นิธิ เอียวศรีวงศ์: ธรรมยุตของธรรมยุต

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เรื่องที่จะชวนคุยต่อไปนี้ ท่านอาจารย์พระไพศาล วิสาโล ได้เขียนไว้แล้วใน พุทธศาสนาไทยในอนาคตของท่าน ทีแรกผมก็นึกว่าผมมีความเห็นต่าง แต่เมื่อนำเอางานของท่านมาอ่านใหม่ก็ไม่ค่อยแน่ใจว่า ผมมีความเห็นต่างจากท่านตรงไหนกันแน่ แต่เอาเถิด ผมขอคุยไปก่อน แล้วจึงค่อยพูดถึงความเห็นที่ต่างในภายหน้า

นักวิชาการต่างประเทศรุ่นเก่าๆ เมื่อกล่าวถึงการสถาปนาธรรมยุติกนิกาย ก็มักจะกล่าวด้วยความแปลกใจว่า เป็นการปฏิรูปศาสนาที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักธรรมคำสอนในเรื่องใหญ่ๆ อย่างไรเลย ความแตกต่างจากระบบความเชื่อเดิมอยู่ที่ด้านปฏิบัติเชิงพิธีกรรมเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น

เช่น พระธรรมยุตออกเสียงบาลีต่างจากพระมหานิกาย หรือตามธรรมเนียมของพระสงฆ์ไทยที่มีมาก่อน, การนุ่งห่มที่แตกต่างกัน, การตีความพระวินัยบางข้อที่ต่างกัน ฯลฯ

แต่ที่ผมสงสัยก็คือ เมื่อเราพูดถึงธรรมยุติกนิกายเป็นการปฏิรูปศาสนา ที่จริงแล้วมีการสถาปนาธรรมยุติกนิกายสองระลอก คือในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ยังทรงผนวชอยู่ครั้งหนึ่ง และเมื่อรัชกาลที่ 5 โปรดให้มีการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง และสืบมาจนถึงสมัย ร.6 ที่นำเอาพระธรรมคำสอนมารับใช้ชาตินิยม และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม จนกลายเป็นลักษณะเด่นของคณะสงฆ์ไทยสืบมาจนถึงทุกวันนี้

ธรรมยุตของวชิรญาณภิกขุนั้น ไม่ได้มีแต่เรื่องการตีความบัญญัติในพระวินัยเพียงอย่างเดียว แต่มีการเปลี่ยนจุดเน้นของหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาไทยอย่างสำคัญด้วย วชิรญาณภิกขุอ้างว่าจุดเน้นสำคัญในพุทธธรรมเช่นนี้ตรงกับคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า หรือการกลับไปหาคัมภีร์เดิมแท้ของศาสนา (อันมักเป็นข้ออ้างของการปฏิรูปศาสนาโดยทั่วไป) ผมเข้าใจว่าที่ตีความพระวินัยบางข้อว่า ถูกต้องตรงตามพุทธบัญญัติแท้จริงนั้น ก็คือการ “โฆษณา” นิกายใหม่อย่างหนึ่ง นั่นคือประกาศการกลับคืนสู่พุทธธรรมที่แท้จริงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยผ่านวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ในนิกายใหม่ ซึ่งพุทธบริษัทอาจมองเห็นได้ถนัดอยู่แล้ว นับตั้งแต่การนุ่งห่ม

แต่การสื่อความนัยยะสำคัญของนิกายใหม่ด้วยวิธีนี้ก็มีข้อเสียเหมือนกัน คือทำให้เข้าใจผิดในเวลาต่อมา แม้แต่ในหมู่พระภิกษุธรรมยุตเองว่า ธรรมยุตเป็นเรื่องของการตีความวินัยบัญญัติใหม่เท่านั้น

Peter Jackson กล่าวว่า พุทธศาสนาไทยนั้นให้ความสำคัญแก่ความเคร่งครัดด้านแบบแผนระเบียบปฏิบัติ (orthopraxie) มากกว่าความเคร่งครัดด้านหลักธรรมคำสอน (orthodoxy) เรื่องนี้จะจริงเช่นนี้ตลอดมา หรือเพิ่งจริงในระยะหลังเมื่อ ร.5 ทรงปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์แล้ว ผมก็ไม่ทราบ แต่ในการสถาปนาธรรมยุติกนิกายนั้น ผมคิดว่าความเคร่งครัดในหลักธรรมคำสอน (orthodoxy) ก็มีความสำคัญ อย่างน้อยก็สำคัญแก่วชิรญาณภิกขุ

เท่าที่ผมเก็บเนื้อความจากธรรมบรรยายของพระจอมเกล้าฯ เท่าที่ผมเข้าถึงได้ ผมแทบจะไม่เคยเห็นการพูดถึงการตีความวินัยบัญญัติใหม่ในที่ใดเลย

เท่าที่ผมจับความได้ เนื้อความจะเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้

 

1. สถาปนาความมีศักดิ์สูงสุดของพระไตรปิฎก (ซึ่งท่านเรียกว่าพระบาลีใหญ่) เหนืออรรถกถา, ฎีกา, อนุฎีกา หรือคัมภีร์ใดๆ ที่พระเถราจารย์รุ่นหลังรจนาขึ้น (“ว่าด้วยการในพระพุทธศาสนา”)

แน่นอนว่าพระไตรปิฎกในฐานะที่เชื่อกันว่าเป็นพุทธพจน์ย่อมมีศักดิ์สูง น่าเชื่อถือกว่าคัมภีร์ใดๆ มานานแล้ว แต่การศึกษาพระพุทธศาสนาของไทยออกจะเน้นที่คัมภีร์อื่นๆ นอกพระไตรปิฎกมาแต่โบราณ เช่น หากดูบรรณานุกรมของหนังสือไตรภูมิพระร่วง ก็จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นคัมภีร์นอกพระไตรปิฎกทั้งสิ้น ว่ากันว่าภาษาบาลีของพระไตรปิฎกนั้นง่าย ในขณะที่บาลีของอรรถกถาซึ่งแต่งรุ่นหลังจะยากกว่ากันมาก เป็นไปได้ว่านักปราชญ์พุทธไทย อยากโชว์ความสามารถทางภาษาบาลีมากกว่าความรู้ทางพระพุทธศาสนา จึงมักใช้คัมภีร์อรรถกถามากกว่าพระไตรปิฎก

พระจอมเกล้าฯ ทรงชี้ให้เห็นว่าพระไตรปิฎกนั้นมุ่งไปที่เป้าหมายทางศาสนาจริงๆ “ก็ล้วนแต่เป็นทางกถาโลกุตรปฏิสังยุตตาหรือเป็นคำบังคับบัญชาให้ถือศีลบริสุทธิ์จริงๆ ก็คำที่จะแกะและส่อแส่หาสิ่งต่างๆ ที่จะให้เข้าใจศาสนานั้นมีน้อย…” ตรงกันข้ามกับคัมภีร์ประเภทอรรถกถา ฎีกา มักจะเขียนในเชิงล่อเอาลาภ ชอบเน้นเรื่องทานและอานิสงส์ของทาน บางคัมภีร์ยาวถึง 20 ผูก แต่เต็มไปด้วยเรื่องทาน “จะมีคำว่าด้วยศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ แต่สักนิดหนึ่งก็ไม่มี”

2. สืบเนื่องจากข้างต้น พุทธศาสนาของพระจอมเกล้าฯ จึงไม่ใช่เรื่องของการทำบุญทำทาน เพื่อสั่งสมบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปในชาติหน้า แต่หมายถึงการเข้าถึงพระนิพพานหรืออุดมคติสูงสุดทางศาสนาต่างหาก การรับพระไตรสรณาคมณ์ และถือศีล 5 ไม่ใช่เพียงแค่ทำดีเฉยๆ แต่เป็นบันไดขั้นแรกเพื่อบรรลุพระนิพพาน เพราะคนมีศีลย่อมมีสมาธิดีขึ้น “สมาธิตั้งให้มั่น แล้วจึงหันหาปัญญา” แล้วก็จะมองเห็นพระไตรลักษณ์หรืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา (“สุนทราปกาสิทธิ์”) จนบรรลุพระนิพพานได้ เมื่อหมั่นรำลึกและวิเคราะห์ให้เห็นอยู่เสมอ เป็นวิปัสสนา

การปฏิบัติศาสนาของพระจอมเกล้าฯ ไม่ต่างจากคำสอนของท่านพุทธทาส คือไม่ใช่เรื่องของการสั่งสมบุญบารมีเพื่อก้าวหน้าไปในหลายชาติหลายภพจนบรรลุพระนิพพาน แต่เป็นการทำพระนิพพานให้แจ้งแก่ตนเองต่างหาก ผมไม่เคยพบว่าพระจอมเกล้าฯ ทรงกล่าวถึงนิพพานว่า “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” อย่างท่านพุทธทาส แต่นัยยะของคำสอนก็ชัดในตัวอยู่แล้ว และส่วนนี้หายไปในการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ในสมัย ร.5 หรือปฏิรูปศาสนาในมาตรฐานธรรมยุตระลอก 2

หากความเข้าใจของผมไม่ผิด การตีความพุทธธรรม “แบบใหม่” อย่างที่พระจอมเกล้าฯ ทรงสอนนั้น ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลแก่พุทธศาสนาไทยทีเดียว และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่หลักธรรมคำสอนหรือ orthodoxy แน่นอน

3. วชิรญาณภิกขุมีความระแวงหรือไม่ค่อยไว้วางใจพระภิกษุนอกธรรมยุติกนิกายหรือไม่ ผมคิดว่าค่อนข้างไม่ค่อยวางพระทัยและไม่ค่อยเห็นด้วยที่พระภิกษุมักอยู่พ้นออกไปจากการตรวจสอบของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือชาวบ้าน เพราะพระภิกษุเองก็นิยมสอนหรือตีความพระธรรมให้ตนเองศักดิ์สิทธิ์จนคนอื่นล่วงละเมิดมิได้

แต่ตรงกันข้ามกับที่มักจะพูดกันก็คือ พระราชนิพนธ์ที่ติเตียนพระสงฆ์ไทยว่าปฏิบัติไม่ชอบด้วยพระวินัยกลับไม่มี หรือผมไม่เคยพบ แต่ดูท่านจะระแวงไม่ไว้วางใจพระภิกษุอื่นๆ ทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่ในเมืองไทยเท่านั้น แต่เลยไปถึงลังกาด้วย โดยเฉพาะที่ได้เขียนตำรับตำราทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เพราะเมื่อท่านศึกษาแล้ว ท่านพบข้อความที่ท่านเห็นว่าไม่ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าบ้าง หรือถึงขนาดเจตนาบิดเบือนพุทโธวาทเพื่อประโยชน์ตนก็มีบ้าง เป็นต้น

ส่วนความศรัทธาต่อพระสงฆ์ในเมืองไทยนั้น ท่านยกขึ้นมาชี้ให้เห็นว่าไม่เป็นไปตามเจตนาเดิมของพระพุทธศาสนาหลายอย่าง เช่น ท่านทรงอธิบายว่า ในพระอรรถกถานั้นท่านไม่ให้รังเกียจพระสงฆ์ ซึ่งหมายความถึงคณะสงฆ์ (องค์กรของผู้ใฝ่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ) แต่พระภิกษุไปตีความประหนึ่งว่า บุคคลที่เป็นพระภิกษุก็นับเป็นพระสงฆ์ในความหมายนั้นไปด้วย (“ว่าด้วยการในพระพุทธศาสนา”) กลายเป็นว่าการรังเกียจบุคคลในภิกษุภาวะ เป็นสิ่งไม่ควรทำไปด้วย

หรือความเชื่อที่ว่าเมื่อพระภิกษุจะมรณภาพ หาควรมรณภาพทับผ้าเหลืองไม่ ดังนั้น ในสมัยของท่าน พระภิกษุชราที่เจ็บป่วยใกล้จะละสังขาร จึงนิยมสึก เพื่อมิให้ต้องตายทับผ้าเหลืองอันถือว่าเป็นผ้ากาสาวพัสตร์ศักดิ์สิทธิ์ พระจอมเกล้าฯ อธิบายว่าความเชื่ออันนี้ไม่มีในพุทธดำรัสตรงไหน เป็นความเชื่อที่พระสร้างขึ้นให้ฆราวาสเห็นเป็นเพศศักดิ์สิทธิ์จนใครๆ ก็ล่วงละเมิดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือชาวบ้านธรรมดา

ดังนั้น ในความเห็นของพระจอมเกล้าฯ พระภิกษุแต่ละรูปเป็นเพียงบุคคล ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งข้อรังเกียจได้ แต่พระสงฆ์ในความหมายถึงองค์รวมต่างหาก ที่ไม่ควรไปล่วงละเมิด

ถ้าคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างฆราวาสกับพระที่มีมาในพุทธศาสนาไทยตั้งแต่โบราณ ธรรมยุติกนิกายของพระจอมเกล้าฯ จึงเป็นคำสอนที่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินพอสมควรทีเดียว และประเด็นเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบกันเองระหว่างพุทธบริษัทดังกล่าว ก็หายไปในการปฏิรูปธรรมยุตระลอกที่สองเหมือนกัน

4. ธรรมยุตของพระจอมเกล้าฯ เน้นเรื่องใจเป็นใหญ่เหนือพิธีกรรม หรือการกระทำทางร่างกายและวาจา

พระราชนิพนธ์เรื่องหนึ่ง (“คำสอนให้ผู้ปฏิบัติรู้ในทางที่ชอบ”) ทรงอธิบายว่า การนับถือพระพุทธศาสนานั้น ต้องตั้งใจให้ตรงกับเป้าหมายหรืออุดมคติของศาสนา นั่นคือเพื่อหนีทุกข์ ไม่ใช่เพราะนับถือตามๆ กันมา เมื่อกราบไหว้บูชาพระเจดีย์ หรือพระพุทธรูป ก็ต้องทำใจว่า ได้กราบไหว้บูชาพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้อะไรไปหมดทุกอย่าง มีใจโน้มน้าวไปทางที่จะทำตามคำสอน กราบไหว้บูชาพระธรรม ก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่กราบไหว้ใบลาน ฯลฯ

คำสอนของพระพุทธศาสนานั้นสรุปลงเหลือเพียงศีล สมาธิ ปัญญา ท่านเสนอให้ภาวนาด้วยการทำมรณานุสสติอยู่เนืองๆ (“สุนทราปกาสิทธิ์”)

ทั้งหมดเหล่านี้ ท่านอาจารย์ไพศาลท่านอธิบายว่า ธรรมยุติกนิกายของพระจอมเกล้าฯ คืออธิบายหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ให้เป็นเรื่องของชาตินี้ และในลักษณะที่ท่านเรียกว่าเหตุผลนิยม

จะว่าจริงก็จริงอย่างที่ท่านอาจารย์ไพศาลว่าหมดนะครับ เพียงแต่ผมคิดว่ามันมีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่ไม่ตรงกับความเปลี่ยนแปลงทางปัญญาที่ฝรั่งบรรยายไว้ทีเดียวนัก เช่น พระจอมเกล้าฯ พูดถึงอดีตพุทธเจ้าพระองค์แรก คือพระพุทธทีปังกร และการปวารณาของพระพุทธเจ้าองค์ของเราในปัจจุบันอย่างจริงจัง จะเรียกว่าวิทยาศาสตร์หรือเหตุผลนิยมก็กระไรอยู่

ผมก็ไม่มีปัญญาจะหาศัพท์อะไรที่ไม่ได้แปลฝรั่งมา เพื่อเรียกความเปลี่ยนแปลงทางปัญญาของวงการพุทธศาสนาไทยในสมัยที่พระจอมเกล้าฯ ทรงสถาปนาธรรมยุติกนิกายได้ แต่อยากยืนยันว่าความเปลี่ยนแปลงด้านหลักธรรมคำสอนของธรรมยุตมีความสำคัญกว่าหลักปฏิบัติด้านพระวินัย แต่ในภายหลัง กลับไปถือเอาวัตรปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ ของพระธรรมยุติว่าเป็นหลักใหญ่ของการปฏิรูปศาสนาครั้งนั้น

การปฏิรูปศาสนาด้านหลักธรรมคำสอนของพระจอมเกล้าฯ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของธรรมยุติกนิกายนี้ ถูกลืมเลือนหรือไม่ค่อยได้รับความสำคัญในการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ใน ร.5 ลงมา เช่น ไม่ให้ความสำคัญแก่โลกุตรธรรมอีกต่อไป และเนื่องจากต้องการใช้พระสงฆ์เป็นเครื่องมือของรัฐ จึงทำให้รัฐมีอำนาจเหนือคณะสงฆ์ แต่ไม่ต้องการให้อุบาสกอุบาสิกาตรวจสอบคณะสงฆ์ได้อย่างที่พระจอมเกล้าทรงชี้เอาไว้ พระสงฆ์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐไปแล้วจึงไม่ต้องการให้ชาวบ้านตรวจสอบ

ตกมาถึง ร.6 หลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาถูกนำมารับใช้ชาติ และสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเปิดเผยเลย โลกุตรธรรมจึงยิ่งมีประโยชน์น้อยลงไปอีก

ท่านอาจารย์ไพศาลได้อธิบายความแปรเปลี่ยนตรงนี้ไว้ดีแล้วในหนังสือพุทธศาสนาไทยในอนาคต

0000

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 ตุลาคม 2559
ที่มา: matichonweekly.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท