การอ่านการเรียนรู้กับความหมายของ“ตัวตน”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ผมเพิ่งตรวจรายงานของนักศึกษาในชั้นเรียนขนาดใหญ่เสร็จ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการไม่อ่านหนังสือของนักศึกษาแล้ว“มั่ว” ทำรายงานส่งยังไม่จางหาย มันมีทั้งโมโห โกรธ หงุดหงิด ผสมปนเปกันไป แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไงครับ ก็เลยค้นงานเก่าๆ มาดูพบว่ามีอยู่ชิ้นหนึ่งพอที่จะอ่านบรรเทาอารมณ์ความรู้สึกที่จวนเจียนจะ “บ้าคลั่ง” ได้บ้าง ก็เลยขออนุญาตนำของเก่า (ไม่ได้จดเอาไว้ว่าปีไหน แต่ก็น่าจะนานพอสมควรครับ) มาดัดแปลงนะครับ

ผมพยายามจะตอบตัวเองว่า ทำไมนักศึกษาถึงไม่สนใจอ่านหนังสือ ซึ่งก็ได้เค้ารางๆ ของคำตอบดังนี้

ประการแรก การอ่านไม่สามารถแยกออกมาจากการเรียนรู้ได้ หากสังคมใดไม่สามารถสร้างความกระหายอยากจะเรียนรู้ สังคมนั้นก็ย่อมไม่มีการอ่าน เพราะไม่รู้ว่าจะอ่านไปเพื่ออะไร แม้การอ่านเพื่อความบันเทิงเอง ผู้ที่อยากจะอ่านเพื่อความบันเทิงก็กระหายที่จะเรียนรู้ทางด้านอารมณ์ความรู้สึก

ความกระหายที่จะเรียนรู้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนๆ นั้นได้เกิดคำถามหรือข้อสงสัยในกรอบคำอธิบายที่ได้รับมา ไม่ว่าจะได้รับจากครู หรือจากการสื่อสารทางใดๆ หนึ่ง ความต้องการอยากจะตอบคำถามหรือข้อสงสัยที่แรงกล้ามากเช่นนี้ (ผมใช้คำว่าความกระหาย) จะชักนำให้เกิดการอ่านเพื่อนำไปสู่การตอบคำถามนั้นๆ

ความกระหายอยากจะอ่านเพื่อการเรียนรู้ของสังคมนั้น สัมพันธ์อยู่กับเงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วย ดังที่เราจะพบว่าสถิติการอ่านของสังคมไทยไม่ได้ดีขึ้นเลย ซึ่งเป็นไปตามระบบเศรษฐกิจการขยายตัวภาคบริการพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยว

ความเปลี่ยนแปลงสังคมเศรษฐกิจไทยมาสู่ภาคบริการพื้นฐานนี้เอง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การจัดการความรู้เหลือเพียงแค่การเรียนรู้ “ทักษะ” และเป็น “ทักษะ” แบบตื้นๆ เสียด้วยซ้ำ เช่น มหาวิทยาลัยบางแห่งเปิดวิชาการท่องเที่ยว แล้วสอนเรื่องวิชาการปูที่นอน คณะที่ควรจะสอนให้เข้าใจความเป็นมนุษย์ก็หันมาสอนทางด้านภาษาเพื่อการท่องเที่ยวเป็นต้น

“ทักษะ” จำนวนมากที่สอนกันอยู่ในมหาวิทยาลัย ควรจะเป็นการเรียนรู้จากการทำงานและเจ้าของโรงงาน/บริษัท จะต้องเป็นผู้จัดสรรให้คนงานไม่ใช่หน้าที่ของมหาวิทยาลัย แต่ความเข้าใจผิดในเรื่องนี้มีมานานแล้วครับ คงจำกันได้ว่ารัฐบาล และผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ มักจะชอบออกมาขยายขี้เท่อทำนองว่า มหาวิทยาลัยต้องผลิตคนตามความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งมีความหมายชัดเจนว่าคิดได้เพียงระดับที่ว่าผลิตแรงงานที่มี “ทักษะ”ตามที่โรงงานและการผลิตภาคบริการต้องการเท่านั้นเอง

ในความเป็นจริง หากคนกลุ่มข้างต้นคิดถึงการขยับการผลิตภาคบริการให้มีความหมายทางสังคมและเศรษฐกิจ มากกว่าการขายวัฒนธรรมหรือขายลักษณะยิ้มแย้มแจ่มใสของคนไทย ก็สามารถที่จะยกระดับการผลิตภาคบริการให้ก้าวหน้ากว่านี้ แต่เพราะไม่รู้จักคิดจึงทำให้เราขายได้น้อยลงเรื่อยๆ

บริบททางสังคมเศรษฐกิจและการเดินตามตลาดของมหาวิทยาลัย ได้ทำให้ความเข้าใจว่าความรู้คืออะไรก็ลดน้อยถอยลง จนเหลือเพียงแค่การถ่ายทอด “ทักษะ” ด้านต่างๆ เท่านั้นเอง แน่นอนว่า “ทักษะ” ก็เป็นการเรียนรู้แบบหนึ่ง แต่เป็นการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการณ์ ภายใต้กรอบที่กำหนดมาให้แล้วเท่านั้น โอกาสที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความกระหายที่จะตอบตำถามหรือปัญหาก็หายไป ซึ่งจะนำมาสู่ความรู้สึกที่ว่าไม่รู้จะอ่านไปทำไม ผมถามนักศึกษาปริญญาระดับตรีที่เรียนทักษะทางด้านภาษาว่า ทำไมพวกคุณไม่อ่านหนังสือกัน คำตอบก็คือ “ไม่รู้” จริงๆ ว่า จะอ่านไปทำไม เพราะเขาคิดแค่ว่า “ทักษะ” ทางภาษาที่พวกเขารับต่อมาก็เพียงพอแล้วในการดำรงชีวิตต่อไป

ปัจจัยสำคัญที่กำหนดความไม่กระหายอยากอ่านหรืออยากเรียนรู้ ได้แก่ พลังทางวัฒนธรรมของสังคมไทย ที่ทำให้นักเรียนนักศึกษาไม่รู้สึกว่าตนเองในฐานะพลเมืองไทยมีความหมาย หรือความสำคัญอะไรต่อสังคมไทย นักศึกษาจำนวนมากมักจะกล่าวทำนองว่าจะรู้เรื่องต่างๆ ไปทำไม เพราะเขาเป็นคนตัวเล็กๆ ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไร ระบบอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ จึงทำให้ไม่เกิดความกระหายที่จะตั้งคำถามและตอบคำถามอะไร เพราะคิดไปตั้งแต่ต้นแล้วว่าไม่ว่าจะตอบคำถามอะไรได้ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ พวกเขาจึงมอบตัวเองให้แก่ระบบการขายแรงงานภาคบริการพื้นฐานอย่างยินยอมพร้อมใจ ระบบอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้กระจายไปทั่วสังคมไทยครับ

การที่นักศึกษาไม่กระหายอยากรู้ส่งผลให้ไม่ชอบอ่านหนังสือ และทำให้พวกเขาคิดถึง “ตัวตน” ของเขาอย่างไร้ความสัมพันธ์กับสังคม ไม่ต้องแปลกใจว่านักศึกษาได้กลายเป็น “อณู” ที่ล่องลอยไปตามสายลมเท่านั้น

ผมคิดว่าหากเราสามารถเปลี่ยนความเข้าใจของสังคมในเรื่องการเรียนรู้ และเปลี่ยนเป้าหมายของการเรียนรู้ให้มากไปกว่าการเข้าทำงานในภาคบริการขั้นพื้นฐาน โดยเน้นให้นักศึกษาคิดและเข้าใจได้ว่าพวกเขาสามารถทำอะไรได้อีกมากมายแม้ว่าจะเป็นเพียง “คนตัวเล็กตัวน้อย” ในวันนี้ นักศึกษาก็น่าจะ “กระหาย” ที่จะอ่านและเรียนรู้มากยิ่งขึ้น

การอ่านและการเรียนรู้จึงเป็นเรื่องของการสร้างความหมายของ “ตัวตน” ของนักศึกษาให้มีค่ามากกว่าเป็น “อณู” เฉกเช่นในปัจจุบัน

ก็บ่นบ้าไปตามประสาครูแก่ๆ เพราะหมดปัญญาไปกระตุ้นอะไรให้นักศึกษาอ่านเรียนรู้และเปลี่ยนความหมาย “ตัวตน” แล้วครับ

0000

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน bangkokbiznews.com

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท