ทุนนิยม ทำไมต้อง เสรีประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในอดีตเมื่อสยามประเทศเริ่มเปิดการค้าเสรีกับชนชาติตะวันตก  จนกระทั่งการค้าได้เจริญรุดหน้าถึงระดับหนึ่ง  ต่อมาจึงได้เกิดข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศขึ้นภายใต้การบีบบังคับของนักล่าอาณานิคม  หลังจากนั้นสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง (Bowring Treaty)  จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2398 โดยมีเนื้อหาสาระที่สำคัญ  คือ  การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการค้าให้มีมาตรฐานสากลมากขึ้นทั้งระบบการนำเข้าและการส่งออก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบจัดเก็บภาษี  เช่น  การกำหนดอัตราภาษีขาเข้าของสินค้าทุกประเภทอยู่ที่ร้อยละ 3 เป็นต้น  ซึ่งเพิ่มเติมรายละเอียดจากสนธิสัญญาฉบับแรก  คือ  สนธิสัญญาเบอร์นี  (Burney Treaty)  ที่ได้ลงนามไว้เมื่อ พ.ศ. 2369

กาลเวลาล่วงเลยผ่านมาถึงปัจจุบัน  การค้าเสรีหรือระบบทุนนิยมก็ยังไม่ได้ลงหลักปักฐานอย่างเต็มรูปแบบในสังคมไทยเสียที  ในความเสรีก็มีความไม่เสรีอยู่เป็นจำนวนมาก  ความเป็นไปของระบบเศรษฐกิจถูกกำกับควบคุมโดยกลุ่มคนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น  และคนกลุ่มนี้คือ  กลุ่มเครือข่ายบรรดาอำมาตย์และพวกพ้องที่ทรงพลังในการตักตวงผลประโยชน์ซึ่งเป็นส่วนเกินทางเศรษฐกิจไว้มากที่สุด  โดยข้อเท็จจริงแล้ว  ระบบเสรีนิยมจะมีความก้าวหน้าและแพร่กระจายในวงกว้าง  รวมทั้งลงลึกสู่ระดับสังคมชาวบ้านได้  ก็ต่อเมื่อมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรหรือสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต  นั่นก็คือ  ระบอบประชาธิปไตย นั่นเอง  ซึ่งเป็นระบอบที่ทุกคนเข้าใจสิทธิ  เสรีภาพและหน้าที่ของตนเอง  รวมทั้งไม่ไปละเมิดสิทธิ  เสรีภาพและหน้าที่ของผู้อื่นด้วย 

ระบอบประชาธิปไตยนั้นจะเติบโตขึ้นในใจประชาชนได้ต้องผ่านการพิสูจน์ด้วยระยะเวลา  ผ่านการลองผิดลองถูก  เกิดการเปลี่ยนผ่านตามวิถีทางการเลือกตั้งด้วยความสงบเรียบร้อย  เพื่อจะกลายเป็นสังคมที่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและถกเถียงกันถึงปัญหารอบตัว  แล้วจึงมุ่งหาทางออกและข้อสรุปร่วมกันอย่างมีเหตุผล  มีการยอมรับผลการตัดสินใจของเสียงข้างมาก  ในขณะเดียวกันก็เคารพเสียงข้างน้อยด้วย  ใจความสำคัญ  ก็คือ  ทุกคนมีสิทธิ์และเสียงเท่าเทียมกัน  ไม่ว่าจะยากดีมีจนหรืออยู่ในสถานะใด

นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  เป็นต้นมา  สังคมไทยก็ยังเปลี่ยนไม่ผ่านเพื่อไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง  ทั้งๆ ที่ผ่านการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างประเมินค่ามิได้มาหลายครั้งแล้ว  แต่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่กลุ่มชนชั้นปกครองมักกล่าวอ้างและพร่ำบอก  สร้างภาพฝันในวิมานว่า  เป็นระบอบที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมของไทย  แต่นั่นก็เป็นแค่เพียงเปลือกนอกที่ดูดีและมีไว้เพื่ออวดอ้างกับนานาอารยประเทศว่า  สยามประเทศนั้นมีความศิวิไลซ์และเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศตะวันตก  แต่เนื้อแท้ข้างในยังคงเป็นสังคมศักดินาแบบพวกพ้องและมีระบบอุปถัมภ์ตามลำดับชั้นที่เกาะเกี่ยวกันอย่างแข็งแกร่งและแน่นหนา  จนสามารถควบคุมและปกครองคนจากส่วนบนสุด  ซึมลึกลงไปถึงระดับรากหญ้าได้อย่างมั่นคง  จึงเป็นระบบที่กีดกันคนส่วนใหญ่ให้ออกไปเป็นคนชายขอบแห่งการพัฒนา  แต่ในขณะเดียวกัน  ก็เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนจำนวนหนึ่งในสังคมชั้นสูงลงมาถึงชนชั้นกลางบน  ผู้ปวารณาตนเป็นผู้พิทักษ์รับใช้ที่ซื่อสัตย์และแสนดี

เหตุใดและทำไม  ระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาระบบทุนนิยมให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและมั่งคั่ง

เหตุใดและทำไม  ระบบทุนนิยมจึงต้องแปรผันตามระดับความเข้มข้นของความเป็นประชาธิปไตยด้วย

เมื่อมวลมนุษยชาติได้เข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์อย่างเต็มตัวภายใต้ระบบทุนนิยมที่เป็นหนึ่งในกลไกการพัฒนาโลกสมัยใหม่แล้ว  การค้าระหว่างประเทศเองก็ได้เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นทั้งเรื่องการค้า  การเงิน  และการลงทุนในแบบวินาทีต่อวินาที  ซึ่งกลไกสำคัญนี้ต้องอาศัยระบบตลาดแข่งขันเสรีเป็นองค์ประกอบด้วย  จึงจะเกื้อหนุนต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัต  อีกทั้งสามารถพยากรณ์ได้ตามหลักอุปสงค์และอุปทาน  เพราะทุกการตัดสินใจของหน่วยย่อยทางสังคมต้องมีตรรกะและเหตุผลมารองรับเสมอ  ระบบทั้งหมดจึงจะไหลเวียนต่อเนื่องอย่างไม่มีสะดุดหรือหยุดชะงัก  แต่การพัฒนาระบบทุนนิยมของไทยก็ยังติดอยู่ในระยะเแรกเริ่มที่ก้าวไม่พ้นระบบทุนนิยมศักดินาล้าหลังเสียที  ซึ่งเครือข่ายบรรดาอำมาตย์และพวกพ้องยังแอบอยู่หลังฉากคอยสั่งการอยู่เรื่อยมา  เปรียบเปรยเหมือนมือที่มองไม่เห็น  ที่จำกัดขอบเขตความเจริญไว้ภายในกรุงเทพเมืองฟ้าอมร  และคอยขัดขวางการกระจายความเจริญออกไปสู่สังคมส่วนใหญ่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมชนบท 

เครือข่ายนี้ได้สร้างความสัมพันธ์ต่างตอบแทนอย่างแนบชิดสนิทแน่นเพื่อจัดสรรและแบ่งปันผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างลงตัว  จนในที่สุดกลายเป็นกลุ่มศักดินาย้อนยุคที่สามารถครอบงำความเป็นไปของสังคมและยึดกุมอำนาจการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะมาอย่างยาวนาน  ดังนั้นจึงไม่ต้องการเปิดโอกาสและพื้นที่ให้กลุ่มคนและกลุ่มทุนรุ่นใหม่ได้เข้ามาแบ่งปันผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจแต่อย่างใด  ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว หากเศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้น ดอกผลและผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจนั้นกลุ่มศักดินาย้อนยุคนี้จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างมหาศาล  และได้มากกว่าที่กลุ่มทุนรุ่นใหม่จะได้ด้วย  เนื่องจากครอบครองทั้งแหล่งทุน  เทคโนโลยี  ส่วนแบ่งการตลาดและช่องทางการจำหน่ายไว้หมดแล้ว  แต่ทำไมคนกลุ่มนี้จึงยังไร้น้ำใจ  และไร้ซึ่งความปราณีที่จะเกื้อกูลสังคมให้เป็นปรกติสุขในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

เมื่อระดับความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเติบโตขึ้นมาตามลำดับ  ตามการพัฒนาของเศรษฐกิจโลกนั้น  สังคมไทยได้ก่อเกิดชนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดก้าวหน้า  รวมทั้งชนชั้นล่างได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น  มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีราคาถูก  ทำให้เข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายและรวดเร็วมากขึ้น  ต้องการอิสระในการเลือกมากขึ้น  ไม่ต้องการการชี้นำจากชนชั้นสูงอีกต่อไป  ทั้งนี้เพื่อเติมเต็มความภาคภูมิใจในตนเอง  ดังนั้นจึงต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะทางการเมืองมากขึ้น  เหตุปัจจัยต่อมาจึงเกิดปรากฏการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนรุ่นเก่ากับกลุ่มคนรุ่นใหม่  ผ่านระบบตัวแทนในระบอบประชาธิปไตยมาเป็นระยะ  แต่ภายหลังจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540  บังคับใช้  ความขัดแย้งก็ได้ลุกลามบานปลายและขยายตัวทวีคูณขึ้น  จนกระทั่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา  ได้กลายเป็นวิกฤติที่ร้าวลึกไปทุกหย่อมหญ้า  ลงลึกถึงระดับครอบครัว  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะถอดสลักความขัดแย้งครั้งนี้ได้  หรืออาจต้องรอการพังทลายลงของระบบเก่าด้วยตัวของมันเองก่อน  ประชาธิปไตยแบบเต็มใบจึงจะเบ่งบานขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

1) ทุนนิยมแบบพรรคพวกและเพื่อนพ้อง และ 2) การคอร์รัปชั่น  นักวิชาการให้นิยามว่า  2 คำนี้มีความหมายใกล้เคียงกันมากจนแยกจากกันไม่ออก  บางครั้งกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นสิ่งที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เติบโตไปด้วยกัน  รวมทั้งเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน  เมื่อเหตุหนึ่งเกิด  อีกเหตุหนึ่งจึงเกิด  ดังนั้นอาจจะให้คำจำกัดความว่า  เป็นการใช้อำนาจรัฐโดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อหาประโยชน์ให้กับตนเอง  ครอบครัว  และบุคคลใกล้ชิด  ด้วยการใช้อำนาจหน้าที่เข้าแทรกแซงการทำงานของตลาด  เช่น  การกำหนดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี , การให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ , การให้เงินอุดหนุนหรือสิทธิพิเศษในการลงทุน , การออกกฎเกณฑ์ข้อบังคับให้ตลาดต้องปฏิบัติตาม  หรือยกเว้นกฎเกณฑ์บางอย่างที่ทำให้กลุ่มของตนเสียผลประโยชน์  เป็นต้น  ในท้ายที่สุดก็นำมาซึ่งการชักใยอยู่เบื้องหลังเพื่อสร้างอุปสรรคกีดขวางการเข้าสู่อำนาจรัฐของฝ่ายตรงข้าม  อีกทั้งสร้างระบบผูกขาดในการจัดสรรนโยบายและงบประมาณทั้งในส่วนการเมือง  เศรษฐกิจและสังคม  โดยมีเปลือกนอกของการค้าเสรีห่อหุ้มเอาไว้อย่างแยบยล  หรือมองอีกมุมหนึ่ง  ก็เป็นปีศาจในคราบนักบุญในระบบทุนนิยมหลอกลวงนั่นเอง  และก็มีแต่ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะกำจัด 2 คำนี้ให้ออกไปจากสังคมได้  ถึงแม้ตัวระบอบเองจะไม่สมบูรณ์ 100%  แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นระบอบที่ช่วยลดความขัดแย้งของคนส่วนใหญ่  หาจุดร่วมตรงกลางที่ทุกคนยอมรับได้  และทำให้สังคมเดินหน้าต่อไปไม่มีสะดุดล้ม

โดยพื้นฐานแล้ว  ระบอบประชาธิปไตยจะให้อิสระทางความคิดและการกระทำ  ซึ่งสอดคล้องกับระบบตลาดแบบเสรี  การตัดสินใจที่มีเหตุผลของปัจเจกชนจะก่อให้เกิดการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์  เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่ดีที่สุดให้สังคมตามความถนัดเฉพาะทาง , ตามการแบ่งงานกันทำ  หรือตามความสามารถในการแข่งขันโดยเปรียบเทียบ  ท้ายที่สุดแล้ว  สังคมโดยรวมจะได้รับอรรถประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันที่เกิดขึ้น  ภายใต้กฎระเบียบ  ข้อตกลงเดียวกันและการไม่เลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐผู้รักษากฎหมาย  สรุปได้ก็คือ  ต้อง Free and Fair ด้วย  ดังนั้นเมื่อทุกส่วนย่อยของสังคมดีแล้ว  สังคมโดยรวมก็จะดีขึ้นเองตามลำดับ

สภาพแคระแกร็นของระบอบประชาธิปไตยที่ถูกตัดทอนความสำคัญตลอดมา  จะส่งผลกระทบเชิงลบในระยะยาวต่อระบบทุนนิยม  เนื่องจากระบบนี้จะอาศัยความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนกลไกการพัฒนา  เพราะหัวใจของระบอบประชาธิปไตยก็คือ  การคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นได้  และเปิดโอกาสการต่อรองและจัดสรรผลประโยชน์บนโต๊ะเจรจาที่ทุกคนมีส่วนร่วมออกความคิดเห็นได้  ซึ่งตรงข้ามกับระบอบเผด็จการ  นักวิชาการรุ่นใหม่ได้ให้นิยามว่า  หัวใจของระบอบเผด็จการก็คือ  ความไม่แน่นอนและคาดการณ์ไม่ได้  จึงทำให้สังคมตกอยู่ในสภาพหวาดผวา  มีความคลุมเครือ  มองเห็นภาพไม่ชัดเจน  เกิดความสับสนอลหม่าน  จนสามารถสร้างภาพหลอนและจูงใจประชาชนให้เดินลงเหวได้ด้วยความเต็มใจ  และขั้นตอนสุดท้ายก็คือ  การดึงอำนาจตัดสินใจจากมือประชาชนกลับมาอยู่ในมือคนกลุ่มเดียวได้อย่างแนบเนียน

หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า  ชนชั้นผู้ถูกกดขี่และชนชั้นใต้ปกครอง  จึงมีความหวังว่าระบอบประชาธิปไตยจะเป็นทางออกและเป็นหนทางในการมีชีวิตที่ดีขึ้น  ในขณะเดียวกัน  ชนชั้นผู้ปกครองก็ต้องการรักษาอำนาจของตนให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ผ่านระบอบเผด็จการล้าหลังเช่นกัน

กับดักการพัฒนาทุนนิยมของไทย  คือ  การขาดความต่อเนื่องในระบอบประชาธิปไตย  เนื่องจากถูกระบอบเผด็จการทหารเข้ายึดอำนาจมาเป็นระยะๆ ถือเป็นการกัดเซาะและบ่อนทำลายการพัฒนาเนื้อหาประชาธิปไตยที่จะลงลึกถึงจิตวิญญาณของสังคม  ทั้งยังกัดกร่อนโครงสร้างระบบถ่วงดุลอำนาจและการตรวจสอบของสังคมอีกด้วย 

หากระบอบประชาธิปไตยได้เจริญงอกงามขึ้นในสังคมไทยแล้วไซร้  ระบบศักดินา  ระบบเจ้าขุนมูลนาย  ระบบไพร่ทาส  ที่ยังคงฝังรากลึกในจิตใต้สำนึกและยืนยงคงอยู่กับสังคมไทยมาเนิ่นนาน  คงจะถูกชะล้างให้หมดสิ้นไปอย่างเป็นขั้นตอนเสียที

ภายหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ได้ผ่านการลงประชามติและรอเพียงการประกาศใช้เท่านั้น  ภาพความหวังเพื่อก้าวให้พ้นอุปสรรคในการพัฒนาประชาธิปไตยโดยคนส่วนใหญ่  ก็ดูจะเลือนลางและจางหายลงไปทุกที  ทั้งยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อีกด้วย  และด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาจนดูคล้ายกับว่าหยุดนิ่งและชะงักงัน  ความเชื่อมั่นของประชาชนก็ดูจะหมดหวังและริบหรี่อย่างบอกไม่ถูก  ที่สำคัญราคาพืชผลการเกษตรก็ตกต่ำเป็นประวัติการณ์เมื่อเปรียบเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา  รวมทั้งอัตราการส่งออกก็ติดลบยาวนานกว่าที่เคยมีมาในอดีต

แล้วความหวังและความฝันอันใดเล่า  จะช่วยชะโลมจิตใจให้ผ่อนคลายหายเหนื่อยจากการตรากตรำทำงานหนักภายใต้แอกที่ถูกเทียมไว้  และรอคอยวันถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ

แล้วความหวังและความฝันอันใดเล่า  จะนำมาซึ่งกำลังใจและแรงใจเพื่อให้คนส่วนใหญ่มีความหวังกับชีวิต  ที่จะมีโอกาสลืมตาอ้าปากเพื่อขยับสถานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น  และพร้อมจะร่วมแรงร่วมใจฟันฝ่าอุปสรรคที่ยากเข็ญไปด้วยกัน

แล้วความหวังและความฝันอันใดเล่า  จะนำมาซึ่งความผาสุกของพี่น้องเกษตรกร  ชาวนา  ชาวไร่  ผู้ใช้แรงงาน  รวมทั้งสามัญชนคนทั่วไปที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ  หรือต้องรอให้ถึงยุคพระศรีอาริย์ก่อนก็เป็นได้  จึงจะเกิดดุลยภาพทางการเมือง  เศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริงเสียที

0000

      

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท