Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้อง 403 ศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัด เสวนาหัวข้อ “14 ตุลา 14 ปี นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค” โดยมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี นพ.วินัย สวัสดิวร อดีตเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อนันต์ เมืองมูลไชย ประธาน เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และพิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ  สื่อมวลชน ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดยผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์

อุดมการณ์รับใช้ประชาชน จากเดือนตุลา

พรหมินทร์ เล่าถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่มีบรรยากาศการเรียกร้องเสรีภาพและความเป็นธรรม รวมทั้งบทบาทของ 3 ประสาน ระหว่างนักศึกษา กรรมกร และชาวนา จนเกิดเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษา 6 ตุลา 2519 ส่งผลให้มีการเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมองทั้งรุ่นเป็นกระแสความคิดที่เป็นอิทธิพลความคิดของบบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย การรับใช้ประชาชน เลยไปถึงแนวคิดแบบสังคมนิยม การที่รัฐต้องเข้ามาดูแลคนยากจน  หลังออกจากป่าสำนึกเรื่องประชาธิปไตยและสังคมก็เลือกอาชีพตัวเองกัน และมีกลุ่มใหญ่มากๆ ที่ไปเป็นเอ็นจีโอ เพื่อทำงานรับใช้สังคม ขณะที่นักศึกษาแพทย์และพยาบาล ที่มีเจตนาการให้บริการประชาชน ที่สอดคล้องกับวิญญาณและเจตนารมณ์ นโยบายสาธารณะสุขจึงส่งเสริมเรื่องนี้ มีนโยบายการกระจายแพทย์ออกไปตามพื้นที่ทำให้ถูกจริตของนักศึกษาแพทย์ภายใต้อุดมการณ์รับใช้ประชาชน ซึ่งโรงพยาบาลชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถพัฒนาสาธารณะสุขมูลฐาน ที่ขณะนั้นนโยบายรัฐเองก็ส่งเสริมสาธารณสุขมูลฐานอีกด้วย

พรหมินทร์ ระบุว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการสาธารณสุขเนื่องจาก นักศึกษาแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารสุขตื่นตัวเรื่องเสรีภาพ มุ่งมั่นทำประโยชน์ให้สังคม มีจิตสำนึกต่อสังคม ในช่วง 3 ปี จนถึง 6 ตุลา 19 กลุ่มนักศึกษาดำเนินกิจกรรมหลากหลาย ทั้งกิจกรรมเพื่อสัคม มวลชน และกิจกรรมทางการเมือง หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ส่วนหนึ่งเข้าป่า ส่วนหนึ่งเรียนต่อ เมื่อเรียนจบก็ทำงานในโรงพยาบาลต่างจังหวัดมีความใกล้ชิดกับชาวชนบท

สำหรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น พรมมินทร์ มองว่า เป็นนโยบายที่พลิกเปลี่ยนระบบการจัดสรรงบประมาณจาก ซัพพรายไซด์ Supply Side เป็นดีมานท์ไซด์ Demand Side ที่จัดสรรงบประมาณตามจำนวนประชากร ทดแทนการจัดสรรตามหน่วยบริการหรือกิจกรรม ส่วนการให้ประชาชนจ่าวย 30 บาทต่อตครั้งนั้น เพื่อลดจำนวนการใช้บริการอย่างพร่ำเพรื่อ หรือ False demand เป็นนโยบายที่เสนอโดยนักวิชาการกระทรวงสาธารณสุข พรรคไยรักไทยเลือกเป็นนโยบายเสนอประชาชนในการรณรงค์เลือกตั้ง โดย 19 ก.พ.44 เมื่อรัฐบาลไทยรักไทยเข้ามาบริหารประเทศก็เริ่มดำเนินการ 10 จังหวัดนำร่องในวันที่ 1 เม.ย.44 นอกจากนี้ พรมมินทร์ ยังระบุด้วยวา ความขัดแย้งในสาธารณสุขนั้นยังขัดกันอยู่ ระหว่างดีมานท์หรือซัพพรายไซด์

ภาพโดย Podjana Walai

จากการรับการสงเคราะห์เป็นการไปใช้สิทธิ สร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

วินัย สวัสดิวร อดีตเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ผู้นำนักศึกษาตอน 14 ตุลา 16 คือคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นผู้ผลักดัน และคนที่เข้ามาผลักดันนโยบายนี้  

วินัย กล่าวด้วยว่า แนวคิดการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นไม่ได้เกิดขึ้นท่ามกลางอากาศ มีการติดต่อกับอียู เริ่มทำเป็นโครงการนำร่อง เพื่อพัฒนาเป็น 30 บาทรักษาทุกโรค ตอนที่จัดทำนโยบาย จริงๆ แล้วหมอสงวน และหมอวิชัย โชควิวัฒน ไม่ได้เสนอแต่พรรคไทยรักไทย แต่เสนอพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ที่เสนอไทยรักไทยแล้วทำได้ ก็อาจเพราะมีคน 14 ตุลา อย่างหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลีและพรหมินทร์อยู่ในนั้นด้วย

วินัย มองว่า 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น ระบบมันเปลี่ยนจากการรับการสงเคราะห์เป็นการไปใช้สิทธิ ที่มีการอ้างถึงรัฐธรรมนูญ 40 ที่มีการระบุถึงสิทธิ การเปลี่ยนระบบจากเดิมใช้ลักษณะสงเคราะห์ เปลี่ยนเป็นสิทธิ มันเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในอดีตหากเงินคนไข้ไม่พอ จะส่งให้นักสงเคราะห์ ที่จะทำหน้าที่ซักเรื่องสถานะทางการเงิน และในใบสั่งยาใช้คำว่า “อน.” ซึ่งย่อมาจาก อนาถา ซึ่งเป็นการสงเคราะห์ แต่เมื่อเป็นสิทธิจึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดต่อบุคลากรด้วย โดย วินัย เล่าว่าระหว่างที่ตนรอรับยาอยู่ พยาบาลถามคนไข้ว่า “คุณป้าๆ ใช้สิทธิอะไร” แสดงให้เห็นว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง ไปถึงความคิดของพยาบาล

วินัย กล่าวอีกว่า เมื่อระบบเปลี่ยน ย่อมส่งผลต่อมุมมองของหมอและพยาบาล การเปลี่ยนจากการสงเคราะห์มาเป็นความรู้สึกของบุคลากรทางการแพทย์เหมือนถูกคุกคามด้วย เนื่องจากเป็นการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนหรือผู้รับบริการในการต่อรอง โดยปัจจุบันความรู้สึกถูกคุกคามอาจจะน้อยลงแล้ว

วินัย กล่าวด้วยว่า นโยบายเริ่มต้นจากคน ที่ผ่านการหล่อหลอมจากเหตุการณืเดือนตุลาทั้งหลาย และไปเห็นความทุกข์ยากของประชาชนจนมาสู่การเขียนเป็นนโยบาย ซึ่งหลายโครงการของรัฐบาลที่ดูเหมือนจะดี แต่ถ้าคนที่เอามาไปปฏิบัติแล้วไม่มีอุดมการณ์ที่จะทำเพื่อประชาชนจริงๆ ก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จ แต่ 30 บาท นั้น มองว่าสำเร็จ  

รธน.40 และ รัฐบาลที่เข้มแข็ง ลดความศักดิ์สิทธิ์ของหมอ

พิเชฐ กล่าวว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นผลมาจากตัวรัฐธรรมนูญ 40 มีการระบุถึงสิทธิ รวมทั้งวางเงื่อนไขให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่เข้มแข็งทำให้รัฐบาลสามารถผลักดันนโยบายได้อย่างเต็มที่  

“30 บาทเปลี่ยนจากความศักดิ์สิทธิเป็นศักดิ์ศรี ไปลดความศักดิ์สิทธิ์ของหมอ” พิเชฐ กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่า เมื่อบวกกับเรื่องที่พรรคไทยรักไทยทำคือการปฏิรูประบบราชการ ที่หน่วยแพทย์ก็ถูกปฏิรูปไปด้วย และการปฏิรูปการบริการประชาชน ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการเหล่านี้ได้เข้าถึงได้มากขึ้น

พิเชฐ กล่าวถึงคนทำงานออฟฟิตหรือคนงานคอปกขาวด้วยว่า คนเหล่านี้เขามองว่าเขาไม่จำเป็นต้องใช้ 30 บาท รักษาทุกโลก เพราะมีประกันสังคมและประกันชีวิตต่างๆ และนโยบายนี้ทำให้ฐานคะแนนไทยรักไทยไม่ใช่กลุ่มเดียวกับเขา จึงไม่สนับสนุน จนมีวาทกรรมออกมาลดทอนสิทธินี้  ส่วนใหญ่คนที่พูดไม่ได้ใช้ คนที่ใช้ไม่ได้พูดออกมา

การให้สิทธิด้านสุขภาพต่างๆ ซึ่งระบบประกันสุขภาพไทยมี 3 แท่ง ประกอบด้วย 30 บาทหรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  ประกันสังคม และสวัสดิการราชการ ถ้าไปดูสวัสดิการราชการจะได้สูงที่สุด แต่แท่งที่เป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากลับน้อยสุด มันแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันบางประการ ของระบบ

พิเชฐ ยังกล่าวถึงข้อกังวลในร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติไปนั้น ว่า มีปัญหาเรื่องสิทธิในหลักประกันสุขภาพหรือไม่ จะย้อนกลับไปสู่ก่อนยุคที่เรามี 30 บาท หรือไม่ ทั้งที่เราจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากการจะเป็นสังคมผู้สูงอายุในอนาคต

เป็นกฎหมายที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลักดันผ่านกลไก รธน.40

อนันต์ เมืองมูลไชย ประธาน เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ได้กล่าวถึงการเกิดขึ้นของสวัสดิการด้านสุขภาพในไทย ว่า กลุ่มที่ได้กลุ่มแรกคือข้าราชการ ต่อมาคือแรงงานในระบบผ่านระบบประกันสังคม ขณะที่ชาวบ้านได้ทีหลังสุด

อนันต์ เล่าการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของเครือข่าย ว่า เนื่องจาก รัฐธรรมนูญ 40 มีการพูดถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และมีกระบวนการล่ารายชื่อ 5 หมื่น รายชื่อ เพื่อประกอบการยกร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลังจากมีกระบวนการล่ารายชื่อปี 43 จนปี 45 ก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะเข้าสภา อย่างไรก็ตามชาวบ้านมองว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองนี้เป็นนโยบาย แต่ความเป็นจริงเป็นตัวกฎหมาย

อนันต์ ยังกล่าวถึงข้อกังวลต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติไปนั้นจะส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ด้วย ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว มาตรา 47 วรรคสอง เขียนกำกับไว้ว่า “ผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” นั้นหมายความว่าจะเป็นอย่างไร แล้วสิทธิของประชาชนจะอยู่ตรงไหน หรือจำกัดเป็นสงเคราะห์ให้ผู้ยากไร้เท่านั้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net