Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ภาพฮิลลารี คลินต้น โดย Hillary for IowaCC BY 2.0Link
ภาพโดนัลด์ ทรัมป์ โดย Gage Skidmore, CC BY-SA 3.0Link  

พลันที่โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาโยนระเบิดลงกลางวงด้วยคำกล่าวที่ว่า “the election was going to be rigged”และ “There’s a lot of dirty pool played at the election” ซึ่งถอดความไปภาษาไทยได้ว่า การเลือกตั้งกำลังจะมีการโกงเกิดขึ้นและมีการใช้วิธีการสกปรกมากมาย อีกทั้งในการปราศรัยหลังการดีเบตรอบ 3 ว่าตนเองจะยอมรับผลการเลือกตั้งก็ต่อเมื่อตนชนะเท่านั้น เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ตามมาอย่างอื้ออึง และมีคำถามเกิดขึ้นตามมาอย่างมากมายว่าแท้จริงแล้วการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกานั้นมีการโกงหรือไม่ อย่างไร

ในเรื่องนี้ ชมรมนักข่าว “News21” ได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่าในจำนวน 2,068 กรณีใน 50 รัฐที่คิดว่าอาจจะมีการโกงการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2000 (2543) จนถึงปี 2012 (2555) นั้น โดยเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ไปลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง (ซึ่งต่างจากไทยเราที่ กกต. โดยกรมการปกครองจัดพิมพ์บัญชีรายชื่อให้โดยอัตโนมัติ แต่ของอเมริกาต้องไปลงทะเบียนก่อน) จำนวน 146 ล้านคนแล้วพบว่ามีเพียง 10 รายเท่านั้นที่เป็นการใช้สิทธิโดยการปลอมตัว (voter impersonation) เนื่องจากบางรัฐไม่ได้กำหนดให้ผู้ใช้สิทธิต้องใช้บัตรประจำตัวแสดงตนก็ได้ เพราะคนอเมริกันไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนน่ะครับ บางรัฐใช้ใบเสร็จค่าไฟฟ้า หรือค่าน้ำประปา ฯลฯ เป็นการยืนยันตัวตนก็ได้แล้ว แต่บางรัฐก็กำหนดให้ใช้บัตรอื่นใดที่มีรูปภาพแสดงตน เช่น ใบขับขี่ เป็นต้น

Jenifer Clark จาก Brenen Center กล่าวต่อ News21 ว่าการทุจริตการเลือกตั้งไม่ใช่ปัญหาที่มีนัยสำคัญของประเทศและไม่ใช่สิ่งสำคัญที่ต้องกังวล (It is not a significant concern) ส่วน Professor Minnite ซึ่งเป็นผู้ศึกษาเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งโดยผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง (voter fraud) มาถึง 15 ปี บอกว่าที่ทรัมป์กลัวว่าจะมีการใช้สิทธิเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำอีกในวันเลือกตั้งซึ่งเป็นการขโมยสิทธิของผู้เลือกตั้งอื่นนั้นยากเทียบเท่ากับการที่โจรจะ “ล้วงกระเป๋าสตางค์ของตำรวจ (pickpocketing a cop)” เลยทีเดียว

ที่มลรัฐอริโซนามี 13 กรณีที่ถูกสอบสวนว่าใช้สิทธิซ้ำซ้อน (double voting) มีรายหนึ่งคือนาง Mesa อายุ 71 ปีที่ถูกตัดสินในปี 2015 (2558) ว่าใช้สิทธิทั้งที่มิชิแกนและอริโซนา ส่วน Carol Hannah ก็ถูกกล่าวหาว่าใช้สิทธิ 2 ที่เช่นกันคือที่อริโซนาและโคโลราโด ซึ่งเธอได้ต่อสู้ว่ากรณีของเธอทั้งสองนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องเชื้อชาติ (local races) และไม่ได้มีส่วนในการใช้สิทธิเลือกตั้งซ้ำซ้อนแต่อย่างใด ต่อมา ศาลอุทธรณ์ (appeals court) ได้กลับคำตัดสินและให้จำหน่ายคดี ซึ่งทั้งสองคดีนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีการที่จะต้องแสดงหลักฐานบัตรประจำตัวแต่อย่างใด

ในปี 2014 (2557) นาง Verna Roehm อายุ 77 ปี จากแวกซ์ฮาว นอร์ทแคโรไลนา ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานใช้สิทธิเลือกตั้งซ้ำกันสองครั้ง โดยครั้งแรกใช้สิทธิในหน่วยเลือกตั้ง ส่วนครั้งที่สองเป็นการใช้สิทธิแทนผู้ที่ไม่อยู่ในวันเลือกตั้ง (absentee ballot) ในนามของสามีเธอผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งเธอให้การต่อพนักงานอัยการว่าเธอทำเพื่อเติมเต็มความต้องการของสามีเธอที่ตายไปแล้วที่ต้องการเลือกมิตต์ รอมนีย์ ในเดือนพฤศจิกายน 2012 (2555)

ฉะนั้น เราไม่สามารถกล่าวได้ว่าไม่มีการโกงการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาเลย (That’s not to say fraud doesn’t happen at all.) แต่สามารถกล่าวได้ว่าการโกงการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกานั้นมีน้อยมากและไม่มีนัยสำคัญที่กระทบต่อผลการเลือกตั้งแต่อย่างใด

แต่สิ่งที่น่ากลัวที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2016 (2559) ที่จะถึงในไม่กี่วันนี้ก็คือหากทรัมป์แพ้การเลือกตั้ง ซึ่ง ณ ปัจจุบันโพลทั้งหลายที่ออกมาก็คือทรัมป์แพ้แน่นอน แต่จะแพ้มากหรือแพ้น้อยเท่าไหร่เท่านั้นเอง ยิ่งแพ้น้อยเท่าไหร่ยิ่งยุ่งมากขึ้นกลับกันเท่านั้น แต่หากแพ้มากอย่างยับเยินขาดลอยก็อาจจะยุ่งน้อยหน่อย ถึงอย่างไรก็คงยุ่งแน่นอน เพราะในคราวหาเสียงของทรัมป์ที่วิสคอนซิน ทรัมป์ก็ได้นำเดวิด คลาร์ก หัวหน้าตำรวจ (sheriff-ที่คนไทยชอบแปลว่านายอำเภอนั่นแหละครับ) ของมิลวอล์คกีไปช่วยหาเสียงด้วยการปลุกเร้าว่า ถึงเวลาปฏิวัติอเมริกาแล้วถ้าทรัมป์แพ้ และผมเชื่อว่านอกเหนือจากเดวิด คลาร์ก ผู้ที่เป็นหัวหน้าตำรวจมากว่า 37 ปีแล้วคงมีผู้ที่สนับสนุนทรัมป์อีกไม่น้อยที่คิดเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คนขาวผู้บ้าคลั่ง (crazy white men)” ผู้อนุรักษ์นิยมสุดกู่ที่ไม่ได้อยู่ในการสำรวจของโพลใดๆ (ซึ่งทำให้โพลเบร็กซิตของสหราชอาณาจักร์ต้องหน้าแตกมาแล้ว) จะออกมาใช้สิทธิหรือลุกฮือขึ้นภายหลังที่ผลการเลือกตั้งออกมาหรือไม่

คนอเมริกันภาคภูมิใจมากว่าประเทศตนเองเป็นต้นแบบของการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมมาโดยตลอด แต่มาบัดนี้กลับมาต้องสั่นคลอนด้วยข้อกล่าวหาว่ามีการเลือกตั้งที่สกปรกเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเลวร้ายหรือความสงบที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เป็นผลแห่งการกระทำของคนอเมริกันเองทั้งสิ้น

ความยุ่งยากที่อาจจะเกิดขึ้นส่วนหนึ่งย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาชิกพรรครีพับลิกันนั่นเองเป็นคนเลือกทรัมป์ขึ้นมาเป็นตัวแทนในการชิงชัยครั้งนี้ และฮิลลารี คลินตัน เอง เมื่อดูตามประวัติที่ผ่านมาก็ไม่ได้ดีกว่าทรัมป์เท่าไหร่นัก เพราะไม่ว่าคนอเมริกันจะเลือกใครเป็นประธานาธิบดี เงินก็ยังกระจุกอยู่ในมือของคนไม่กี่คน แต่สมาชิกพรรคเดโมแครตก็เลือกเธอขึ้นมาเป็นตัวแทนในการชิงชัยครั้งนี้เช่นกัน คนอเมริกันก็เลยต้องตัดสินใจเลือกคนที่คิดว่าชั่วร้ายน้อยกว่ากันระหว่างสองคนนี้ (Who is lesser of two evils?) หรือไม่เช่นนั้นก็เลือกผู้สมัครอิสระ (independence) ซึ่งไม่มีโอกาสได้รับเลือกอย่างแน่นอนไปเลย

จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่คนอเมริกันจะได้ผู้แทนของตนเป็นเช่นนี้ เพราะ “ประชาชนเป็นอย่างไร ตัวแทนก็เป็นอย่างนั้น” นั่นเอง

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 26 ตุลาคม 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net