ข้าวโพดระบายไม่ออก-ข้าวราคาตก-รายได้เอสซีจีลด3%-ยางวูบล้านตันราคาขึ้นยกแผง

27 ต.ค. 2559 วิรัตน์ บุญคุณ นายกสมาคมผู้ปลูกข้าวโพดและพืชไร่ จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์ข้าวโพดในขณะนี้ทำให้พ่อค้าพืชไร่ในท้องถิ่นจำเป็นต้องชะลอการรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร เนื่องจากยังไม่สามารถระบายข้าวโพดในโกดังออกไปได้ เพราะทางกลุ่มโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ไม่ยอมรับซื้อหรือหากรับซื้อก็จำกัดปริมาณ เนื่องจากยังมีข้าวสาลีที่นำเข้าใช้ทดแทนอย่างเหลือเฟือ และอีกประเด็นก็คือทางพ่อค้าในท้องถิ่นเริ่มหมดทุน นอกจากนี้รถรับจ้างขนส่งข้าวโพดต่างหนีไปรับจ้างบรรทุกข้าว เพราะรับจ้างขนส่งข้าวโพดไม่คุ้มค่าต้องใช้เวลาหลายวันจึงจะลงข้าวโพดได้

“ตอนนี้พ่อค้าในท้องถิ่นมีข้าวโพดตกค้างกันเพียบ จนบางรายหมดศักยภาพจำเป็นต้องหยุดหรือชะลอการรับซื้อข้าวโพดในมือเกษตรกร และหาทางระบายข้าวโพดไปยังผู้ส่งออกซึ่งต้องขายในราคาถูก ฉะนั้นเมื่อพ่อค้าขายถูกก็จำเป็นต้องรับซื้อในราคาถูก สุดท้ายผลกระทบก็ต้องมาตกอยู่ที่เกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”นายวิรัตน์กล่าว

ขณะที่ วิเชียร กิติทัศนาสรชัย ที่ปรึกษากลุ่มเกษตรกรชาวไร่ข้าวโพดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า การที่บริษัทยักษ์ใหญ่ประกาศเปิดจุดรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยตรงจากเกษตรกร 15 จุดทั่วประะทศ ถือเป็นเรื่องที่ดีหากไม่ใช่แค่การสร้างภาพหรือเพียงต้องการลบล้างข้อกล่าวหาจากสังคมเรื่องการนำเข้าสาลีมากเกินไป จนมีผลกระทบต่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศซึ่งตกต่ำมากที่สุดในรอบ 10 ปี หากต้องการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ข้าวโพดราว 40 จังหวัดที่เป็นแหล่งเพาะปลูกอย่างจริงใจ ก็ควรเพิ่มจุดรับซื้อให้มากกว่านี้และไม่ควรจำกัดปริมาณรับซื้ออีกด้วย

พาณิชย์นัดถกโรงสีแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ

วันเดียวกัน สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะให้สมาคมโรงสีข้าวไทยพบปะในฐานะที่ได้เข้ามากำกับดูแลกรมการค้าภายในและจะมีการสอบถามประเมินสถานการณ์ภาพรวมผลผลิตข้าวเปลือกแต่ละพื้นที่ที่คาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าจะมีปริมาณค่อนข้างมาก ซึ่งเกรงว่าจะทำให้ราคาข้าวเปลือกโดยรวมลดลง ดังนั้น การหารือครั้งนี้ทางกระทรวงพาณิชย์จะขอความร่วมมือจากสมาคมโรงสีข้าวไทยให้ช่วยกันหาแนวทางที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้ขายข้าวเปลือกมีราคาไม่ต่ำลงไปมาก และคาดว่าน่าจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะทางโรงสีทั่วประเทศมีแนวทางที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่อยู่แล้ว
 
ทั้งนี้ จากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรบางพื้นที่ว่าขายข้าวเปลือกไม่ได้ราคาดีในช่วงนี้ เท่าที่มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ส่วนใหญ่พื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเกษตรกรจะเร่งเก็บเกี่ยวข้าว เพราะเกรงปัญหาข้าวจะเน่าเสียทั้งหมด จึงจำยอมเก็บเกี่ยวข้าวในนา ซึ่งมีความชื้นสูงเกินกว่า 30% ทำให้ราคารับซื้อจากทางโรงสีจะเหลือเพียง 5,000-6,000 บาทต่อตันเท่านั้น  แต่หากเป็นข้าวเปลือกที่มีความชื้น 15-20% ราคารับซื้อจะเฉลี่ยอยู่ที่ 7,000-8,000 บาทต่อตัน และเป็นราคาตลาดขณะนี้ ดังนั้น จากมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือชาวนาและมาตรการช่วยเหลือโรงสีที่เข้าร่วมโครงการพยุงราคาข้าวเปลือกตามมติคณะรัฐมนตรีก่อนหน้านี้จะเป็นมาตรการที่จะช่วนเหลือลดผลกระทบจากปริมาณข้าวเปลือกในฤดูกาลใหม่ที่จะมีปริมาณออกสู่ตลาดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
 
อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2559/2560  มีหลายโครงการ เช่น มาตรการช่วงฤดูกาลเพาะปลูก  โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดีปี 2559/2560 วงเงินงบประมาณ 206 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการเดือนมีนาคม-ธันวาคม 2559 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้เกษตรกรในแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิ 23 จังหวัด 64,000 ครัวเรือน พื้นที่ 640,000 ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 125 กิโลกรัม
 
โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบนาแปลงใหญ่ปี 2559/2560 วงเงิน 74.55 ล้านบาท ดำเนินการเดือนพฤษภาคม 2559 – มกราคม 2560 โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ด้วยการลดดอกเบี้ยให้สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน 426 กลุ่ม กลุ่มละ 5 ล้านบาท กลุ่มชาวนารับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3.5 โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายปลูกข้าว วงเงิน 1,440 ล้านบาท ดำเนินการโดย ธ.ก.ส. ด้วยการลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรที่มีเงินกู้เพื่อการผลิตข้าวกับ ธ.ก.ส. ช่วงวันที่ 1 มกราคม -31 ธันวาคม 2559 ลดดอกเบี้ยร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 6 เดือน เป้าหมายเกษตรกร 1.2 ล้านราย นอกจากนี้ ในช่วงผลผลิตข้าวใหม่ออกสู่ตลาดจะมีมาตรการเพื่อดูดซับผลผลิตข้าวออกจากตลาดชั่วคราวปริมาณรวม 12.5 ล้านตัน พยุงไม่ให้ราคาข้าวตกต่ำ ด้วยโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสตอก วงเงิน 940 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการเดือนตุลาคม 2559-30 กันยายน 2560 โดยกระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูดซับข้าวปริมาณเป้าหมาย 8 ล้านตัน ด้วยการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสตอกอัตราร้อยละ 3 มีการรับซื้อระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559-31 มีนาคม 2560 ให้เก็บสตอกเป็นระยะเวลา 2-6 เดือน
 

ยางวูบล้านตันราคาขึ้นยกแผง 

ขณะที่ วีระศักดิ์ สินธุวงศ์ ประชาสัมพันธ์สภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยว่า ผลจากปรากฏการณ์เอลนิโญแล้งจัดหลายเดือน และหลังจากนั้นก็มาเจอภาวะลานิญาฝนตก จะทำให้ปริมาณยางพาราของไทยในปี 2559 ลดลงเหลือประมาณ 3 ล้านตันเท่านั้น จากเดิมมีผลผลิตอยู่ที่ 4.5 ล้านตัน หรือปริมาณหายไปจากตลาดโลกกว่า 1 ล้านตัน แนวโน้มจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด 
 
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ราคายางก้อนถ้วย ซึ่งเป็นผลผลิตทางภาคเหนือและภาคอีสาน ทะยานขึ้นมาอยู่ที่ราคา 29-30 บาท/กิโลกรัม จากเดิมประมาณ 24-25 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ภาคใต้ราคาจำหน่ายน้ำยางสดเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 53-54 บาท/กิโลกรัม
 
อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิตยางพาราขนาดใหญ่ได้เตรียมใช้ระบบสับเปลี่ยนโควตา หากไม่สามารถหาซื้อยางไทยได้ก็จะหันไปใช้ยางจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีผลผลิตมากมาทดแทน
 
นอกจากนั้น บริษัทยางยังมีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ ลาว เมียนมา และมีแผนควบคุมราคายางไม่ให้เคลื่อนไหวสูงขึ้นมากเกินไป โดยการสั่งเครือข่ายที่เป็นยี่ปั๊วในพื้นที่สวนยางทั่วประเทศซื้อยางสะสมไว้ก่อน จำนวนลอตละอย่างน้อย 100,000 ตัน และเมื่อกว้านซื้อจนครบจำนวนแล้วค่อยตั้งราคารอบใหม่ หากราคายางพารามีการขยับสูงขึ้นมากเกินไปในตลาดซื้อขายล่วงหน้าก็จะใช้กลยุทธ์ทุบราคา เช่น สร้างกระแสข่าวการใช้น้ำกรดยาง ทำให้ยางไม่มีคุณภาพ และหาสิ่งอื่น ๆ มาเป็นวัตถุดิบทดแทนยาง เป็นต้น
 

ผลประกอบการ 9 เดือนแรกปูนซีเมนต์ไทลด 3% กำลังซื้อในปท.ลดลง

วานนี้ (26 ต.ค.59) รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี เปิดเผยว่า ผลประกอบการช่วง 9 เดือนแรกของปี 59 เอสซีจี มีรายได้รวม 323, 829 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศชะลอตัว รวมทั้งราคาเคมีภัณฑ์ลดลลงตามราคาตลาดโลก จึงมีกำไร 43,606 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังผลประกอบการไตรมาส 3 มีรายได้จากการขาย 104,957 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 ปัจจุบันมีทรัพย์สินรวม 528,395 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามต้นทุนราคาวัตถุดิบที่ลดลง และเป็นช่วงวัฏจักรขาขึ้นของธุรกิจ ส่วนตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศยังไม่ฟื้นตัว และคาดว่าทั้งปีจะติดลบ 2-3% เนื่องจากความต้องการในประเทศลดลง และปีนี้ฝนมีปริมาณมากกว่าปกติ ทำให้โครงการลงทุนภาครัฐยังอยู่ในระหว่างดำเนินการและมีความล่าช้าไปบ้าง นอกจากนี้ประชาชนยังอยู่ในช่วงโศกเศร้าจึงทำให้การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวตาม ทั้งนี้ ธุรกิจปูนซีเมนต์ ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ในภูมิภาคอาเซียน ตามความต้องการใช้และการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง
 
ด้าน ของงบลงทุนปี 2559 และปี 2560 บริษัทได้ตั้งเป้าการลงทุนปีละประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท แต่ในช่วง 9 เดือน ที่ผ่านมาบริษัทได้สามารถลงทุนได้เพียง 25,000-26,000 ล้านบาท เนื่องจากมีหลายโครงการที่ล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ทำให้การลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าบริษัทจึงปรับการลงทุนโดยเลื่อนการลงทุนที่เหลือไปในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนในปี 2560 ของบริษัทอยู่ที่กว่า 50,000 ล้านบาท

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย ประชาชาติธิรกิจออนไลน์ มติชนออนไลน์ และสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท