Skip to main content
sharethis

สนช.ประชุมแถลงปิดคดีถอดถอน อดีต ส.ส. เพื่อไทย สุภา ชี้ นริศร ให้เหตุผลเรื่องเสียบบัตรหลายใบฟังไม่ขึ้น ด้าน อุดมเดช ระบุไม่ได้สลับร่างแก้ไข รธน. แค่แก้ไขให้ตรงตามเจตนารมณ์ผู้ร่าง ป.ป.ช. แถลงปิดสำนวน วอน สนช. ให้ความเป็นธรรมกับแผ่นดิน

3 พ.ย. 2559 การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม พิจารณาเรื่องด่วนเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนนริศร ทองธิราช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ออกจากตำแหน่ง กรณีใช้บัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนแทนบุคคลอื่นในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญปี 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในขั้นรับฟังคำแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และนริศร ทองธิราช ผู้ถูกกล่าวหา

สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.แถลงปิดสำนวนว่า การนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์มาแสดงตนและลงมติแทนบุคคลอื่นถือเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ส่งผลให้การออกเสียงลงคะแนนเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ดังกล่าว ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง พร้อมเผยว่า ได้ส่งคลิปที่นริศรโต้แย้งว่ามีการตัดต่อไปพิสูจน์หลักฐานแล้วพบว่า คลิปดังกล่าวไม่มีการตัดต่อ และข้อโต้แย้งที่ว่ามีบัตรหลายใบนั้น เจ้าหน้าที่ยืนยัน ไม่เคยออกบัตรสำรองให้ ส่วนคำพุดที่ว่า เคยผ่าตัดลิ้นหัวใจรั่วจึงเกิดผลข้างเคียงที่ทำให้เป็นคนอยู่เฉยไม่ได้นั้น รับฟังไม่ได้

ด้านนริศร ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมยืนยันว่า มีบัตรประจำตัวสมาชิก 2 ใบ และไม่ได้กดบัตรแทนผู้อื่น โดยไม่ได้ขอเพิ่มจากเจ้าหน้าที่ และมองว่าการดำเนินคดีดังกล่าว เป็นประเด็นการเมืองที่ต้องการลดความสำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติลง แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ สนช.ว่าจะถอดถอนตนหรือไม่ ซึ่งต้องคำนึงด้วยว่าต้องไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียต่อรัฐสภา

“ผมทำอย่างนี้เป็นประจำ แต่ไม่มีการกดบัตรแทนคนอื่นแน่นอน และที่มีการกล่าวหาว่าผมกดบัตรแทนก็ไม่ได้มีการบอกว่ากดบัตรแทนใคร ผมโดนกลั่นแกล้ง ทำไมในเมื่อสมาชิกรัฐสภามีหลายร้อยคน แต่ผมถูกจ้องถ่ายอยู่คนเดียว นอกจากนี้ก็ไม่สามารถพิสูจน์ที่มาที่ไปของคลิปได้ เท่ากับว่าพยานเอกสาร พยานวัตถุ พยานบุคคลไม่ชัดเจนเพราะพิสูจน์ไม่ได้” นริศรกล่าว

ต่อมาเป็นการพิจารณาในกรณีของอุดมเดช รัตนเสถียร  โดย สุภา อ่านคำแถลงปิดคดีว่า จากการไต่สวนพบว่าอุดมเดช เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยมีอำนาจเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้พบว่าการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอประธานรัฐสภาตอนแรกกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภามีเนื้อหาไม่ตรงกัน โดยร่างรัฐธรรมนูญที่นำมาเสนอแก้ไขในภายหลังมีที่มานั้นมีการแก้ไขให้ ส.ว.ที่ดำรงตำแหน่งขณะนั้นสามารถลงสมัครเลือกตั้ง ส.ว.อีกวาระได้โดยไม่ต้องเว้นวรรค อีกทั้งการแก้ไขและการเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภาเป็นการดำเนินการโดยมิชอบ เป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลอม เพราะไม่มีการลงชื่อรับรองของสมาชิกรัฐสภา จึงทำให้ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอเข้ามารัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 291

สุภากล่าวว่า เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าที่ประชุมรัฐสภาได้พิจารณารับหลักการร่างรัฐธรรมนูญในฉบับที่มีการแก้ไขให้ ส.ว.ลงสมัคร ส.ว.อีกได้นั้น ปรากฏว่าไม่มีสมาชิกรัฐสภาร่วมลงนามเสนอญัตติใหม่แต่อย่างใด มีผลเท่ากับว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภารับหลักการนั้นเป็นไปโดยมิชอบ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันเด็ดขาดทุกองค์กร

“นายอุดมเดชมีการแก้ข้อกล่าวหาว่าการแก้ไขเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนประธานรัฐสภาสั่งบรรจุระเบียบวาระสามารถทำได้เพราะมีธรรมเนียมปฏิบัตินั้น ป.ป.ช.มีความเห็นว่า เป็นการแก้ไขในทางที่ไม่ถูกต้อง เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศมีการกำหนดหมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ชัดเจน ดังนั้น การกล่าวอ้างว่าสามารถแก้ไขเนื้อหาในกฎหมายก่อนประธานรัฐสภาสั่งบรรจุได้จึงไม่สามารถทำได้ เช่นเดียวกับการอ้างธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายย่อมไม่สามารถกระทำได้เช่นกัน ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยมาแล้ว” สุภากล่าว

สุภากล่าวว่า ประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 รัชกาลที่ 7 มีพระราชหัตถเลขาว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” แต่ปรากฏว่าการกกระทำที่ผ่านมาเป็นเหมือนกับรัฐสภาผูกขาดและไม่เคารพประชาชน 70 ล้านคน

“รัฐธรรมนูญถือเป็นจิตวิญญาณของประเทศไทย เพื่อบริหารแผ่นดินแม่ของเรา ดิฉันเชื่อมั่นใน สนช.ที่ถูกคัดเลือกมาให้ปฏิรูปประเทศ ทุกคนมีคุณวุฒิ รู้ดีรู้ชั่ว สามารถตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องได้ ในสังคมไทยมีระบบอาวุโสและมีการช่วยเหลือกันซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของคนไทย แต่ขอรบกวน สนช.ว่าต้องให้ความเป็นธรรมแก่แผ่นดิน ว่าเรื่องใดที่เป็นส่วนตัวจะนำมาพิจารณาไม่ได้ เสียงของ สนช.จะมีผลต่ออนาคตต่อประเทศไทยมากๆ เสียงของ สนช.มีคุณภาพทุกคน” สุภากล่าว

ขณะที่อุดมเดชกล่าวโต้แย้ง ป.ป.ช. ว่าที่ผ่านมา ป.ป.ช. ไม่ได้ไต่สวนพยานตามที่ตนเองได้ขอไปครบทุกคน ทั้งนี้ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐสภาระดับสูงได้ความว่าการแก้ไขปรับปรุงสามารถกระทำได้ จึงเป็นที่ยุติการกระทำของตนเองไม่ผิดกกฎหมาย ซึ่ง ป.ป.ช. ควรรับฟังและให้น้ำหนักพยานในส่วนนี้

“ตามหลักการในการรับฟังพยานนั้นสมาชิก สนช.สามารถดำเนินการสอบถามกับเจ้าหน้าที่รัฐสภาได้ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่แม่นยำมากขึ้นว่าการกระทำของผมถูกต้องหรือไม่ ส่วนปัญหาข้อกฎหมายนั้นขอยืนยันต่อ สนช.ว่าในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการกล่าวหาเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลอมและสับเปลี่ยนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ คนทั่วไปอาจเข้าใจสับสนได้ ขอยืนยันว่า กระบวนการทั้งหมดเป็นการแก้ไขปรับปรุง หลังจากพบว่ามีความบกพร่องไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” อุดมเดชกล่าว

อุดมเดชกล่าวว่า นอกจากนี้ ไม่ได้ดำเนินการโดยพลการ แต่ได้มอบให้เจ้าหน้าที่ของวิปรัฐบาลไปประสานกับเจ้าหน้าที่รัฐสภา ซึ่งทุกคนเห็นตรงกันว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ จึงดำเนินการให้ ถ้าวันนั้นเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่สามารถทำได้ ตนและคณะมีวิธีทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้เสนอได้ เช่น การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ หรือ ขอแปรญัตติในวาระที่ 2 หรือแก้ไขในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการ      

“การอ้างว่าคำวินิจฉัยมีผลผูกพันกับทุกองค์กร ผมขอเรียนว่า ป.ป.ช. ได้เชิญนยบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาให้ความเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับ ป.ป.ช.หรือไม่อย่างไร โดยได้ความว่าสิ่งที่ผูกพัน คือ เฉพาะส่วนท้ายของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนประกอบอื่นๆ เป็นเหตุผลเท่านั้นไม่มีลักษณะผูกพันโดยตรง” อุดมเดชกล่าว

ทั้งนี้ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ได้นัดให้ที่ประชุม สนช.ลงมติถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ในวันที่ 4 พ.ย. โดยก่อนมีการพิจารณา พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิก สนช.กล่าวว่า อยากให้สมาชิก สนช.เข้ามาฟังการแถลงปิดคดี เพื่อนำไปสู่การใช้ดุลพินิจอย่างถูกต้องก่อนการการตัดสินใจ อีกทั้งการถอดถอนครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะมีการดำเนินการกันในสภา เนื่องจากอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่ได้เป็นอำนาจของสภาอีกต่อไป

เรียบเรียงจาก : เว็บข่าวรัฐสภา , ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net