้วยยังทรงพระโทมนัสถึงพระราชชนก แต่เมื่อเวลาล่วง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จะเสวยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เมื่อทรงมีพระราชดำริเห็นสมควรเป็นแน่แท้

ช่วงนี้จะเป็นเวลาสำคัญ ที่จะให้พี่น้องประชาชนชาวไทย ได้รำลึกถึงความหมายของคำว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์” หรือ “พระมหากษัตริย์” อย่างถ่องแท้ ว่ามิได้หมายถึงพระองค์ใดพระองค์หนึ่งโดยเฉพาะ และพึงจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์อยู่เสมอ

ประวัติศาสตร์แบบเรียนไทย ยกสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญอยู่เสมอ ทั้งในแบบสอนอ่านภาษาไทย แบบเรียนสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต หรือแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์  แบบเรียนเล่มหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คือ หน้าที่พลเมือง โดยเล่มที่จะยกมากล่าวถึง คือเล่มสำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2501 ตามหลักสูตรและประมวลการสอน พ.ศ. 2493 ของกระทรวงศึกษาธิการ

ความน่าสนใจของแบบเรียนเล่มนี้ คือการสอนให้นักเรียนรู้ถึงสิทธิเสรีภาพของตน หน้าที่ของตนตามรัฐธรรมนูญ และส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยโดยการสอนความรู้และวิธีการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่นอกจากนี้ยังสอนหน้าที่ของชาวไทยต่อพระมหากษัตริย์อีกด้วย โดยแบ่งบทเรียนออกเป็นสองบทย่อย คือ 1. พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของชาติ และ 2. พระมหากษัตริย์กับการปกครองตามรัฐธรรมนูญ โดยจะยกบท พระมหากษัตริย์ และ สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย สองบทมากล่าวคู่กัน เพราะเจ้าของแบบเรียนเล่มที่อยู่ในมือนี้ได้ “วงกลม” หัวข้อทั้งสองบทไว้ที่สารบัญ พร้อมกับเขียนว่า “ออกสอบ!!!!”

พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่ควรสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดที่ละเมิดขาดความสักการะ บังอาจกล่าวติเตียนหรือฟ้องร้องต่อพระองค์ ผู้นั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย พระมหากษัตริย์ยังทรงเป็นผู้มีอุปการคุณแก่พลเมืองมาตั้งแต่สมัยก่อน ด้วยพระมหากษัตริย์ทรงพระปรีชาสามารถ มานะบากบั่น กล้าหาญอดทน นำประชาชนเข้าสู้รักษาความอิสระ และกู้ชาติด้วยพระองค์เองจนรักษาชาติไว้ได้สำเร็จ และยังทรงเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของประชาชนพลเมืองในชาติ จึงไม่ควรละเมิดต่อพระมหากษัตริย์และถ้านักเรียนรักรัฐธรรมนูญ[1]เพียงใดก็ต้องรักพระมหากษัตริย์เพียงนั้น[2]และพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทย

ในบทสิทธิเสรีภาพ สิทธิของประชาชนชาวไทยภายใต้รัฐธรรมนูญประกอบด้วยสามอย่างคือ “สมภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ” โดยให้คำอธิบายของแต่ละองค์ประกอบว่า “สมภาพ” คือความเท่าเทียมกัน โดยยกตัวอย่างของการกระทำผิดว่ามีทั้งพวกที่มีสิทธิพิเศษที่ไม่ถูกจับกุม และพวกที่ถูกจับกุมคุมขัง เมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วสิทธิพิเศษต่างๆก็เลิกร้างไปสิ้น[3]กฎหมายที่ใช้ลงโทษบุคคลหนึ่งย่อมใช้ลงโทษชาวไทยทั่วๆไปเหมือนๆกันทุกคน ฐานันดรศักดิ์เช่นพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า นายร้อย นายพัน นายพล ย่อมไม่ทำให้เกิดสิทธิพิเศษหรือได้รับการยกเว้นความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด[4] “เสรีภาพ” แบ่งเป็นเสรีภาพทางการเมือง คือให้มีสิทธิในการเรียกร้องใดๆจากรัฐบาลผ่านผู้แทนราษฎรได้ และเสรีภาพส่วนบุคคล คือให้สิทธิทำอะไรก็ได้ที่ถูกกฎหมายและไม่เดือดร้อนผู้อื่น นอกจากนี้ประชาชนยังมีเสรีภาพในการพูด เขียน พิมพ์ และโฆษณา เพราะมนุษย์มีเสรีภาพในร่างกายจึงย่อมมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นออกมาในทางต่างๆได้[5] ส่วน “ภราดรภาพ” คือประชาชนพึงตอบแทนรัฐที่ได้คุ้มครองตนมา เป็นหน้าที่ต่อประเทศชาติ[6]

ส่วนหน้าที่ของชนชาวไทยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ 3 ข้อ โดยมีข้อ 1. คือ บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยให้เหตุผลว่า โดยที่ประชาชนได้นับถือพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2493) คนไทยจึงควรพากันนิยมและเคารพสักการพระมหากษัตริย์ไว้ในฐานะสูงสุดของชาติเสมอไป โดยที่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนี้ ทำให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เป็นแบบของไทย ไม่เหมือนกันกับประเทศประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ ที่จะต้องเลือกผู้นำใหม่ตามวาระในเวลาอันจำกัดอย่างสหรัฐอเมริกา หรือฝรั่งเศส[7]

แบบเรียนหน้าที่พลเมืองนี้ แม้หยิบกลับมาอ่านอีกครั้งใน พ.ศ. 2559 ก็ยังให้ความรู้สึกไม่แตกต่าง ประชาชนยังพึงปฏิบัติต่อพระมหากษัตริย์ตามที่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และยังมีเสรีภาพกับหน้าที่ของตนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญทุกประการ

ถ้านักเรียนรักรัฐธรรมนูญเพียงใดก็ต้องรักพระมหากษัตริย์เพียงนั้น

ขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใหม่ ทรงพระเจริญ

0000

 

หมายเหตุ บางมาตราสำคัญในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในแบบเรียน

หมวดพระมหากษัตริย์

มาตรา 3 (2475)               องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

มาตรา 5 (2492)               องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

มาตรา 6 (ร่าง 2559)         องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใด                                           จะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้

 

หมวดสิทธิเสรีภาพ

มาตรา 12 (2475)          ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ฐานันดร                                                ศักดิ์โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประการอื่นใดก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิ์อย่าง                                        ใดเลย

มาตรา 27 (2492)          บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี โดยประการอื่น                                          ใดก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิ์อย่างใดเลย

มาตรา 27 (ร่าง 2559)   บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย                                              เท่าเทียมกัน

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่อง

ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้

มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ

คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม

บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้าง

ขององค์กรของรัฐย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม

 

เชิงอรรถ

[1] รัฐธรรมนูญที่กล่าวถึงน่าจะหมายถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2494 หนังสือเรียนกล่าวว่า “...ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช2495 รวมความว่า ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 5 ฉบับแล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเรียนรู้ถึงบทบัญญัติที่สำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับนี้” ดู เอื้อ บุษปะเกศ หงสกุล, 69.

[2] เอื้อ บุษปะเกศ หงสกุล, แบบเรียนหน้าที่พลเมือง สำหรับชั้นมัธยมปีที่ 1-2-3, พิมพ์ครั้งที่10 (กรุงเทพฯ:ไทยวัฒนาพานิช, 2501), 21.

[3] เรื่องเดียวกัน, 28.

[4] เรื่องเดียวกัน, 29.

[5] เรื่องเดียวกัน, 33.

[6] เรื่องเดียวกัน, 28.

[7] เรื่องเดียวกัน, 41.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท