Skip to main content
sharethis

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ กผฝ.อินเตอร์ ซื้อหุ้นถ่านหิน 1.17 หมื่นล้านบาทจากบริษัท Adaro Indonesia ยักษ์ใหญ่ในอินโดนีเซีย ด้าน กพร. เตรียมเดินหน้าเปิดเหมืองใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2559 สำข่าวสิ่งแวดล้อม Green News TV รายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มติเห็นชอบให้บริษัท กฟผ.อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทอะดาโร (Adaro Indonesia : AI) ซึ่งประกอบกิจการเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่และส่งออกถ่านหินมากเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศอินโดนีเซีย ในสัดส่วน 11-12%

ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนจะไม่เกิน 325 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือไม่เกิน 11,700 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เงินลงทุนจากรายได้ของกฟผ.ไม่เกิน 164 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือไม่เกิน 5,904 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 161 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้ใช้เงินปันผลที่ได้รับจากการเข้าไปถือหุ้นในบริษัท AI

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยืนยันว่าการเข้าไปลงทุนในบริษัท AI ครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นการลงทุนเพื่อนำเข้าถ่านหินจากอินโดนีเซียมาผลิตไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2558-2579 (พีดีพี 2015) ตามที่หลายฝ่ายกังวลแต่อย่างใด แต่เป็นการลงทุนตามปกติของ กฟผ.

“ขอให้ทุกฝ่ายอย่าวิตกกังวล เพราะการจะดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินหรือไม่นั้น ต้องตกลงกับคนในพื้นที่ให้ลงตัวก่อน ขณะเดียวกันเวลานี้มีเทคโนโลยีที่พัฒนาไปมากแล้ว ยืนยันว่าไม่ได้ผลีผลามใดๆ เป็นเพียงการลงทุนตามปกติเท่านั้น”โฆษกรัฐบาล กล่าว

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบให้ บริษัท EGATi ได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อลงทุนตามแผนการประมาณการเบิกจ่าย พร้อมทั้งให้ กฟผ.เพิ่มทุนให้บริษัท EGATi เพื่อลงทุนในเรื่องดังกล่าว

วันเดียวกัน เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) โดย สมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองอธิบดี กพร. รักษาราชการแทนอธิบดี กพร. ได้หารือร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4) เพื่อหาแนวทางพัฒนาแหล่งแร่ในภาคใต้ให้เกิดกิจกรรมการทำเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่เป้าหมายหลัก

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า หากมีการพัฒนาแหล่งแร่ในพื้นที่ดังกล่าวจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนและชุมชนในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหากดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายหลักสำเร็จ ก็จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ศักยภาพแร่ในพื้นที่ภาคใต้ อาทิ แร่ดีบุก ดินขาว ทองคำ ควอตซ์ ทรายแก้ว วุลแฟรม แมงกานีส ฯลฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net