Skip to main content
sharethis

รักษ์ชาติ วิเคราะห์ปัญหาการผูกตัวเองเข้ากับผลแพ้ชนะและการประเมินที่ผิดในทางวิทยาศาสตร์ พร้อมยก 4 ประเด็นที่ประชามติไม่แฟร์ไม่ฟรีตั้งแต่เริ่ม ษัษฐรัมย์โต้ไม่ควรเทียบอุปลักษณ์เหมือนกับสู้ในสนามรบ ระบุต่อให้ฟรีและแฟร์แต่ตัวเลือกเดิมก็เป็นของเก๊ ย้ำเอาประชามติประเทศประชาธิปไตยมาเทียบถือว่าผิดฝาผิดตัว จิตรายันไม่รับผลประชามติ

เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่ม Group of Comradesจัดเสวนา หัวข้อ  “เราควรตีความผลประชามติ 59 อย่างไร?” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยช ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ จิตรา คชเดช สมาชิกพรรคพลังประชาธิปไตย และรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ นักกิจกรรม

ประเมินที่ผิดพลาดและการผูกตัวเองเข้ากับผลแพ้ชนะ

รักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ กล่าวว่า ตนมี 3 ประเด็นที่จะพูด เป็นเรื่องการประเมินของนักกิจกรรมที่ทำกันมาตลอดตั้งแต่มีการประกาศว่าจะมีการลงประชามติ เรื่องสองจะเป็นเรื่องกระบวนการในการทำประชามติ เรื่องความไม่ฟรีและไม่แฟร์ สาม เรื่องท่าทีขององค์กรต่างๆ

เรื่องการประเมินปัญหาที่ผ่านมาของทั้งกิจกรรมทั้งโหวตโนและโนโหวต หรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) นั้น ขาดการประเมินที่เป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ ที่ผ่านมาใช้ข้อมูลโดยที่ไม่มีแหล่งอ้างอิง ใช้ข้อมูลจากปีที่แล้วและปีที่ผ่านๆ มา แต่ไม่มีการไปลงพื้นที่หรือใช้นักสถิติทางด้านการเลือกตั้ง ทำให้หลายกลุ่มประเมินสูงเกินความเป็นจริง หลายฝ่ายรวมตัวเลขที่สนับสนุนเพื่อไทยมารวมด้วย และเมื่อประชาธิปัตย์พูดว่าไม่เอา รธน.  ก็ใช้ตัวเลขของการเลือกตั้งครั้งที่แล้วมาในการรวมตัวเลข เพื่อบอกว่าตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่โหวตโน ซึ่งการประเมินแบบนี้เป็นการประเมินที่ผิดในทางวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องที่ผิดพลาด และเมื่อทำแบบนี้มันทำให้นักกิจกรรมหลายคนไปผูกตัวเองเข้ากับผลคะแนน

“ผูกตัวเองจากการที่บอกว่าเป็นการการรณรงค์ธรรมดา กลายเป็นหลายคนพอรณรงค์มากๆ ก็อินเข้าไปเรื่อยๆ แล้วก็ผูกตัวเองเข้ากับผลคะแนนที่ตัวเองเชื่อว่าจะชนะ มันก็เลยกลายเป็นชนะกับแพ้ ผูกตัวเองไปกับเรื่องที่ว่าโหวตโนชนะท่วมท้นแน่นอน จากการประเมินจากเพื่อไทยประชาธิปัตย์รวมกัน มันทำให้พอโหวตโนไม่ได้เสียงอย่างที่ต้องการหรือว่าพอผลออกมารับร่างรัฐธรรมนูญนี้ ก็เลยคิดว่ามันเป็นการแพ้กันเป็นการชนะกัน ซึ่งสำหรับผมเองภายใต้กติกาแบบนี้มันไม่ควรเรียกว่าแพ้หรือชนะด้วยซ้ำ” รักษ์ชาติ กล่าว

4 ประเด็นที่ประชามติไม่แฟร์ไม่ฟรีตั้งแต่เริ่ม

รักษ์ชาติ กล่าวว่า เรื่องที่สอง เรื่องความไม่ฟรีและไม่แฟร์ จะแบ่งได้เป็น 4 ส่วน หนึ่งคือเรื่องการจับกุมข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่หลักรัฐประหาร มีการสร้างบรรยากาศความกลัว บรรยากาศเหล่านี้ไม่เอื้อต่อการทำประชามติที่เสรี ตนเองก็โดนจับ และหลายคนตั้งแต่การประกาศวันประชามติก็มีคนถูกจับจำนวนมาก พ.ร.บ.ประชามติเองก็มีปัญหา

สองคือการไม่เปิดโอกาสให้ต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ประชามติ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก รัฐบาลไม่อนุญาตให้กลุ่มแอนเฟลสังเกตการณ์ประชามติได้ มันส่งผลให้กระบวนการตั้งแต่ก่อนประชามติและลงประชามติไม่โปร่งใส เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ ล่าสุดมีคลิปที่กรรมการประจำหน่วยไม่ขาดคะแนนและไม่แสดงใบลงคะแนนที่ถูกนำออกมาเผยแพร่ต่อในโซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ด้วยการที่ไม่มีการสังเกตการณ์อย่างเป็นระบบทำให้เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าจะมีเหตุการณ์นี้ในหน่วยอื่นๆ หรือไม่ โดยเฉพาะหากเป็นการสังเกตการณ์อย่างไม่เป็นทางการโดยชาวบ้านธรรมดาก็อาจไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัวหรือเสนอสิ่งที่ผิดปกติด้วย

ข้อที่สามและสี่จะเป็นปัญหาคล้ายๆ กันคือปัญหาของ กกต. เอง ที่ไม่เปิดโอกาสให้บรรยากาศประชามติมันฟรีและแฟร์ กกต. ให้ข้อดีของ รธน. และแจกไม่ครบทุกบ้าน เจ้าหน้าที่ กกต. ทำงานไม่มีมาตรฐาน บางหน่วยไม่ขอดูบัตรประชาชน บางหน่วยไม่ชูผลคะแนน เป็นต้น ประเด็นที่ยกมานั้นทำให้ประชามติครั้งนี้ไม่แฟร์ไม่ฟรีตั้งแต่เริ่มเลย

“ต่อให้คะแนนออกมาอย่างไร แต่ตัวกระบวนการมันผิดมันไม่ได้มาตรฐานสากล จะถามว่ามันควรเรียกประชามติหรือเปล่า” รักษ์ชาติ กล่าว

รักษ์ชาติ กล่าวด้วยว่า เรื่องท่าทีต่อไป ตัวขบวนการประชาธิปประไตยใหม่ หรือ NDM เอง เท่าที่เห็นก็ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนมาก แต่ก็ออกม่ายอมรับผล ในส่วนตัวเองตนคิดว่าเขาก็รู้ว่ากระบวนการมันไม่ฟรีไม่แฟร์ แต่ไม่แน่ใจเรื่องการใช้คำในแถลงการณ์ แต่เข้าใจว่าเขาต้องการพูดว่ามันต้องเคารพผล ส่วนว่าจะทำอะไรต่อไปนั้นก็ยังไม่แน่ชัด แต่โดยส่วนตัวตนนั้นไม่สามารถรับได้กับกระบวนการแบบนี้ ไม่สามารถรับได้กับกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ฟรีไม่แฟร์ และไม่ควรเรียกกระบวนการนี่ว่าประชามติด้วยซ้ำ

แย้งเทียบอุปลักษณ์เหมือนกับการไปสู้ในสนามรบ

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กล่าวถึงการวิเคราะห์ผลประชามติ ครั้งนี้ แล้วก็ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากวันที่ 7 สิงหา

“เราไม่จำเป็นต้องมีการยอมรับผลประชามติ และผมก็ไม่เห็นด้วยกับการเปรียบเทียบอุปลักษณ์เหมือนกับการไปสู้ในสนามรบ และในการแข่งชกมวยแข่งวอลเลย์ได้อย่างเต็มที่แล้วก็เชิดหน้าชูตายอมแพ้ในสนามรบแบบนี้ ผมว่าเปรียบเทียบแบบนี้มันหยาบเกินไป และมันไม่ดีทั้งในแง่หลักการและยุทธวิธีด้วย” ษัษฐรัมย์ กล่าว

ต่อให้ฟรีและแฟร์แต่ตัวเลือกเดิมก็เป็นของเก๊

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ประเด็นแรกสมติว่าการทำประชามติครั้งนี้มันฟรีและมันแฟร์ และก็ไม่มีเฟียร์ ไม่มีความกลัว ประชามติครั้งนี้จะชอบธรรมไหม สมติ คสช. เปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเต็มที่เลยและมีการให้ลงคะแนนเสียง ลงคะแนนนอกเขตได้สะดวก แต่ชอยส์(ตัวเลือก)ยังเป็นแบบเดิม ต่อให้เป็นการลงประชามติที่ฟรีและแฟร์ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์ตนก็เห็นว่าไม่มีอะไรต่างกัน ก็ยังเห็นว่าประชามติครั้งนี้เก๊ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นตนจึงไม่ให้ราคาต่อผล ต่อให้โหวตโนชนะเราก็ทราบอยู่แล้วว่าผลจะเป็นอย่างไร คสช.ก็อ้างความชอบธรรมที่จะอยู่ต่อไปได้

เรื่องประเมินยุทธศาสตร์ที่ไปซีเรียสกับตัวเลขมากนั้น ส่วนมากก็จะเป็นวิธีการนับหรือยุทธศาสตร์ทางการเมืองของกลุ่มประเทศที่อุดมการณ์ทางการเมืองที่ไม่ชัดเจน เช่น สหรัฐอเมริกา กระบวนการทำยุทธศาสตร์เรื่องตัวเลขสำคัญมาก ระบบการเลือกตั้งแบบ winner take all (ผู้ชนะรับทั้งหมด) อะไรต่างๆ ที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา แต่ในประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ตนไม่ได้หมายความว่าเสียงข้างมากไม่สำคัญ แต่ยุทธศาสตร์เรื่องตัวเลขนี้ความสำคัญถูกลดลงมา

สิ่งที่ตนอยากให้ความสำคัญคือชอยส์(ทางเลือก) คสช. โยนมาให้เรา 2 ทางเลือกตรงนั้น ดังนั้นมันไม่ต่างกัน ปาหี่จบแล้ว เราอาจจะเป็นวิธีการเชิงสัญลักษณ์ที่เราได้ทำการรณรงค์ไปว่าอย่างน้อยมันมีช่องให้เราออกมาแสดง โอเค แต่เราไม่ควรไปซีเรียสกับผล เพราะผลไม่มีความหมาย

ผลออกมาอย่างไร ก็ไม่สามารถเอาคนไปรมแก๊สได้

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า  ถ้าจะมาดูตัวเลขอีกนิดหนึ่ง แต่คนมาใช้สิทธิหรือการับเพียงแค่ 30% ของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด อาจจะมีกติกา คสช. หรือกติกาสากลในโลกประชาธิปไตยมาว่ามันต้องวัดกันเฉพาะคนที่มาลงคะแนนเท่านั้น แต่ว่าข้อเท็จจริงคือเรายังอยู่ในสังคมนี้

“ไม่ว่าผลออกมาอย่างไร เราไม่สามารถเอาคนที่คิดต่างไปรมแก๊สหรือเนรเทศให้หมดได้ ไม่ว่าจะเป็นโหวตโนหรือโหวตเยสชนะ นี่คือเงื่อนไขที่จัดเจนมาก” ษัษฐรัมย์ กล่าว

ษัษฐรัมย์ กล่าวด้วยว่า กรณีการเลือกตั้งปกติ แม้พรรคเพื่อไทยชนะ ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจะไม่มีสิทธิวิจารณ์นโยบายรัฐต่างๆ ได้ ถ้าเกิดนโยบายรัฐผิดพลาด

เอาประชามติประเทศประชาธิปไตยมาเทียบถือว่าผิดฝาผิดตัว

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ลองดูประเทศที่มีการทำประชามติและรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญหรือนโยบายก็เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศสทำประชามติเชิงนโยบายต่างๆ อาจเกิดจากกรณีที่นายกฯกับประธานาธิบดีเห็นไม่ตรงกันก็จะทำประชามติ แต่การเอาประชามติของประเทศประชาธิปไตยมาเทียบกับของไทยถือว่าผิดฝาผิดตัวไป พม่าก็มีการทำประชามติรัฐธรรมนูญ ผลก็ออกมาว่าเป็นที่ขานรับ ก็มีคำถามเรื่องฟรีแฟร์เหมือนกัน และคิดว่าเป็นโมเดลที่ คสช. พยายามจะเดินไปแบบนั้น

ประชามติไม่แฟร์ไม่ฟรี โกงมาตั้งแต่การฉีก รธน. แล้ว

จิตรา คชเดช กล่าวว่า เรามีการตีความประชามติ 59 ไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว ว่ามันไม่แฟร์ไม่ฟรี ไม่ใช่ตีความผล แต่เป็นการตีความประชามติครั้งนี้ ว่ามันไม่แฟร์ไม่ฟรีอย่างไร เราเห็นเราจึงเลือกวิธีการบอยคอต เนื่องจากกระบวนการร่างรธน. ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย และไม่เอาข้อตำหนิต่อรธน.ก่อนหน้านั้นเข้าไปในร่าง รธน. นี้เลย รวมทั้งไม่ให้คนที่เห็นข้อผิดพลาดและวิจารณ์ รธน.50 มาโดยตลอดเข้าร่วมร่าง รธน. นี้เลย

เรื่องการลงประชามติในระหว่างนี้การชุมนุมหรือเรียกร้องเกี่ยวกับ รธน. ไม่สามารถทำได้เลย เรียกว่าโกงตั้งแต่มีการฉีก รธน. ฉบับก่อนหน้าและเริ่มร่างแล้ว คนไม่มีส่วนร่วม และการทำประชามตินั้น เราจะเห็นว่าฝ่ายรับร่าง รธน. นั้นเป็นฝ่ายที่ต้องการให้คนรับ ทั้งที่จริงแล้วคนร่าง รธน. ควรร่างขึ้นมาเพื่อให้คนวินิจฉัยตีความว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร ไม่ใช่ร่างมาแล้วก็บอกว่าสิ่งที่ตนเองทำดีที่สุด มันต้องให้คนร่วมกันวินิจฉัยก่อนเพื่อปรับปรุงแก้ไขแล้วจึงมีการลงประชามติ

คนร่าง รธน. ร่วมกับ คสช. ก็มีการทำงานกันในลักษณะรณรงค์เห็นในข้อดีอย่างเดียว คนที่เห็นว่าร่างไม่ดีก็ไม่สามารถไปชี้แจงได้ ที่เห็นก็ชี้แจงได้ก็ต้องผ่านความพยายามของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ฯลฯ ซึ่งความพยายามเหล่านี้ไม่ถึงชาวบ้าน คนงาน หรือคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง อาจดังอยู่ในมหาวิทยาลัยบ้างมหาวิทยาลัยหรือในเฟซบุ๊ก แต่ไม่ได้เป็นกระแสในวงกว้าง สื่อกระแสหลักก็ไม่ได้เข้ามาร่วมตีความร่าง รธน. นี้ กลับ  ทำให้สิ่งที่เข้าถึงชาวบ้านอย่างแท้จริงกลายเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานเครือข่ายของรัฐ ที่เข้าถึงชาวบ้านอย่างแท้จริงว่า รธน. นี้อย่างแท้จริง

สงครามของการตีความ

จิตรา กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการตีความเรื่องการลงประชามตินั้น มีการตีความตีความหลากหลายมาก กลุ่มรณรงค์โหวตโนไม่เพียงพูดเรื่องรัฐธรรมนูญไม่ดีอย่างไรแล้ว ยังพ่วงเรื่องของการไม่เอารัฐประหารด้วย ซึ่งไม่ได้ผิดอะไรสำหรับการพ่วง แต่ขณะเดียวกันก็มีอีกกลุ่มที่รณรงค์ให้โหวตโนเหมือนกันแต่ก็พ่วงไปด้วยว่าเอา คสช. ให้อยู่ต่อ เมื่อเกิดการตีความพ่วงกันไปมามันทำให้เกิดความสับสนว่าการลงประชามตินี้มันถูกพ่วงไปกับอะไรบ้าง เกิดสงครามของการตีความ กลุ่มโหวตเยส หลายคนบอกว่าเมื่อร่าง รธน. ผ่านก็จะได้มีการเลือกตั้ง เพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้น หรือบางกลุ่มก็บอกว่าเป็น รธน.ปราบโกงที่ดีที่สุด  เมื่อมีการตีความแบบนี้ ผลประชามติผ่าน ใครที่ได้ประโยชน์จากการตีความก็ฉวยประโยชน์จากการตีความนั้น เช่น คสช. ก็บอกว่าผลประชามติผ่านเพราะว่าคนอยากให้อยู่ต่ออีก

หากเสียงโนโหวตมีจำนวนมากนั่นแสดงให้เห็นว่าคนไม่ต้องการ คสช. หรือไม่สนใจในสิ่งที่รัฐบาลทหารหรือร่วมกับรัฐบาลทหารทำประชามติ ผลออกมาก็สามารถพูดได้ว่ามันไม่เป็นธรรมบวกกับเสียงที่ไม่เอารัฐประหาร ดังนั้นกลุ่มโนโหวตต้องการพยายามบอกว่ามันมีคนที่ไม่ร่วมสังฆกรรมกับคสช.อยู่ ก็เพื่อให้เกิดการตีความเหมือนกัน ถ้าเป็นประชามติที่ดี กกต. ควรให้เสียงขั้นต่ำไว้ด้วย คือมีการกำหนดองค์ประชุมว่าต้องมีผู้มาใช้สิทธิเท่าไหร่ถึงจะถือว่าชอบธรรมด้วย

ไม่รับผลประชามติที่ไม่ฟรีไม่แฟร์

จิตรา กล่าวว่า เมื่อผลประชามติออกมาเป็นแบบนี้จะตีความอย่างไรนั้น ตนในฐานะกลุ่มโนโหวตก็ชัดเจนว่าได้แถลงการณ์ออกไปแล้วว่าเราไม่รับผลประชามติที่ไม่ฟรีไม่แฟร์ รวมทั้งเราเรียกร้องให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มต่างๆ เรียกร้องต่อ กกต. รัฐบาลและทุกฝ่ายให้เห็นว่าผลประชามติครั้งนี้เป็นโมฆะเพราะว่ามันมีหลายอย่างที่มีปัญหาและไม่สามารถเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

โชติศักดิ์ อ่อนสูง กล่าวด้วยว่าตัวเลขผลอย่างไม่เป็นทางการนั้นจะเห็นได้ว่าคนที่เห็นชอบร่าง รธน. นี้มีเพียงประมาณ 30% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่เมื่อข่าวนำเสนอกลับเสนอเฉพาะสัดส่วนของผู้มีสิทธิจึงทำให้เปอร์เซ็นต์ของผู้เห็นชอบประมาณ 60% โดยมีผู้ไม่รับอยู่ 40% ทำให้เราเข้าใจไปว่าเห็นชอบเป็นเสียงส่วนใหญ่ของสังคม อันนี้เป็นการเล่นทริคกับตัวเลข

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net