Skip to main content
sharethis
เครือข่ายแรงงานโต้สุดฤทธิ์ ค้านมติค่าแรงขั้นต่ำไม่เป็นธรรม ปรับขึ้น 5 บาทจะกินอะไร/สภาองค์การนายจ้างฯ ยันปีนี้ยังแจกโบนัส/ออกกฎกระทรวงให้นายจ้างดูแลแรงงาน "ความร้อน-แสง-เสียง"/เศรษฐกิจซบคนแห่ขายประกันเพิ่มรายได้/9 เดือนแรกยอดขอตั้งโรงงานวูบ 17%/ก.แรงงานแจงปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ลูกจ้าง – นายจ้างอยู่ได้ เน้นไม่กระทบเศรษฐกิจสังคม/แรงงานร้องนายกฯ ขอขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ
 
กลุ่มพนักงานโรงแรม ดิแอสปาเซีย ภูเก็ต กว่า 60 คน เดือดร้อนหนัก เข้าร้องศูนย์ดำรงธรรมถูกเลิกจ้างกะทันหัน
 
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2559 ที่ผ่านมาที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต กลุ่มพนักงานโรงแรม ดิ แอสปาเซีย ภูเก็ต ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต จำนวน 63 คน ได้เข้าร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมภูเก็ต หลังจากเมื่อวานนี้ (18 ต.ค.) ได้รับแจ้งจากทางบริษัทเจ้าของทรัพย์สิน (The Breakers Resort & Development) ให้พนักงานทุกคนหยุดการทำงานอย่างกะทันหัน โดยอ้างว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทางโรงแรม ดิ แอสปาเซีย ภูเก็ต (The Aspasia Phuket) มีปัญหาด้านการบริหาร และไม่สามารถชำระหนี้คืนให้แก่ทางบริษัทเบรกเกอร์ ได้ ทำให้บริษัทเบรกเกอร์ต้องว่าจ้างบริษัทอื่นเข้ามาบริหารจัดการแทน
 
นายธนพงศ์ อรชร นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ ผู้ช่วยสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวภายหลังพูดคุยทำความเข้าใจต่อกลุ่มพนักงานโรงแรม ดิแอสปา เซีย ภูเก็ต ถึงแนวทางปฏิบัติต่อจากนี้ ว่า สำหรับกลุ่มพนักงานดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากทางบริษัทเจ้าของทรัพย์สินไม่ให้เข้าไปทำงาน จึงได้รวมตัวกันเดินทางมายังศูนย์ดำรงธรรมภูเก็ต เพื่อขอคำปรึกษาถึงแนวทางในการเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย ตนในฐานะที่ดูแลลูกจ้าง คือ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต ก็มาแนะนำขั้นตอนตามกฎหมายว่าจะเดินกันอย่างไร เพราะว่าการที่จะเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย ในแง่ของกฎหมายที่ชัดเจนคือ ต้องมีการเลิกจ้าง แต่ตอนนี้การเลิกจ้างยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากยังไม่มีหนังสือเลิกจ้าง หรือยังไม่มีการเลิกจ้างด้วยวาจาจากนายจ้าง
 
เมื่อการเลิกจ้างยังไม่มีความชัดเจน ประการแรก ตนก็ได้แนะนำให้เขากลับเข้าไปทำงานตามปกติ ถ้าถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปทำงานได้ให้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจภูธรกะรน ว่า ไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ ประการต่อมาคือ ให้รอครบกำหนดจ่ายค่าจ้าง คือ ภายในวันที่ 31 ต.ค.59 ถ้านายจ้างยังไม่จ่ายค่าจ้างก็จะเข้า 2 องค์ประกอบหลัก คือ ไม่ให้ทำงาน และไม่จ่ายค่าจ้าง ถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามกฎหมายแล้ว ให้ไปที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และที่ศาลแรงงานภาค 8 เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยรายได้ตามกระบวนการของกฎหมายแรงงานต่อไป
 
 
เหยื่อถุกหลอกรับงานปักแผ่นเฟรมผ่านเฟสบุ๊ค ร้องกองปราบ หลังส่งงานตามกำหนดแต่กลับถุกเบี้ยวค่าแรง
 
ผู้เสียหายกว่า 10 คน เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม หลังถูกหลอกให้จ่ายเงินค่ามัดจำรับจ้างปักแผ่นเฟรม ผ่านเฟซบุ๊คชื่อหวานใจปักเฟรม ซึ่งมีผู้หลงเชื่อกว่า 1,500 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท โดยผู้เสียหาย เล่าว่า ได้สมัครรับจ้างปักแผ่นเฟรมผ่านเฟซบุ๊ค เนื่องจากต้องการหารายได้เสริมจุนเจือครอบครัว โดยเสียค่าประกัน 650 บาท และจะได้ค่าจ้างถักแผ่นละ 3 บาท ซึ่งหนึ่งครั้งจะได้รับแผ่นเฟรมครั้งละ 50 แผ่นพร้อมไหมพรม และเข็มปัก ผ่านทางไปรษณีย์ และต้องทำงานครบ 20 ครั้งก่อนถึงจะได้เงินมัดจำคืน แต่เมื่อทำเสร็จกลับไม่ได้รับเงิน
 
นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ระบุว่า ค่ามัดจำมีจำนวนตั้งแต่ 650 – 2,500 บาท และหากผู้เสียหายจ่ายค่ามัดจำสูงขึ้น ผู้ต้องหาอ้างว่าจะได้รับเงินค่าปักสูงขึ้นถึงแผ่นละ 15 บาท ทำให้มีผู้เสียหายหลงเชื่อจำนวนมาก และในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ จะนำรายชื่อที่รวบรวมได้กว่า 2 แสนคนยื่นที่รัฐสภา เพื่อขอเพิ่มโทษกฎหมายตามพระราชบัญญัติการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน จากเดิม 3 ถึง 5 ปี เป็น 7 ถึง 14 ปี
 
ด้านพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้ พร้อมสอบปากคำผู้เสียหายทั้งหมด
 
 
เครือข่ายแรงงานโต้สุดฤทธิ์! ค้านมติค่าแรงขั้นต่ำไม่เป็นธรรม ปรับขึ้น 5 บาทจะกินอะไร
 
ตามที่คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 19 มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ในปี 2560 แบ่งค่าจ้างเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรกไม่ขึ้นค่าจ้างใน 8 จังหวัด กลุ่มที่ 2 ขึ้นค่าจ้าง 5 บาท ใน 49 จังหวัด กลุ่มที่ 3 ขึ้นค่าจ้าง 8 บาท ใน 13 จังหวัด และกลุ่มที่ 4 ขึ้นค่าจ้าง 10 บาท ใน 7 จังหวัด นั้น
 
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม นายชาลี ลอยสูง รักษาการประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงผลการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ ของคณะกรรมการค่าจ้างว่า ทาง คสรท.และพี่น้องแรงงานต่างไม่พอใจ เพราะผลที่ออกมาทำให้เสียความรู้สึก เนื่องจาก 1.มีจังหวัดที่ไม่ได้ปรับค่าจ้าง หนำซ้ำจังหวัดที่ได้ปรับสูงสุดเพียง 10 บาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน และจังหวัดที่ไม่ปรับก็หนักไปอยู่ทางภาคใต้ ความจริงไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะภาคใต้มีความเป็นอยู่ลำบาก ไม่ควรไปกดค่าจ้าง ไม่เพิ่มเลย
 
“รัฐบาลบอกว่าจะพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และจะเอาเศรษฐกิจไปลงสามจังหวัดภาคใต้ แต่กลับไม่เพิ่มค่าแรงให้คนในจังหวัด แสดงว่าจะทำให้เป็นจังหวัดที่มีค่าแรงต่ำสุดหรือไม่อย่างไร แบบนี้มองได้หลายมุม เราจึงสงสัยว่าทำไมไม่ปรับให้เท่ากันทั่วประเทศ หากจะปรับ 10 บาท ก็ควรทุกจังหวัดเท่ากันก็ยังดีกว่าปรับขึ้น 5 บาท 8 บาท 10 บาท ไม่เท่ากันแต่ละจังหวัดอีก ปรับแบบนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ค่าครองชีพ ค่ากินค่าอยู่ จะทำอะไรได้” นายชาลีกล่าว
 
นายชาลีกล่าวอีกว่า 2.น่าสังเกตว่ามีการพิจารณาหลักเกณฑ์ใหม่ 10 รายการระบุกว้างๆ แต่ไม่มีรายละเอียด ซึ่งหากเป็นไปได้ควรจะชี้แจงว่า จังหวัดที่ไม่ปรับได้คะแนนเท่าไร และเกณฑ์คืออะไร และแต่ละข้อใครเป็นผู้พิจารณา นักวิชาการคนไหน ไปเอาตัวไหนเป็นตัวตั้งในการพิจารณา ซึ่งเรื่องแบบนี้มีคนตั้งข้อสังเกตเยอะ คนก็มองเรื่องความยุติธรรมหรือไม่ 3.ในเมื่อใช้คณะอนุกรรมการจังหวัดเป็นเครื่องมือมาตั้งแต่ต้น และมีการเสนอก่อนหน้านั้นว่าควรปรับ 13 จังหวัดในอัตรา 4 บาทไปจนถึง 60 บาท แต่พอมาถึงขั้นคณะกรรมการค่าจ้างกลับไม่ได้เอาข้อเสนอจากคณะอนุกรรมการจังหวัดเลย แบบนี้จะมีไปทำไม
 
“อย่างกรณีปรับขึ้น 5 บาท หากคิดจริงๆ ผ่านมา 5 ปีเพิ่งจะมาปรับค่าจ้าง ดังนั้น เราคิดเฉลี่ยแล้วตกปีละ 1 บาทเอง ถามว่าปรับเพิ่มปีละ 1 บาท ถูกต้องหรือไม่ เครือข่ายแรงงานจะมีการหารือกัน และจะทำหนังสือร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลทบทวนเรื่องนี้ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อแรงงานทุกคน” นายชาลีกล่าว
 
 
สภาองค์การนายจ้างฯ ยันปีนี้ยังแจกโบนัส
 
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยถึงแนวโน้มการจ่ายเงินพิเศษ (โบนัส) ของห้างร้าน และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ช่วงสิ้นปี 59 ว่า ภาพรวมคาดว่า จะใกล้เคียงกับปี 58 โดยสำรวจเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการส่วนใหญ่ 70% ยังจ่ายโบนัสภาพรวมเฉลี่ย 1 เดือน ซึ่งแต่ละที่จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่แต่ละกิจการเนื่องจากผลกำไรย่อมต่างกันไป
 
"ธุรกิจปีนี้ภาพรวมหลายอุตสาหกรรมก็ยังไปได้ดีแต่บางธุรกิจที่เน้นการส่งออกแม้ว่าภาพรวมส่งออกจะติดลบแต่ในแง่ของมูลค่านั้นไม่ได้ติดลบมากนักเฉลี่ยแล้วก็ใกล้เคียงกับปีก่อน เชื่อว่าธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงจ่ายโบนัสปกติที่เคยทำมาโดยมีเพียง 30% ที่จะไม่มีการจ่ายซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา"
 
สำหรับการจ้างงานใหม่ในปี 60 คาดว่า ภาพรวมในช่วงต้นปีจะยังคงทรงตัวเพื่อรอสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกให้ชัดเจนอีกครั้ง
 
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องติดตามขณะนี้ล่าสุดตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมายของไทยนั้นปกติที่ผ่านมาเฉลี่ยจะอยู่ในระดับ 1.5 ล้านคนแต่ล่าสุดกลับอยู่ที่เพียง 1.178 ล้านคนตัวเลขที่หายไปกว่า 3 แสนกว่าคนนั้น คงต้องหาปัจจัยที่แท้จริงว่า เพราะเหตุใด เนื่องจากรัฐบาลเข้มงวดการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฏหมายตัวเลขควรจะเพิ่มขึ้น แต่การลดลง ก็อาจจะมองได้ว่าเป็นการปลดออกจากภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก โดยเฉพาะภาคการส่งออก ที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก หรือแรงงานต่างด้าวกลับประเทศ แต่ก็เชื่อว่า ไม่น่ามาก หรือเป็นผลมาจากแรงงานไม่ยอมจดทะเบียน ซึ่งต้องหาข้อเท็จจริงต่อไป
 
 
ก.แรงงาน MOU 5 องค์กรสร้างช่างไฟฟ้ามืออาชีพรองรับ พ.ร.บ.ใหม่
 
กระทรวงแรงงาน ลงนามข้อตกลงความร่วมมือของเครือข่ายรวม 5 องค์กร เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านช่างไฟฟ้า ให้มีมาตรฐานฝีมือแรงงานและส่งเสริมให้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ (License) ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับ 2)
 
พลเอกเจริญ นพสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยการพัฒนาบุคลากรด้านช่างไฟฟ้า โดยกระทรวงแรงงานร่วมกับเครือข่าย 5 องค์กร ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สภาวิศวกร และสมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย ในการพัฒนาบุคลากรช่างไฟฟ้าภายในอาคารและส่งเสริมให้มีหนังสือการรับรองความรู้ความสามารถรองรับการเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน วันนี้ (20 ตุลาคม 2559) ณ ห้องประชุม ปกรณ์ อังศุสิงห์ อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า “สืบเนื่องจากกระทรวงแรงงานได้มีการประกาศกำหนดสาขาอาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นสาขาอาชีพแรกที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสาธารณะ จะต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ (License) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ใน วันที่ 26 ตุลาคม 2559 นั้น เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและความมั่นใจในการทำงาน จึงได้ร่วมมือกับเครือข่าย 5 องค์กร เพื่อลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยการพัฒนาบุคลากรด้านช่างไฟฟ้า โดยมีแนวทางความร่วมมือ ดังนี้ 1.) การใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาช่างไฟฟ้าและสาขาอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 2.) กระทรวงแรงงานร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย และสภาวิศวกร ในการผลักดันให้เป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร และศูนย์ประมินความรู้ความสามารถในสาขาดังกล่าว 3.) กระทรวงแรงงานร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง ในการผลักดันให้เป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร รองรับการทดสอบให้แก่ช่างไฟฟ้า เพื่อนำไปสู่การเข้ารับการประเมินรับรองความรู้ความสามารถ 4.) กระทรวงแรงงานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดฝึกอบรมให้แก่พนักงานของการไฟฟ้าในหลักสูตรสาขาผู้ปฏิบัติงานใต้น้ำ ระยะเวลาการฝึก 217 ชั่วโมง ทั้งสองหน่วยงานจะประสานงานแผนการฝึกในระดับพื้นที่ต่อไป
 
โดยความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ใน 8 วาระเร่งด่วนของกระทรวงแรงงาน เรื่อง การสร้างความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัย (Safety Thailand) และนโยบายเรื่องการพัฒนาคนโดยมาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นกลไกลในการขับเคลื่อน อีกทั้ง ยังเป็นไปตามแนวทางประชารัฐของรัฐบาล ที่นอกจากจะสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่กำลังแรงงานและครอบครัวแล้ว ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมและทดสอบดังกล่าว สามารถสร้างงานที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยให้แก่สังคมและชุมชนด้วย”
 
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้รับเกียรติจากผู้บริหารจาก 5 องค์กรที่ร่วมลงนามความร่วมมือดังกล่าว ประกอบด้วย นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง นายวรพจน์ มานะพันธุ์พงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริการทำการแทนผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร และนายสุจิ คอประเสริฐศักดิ์ นายกสมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย
 
 
เอวอนประกาศยุติธุรกิจในไทย
 
ถือเป็นข่าวช็อกวงการขายตรงไทยรายล่าสุดเมื่อ บริษัท เอวอน คอสเมติกส์ (ประเทศ ไทย) จำกัด ประกาศยุติการดำเนินธุรกิจในไทย ในเดือนธันวาคม 2559 นี้ เริ่มเคลียร์พนักงานต้น พ.ย.นี้ ก่อนหน้านี้ถอนตัวและขายทิ้งกิจการในหลายประเทศ
 
ภายหลังจากเอวอน โปรดักส์ อิงค์ บริษัทแม่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจที่จะปิดกิจการในไทย ผู้บริหารจึงส่งสัญญาณให้กับพนักงานสาระสำคัญ เกี่ยวกับเอวอน ประเทศไทยผ่านเว็บไซต์ เนื่องจากเป็นหนึ่งในช่องทางที่สาวเอวอนเข้ามาสั่งซื้อสินค้า รวมถึงการส่ง SMS ผ่านโทรศัพท์มือถือให้สาวเอวอน ได้รับทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ใจความสำคัญของประกาศดังกล่าว
 
"เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างของทั่วโลก ซึ่งมีการดำเนินขั้นตอนในเชิง กลยุทธ์เพื่อนำพาให้เอวอนกลับมาเติบโตโดยสามารถทำกำไรได้ในระยะยาว เอวอนได้ตัดสินใจออกจากตลาดประเทศไทยปลายปี 2559"
 
"การตัดสินใจนี้เกิดขึ้นภายหลังจากการทบทวนธุรกิจในประเทศไทยอย่างละเอียด ถึงแม้ว่าทีมงานจะทำงานหนักและใช้ความพยายามอย่างมากแต่เอวอน ประเทศไทยก็ยังประสบปัญหาและสภาวะไม่มีผลกำไรมาหลายปี การปิดธุรกิจครั้งนี้จะช่วยให้เอวอนมุ่งทรัพยากรไปในตลาดหลักในเอเชียแปซิฟิกและตลาดหลักทั่วโลกของเอวอน"
 
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังนางศุภราภรณ์ เอสซีเปา กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอวอนฯ ได้แจ้งให้ สมาชิกกว่า 30,000 คนและพนักงานเอวอนได้ รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้วว่า บริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกาได้ตัดสินใจปรับโครงสร้างธุรกิจโดยรวมเพื่อให้กลับมา เติบโตและทำกำไรในระยะยาว จึงตัดสินใจถอนตัว จากตลาดขายตรงเมืองไทยในเดือนธันวาคมนี้ โดยเป็นการยุติการทำตลาดเฉพาะในไทยประเทศเดียว แต่ยังคงทำตลาดเอเชียในประเทศอื่นๆ เช่นเดิม เช่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ จีน ไต้หวัน นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย
 
โดยสาเหตุสำคัญที่ต้องมีการตัดสินใจดังกล่าว เนื่องจากตลาดขายตรงเมืองไทยมีการแข่งขันที่รุนแรง แม้บริษัทจะมีการปรับตัวถึงขนาดที่มีการใช้แผนการจ่ายผลตอบแทนแบบหลายชั้นเข้ามาช่วย เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น ทำให้ผลประกอบการ 5 ปีหลังมานี้ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
 
ขณะที่การปลดพนักงานจะทยอยเริ่มเดือน พ.ย. ราว 80% ของจำนวนทั้งหมด 200 คน โดยพนักงานได้รับเงินชดเชย ตามกฎหมายแรงงานและระยะเวลาทำงานเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 10 เดือน ซึ่งได้ส่งหนังสือให้กับนักธุรกิจและสมาชิกของเอวอน 3 หมื่นคน รับทราบ มั่นใจว่าการถอนตัวในไทยจะผลักดันให้ธุรกิจเอเชียและตลาดหลักทั่วโลกเอวอน ยังเติบโตได้ดี เอวอนเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน เข้ามาเปิดธุรกิจขายตรงรายแรกในไทยเมื่อปี 2521 หรือ 38 ปีที่แล้ว ธุรกิจหลักมาจากกลุ่มเครื่องสำอางสัดส่วน ร้อยละ 90 โดยเอวอนเคยทำรายได้ในไทยสูงสุดระดับหลักพันล้านบาท สินค้าที่มีค้างในสต๊อก กำลังอยู่ระหว่างพิจารณานำมาลดราคาให้กับนักธุรกิจหรือสมาชิก เพื่อเคลียร์สินค้าให้เสร็จปลายปีนี้
 
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2555 เอวอนโปรดักส์อิงค์ บริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศจะถอนตัวและเลิกจ้างพนักงาน 1,500 คน ในตลาดแถบเอเชีย อย่างเกาหลีใต้และเวียดนาม และหลังจากนั้นเมื่อมีนาคม 2559 หรือต้นปีนี้ ได้ประกาศขายกิจการในทวีปอเมริกาเหนือทั้งหมดให้ Cer berus Copital Management LP มูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเลิกจ้างพนักงานทั่วโลกอีก 2,500 คน และย้ายสำนักงานใหญ่จากนิวยอร์กซิตี้ สหรัฐอเมริกา ไปยังประเทศอังกฤษ โดยเป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ให้เกิดประสิทธิภาพ และประหยัดค่าใช้จ่าย เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
 
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าววอลสตรีท เจอร์นัล ยังรายงานเมื่อเดือน ธ.ค.2558 ว่า "เอวอน" ได้บรรลุข้อตกลงกับ "เซอร์เบอรัส แคปิตอล แมเนจเมนท์" (Cerberus Capital Management) ซึ่งเป็นบริษัทกองทุนรวมสัญชาติอเมริกัน และมีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านฟื้นฟูธุรกิจเพื่อแลกกับเม็ดเงินลงทุนกว่า 605 ล้านเหรียญสหรัฐ
 
สำหรับในดีลนี้ "เอวอน" จะแยกหน่วยธุรกิจในทวีปอเมริกาเหนือ หรือ "เอวอน นอร์ท อเมริกา" (Avon North America) ออกไปเป็นบริษัทลูก และขายหุ้น 80% ของบริษัทใหม่นี้ให้กับ "เซอร์เบอรัส" ด้วยมูลค่า 170 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมหุ้น อีก 17% ของบริษัทแม่ในมูลค่า 435 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกันนี้มีการเปลี่ยนตัวบอร์ดบริหารใหม่ทั้งหมด
 
เชอริล แมคคอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอวอน โปรดักส์ ระบุว่า ดีลนี้จะช่วยให้บริษัทได้รับเม็ดเงินลงทุนเพิ่มเติม พร้อมกับปลดภาระทางการเงินจากหน่วยธุรกิจในทวีปอเมริกาเหนือที่มีปัญหาเรื้อรังมานาน ช่วยเปิดโอกาสให้สามารถทุ่มเททรัพยากรในการทำตลาดต่างประเทศซึ่งมีศักยภาพมากกว่าได้อย่างเต็มที่
 
 
ออกกฎกระทรวงให้นายจ้างดูแลแรงงาน "ความร้อน-แสง-เสียง"
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งรัดและผลักดันให้ออกกฎกระทรวงเพื่อดูแลความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ขณะนี้กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ.2559 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคมเป็นต้นไป ถือเป็นมิติใหม่ในการดูแลความปลอดภัยในการทำงานของแรงงาน โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง
 
"กฎกระทรวงดังกล่าว กำหนดให้นายจ้างต้องควบคุมและรักษาระดับความร้อนภายในสถานประกอบกิจการที่ติดประกาศแจ้งเตือนบริเวณที่มีแหล่งความร้อน มีมาตรการควบคุม นายจ้างต้องจัดให้สถานประกอบกิจการมีความเข้มของแสงสว่างไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน ให้นายจ้างควบคุมระดับเสียงไม่ให้เกินมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด มีเครื่องหมายเตือนให้ใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล และจัดให้มีมาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการ ทั้งนี้ นายจ้างต้องจัดหาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลหรือมาตรการที่เหมาะสมให้แก่ลูกจ้างตามสภาพและลักษณะงานตลอดเวลาที่ทำงานบำรุงรักษาอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งาน และจัดอบรมเกี่ยวกับวิธีการใช้แก่ลูกจ้าง ต้องมีการตรวจวัดและวิเคราะห์สภาวะการทำงานเกี่ยวกับระดับความร้อน แสงสว่าง หรือเสียงภายในสถานประกอบกิจการ และรายงานผลการตรวจวัดและวิเคราะห์สภาวะการทำงาน
 
นอกจากนี้ นายจ้างต้องจัดให้มีการตรวจสุขภาพลูกจ้างที่ทำงานในสภาวะการทำงานที่อาจได้รับอันตรายจากความร้อน แสงสว่าง หรือเสียง ด้วย" นายสุเมธกล่าว และว่า กฎกระทรวงนี้มุ่งหวังให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองให้มีความปลอดภัยในการทำงานที่เกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง ซึ่งนายจ้างจะต้องมีระบบการบริหาร จัดการ และดําเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทํางานที่ได้มาตรฐาน หากนายจ้างฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
 
ก.แรงงานเสนอ กขป.5 เพิ่มพนักงานตรวจแรงงานบูรณาการแก้ค้ามนุษย์
 
ที่ประชุม คณะอนุฯแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย (อกคร.) มีมติขอเพิ่มอัตรากำลังพนักงานตรวจแรงงาน ต่อที่ประชุม คกก.ขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 (กขป.5) วันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ หวังคุ้มครองดูแลลูกจ้างให้ปราศจากการเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ สอดคล้องตามระบบมาตรฐานสากล
 
พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ พลเอก อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย (อกคร.) ที่กระทรวงแรงงาน โดยที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบให้นำประเด็นการขอเพิ่มอัตรากำลังพนักงานตรวจแรงงาน เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 (กขป.5) ที่จะประชุมในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีพนักงานตรวจแรงงานเพียง 1,245 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการคุ้มครองดูแลลูกจ้างที่ทำงานในกิจการที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ในจำนวนนี้เป็นบุคลากรของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 821 คน และจากหน่วยงานอื่นๆ อาทิ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน รวม 424 คน
 
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์อัตราส่วนพนักงานตรวจแรงงาน 1 คน ต่อแรงงาน 15,000 คน ตามข้อเสนอแนะของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่ระบุในรายงานทั้ง 3 ฉบับ คือ รายงานการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ค้ามนุษย์ของไทย (Tip Report) รายงานความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) และรายงานสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย
 
สำหรับพนักงานตรวจแรงงานนั้น จะต้องผ่านหลักสูตรการอบรมโดยความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรโดยกระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ จึงจะสามารถตรวจแรงงานได้ ซึ่งขณะนี้มีพนักงานตรวจแรงงานจากหน่วยงานข้างต้นได้อบรมไปแล้ว 2 รุ่น รวม 100 คน ส่วนอีก 1 รุ่น จะสามารถอบรมได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อให้เพียงพอตามที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศกำหนดไว้ จำนวน 1,500 คน สำหรับความคืบหน้าการขอเพิ่มอัตรากำลังพนักงานตรวจแรงงานนั้น ขณะนี้กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ทำหนังสือเพื่อประสานไปยังสำนักงาน ก.พ. เพื่อขอสนับสนุนกรอบอัตรากำลังพนักงานตรวจแรงงานเพิ่มแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงาน ก.พ. ให้ความเห็นชอบต่อไป
 
 
เตือนระวังแก๊งตุ๋นไปทำงานที่เกาหลีทำร้าย-บังคับค้าประเวณี
 
นางพรปวีณ์ วิชิต จัดหางานจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่ากรมการจัดหางานได้รับแจ้งจากฝ่ายแรงงาน ประจำเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ว่ามีหญิงสาวไทยหลายราย ถูกทาบทามให้เข้าไปทำงานที่ร้านนวดในประเทศเกาหลีใต้ โดยเมื่อไปถึงถูกนายหน้าร้านนวดยึดหนังสือเดินทางไว้เป็นประกัน เพื่อไม่ให้คนงานหนี แล้วบังคับให้ค้าประเวณี ในครั้งแรก จะถูกทางร้านหักเงินค่านายหน้ากว่า 3 ร้อยล้านวอน หรือราวๆ 250,000 บาท โดยหักจากเงินค่าตอบแทนที่คนงาน ควรจะได้รับจากการค้าประเวณี กว่าร้อยละ 50 และต้องถูกบังคับให้ค้าประเวณี จำนวนกว่า 75 ครั้ง จึงจะหักลบกับเงินที่หักค่านายหน้าไป
 
โดยบางรายถูกทารุณ ทำร้าย กักขังให้อยู่แต่ในห้อง หากไม่ทำงานก็จะถูกตบตีไม่ให้ทานอาหาร ปัจจุบันสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวด กวดขันเพื่อไม่ให้เกิดกระบวนการค้าประเวณีอีก ดังนั้น ผู้ที่จะ เดินทางไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ ต้องศึกษาข้อมูลการทำงานให้ละเอียด เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง
 
สำนักงานจัดหางาน จ.ลำปาง จึงขอประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชน/คนหางาน ที่จะเดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้ ให้ศึกษาข้อมูลก่อนเดินทางไปทำงาน พบเห็นเบาะแส สามารถติดต่อฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล โทรศัพท์ +82-2795-0095, +82-2795-3258 ต่อ 101-108 หรือกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล โทรศัพท์ 0-2575-1048 หรือ 0-2981-7171 เพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป
 
 
เศรษฐกิจซบคนแห่ขายประกันเพิ่มรายได้
 
นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ยอดผู้สมัครสอบขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตทั่วประเทศผ่านสมาคมประกันชีวิตไทยรอบ 9 เดือน ตั้งแต่ม.ค.-ก.ย.59 มีทั้งสิ้น 149,563 คน เพิ่มขึ้น 11,977 คน หรือ 8.70% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 137,586 คน ซึ่งมีผู้เข้าสอบจริง 105,190 คน และสอบผ่าน 39,290 คน หรือ 37.35% ของผู้เข้าสอบยอดสมัครตัวแทนประกันที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้คนไทยหันมายึดอาชีพตัวแทนประกันหารายได้ เสริมเพื่อให้เพียงพอกับค่าครองชีพ ประกอบกับบริษัทประกันชีวิตต้องการรับตัวแทนเพิ่มเพื่อใช้เป็นช่องทางหลักการขายประกัน รวมถึงระยะหลังคนไทยใส่ใจ ทำประกันชีวิตมากขึ้นทำให้มีโอกาสขายประกันได้เพิ่ม
 
นายพิชากล่าวต่อว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าระยะหลังผู้สมัครสอบส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่อายุ 20-30 ปี ทั้งที่เพิ่งเรียบจบใหม่หรือบางคนเพิ่งเข้าทำงาน แต่อยากมีรายได้เสริม และยังพบอีกว่าวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นกลุ่มที่สมัครตัวแทนประกันชีวิตมากสุด สะท้อนว่าอาชีพตัวแทนประกันเป็นที่ยอมรับของสังคมและคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น ประกอบกับระยะหลังบริษัทประกันชีวิตได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวแทน ทั้งนี้ สถิติยังระบุว่ามีผู้สมัครสอบมากสุดที่อายุ 20-30 ปี และมีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเข้าสอบเป็นตัวแทนประกันชีวิตมากที่สุดถึง 43.79% จังหวัดที่มีผู้สมัครสอบสูงสุด 5 อันดับแรก นำโดยกรุงเทพมหานคร รองลงมาคือ ขอนแก่น เชียงใหม่ อุดรธานี และอุบลราชธานี
 
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ 26 ต.ค. ทบทวนมติปรับค่าแรงปี 60 หลังขึ้นสูงสุด 10 บาทต่อวัน ไม่พอค่าครองชีพ
 
คุณชาลี ลอยสูง รักษาการประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ในวันพุธที่ 26 ตุลาคม เวลา 10.00 น. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จะเดินทางไปยังศูนย์ดำรงธรรม ข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อยืนหนังสือให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ทบทวนมติการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2560 ที่ทางด้านคณะกรรมการค่าจ้าง ที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน มีมติปรับขึ้นค่าแรงใน 69 จังหวัดทั่วประเทศ ในอัตรา 305 บาทต่อวัน 308 บาทต่อวัน และ 310 บาทต่อวัน และไม่ปรับขึ้นอีก 7 จังหวัด เนื่องจากมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงควรจะปรับขึ้นในอัตราเดียวเท่ากันทั่วประเทศ อีกทั้งการปรับเพิ่มของค่าแรงในอัตราดังกล่าวไม่มีความสมเหตุสมผลกับภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพในปัจจุบันนี้ โดยมองว่ารัฐควรปรับขึ้นค่าแรงในอัตราเท่ากับทั่วประเทศที่ 360 บาทต่อวัน จึงจะมีความเหมาะสม
 
 
9 เดือนแรกยอดขอตั้งโรงงานวูบ 17%
 
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย ยอดแจ้งประกอบกิจการ และเริ่มขยายโรงงานใน 9 เดือนปี 2559 (ม.ค.-ก.ย. 2559) ว่า มีจำนวนโรงงานรวมทั้งสิ้น 3,177 โรงงาน ลดลงช่วงเดียวกันในปี 2558 ที่มีอยู่ที่ 3,834 โรงงาน หรือ ลดลง 17.13%
 
ขณะที่มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 3.39 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่อยู่ที่ 3.49 แสนล้านบาท หรือลดลง 2.94% โดยแบ่งเป็นการเปิดกิจการใหม่จำนวน 2,790 โรงงาน ลดลง 17.69 % จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 3,390 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 2.39 แสนล้านบาท ลดลง 3.23 % เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 2.47 แสนล้านบาท
 
ส่วนการขยายกิจการมีจำนวน 387 โรงงาน ลดลง 12.83% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีอยู่ 444 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 1 แสนล้านบาท ลดลง 0.99% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 1.01 หมื่นล้านบาท
 
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการแจ้งเปิดกิจการใหม่และ ขยายกิจการที่มีมูลค่ามากที่สุดในช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2559 ได้แก่ การผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ มูลค่าการลงทุน 3.94 หมื่นล้านบาท เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ 3.34 หมื่นล้านบาท อุตฯอาหาร 2.74 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์พลาสติก 1.94 หมื่นล้านบาท เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 1.82 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
 
 
ทหารปิดล้อม รวบแรงงานกัมพูชาข้ามแดนเก็บลำไยคู่ค้า หลังเจ้าของสวนยกเลิกสัญญา
 
หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 13 กองกำลังบูรพา อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว เข้าปิดล้อมและจับกุมแรงงานชาวกัมพูชา ที่มีทั้งชาย หญิง และเด็ก รวม 319 คน รถกระบะที่โดยสารมาอีก 16 คัน พร้อมกระเป๋าและสัมภาระอีกจำนวนหนึ่ง ขณะเข้ามาเก็บลำไยในหมู่บ้านเขาดิน หมู่ 8 ตำบลและอำเภอคลองหาด
 
สอบปากคำทราบว่า ทั้งหมดเป็นแรงงานจากล้งลำไย "ซิสโก้" อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ที่นายจ้างพาข้ามแดนเข้ามาเก็บผลลำไยของคู่ค้า แต่ถูกเจ้าของสวนปฏิเสธและยกเลิกสัญญา เพราะตกลงราคากับล้งอื่นที่ให้ราคาสูงกว่า ซ้ำยังโทรแจ้งทหารให้เข้าจับกุมด้วย
 
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลักฐาน พบว่าผู้ต้องหาทั้งหมดมีใบอนุญาตเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างถูกต้อง แต่ไม่ได้ทำใบ "บอเดอร์พาส" ที่สามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ในช่วงเวลา 1 สัปดาห์ จึงส่งตัวทำบันทึกประวัติและผลักดันกลับ ส่วนเจ้าของล้ง ถูกแจ้งข้อหานำแรงงานข้ามเขตโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
 
ก.แรงงาน เปิดทางลูกจ้างทั่วประเทศ กราบถวายบังคมพระบรมศพ
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่สำนักพระราชวัง ได้ประกาศให้ประชาชนได้เข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ครบ 15 วันแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2559 ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.นั้น พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้แรงงานจังหวัดทุกจังหวัดร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานทั่วประเทศประสานกับผู้ประกอบการ และลูกจ้างในสถานประกอบการแต่ละพื้นที่ ที่มีความประสงค์จะเดินทางมาเข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมพระบรมศพ โดยให้จัดทำระบบรายงานที่ชัดเจน เช่น รายชื่อลูกจ้าง นายจ้าง เส้นทางการเดินทาง จุดรับส่งแต่ละจังหวัด การอำนวยความสะดวกและบริการระหว่างการเดินทาง และรายชื่อผู้ประสานงานพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ลูกจ้างได้รับความสะดวกตลอดการเดินทางและเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงานสามารถปฏิบัติงานอำนวยความสะดวกด้วยระบบการตรวจสอบที่ชัดเจนรัดกุมมากยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย
 
ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวต่อไปว่า หากมีลูกจ้าง นายจ้างในสถานประกอบการพื้นที่ใดที่มีความประสงค์เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ ขอให้แรงงานจังหวัดอำนวยความสะดวกในการเดินทางและให้ยึดแนวปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้สอดคล้องตามแผนอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะเดินทางมาเข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมพระบรมศพ ทั้งนี้ ให้รายงานการปฏิบัติตามแบบรายงานที่กำหนดให้ศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์ กระทรวงแรงงานทราบเป็นประจำทุกวันด้วย ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงาน ยังได้จัดให้ข้าราชการ นายจ้าง ลูกจ้าง เครือข่ายภาคแรงงาน ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป ลงนามแสดงความอาลัยผ่านทางหน้าแรกก่อนเข้าเว็บไซต์กระทรวงแรงงาน www.mol.go.th เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ซึ่งรายชื่อผู้ที่ร่วมลงนามทั้งหมดจะรวบรวมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
 
ครม.เห็นชอบจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ขยายเวลาแรงงานกิจการประมงถึง 1 พ.ย.60
 
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยมาตรการดำเนินการหลังสิ้นสุดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมอำนวยความสะดวกการตรวจสัญชาติ การตรวจสัญชาติเป็นการดำเนินการของประเทศต้นทาง และกระทรวงแรงงานจะอำนวยความสะดวกเพื่อให้มีการตรวจสัญชาติแรงงานกัมพูชา ลาว เมียนมา อย่างมีประสิทธิภาพ
 
พร้อมทั้งเห็นชอบยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ปี 2560-2564 ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ฯ 5 ด้าน ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดระบบแรงงานเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าว ทั้งนี้ ให้ขึ้นอยู่กับความต้องการแรงงานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ, ยุทธศาสตร์ที่ 2 การควบคุม กำกับ ดูแลกระบวนการเข้ามา ระหว่างการทำงานและกลับออกไปของแรงงานต่างด้าว, ยุทธศาสตร์ที่ 3 การกำหนดมาตรฐานการจ้างแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล, ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่มีประสิทธิภาพ และยุทธศาสตร์ที่ 5 การติดตามและประเมินผล
 
ทั้งนี้ ให้ขยายระยะเวลาการอยู่ในราชอาณาจักรและอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเล และกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 และกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ (รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวที่อายุไม่เกิน 18 ปี) ซึ่งใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 ออกไปอีกจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เท่ากันทุกคน เพื่อเข้ารับการตรวจสัญชาติ สำหรับแรงงานที่ผ่านการตรวจสัญชาติ และได้รับหนังสือเดินทาง เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหรือเอกสารรับรองบุคคล จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและอนุญาตทำงานถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 และสามารถต่ออายุได้อีกครั้งเดียวไม่เกิน 2 ปี
 
 
ก.แรงงานแจงปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ลูกจ้าง – นายจ้างอยู่ได้ เน้นไม่กระทบเศรษฐกิจสังคม
 
นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติเมื่อ (19 ต.ค.59) ให้ปรับขึ้นตามที่สื่อนำเสนอไปแล้วนั้นว่า หลักการสำคัญในการพิจารณา คือ อัตราค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดที่ลูกจ้างอยู่ได้และนายจ้างอยู่ได้ด้วย ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และเพื่อไม่ให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อภาวะครองชีพของประชาชนโดยทั่วไป นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อัตราการว่างงาน ผลกระทบในภาพรวมที่มีต่อด้านแรงงาน ด้านผู้ประกอบการ ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ ภาวะเศรษฐกิจและการเมืองโลก ปัจจัยเสี่ยงจากโรคและภัยพิบัติ เป็นต้น
 
ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 นั้น มีคณะอนุกรรมการฯ 3 ชุด คือ อนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพมหานครมีหน้าที่ประชุมพิจารณาทบทวนความเหมาะสมอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองมีหน้าที่พิจารณากลั่นกรอง และคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวสอดคล้องกับสูตรคำนวณฯ ของประเทศอินโดนีเซียและบราซิล โดยนำอัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคและผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดมากำหนดเป็นสูตรคำนวณ
 
ขณะที่ นายอดิสร ตันประเสริฐ ประธานสหภาพแรงงานโทเร ไทยแลนด์ ลูกจ้างของบริษัท ไทยโทเรซินเทติคส์ จำกัด (โรงงานกรุงเทพ) กล่าวถึงผลการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ว่า โดยภาพรวมเป็นที่พอใจ แม้ว่าจะปรับขึ้นเล็กน้อยแต่ดีกว่าไม่ปรับขึ้นเลย เพราะถ้าปรับขึ้นสูงมากจะทำให้นายจ้างอยู่ไม่ได้ เมื่อนายจ้างอยู่ไม่ได้ สถานประกอบการจะปิดกิจการลง ลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้ จึงต้องหาจุดกึ่งกลางเพื่อให้สมดุลกับทั้งสองฝ่าย ค่าจ้างขั้นต่ำจึงมีความสำคัญต่อลูกจ้างและนายจ้างในสถานประกอบการมาก เนื่องจากเป็นแหล่งเงินแหล่งเดียวของคนใช้แรงงานและภาคธุรกิจ ทั้งนี้ รายได้เท่าไหร่ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่ามีเงินเหลือเท่าไหร่ การใช้จ่ายในปัจจุบันจึงต้องจัดทำบัญชี เพื่อรู้ว่าใช้จ่ายเกินความจำเป็นหรือไม่ ขณะเดียวกันหากมีรายได้น้อยก็ต้องใช้จ่ายแต่พอควร สมฐานะ ทั้งนี้ อยากให้ภาครัฐมีการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือมากขึ้น เพื่อเป็นแรงจูงใจช่วยกระตุ้นให้ลูกจ้างได้พัฒนาฝีมือให้สูงขึ้น จะได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งจะเป็นผลดีกับทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่จะทำให้งานมีประสิทธิภาพ
 
สอดคล้องกับ นางหทัยชนก ม่วงโต พนักงานรายวัน บริษัทเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวถึงการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ว่า สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากเมื่อค่าแรงขั้นต่ำขึ้น ลูกจ้างก็จะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น ทำให้มีขวัญกำลังใจในการทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นแล้ว อยากให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าและบริการที่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ให้เพิ่มขึ้นตามค่าแรง ดังนั้นการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจึงต้องมีการวางแผน อาทิ การจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อคำนวณรายรับ รายจ่าย รวมทั้งการวางแผนการใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น รวมทั้งไม่เป็นหนี้นอกระบบ เป็นต้น ส่วนการพัฒนาฝีมือให้สูงขึ้นจะสามารถทำให้มีค่าตอบแทนที่สูงขึ้นนั้น ปัจจุบันสาขาอาชีพที่เข้าสู่การปรับระดับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือยังไม่ได้ครอบคลุมทุกภาคอุตสาหกรรม เช่น สาขาไอที เป็นต้น
 
 
แรงงานร้องนายกฯ ขอขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดย นายชาลี ลอยสูง พร้อมเครือข่ายประมาณ 20 คน เดินทางมายื่นหนังสือ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ทบทวนมติคณะกรรมการค่าจ้าง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ในเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 ระหว่าง 5-10 บาททั่วประเทศ ส่งผลให้ปรับขึ้นจากปัจจุบันเป็น 305-310 บาท โดยเห็นว่า มติที่ออกมา ยังไม่สะท้อนภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงการปรับที่ไม่เท่ากัน และพื้นที่บางจังหวัดไม่ได้ปรับขึ้น มองว่า ขัดแย้งกับเป้าหมายพัฒนาประเทศและทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเหลื่อมล้ำมากขึ้น ที่สำคัญหากพิจารณาการปรับขึ้นในอัตรา 5,8 และ 10 บาท ถือว่าน้อยมาก และ ส่งผลกระทบต่อแรงงาน ที่รอการปรับขึ้นมานานกว่า 3 ปี ดังนั้นจึข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล 3 ข้อ คือ 1. ขอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ , 2.ขอให้รัฐบาลมีนโยบายโครงสร้างค่าจ้างที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่ต้องมีการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีทุกสถานประกอบการ และ 3.ขอให้รัฐบาลมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน
 
โดยนายชาลี ชี้แจงว่า การยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการกดดัน แต่เป็นความเดือดร้อนของภาคแรงงาน ที่คาดหวังให้เกิดความเป็นธรรม บนพื้นฐานหลักการเดียวกับภาคข้าราชการ และ รัฐวิสาหกิจที่ได้รับการพิจารณาก่อนหน้านี้
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net