สนช. สรุปขอบเขตคำถามพ่วง ชี้ ส.ว. มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯคนนอก หากรอบแรกตกลงกันไม่ได้

วิป สนช. สรุปประเด็นขอบเขตคำถามพ่วง ชี้ให้อำนาจ ส.ว. เสนอชื่อนายกได้ หากรายชื่อในตะกร้าของพรรคการเมืองมีปัญหา ตกลงกันไม่ได้ เปิดช่อง ส.ว. เสนอชื่อนายกฯ ให้รัฐสภาโหวต กี่ครั้งก็ได้ภายใน 5 ปี แรก

23 ส.ค. 2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า  นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 ส.ค. นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเสนอแนะ และรวบรวมความเห็น เพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช. เพื่อสรุปความเห็นคำถามพ่วงที่ กมธ. ส่งให้ กรธ. นำไปพิจารณา ขณะนี้ถือเรื่องคำถามพ่วงของสนช.ถือว่านิ่งแล้ว นั่นคือ การพิจารณาเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกให้ ส.ส.และ ส.ว. สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา แต่หากไม่สามารถดำเนินการเลือกนายกฯตามบัญชีพรรคการเมืองได้ จะเข้าสู่ก๊อกสองคือ ให้สมาชิกรัฐสภา ซึ่งหมายความรวมถึง ส.ว. มีสิทธิเสนอรายชื่อบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นอกเหนือจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอมาได้ หมายถึงมีสิทธิเสนอชื่อคนนอกเป็นนายกฯได้ ทั้งนี้ภายใน 5 ปีแรก หากมีการเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อใด ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวทุกครั้ง หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกรธ. ว่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของ สนช. หรือไม่ ถ้า กรธ. จะตีความแบบแคบ ตามลายลักษณ์อักษรก็ไม่เป็นไร แต่ สนช .ตีความแบบกว้าง ทั้งนี้หลังจากที่ กรธ. แก้ไขปรับปรุงบทเฉพาะกาลเรียบร้อยแล้ว ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้งว่า มีความสอดคล้องกับคำถามพ่วงหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมูญเรียกสนช.ไปชี้แจง ก็พร้อมไปให้ข้อมูล

ด้าน ธานี อ่อนละเอียด สมาชิก สนช. กล่าวว่า ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ให้ ส.ส. พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ แต่หากว่า ส.ส. ไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯได้ก็ให้ ส.ส. เข้าชื่อไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ จำนวนสมาชิก ส.ส. เท่าที่มีอยู่ เช้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ซึ่งก็จะเป็นตามมาตรา 272 เพื่อขอยกเว้นให้เสนอชื่อนายกฯนอกบัญชีได้ แต่เมื่อคำถามพ่วงประชามติผ่านก็ต้องกลับมาพิจารณาว่า กระบวนการเลือกนายกฯนั้นจะเริ่มตั้งแต่แรกหรือไม่ โดยพิจารณาจากข้อความในคำถามพ่วงประชามติที่ว่า ร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะเห็นว่า ส.ว. จะต้องดำเนินการตั้งแต่ต้นจนจบ เหมือนที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ที่พูดชัดเจนคือ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งก็เปรียบเหมือนศาลที่จะมีคำติดสินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการไต่สวน สืบพยาน จนนำไปสู่การพิพากษา ดังนั้น ส.ว.จะร่วมพิจารณาโหวตนายกฯตั้งแต่เริ่มแรก โดยเลือกของบัญชีของพรรคการเมืองที่เสนอมา ยกเว้นกรณีไม่สามารถเลือกบัญชีรอบแรกได้ก็จะเข้าเงื่อนไขที่ให้ส.ว.มีสิทธิ์ เสนอชื่อนายกฯในรอบสองได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท