Skip to main content
sharethis

นักวิชาการจากออสเตรเลียพาย้อนไปดูวิธีล้างผิดผ่านระบบกฎหมายในช่วงหลัง 6 ตุลา ผู้เกี่ยวข้องมีความกังวลมากกว่าจะโดนดำเนินคดี พร้อมกันนี้ยังนำเสนอการคุมขังนักโทษการเมืองและซ้อมทรมานหลังจากนั้น โดยขุดค้นหลักฐานการบันทึกของกลุ่มคนที่ทำงงานด้านสิทธิซึ่งนับเป็นการจดจารึกประวัติศาสตร์อีกด้านที่สำคัญ

การอภิปรายหัวข้อ "การละเมิดแบบเดิมแต่การปิดกั้นแบบใหม่: รัฐและสิทธิมนุษยชนหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม" นำเสนอโดย ไทเรล ฮาร์เบอร์คอร์น

ช่วงถาม-ตอบ การจัดเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 ในหัวข้อ ความขัดแย้งและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (impunity) ในสังคมไทย ช่วงเช้า

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2559 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการจัดเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 ในหัวข้อ ความขัดแย้งและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (impunity) ในสังคมไทย จัดโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการจัดงาน 40 ปี 6 ตุลาคม 2519

ในงานดังกล่าวมีการนำเสนองานวิชาการหลายเรื่อง คือ 1.ความขัดแย้งทางชนชั้นกับการเมืองมวลชนรอยัลลิสต์: ความย้อนแย้งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับพระราชอำนาจนำในสังคมไทย โดย เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. 2.การลดทอนความเป็นมนุษย์ พื้นที่ทางศีลธรรม และความรุนแรง: จาก “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ถึง “กำจัดเสี้ยนหนามแผ่นดิน” โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. 3. การละเมิดแบบเดิมแต่การปิดกั้นแบบใหม่: รัฐและสิทธิมนุษยชนหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม โดย ไทเรล ฮาร์เบอร์คอร์น อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งชาติอสเตรเลีย

- - - - - - - - - -  - -

ไทเรลกล่าวว่า บทความนี้ตีพิมพ์ในวารสารฟ้าเดียวกัน ซึ่งเป็นบทหนึ่งในหนังสือที่เพิ่งเขียนเสร็จไม่กี่วันก่อนเรื่องการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ คำถามหลักในหนังสือมี 3 ประเด็น

ประเด็นแรก ในแต่ละกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงต่อประชาชน มีการใช้วิธีไหนบ้างในการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ เราพบว่ามีหลายวิธี ทั้งใช้กฎหมายเป็นเสื้อเกราะป้องกัน ใช้ระบบพรรคพวกป้องกันเพื่อนๆ หรือปฏิเสธหรือโกหกโดยตรงว่าไม่ได้ใช้ความรุนแรงก็มี

ประเด็นที่สอง ประชาชนใช้วิธีไหนในการตอบโต้ความรุนแรงนี้ วิธีการต่อต้านตอบโต้เปลี่ยนอย่างไรตามเวลาและสถานการณ์ทางการเมืองและสถานการณ์ทางศีลธรรมในแต่ละช่วง เราสรุปได้ว่า ในทุกยุคทั้งในรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลการเลือกตั้ง มีประชาชนที่ลุกขึ้นแสวงหาความจริงและความยุติธรรมทั้งสิ้น แต่รัฐไม่สนใจฟัง

ประเด็นที่สามซึ่งเกี่ยวข้องชัดเจนกับที่จะพูดในเวทีนี้ คือ สิทธิมนุษยชนทั้งในเชิงหลักการกับการเคลื่อนไหวของประชาชน มีความหมายหรือผลกระทบต่อการลอยนวลพ้นพิษอย่างไร มีข้อสรุปว่า 35-40 ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของประชาชนเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้รัฐรับผิดชอบแต่รัฐก็ยังไม่ยอม อย่าไงรก็ตาม แม้ว่ารัฐไม่ยอมรับผิด แต่การทำงานของนักสิทธิมนุษยชนก็เป็นการบันทึกหลักฐาน เป็นการบันทึกด้วยความกล้าหาญของประชาชนซึ่งนับเป็นต่อสู้เหมือนกัน ยิ่งกว่านั้น คำถามที่ยังคิดไปเรื่อยๆ ไม่มีข้อสรุปคือรัฐบาลไทยเองก็สนใจและร่วมมือในหลักการสิทธิมนุษยชนในทางสากลด้วย ไม่ว่ารัฐบาลเผด็จการหรือกึ่งประชาธิปไตย รัฐเองก็ใช้วาทกรรมสิทธิมนุษยชนตลอด ยิ่งกว่านั้นรัฐยังสามารถใช้กลไกสิทธิมนุษยชนในการลบล้างกลบเกลื่อนการใช้ความรุนแรงเสียเอง ระบบที่เราคิดว่าจะปกป้องเราไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิกลับกลายเป็นเครื่องมือทำให้รัฐให้ลอยนวล

“อยากเสนอว่า การสังหารหมู่ 6 ตุลาเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อกับกระบวนการล้างผิด เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้กระบวนการใหม่ของการปิดกั้นความจริงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน กระบวนการนี้เริ่มต้นไม่กี่วันหลังการสังหารหมู่ นั่นคือ การออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม 2 ฉบับ” ไทเรลกล่าว

เธอขยายความว่า จริงๆ เป็นเรื่องปกติที่หลังการรัฐประหาร จะมีการออกรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีมาตราที่นิรโทษกรรมสำหรับการก่อรัฐประหาร หรือไม่เช่นนั้นก็ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นการเฉพาะ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่รัฐประหารเมื่อปี 2519 ก็ปฏิบัติตามธรรมเนียมโดยดูจากมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญปี 2519 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2519 ยกความผิดกับการรัฐประหารและการกระทำอื่นๆ ทั้งหมดของคณะทหาร แต่การออกรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผู้มีส่วนร่วมบางคนกับการก่ออาชญกรรมวันนั้นรวมอยู่ด้วยและกังวลว่ารัฐธรรมนูญใหม่นี้ยังไม่เพียงพอจะปกป้องตนเอง จึงมีการร่วมมือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงกลาโหม สภานิติบัญญัติ รีบยกร่างและผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีกฉบับให้ได้ก่อนสิ้นปี 2519 ถ้าอ่านกฎหมายนี้และพิจารณาแต่ละมาตราก็ดูคล้ายๆ กับพ.ร.บ.นิรโทษกรรมอื่นๆ แต่เมื่ออ่านบันทึกประชุมการแก้ไขพ.ร.บ.นี้และการอภิปรายที่รัฐสภาจะเห็นได้ชัดว่า พ.ร.บ.นี้ไม่ได้นิรโทษกรรมเฉพาะการก่อรัฐประหารเท่านั้น แต่เป็นการนิรโทษกรรมที่ครอบคลุมไปถึงการสังหารหมู่ด้วย ที่เห็นชัดคือ คนที่ไปร่วมประชุมร่างกฎหมายและอภิปรายในสภา มีการพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นห่วงว่าจะถูกดำเนินคดีจากการกระทำในวันนั้น โดยที่ผู้ร่วมอภิปรายในวันนั้นไม่ใช่กลุ่มทหารระดับสูงที่ยึดอำนาจเสนีย์ ปราโมทย์ แต่อย่างใด เช่น มีตัวแทนกระทรวงกลาโหมที่แสดงความกังวลว่า มาตราที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญที่จะออกนั้นไม่ได้ครอบคลุมทหารระดับพลทหาร

ไทเรลระบุว่า เธออ่านเอกสารนี้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตอนนั้นเมื่อพบข้อมูลส่วนนี้ก็งงว่าทำไมจึงต้องการให้ พ.ร.บ.ครอบคลุมถึงระดับพลทหาร นอกจากนี้ ในการอภิปรายในสภานิติบัญญัติคนส่วนใหญ่แม้พูดแบบไม่ได้ระบุแน่ชัดโดยพูดว่า “การกระทำในวันนั้น” แต่ก็บอกด้วยว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการแสดงความจงรักภักดี ในการอภิปรายในวันนั้น มีผู้หญิงคนหนึ่งพูดว่า ตนเองเป็นประชาชนธรรมดา เป็นแม่บ้าน เพื่อนๆ ของเขาให้คำปรึกษาว่าควรรีบผ่านนิรโทษกรรมฉบับนี้ เพราะการกระทำในวันนั้นอาจถูกดำเนินคดีและถูกประหารชีวิต ก็งงงอีกว่า ทำไมประชาชนแม่บ้านธรรมดาทำไมต้องกลัวถูกดำเนินคดีแบบนั้น ในที่สุดคนทั้งสภาก็เห็นด้วย และผ่านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกมาเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2519 ทหารที่เปิดประเด็นในสภาบอกว่า ถ้าผ่านก่อนสิ้นปีก็จะได้เป็นของขวัญปีใหม่

ต่อมาอีก 20 เดือน ในเดือนกันยายน 2521 ก็มีการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีกฉบับเพื่อนิรโทษให้แก่ผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลโดยตรงคือ นักศึกษาและนักเคลื่อนไหว 18 คนที่ถูกจับและตั้งข้อกล่าวหาอย่างร้ายแรงและถูก ดำเนินคดีอย่างอยุติธรรมในศาลทหารได้รับการปล่อยตัว แต่เช่นเดียวกับฉบับแรก ฉบับที่สองนี้ก็มีอีกเจตนาหนึ่งที่อยู่ระหว่างบรรทัดเหมือนกัน ธนาพล อิ๋วสกุล ตีความไว้ว่า การไต่สวนในศาลของนักศึกษา 18 คนนั้นทำให้ “โจทก์จะกลับกลายเป็นจำเลย” ผู้มีอำนาจเริ่มห่วงว่าหากมีการพิจารณาต่อไปอาจมีปัญหา แทนที่จะเป็นการไต่สวนเพื่อเอาผิดนักศึกษาประชาชน กลับกลายเป็นการเปิดโปงความรุนแรงในการสถาปนาระบอบเผด็จการในเหตุการณ์ 6 ตุลาแทน การผ่านนิรโทษกรรมฉบับนี้จึงเป็นไปได้ว่าจะเป็นการปกป้องตัวเองจากการถูกดำเนินคดีเช่นกัน

จริงๆ มีอีกหลายกรณีที่ประเทศอื่นก็มีอะไรแบบนี้ แต่ลักษณะที่ทำให้กระบวนการตรงนี้ของไทยเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญคือ ผู้กระทำเองสำนึกว่าต้องปกป้องตนเองและพรรคพวกให้รอดจากการลงโทษและมีการพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะ

ขอเสนอว่า สำนึกใหม่เช่นนี้เกิดจากสาเหตุหลักสองประการ คือ

1.ความทารุณของการสังหารหมู่ที่ทั้งโหดร้ายและเปิดเผยต่อสาธารณะนั้น ไม่ว่าฝ่ายขวาจะใช้วาทกรรมลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็โหดร้ายอย่างมาก คนเกี่ยวข้องก็อาจสำนึกได้ ยิ่งกว่านั้นการอ้างความจงรักภักดีในกระบวนการร่างและรีบผ่านพ.ร.บ.ดังกล่าว ยิ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้กระทำรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นผิดกฎหมาย ผิดกฎความเป็นมนุษย์

2.ระหว่างปี 2519-2520 เกิดการเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนสากล สิทธิมนุษยชนเป็นพื้นที่ของรัฐและสหประชาชาติเท่านั้น ทั้งในการนิยามความหมาย การบันทึกข้อมูล การรณรงค์และการส่งเสริมมนุษยชน ในปี 2520 ปรากฏการเคลื่อนไหวขององค์กรนิรโทษกรรมสากลหรือ AI (Amnesty International) ซึ่งตั้งมาแล้ว 15 ปีในตอนนั้น สิ่งที่ AI ทำใหญ่และมีพลังพอจะได้รับรางวัลโนเบล จึงเริ่มมีการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย ปี 2517 มีการตั้ง สสส. หรือสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ปี 2519 เกิดกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ภายหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา มีรัฐบาลธานินทร์-เกรียงศักดิ์-เปรม รวมแล้วกินเวลา 12 ปี ในช่วง 12 ปีนี้มีการละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่องโดยเจ้าหน้าที่รัฐ การสังหารหมู่ 6 ตุลาไม่ใช่เป็นวันสิ้นสุดความรุนแรง แต่เป็นการเปิดยุคใหม่ของการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน เช่น การกักขังโดยมิชอบ การซ้อมทรมาน การฆ่าตัดตอน การอุ้มหาย

ในช่วงนี้รัฐไทยใช้ความรุนแรงรูปแบบใหม่ในการละเมิดประชาชน การพูดถึงสิทธิมนุษยชนในช่วงนั้นกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของการลอยนวลพ้นผิด ปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐเหมือนกัน เรื่องนี้ได้เขียนแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนหนึ่ง เขียนถึงคำให้การของอาจารย์ป๋วยที่ให้กับรัฐสภา ส่วนนี้มีการคัดสรรแปลเป็นไทยบางส่วน แต่หากต้องการอ่านทั้งหมดต้องอ่านภาษาอังกฤษซึ่งหาได้ไม่ยากในอินเทอร์เน็ต ตอนที่สองพูดถึงการเรียกร้องความเป็นธรรมของแอมเนสตี้ (AI) แล้วก็พบว่ากระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ตอบโต้อย่างแปลกประหลาด เป็นการหลบเลี่ยงโดยใช้คำว่าสิทธิมนุษยชนเพื่อประโยชน์ตนเอง สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือรัฐเข้าไปร่วมในสิ่งที่เหมือนว่าเป็นกระบวนการรับผิดชอบ แล้วใช้เรื่องนี้เป็นการปิดกั้นการพูดเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน

ตั้งแต่ปี 2491 มีกระทรวงต่างๆ มีส่วนร่วมในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แต่เขตงานของกระทรวงการต่างประเทศถูกปรับเปลี่ยนตอนปี 2521 ตอนที่ AI รวบรวมข้อมูลเรื่องการละเมิดสิทธิของประชาชน มีการรณรงค์ให้สมาชิกเขียนจดหมายประท้วง เราพบว่าในหอจดหมายเหตุของกระทรวงการต่างประเทศ มีแฟ้มเก็บจดหมาย 88 ฉบับจากสมาชิก AI ที่พูดถึงนักโทษการเมือง 28 คนในตอนนั้น แม้ว่าไม่มีการตอบกลับจากกระทรวงการต่างประเทศ แต่ก็มีหลักฐานว่ากระทรวงการต่างประเทศทำอะไรเมื่อได้รับจดหมายนี้ เช่น เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในเนเธอร์แลนด์เขียนถึงกระทรวงการต่างประเทศในไทยว่า ข้อกล่าวหาต่อรัฐบาลมองดูแล้วยังขาดความเข้าใจทางกมฎหมายแต่มองมุมสิทธิมนุษยชนมากเกินไป กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้ทิ้งจดหมายต่างๆ ที่สอบถามเรื่องนี้แต่ไปขอข้อมูลคดีต่างๆ ทั้งจากศาลทหารและศาลอาญา เหตุผลเบื้องหลังปรากฏในจดหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศเขียนถึงเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมในเดือนกรกฎาคม 2521 ว่าเพราะกระทรวงการต่างประเทศอยากให้ข้อมูลที่ถูกต้อง

“ดิฉันอยากเสนอว่า ข้อมูลที่กระทรวงการต่างประเทศรวบรวมเพื่อให้ตอบจดหมายฉบับต่างๆ แล้วเก็บในหอจดหมายเหตุเองนั้น เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เป็นข้อมูลเท็จ เป็นหลักฐานของการโกหกชนิดหนึ่ง ควรตั้งคำถามการที่กระทรวงการต่างประเทศแสวงหาข้อมูลที่ไม่จริง แสดงให้เห็นการปิดกั้นการแสดงหาความจริงที่รัฐกระทำความรุนแรงได้อย่างไร” ไทเรลกล่าว

เธอกล่าวอีกว่า มีการสอบถามจากกระทรวงการต่างประเทศด้วยว่า มีการซ้อมทรมานหรือไม่ มีความล่าช้าในการพิจารณาคดีจริงหรือเปล่าในแต่ละกรณี ทั้งกระทรวงมหาดไทยและกลาโหม ปฏิเสธทันทีว่าไม่มีทั้งสองกรณี ยกตัวอย่างเช่น การตอบจดหมายในเดือนกรกฎาคม 2521 เรื่องนักศึกษา 18 คนและอื่นๆ กระทรวงมหาดไทยตอบว่า “ทางเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมอย่างถูกต้องแล้ว และมิได้มีการทรุนณกรรมในการสอบสวนผู้องหาเพื่อให้รับสารภาพ”

จึงอยากเสนอว่า การที่กระทรวงการต่างประเทศเก็บหลักฐานไว้ เป็นไปเพื่อสร้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่ากระทรวงการต่างประเทศเป็นกระทรวงที่ห่วงใยเรื่องสิทธิมนุษยชนและยินดีให้ความร่วมมือกับการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนสากล และน่าจะเป็นที่เข้าใจอย่างดีในหน่วยงานของรัฐว่า ต้องไม่ให้มีการรับรองว่ามีการซ้อมทรมาน แม้ในการตอบจดหมายภายในระหว่างกระทรวง

ถ้าเราจะต่อต้านการปิดกั้นข้อมูลการกักขังและการซ้อมทรมานนักโทษการเมือง 28 คน ควรจะต่อต้านอย่างไร วิธีหนึ่งคือ การเขียนต่อต้านประวัติศาสตร์ของกระทรวงการต่างประเทศ และอีกวิธีหนึ่งคือ เปิดเผยประสบการณ์และเสียงของเหยื่อที่ถูกซ้อมทรมานทั้ง 28 คน หลักฐานที่สำคัญที่เจอในส่วนนี้คือจดหมายข่าวของกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ซึ่งติดตามเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นปี 2520 เป็นต้นมา เขาเป็นกลุ่มที่รวบรวมกรณีการละเมิดสิทธิแล้วเผยแพร่เป็นจดหมายข่าวภาษาอังกฤษ มันกลายเป็นแหล่งข้อมูลที่กลุ่มต่างประเทศใช้ในการเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชนในไทยในช่วงเวลานี้ จากการสืบค้นรายชื่อผู้ถูกคุมขังทั้ง 28 คน สืบหาได้เพียง 27 คนจากจดหมายข่าวดังกล่าว ภาพรวมที่ได้จากจดหมายข่าวของกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อนสังคมแสดงให้เห็นว่า 27 คนนี้เป็นประชาชนที่ประสบกับความรุนแรง เพราะต้องการเคลื่อนไหวไม่ว่าบนดินหรือใต้ดินเพื่อประท้วง ต่อต้านการกระทำของรัฐ หรือแสดงความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ หรือบางกรณีก็แทบไม่มีเหตุผลเลย ขอยกตัวอย่างที่กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคมรวบรวมข้อมูลไว้คนหนึ่งในจำนวนนั้น เป็นคนที่กระทรวงการต่างประเทศปฏิเสธว่าเขาไม่ได้ถูกซ้อมทรมาน เขาคนนั้นคือ เจ้ง แซ่ตัน เป็นกลุ่มครูและชาวนาชาวไร่ เขาถูกจับในเดือนพฤศจิกายน 2519 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชโดยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และกล่าวหาว่าฆ่าทหาร 12 คน เขาถูกคุมขัง แต่ก็ส่งจดหมายหากลุ่มนี้ แล้วเล่าถึงการซ้อมทรมาน เขาเขียนว่า ทหารสลับกันทำร้ายร่างกายเป็นเวลาหลายวัน ทั้งตี เตะ และขู่ว่าถ้าไม่รับสารภาพจะถูกฆ่า สุดท้ายเขาเลือกสารภาพเพราะกลัวว่าจะโดนฆ่า เขาไม่มีโอกาสแม้แต่อ่านสิ่งที่กำลังรับสารภาพด้วยซ้ำ ทำได้เพียงลงชื่อรับอย่างเดียว เมื่อถึงกระบวนการในศาลเขาเบิกความว่าถูกซ้อมทรมานและถูกบังคับให้รับสารภาพ ต่อมาวันที่ 20 พ.ย.2522 ศาลยกฟ้อง ผู้พิพากษาบอกว่าหลักฐานไม่เพียงพอ แต่ไม่ได้ระบุถึงการซ้อมทรมานในคำพิพากษา

“ดิฉันเชื่อว่า มีอีกหลายร้อยหรืออาจถึงหลายพันคนที่ถูกกระทำทารุณจากรัฐหลังจาก 6 ตุลา หวังว่าในอนาคตจะมีโอกาสบันทึกและเผยแพร่ข้อมูลความจริงที่เกิดขึ้น” ไทเรลกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net