บุคลิกภาพของ ร.5 ในบทบาทนักการเมืองภายใต้การบริหารจัดการกับกลุ่มการเมืองสองรุ่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

<--break- />

หนังสือ The Rise and Decline of Thai Absolutism ของ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เป็นหนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทยในช่วงรัชกาลที่ 4-6 อันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการก่อรูปรัฐสมัยใหม่ของไทยโดยสถาบันพระมหากษัตริย์มีบทบาทสำคัญท่ามกลางปัจจัยการเมืองภายในและนอกประเทศ จากหนังสือนี้มีประเด็นน่าสนใจประเด็นหนึ่งคือบุคลิกภาพ และยุทธวิธีทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ในฐานะตัวแสดงหนึ่งทางการเมือง ที่ใช้จัดการกับกลุ่มการเมืองสองรุ่น เพื่อเป้าประสงค์ต่างๆ กัน คือในช่วงต้นรัชกาลเป็นไปเพื่อรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง แต่ในช่วงปลายรัชกาลเป็นความพยายามรักษาอำนาจของพระองค์ไว้จากความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และกลุ่มการเมืองใหม่ๆ ที่พระองค์มีส่วนสร้างขึ้นมาเอง

ในการพิจารณาบุคลิกภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะ ‘นักการเมือง’ อาจพิจารณาได้จากยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีทางการเมืองต่อกลุ่มพลังทางการเมือง ซึ่งในขณะนั้นอาจแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่

1. กลุ่มอำนาจเก่า ประกอบไปด้วย

1) กลุ่มสยามเก่า นำโดยกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ (วังหน้า)

2) กลุ่มอนุรักษ์นิยม นำโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) หรือ

ตระกูลบุนนาคและพวกพ้อง    

3) กลุ่มสยามหนุ่ม (รุ่นที่1) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยากระสาปนกิจโกศล พระยาภาสกรวงศ์

ทั้งสามกลุ่มนี้เป็นกลุ่มการเมืองที่มีอิทธิพลในช่วงต้นรัชกาล

2. ในช่วงปลายรัชกาลมีสองกลุ่มสำคัญคือ กลุ่มสยามหนุ่ม (รุ่นที่ 2 ) คือกลุ่มพระโอรส กับชนชั้นสูง เช่น จมื่นไวยวรนาถ พระองค์เจ้าเทววงศ์ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระองค์เจ้าภานุรังษี จมื่นศรีสรรักษ์ ฯลฯ และกลุ่มข้าราชการสามัญชนคนรุ่นใหม่

ยุทธศาสตร์การต่อสู้ในกรณีกลุ่มแรกนั้น เป็นไปเพื่อการรวบอำนาจของพระมหากษัตริย์ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาววิสัยทางประวัติศาสตร์ในระบอบราชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์มิใช่ผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองหากแต่อำนาจกระจายอยู่ที่เจ้าเมืองหัวเมืองต่างๆ ขุนนางในระบบไพร่-ขุนนาง โดยเฉพาะในราชสำนักอำนาจการเมืองกระจุกตัวอยู่ที่ขุนนางตระกูลบุนนาคสืบต่อมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชย์จึงจำต้องต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่าและปรับเปลี่ยนการบริหารปกครองเสียใหม่และให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจทุนนิยม การเมืองโลกขณะนั้น พระองค์ต่อสู้กับกลุ่มสยามเก่า กลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยมีกลุ่มสยามหนุ่มเป็นแนวร่วม ยุทธวิธีที่ใช้คือไม่แตกหักกับศัตรูทางการเมือง แต่ใช้วิธีทำลายคู่ต่อสู้อย่างช้าๆ เช่นกรณีปฎิรูปการคลัง รวบอำนาจจัดเก็บภาษีของขุนนางไว้ที่ส่วนกลางในขณะเดียวกันก็สนองตอบข้อเรียกร้องจากกลุ่มการเมืองแต่ไม่ใช่ทำให้สำเร็จในคราวเดียวเพื่อจะทำให้กลุ่มการเมืองเห็นว่าพระองค์ยังมีประโยชน์ต่อพวกเขาอยู่ ยุทธวิธีการหาแนวร่วมโดยชูประเด็นที่มีความเห็นตรงกันเช่น สร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดกลุ่มอนุรักษ์นิยมโดดเดี่ยวกลุ่มสยามเก่า อีกทั้งกรณีความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้าในปีพ.ศ. 2417-2418 พบว่าเมื่อวังหน้าอาศัยกงสุล Thomas Knox  เป็นพันธมิตร และมีแนวโน้มนำไปสู่แทรกแซงการเมืองจากตะวันตก พระองค์ก็อาศัยสายสัมพันธ์กลุ่มสยามหนุ่มสร้างพันธมิตรกับกงสุล Sir Andrew Clarke เพื่อทัดทานการแทรกแซงเช่นกัน

การสิ้นอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าปรากฏชัดเมื่อแกนนำของแต่ละกลุ่มสิ้นชีวิตลง ในขณะที่พระองค์เองก็เริ่มมีอำนาจรวมศูนย์เพิ่มขึ้น การใจเย็นรอเวลา ในขณะที่ตัวเองได้เปรียบดูเหมือนจะช่วยให้พระองค์เอาชนะคู่ต่อสู้ทางการเมืองที่มีอายุมากกว่าและอยู่ในฐานะเสียเปรียบ ส่วนความได้เปรียบทางการเมืองที่พระองค์มีนั้นเกิดจากยุทธวิธีเอาชนะคู่แข่งทางการเมืองบางกลุ่มเพื่อให้กลุ่มอื่นๆ หันมาสวามิภักดิ์เป็นแนวร่วมเพิ่ม สำหรับกลุ่มที่ไม่สวามิภักดิ์พระองค์ก็ไม่ได้ใช้วิธีแตกหักแต่ใช้วิธีปล่อยให้กลุ่มดังกล่าวถูกโดดเดี่ยว อ่อนตัวสลายลงไปเอง ยุทธวิธีดังกล่าวกระทำผ่านกลไกการเมืองที่สำคัญเช่นสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (The Council of state) เป็นที่ประชุมปรึกษาราชการ โดยดึงเอาเจ้านายระดับเจ้าพระยามาเข้าร่วมทั้งจากกลุ่มสยามเก่า อนุรักษ์นิยมและกลุ่มอื่นๆ การตัดสินใจที่เกิดขึ้นในสภาเท่ากับเป็นการยอมรับของแต่ละกลุ่มการเมืองด้วย แม้กระทั่งการตัดสินลงโทษขุนนางที่ “คอรัปชั่น” เช่นกรณีพระยาอาหารบริรักษ์หนึ่งในเครือข่ายตระกูลบุนนาค ทว่าในที่สุดพระองค์ก็แสดงวิธีการรักษาอำนาจของพระองค์ไว้ด้วยการประนีประนอมไม่ลงโทษแตกหักที่อาจสร้างความโกรธแค้นให้เครือข่ายบุนนาค อันสะท้อนว่า วิธีจัดการกับชนชั้นนำที่เป็นศัตรูต้องกระทำอย่างระมัดระวัง ไม่แตกหัก หากพิจารณาผลการต่อสู้ทางการเมืองกับกลุ่มแรกนี้จะพบว่าพระองค์ประสบความสำเร็จ สถาปนาอำนาจรวมศูนย์ไว้ได้ ในขณะเดียวกันเมื่อต้องจัดการกับกลุ่มที่สอง กลับพบว่าพระองค์ไม่ประสบความสำเร็จนักและยังส่งผลไปสู่ปัญหาการเมืองในรัชกาลที่ 6-7 กลายเป็นจุดจบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในที่สุด

การสร้างระบบราชการสมัยใหม่เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่พระองค์ใช้เป็นกลไกรวมศูนย์อำนาจทางการเมือง ในบรรยากาศยุคล่าอาณานิคม ทว่าคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตกและจากโรงเรียนวิชาชีพภายในประเทศได้เข้าสู่ระบบราชการกลายเป็นคนกลุ่มใหม่ทั้งยังเป็นปัญหาของพระองค์ในเวลาต่อมา กล่าวคือในระบบราชการได้ย้ายความภักดีของข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปยังความภักดีต่อวิชาชีพ ระบบคุณธรรม (Merit) และชาตินิยม (Nationalism) โดยมีเครือข่ายอุปถัมภ์ใหม่คือเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางชั้นสูงเป็นศูนย์กลาง ข้าราชการรุ่นใหม่นี้ตั้งคำถามกับประเด็นลำดับความสำคัญของผลประโยชน์แห่งชาติกับผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ ความเป็นอิสระของศาลจากฝ่ายบริหาร ความเท่าเทียมกันในเรื่องเลื่อนชั้นสังคมอาชีพการงาน นอกจากนี้กลุ่มสยามหนุ่มรุ่นที่สอง ที่เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ.1880s  แม้เป็นกลุ่มที่สนับสนุนการปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 อย่างเต็มที่แต่มีมุมมองความเห็นแตกต่างกับพระมหากษัตริย์หลายประการเกี่ยวกับอนาคตของรัฐไทย กลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในการตั้งคำถามต่ออำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ โดยปรากฏเป็นบันทึก Memorandum วิพากษ์และเสนอแนวทางปฏิรูปเพื่อป้องกันปัญหาการเมืองกับประเทศเจ้าอาณานิคมในช่วงค.ศ.1985 ทั้งที่ปัญหาการเมืองลงลึกในระดับความคิดคุณค่าใหม่ในสังคม ทว่ารัชกาลที่ 5 กลับใช้วิธีแก้ปัญหาโดยการ  สั่งการ เพื่อช่วงชิงความภักดีกลับมาผ่านพิธีกรรมเช่นกรณีสั่งให้ข้าราชการเข้าร่วมพิธีโสกัณฑ์ ทว่าข้าราชการกลับเข้าร่วมพิธีไม่มากดังที่พระองค์ปรารถนา

ในระดับอัตวิสัยพระองค์ประสบปัญหาการสร้างสมดุลระหว่างสิ่งใหม่-เก่า ลังเลที่ไม่ขจัดคนเก่า และไม่ส่งเสริมคนใหม่อย่างเต็มที่ อาทิ พยายามรักษาความพึงใจของขุนนางเก่า ส่งเสริมลูกหลานคนเหล่านั้นให้ศึกษาและรับราชการแต่ก็ติดขัดตรงที่ขุนนางไม่เคยชินกับการทำงานหนัก รวมถึงระบบบริหารสมัยใหม่ การเรียนการสอบแข่งขัน อีกทั้งจำนวนชนชั้นสูงเหล่านี้ก็มีจำนวนไม่มาก ไม่เพียงพอต่อระบบบริหารสมัยใหม่จนเป็นช่องทางให้สามัญชนสามารถเข้าสู่ระบบราชการเลื่อนฐานะจนเป็นชนชั้นกระฎุมพีได้ กระนั้นก็พบว่าพระองค์ไม่สามารถนำระบบ merit มาใช้ได้อย่างเต็มที่อันก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสามัญชนคนรุ่นใหม่กับกลุ่ม “ผู้ดี” เก่า และความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับข้าราชการรุ่นใหม่

อีกประการหนึ่งพระองค์ไม่สามารถจัดการกับศัตรูทางการเมืองกลุ่มที่สองในช่วงปลายรัชกาลได้เพราะคนรุ่นใหม่ที่ว่านี้ เป็นบรรดาโอรสของพระองค์ เมื่อคนเหล่านี้วิพากษ์พระองค์ หรือขัดแย้งกัน พระองค์จะกระทำเพียงตักเตือน หมายหัว โดดเดี่ยว ซึ่งเป็นยุทธวิธีเดิมที่เคยใช้ แต่กับสามัญชนในทางตรงกันข้ามจะถูกตัดสินโทษหนักเช่นกรณีนายเทียนวันถูกตัดสินจำคุกเป็นต้น

การต่อสู้ของรัชกาลที่ 5 กับกลุ่มการเมืองในช่วงต้นรัชกาลนั้นสะท้อนให้เห็นบุคลิกภาพของรัชกาลที่ 5 ในฐานะนักการเมืองที่มีทั้งการรุก-รับอย่างใจเย็น รู้จักจังหวะเวลา  ไม่ผลักให้ศัตรูรู้สึกหมดหนทางสู้แต่เป็นการเมืองแบบรวมคนเข้ามาร่วมกัน (Inclusive) อีกทั้งแสวงหาแนวร่วมเพื่อกดดันฝ่ายตรงข้ามทั้งจากภายในและภายนอก ในขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับการเมืองปลายรัชกาลจะพบว่า พระองค์มีความลังเลเมื่อต้องเผชิญกับศัตรูการเมืองที่พระองค์สร้างขึ้นมาเองผ่านระบบราชการอันเป็นความลังเลที่สะท้อนภาววิสัยทางประวัติศาสตร์คือระบบประเพณีดั้งเดิมอันขัดต่อ “ความทันสมัย” ที่เข้ามาใหม่และยังไม่ลงรอยกัน ปัญหานี้ทำลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อกษัตริย์มีแนวโน้มที่จะเลือกข้างระบบประเพณี สอดคล้องกับอัตวิสัยส่วนพระองค์ที่เชื่อว่าลูกหลานขุนนางเก่าไว้วางใจได้มากกว่าสามัญชนที่พระองค์ไม่รู้จัก ดังนั้นในบทบาทนักการเมืองแล้วพระองค์จึงต้องเลือกทำในสิ่งที่คาดว่าจะรักษาอำนาจของพระองค์ไว้ให้นานที่สุด

0000

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  นักศึกษาโครงการรัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท