สัมภาษณ์: ปิยะรัศมิ์ ปิยะพงศ์วิวัฒน์ ศิลปะในประเทศที่รัฐผูกขาดศิลปะและไร้เสรีภาพ

ตั้งคำถาม-หาคำตอบของปัญหาสังคมจากงานศิลปะแขนงต่างๆ ผ่านศิลปินร่วมสมัย ชี้ให้เห็นความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออก-การศึกษา-ปัญหาของวงการศิลปะไทย


ปิยะรัศมิ์ ปิยะพงศ์วิวัฒน์

เพศ คนชายขอบ และการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ เป็นปัญหาร่วมสมัยที่เห็นได้ชัดเจนในยุคสมัยนี้ และน้อยครั้งที่ศิลปะร่วมสมัยจะเข้ามามีบทบาทในการสะท้อน ตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบ เช่นเดียวกับปิยะรัศมิ์ ปิยะพงศ์วิวัฒน์ ศิลปินร่วมสมัยด้านสหศาสตร์ ผลงานของเธอได้รับแรงบันดาลใจจากสภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่งก่อให้เกิดคำถามต่อตัวเธอเองและสังคมด้วยเทคนิคภาพเคลื่อนไหว (Video) และศิลปะจัดวาง (Installation) เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารความคิด

ผลงานบางส่วนที่ผ่านมา เธอจับประเด็นเรื่องความเป็นพ่อ-แม่ในสังคมไทย ตั้งข้อสงสัยส่วนตัวว่า แท้จริงแล้ว ครอบครัวคืออะไร และถ่ายทอดออกมาเป็นงานภาพถ่าย นอกจากนั้น เธอยังลงพื้นที่ ใช้ชีวิต และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับกลุ่มแรงงานภาคเหนือ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานจากสถานที่จริง ในแบบที่ศิลปินน้อยคนจะทำ เพราะตัวตนที่น่าสนใจนี้เอง ทำให้เธอติด 1 ใน 5 ศิลปินร่วมสมัยที่ดีที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนิตยสารเซาท์อีสเอเชีย โกลบ (Southeast Asia Globe) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

อะไรทำให้เลือกหยิบเอาประเด็นทางสังคมมาทำเป็นงานศิลปะ ทั้งที่ศิลปินหลายคนเลือกที่จะหยิบประเด็นส่วนตัวมาทำงาน

จุดเริ่มต้นเกิดจากเรามีความสนใจ มีคำถามกับบางสิ่งบางอย่าง ที่สำคัญเราชอบอ่านหนังสือ ส่วนมากก็เกี่ยวข้องกับความรู้ด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ช่วงอยู่ที่ฝรั่งเศสได้มีโอกาสเรียนด้านปรัชญา โดยเฉพาะด้านปรัชญาสังคมวิทยา จนพบว่า จุดเปลี่ยนทางความคิดล้วนมาจากการอ่านหนังสือ การอ่านทำให้เราสงสัยและอยากรู้เรื่องปรากฏการณ์ต่างๆ รอบตัว รวมทั้งเราสามารถหยิบทฤษฎีบางอย่างมาเป็นกรอบในการมองโลก ในการทำงานตั้งแต่สมัยเรียน

งานเราไม่ได้พูดเรื่องตัวเอง แต่พูดเรื่องสังคมรอบข้างและปรากฏการณ์รอบตัว ซึ่งไม่ได้ชี้ชัดเฉพาะในเรื่องการเมือง แต่ออกไปในแนวเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวันด้วยซ้ำ ส่วนตัวคิดว่า ชีวิตเราไม่ได้มีความน่าสนใจจนต้องสื่อสารออกมาเป็นงานศิลปะ เราพร่ำถามตัวเองตลอดว่าเราเป็นใคร จะทำอะไร และจะทำอย่างไรต่อ เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างตลอดเวลา ทั้งเพื่อนที่เรียน เพื่อนที่ทำงาน หรือแม้แต่เพื่อนข้างบ้าน เราเลยอยากพูดถึงสิ่งเหล่านี้มากกว่า และแน่นอนว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็ล้วนมีผลกระทบกับงานอย่างมาก

“ศิลปะไม่เพียงเป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ แต่ยังมีส่วนในการสร้างประวัติศาสตร์ และมีส่วนในการก่อรูปของโลกทัศน์อีกด้วย”

การทำงานศิลปะของเราก็เหมือนกับการทำความเข้าใจตัวเอง ยิ่งเราไม่เข้าใจสิ่งรอบข้าง ไม่เข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ มีคำถามกับบางสิ่งบางอย่างเพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งต้องอ่าน คิด วิเคราะห์ และลงลึกหาข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจกับความคิดตัวเองและแปลมันออกมาทางสื่อศิลปะ

การทำงานศิลปะบอกเล่าเรื่องราวอะไรได้บ้าง

ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางสังคม อาจเป็นการวิพากษ์สังคม หรือเป็นก้อนตะกอนที่เปรียบเสมือนบทสรุปว่าสังคมนี้เกิดอะไรขึ้น ศิลปินควรมีความคิด ทัศนคติ มุมมองของการวิพากษ์อย่างไรก็ได้ต่อสังคมของเขาอย่างอิสระ ในมุมของเราคิดว่า ศิลปะยุคนี้ไม่ควรเป็นศิลปวัตถุที่นอนเอื่อยเฉื่อย เมื่อผ่านเหตุการณ์และบทสรุปมากมายเช่นตอนนี้ ศิลปะควรมีบทบาทที่แอคทีฟมากขึ้น เรายังถามตัวเองว่าพอมีหนทางอื่นอีกไหมที่จะทำให้ศิลปะมีบทบาทมากกว่านี้ เพราะศิลปะไม่เพียงเป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ แต่ยังมีส่วนในการสร้างประวัติศาสตร์ และมีส่วนในการก่อรูปของโลกทัศน์อีกด้วย

ทำไมงานที่เป็นแทรดดิชั่นนอล (Traditional) หรือแนวขนบ ถึงได้รับความนิยมในไทย

ส่วนตัวไม่ได้เรียกร้องให้คนทำงานศิลปะทุกคนต้องทำงานเพื่อสังคมหรือการเมือง เพราะทุกคนต่างมีความสนใจและความชอบ ความถนัดต่างกัน วงการศิลปะมีระบบเศรษฐศาสตร์ของมัน มีศิลปิน ภัณฑารักษ์หรือคิวเรเตอร์ (Curator) แกลเลอรี่ หอศิลป์ นักสะสมงาน บริษัทรับติดตั้งงาน บริษัท Shipping ฯลฯ ปัญหาคือบ้านเราขาดนักสะสม เพราะนักสะสมบ้านเราส่วนใหญ่มักนิยมสะสมแต่งานที่ได้รับรางวัล หลายสิบปีที่ผ่านมามีการประกวดรางวัลระดับชาติต่างๆ ซึ่งทำให้งานศิลปะแทรดดิชั่นนอลกลายเป็นระบบคุณค่าที่ถูกสถาปนามาแล้ว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐเข้าไปกำหนดควบคุมว่าสิ่งไหนดีหรือสิ่งไหนไม่ดี จะเห็นได้ว่า งานศิลปกรรมแห่งชาติที่ถูกมองว่ามีคุณค่าหรือดีงาม จึงมีอยู่สไตล์เดียวคือรับใช้อุดมการณ์หลักของชาติ ได้แก่ รัฐ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และแน่นอนว่าเมื่อมีคนให้คุณค่าแบบนั้น นักสะสมก็ย่อมตามเก็บซื้อผลงาน

ในช่วงหลังที่มีหอศิลป์ใหม่ๆ เกิดขึ้น พื้นที่ของศิลปะร่วมสมัยก็มีมากขึ้น แต่ผู้ชมก็ยังคงวนเวียนอยู่ในวงแคบ เฉพาะกลุ่ม บางคนยังสงสัยว่า งานศิลปะอะไร คือการระบายสีเท่านั้นเหรอ ซึ่งนี่แสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจของคนไทยที่มีต่อศิลปะร่วมสมัยนั้นยังห่างไกลจากชีวิตประจำวันอยู่มาก

ทำไมประเทศไทยจึงขาดแคลนนักสะสม ในต่างประเทศประสบปัญหาเดียวกันไหม

ถึงแม้จะมีนักสะสมรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง แต่ส่วนมากก็ยังเลือกเก็บงานของศิลปินร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงในระดับโลก มีรางวัลการันตี ผ่านเทศกาล หรือองค์กรศิลปะต่างประเทศแล้ว หากเป็นศิลปินเด็กๆ ก็ค่อนข้างอยู่ยากในวงการนี้ ที่อินโดนีเซียค่อนข้างแข็งแรงกว่าทั้งด้านคนทำงานศิลปะ องค์กรที่จัดรวมข้อมูลศิลปิน และผลงานศิลปิน ซึ่งช่วยให้นักสะสมสามารถติดตามผลงานของศิลปินแต่ละคนได้อย่างต่อเนื่องและง่ายต่อการสะสมรวบรวมผลงาน

เมื่อก่อนคนในแวดวงศิลปะจะรู้สึกว่า ศิลปะไม่ขยับขยายเพราะเราขาดคิวเรเตอร์ แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีคนในแวดวงหลายๆ คนที่เรียนจบและทำงานในด้านนี้ ทั้งการจัดการ และคิวเรท จึงน่าจับตาว่าต่อไปจะมีการเปลี่ยนแปลงวงการศิลปะได้มากน้อยเพียงไหนในบ้านเรา

งานของคุณได้รับการตอบรับอย่างไรบ้างจากสังคม

คงต้องพูดเป็นชิ้นๆ ไป อย่างเซต ‘Queerness’ ซึ่งเป็นโฟโต้ซีรี่ย์ คนที่ให้ความสนใจส่วนมากอยู่นอกแวดวงศิลปะ เห็นได้จากสื่อที่ให้ความสนใจก็ไม่ได้มาจากนิตยสารศิลปะ แต่กลับมาจากแมกกาซีนทั่วไปที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรม เขาอยากจะรู้ว่าเราคิดอะไร อาจเพราะตัวเราเองไม่ได้ยึดติดกับทักษะ แต่เน้นเรื่องคอนเซ็ปท์และการตีความในการแปลออกมาเป็นงานศิลปะ งานเราจึงไม่แมส และไม่อยู่ในความสนใจของคนเท่าที่ควร


ตัวอย่างงานจากชุด Queerness
Jenny & Ye
2012. Photograph 60 cm x 60 cm, Giclée Print
(ที่มาภาพ http://www.piyaratpiyapongwiwat.com)

งานเซตนี้ เกิดขึ้นเพราะเรารู้สึกคัลเจอร์ ช็อค หลังกลับจากเมืองนอก ว่าทำไมจึงมีป้ายแบนเนอร์เกี่ยวกับสถาบันครอบครัว ที่แทนค่าความเป็นครอบครัวด้วยพ่อและแม่เต็มไปหมด มันเกิดคำถาม จึงเริ่มถ่ายภาพพอร์ทเทรตครอบครัวให้มากที่สุด ในลักษณะภาพพอร์ทเทรตสมัยโบราณอิริยาบทต่างๆ คล้ายกับเป็นการสังเกตการณ์ เราไปเจอครอบครัวของหญิงรักหญิงหลายคู่ จนยิ่งทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ความเป็นครอบครัวนั้นต้องเป็นพ่อ แม่ ลูกหรือเปล่า แล้วหากเป็นหญิง-หญิง ชาย-ชาย โดยไม่ต้องมีลูก สามารถเป็นครอบครัวได้หรือเปล่า การทำงานจึงปรับเปลี่ยนมาเจาะถ่ายแต่คู่ที่เป็น หญิง-หญิง และชาย-ชาย จนได้คัดบางภาพมาแสดง และพบว่ายังมีบางปัจจัยที่ขาดอยู่ เช่น ภาพชุดนี้ยังเน้นกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นกลาง ทั้งๆ ที่เรื่องเพศสภาพและเพศวิถีมีความสลับซับซ้อนกว่านั้น อาจเป็นกะเทยคู่กับกะเทย หรือทอมคู่กับกะเทยก็ได้เช่นกัน

“ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐเข้าไปกำหนดควบคุมว่าสิ่งไหนดีหรือสิ่งไหนไม่ดี จะเห็นได้ว่า งานศิลปกรรมแห่งชาติที่ถูกมองว่ามีคุณค่าหรือดีงาม จึงมีอยู่สไตล์เดียวคือรับใช้อุดมการณ์หลักของชาติ ได้แก่ รัฐ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์”

เลือกประเด็นที่นำมาทำงานอย่างไร

ก่อนทำงานทุกครั้งจะมีโจทย์ อย่างงานที่ร่วมกับ ‘อังกฤษแกลเลอรี่’ พื้นที่ทางเลือกที่เชียงราย โจทย์ที่ทำในครั้งนั้นคือความเกี่ยวโยงกับพื้นที่ที่ไปทำงาน เราเคยตามพ่อไปเชียงรายบ่อยสมัยตอนเป็นเด็ก หลังจากนั้นก็ไม่มีความทรงจำร่วมอีกกว่า 10 ปี เราเลยเริ่มจากการถามพ่อ แม่ และคนใกล้ตัวว่า เชียงรายเป็นอย่างไร และพบว่ามันเปลี่ยนไปเยอะ รวมทั้งกำลังจะกลายเป็นเมืองท่า และมีบริเวณที่น่าสนใจคือ พื้นที่ข้อพิพาทเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ เชียงของ เชียงแสนและแม่สาย หลังจากเข้ามาคลุกคลีก็ได้พบว่า มีการต่อสู้เพื่อต่อต้านพื้นที่นี้ แต่สุดท้ายก็ทำอะไรไม่ได้ อย่างที่รู้ๆ ว่าอำนาจรัฐนั้นรวมศูนย์สำเร็จเด็ดขาด อย่างมากชาวบ้านก็ทำได้แค่ประท้วง แรงของคนประท้วงนานเข้าก็แผ่วลงๆ จนสุดท้ายก็ต้องปล่อยเลยตามเลย เราเลยสนใจประเด็นนี้ และนำมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ แรงงานข้ามชาติ และค่าแรง

การสื่อสารประเด็นสังคมนั้นยากอย่างไร

ถ้าเป็นสิ่งที่เราสนใจ เราก็จะไม่รู้สึกว่ามันคือการส่งงานหรือส่งการบ้าน ยิ่งค้นไปเราก็ยิ่งเจอประเด็นใหม่ๆ ที่มันน่าสนใจ อย่างนิคมแม่สอดที่เคยอ่าน พบว่าแรงงานที่นั่นส่วนมากเป็นแรงงานเช้า-เย็นกลับ ได้ค่าแรงเป็นวันๆ สภาพความเป็นอยู่เขาย่ำแย่ โดนเอาเปรียบจากนายจ้าง ทำงานโอทีบางทีไม่ได้ค่าจ้างหรือได้ค่าจ้างเป็นมาม่า 1 ห่อ เราเลยสนใจลงพื้นที่ไปหาข้อมูล เพื่อพูดคุยกับแรงงานที่ทำงานในโรงงาน รองเท้า เย็บส่งเสื้อผ้า ฯลฯ ซึ่งส่วนมากเป็นคนพม่าที่พูดไทยไม่ค่อยได้

โจทย์ก็มีแค่นี้ สุดท้ายเมื่อเราไปลงพื้นที่ แล้วระหว่างทางที่ลงไปสำรวจ ค้นคว้า ก็มีประเด็นใหม่ผุดขึ้นมาเต็มไปหมด บางเรื่องมันคนละประเด็น แต่มันมีจุดเชื่อมโยงซึ่งกันและกันอยู่

งานเซทที่สาม ‘TRANCE’ จัดร่วมกับ อานน นงเยาว์ ศิลปินซาวน์อาร์ท (Sound Art) ช่วงแรกมีความลำบากในการหาจุดร่วมที่เข้ากันได้ เพราะเราไม่ได้มีพื้นฐานเรื่องซาวน์ ช่วงนั้นเป็นช่วงก่อนการรัฐประหาร ม็อบ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) เสื้อหลากสี เกิดขึ้นตอนอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรรักษาการ อีกทั้งมีม็อบ พ.ร.บ. เหมาเข่ง อะไรเยอะไปหมด บรรยากาศที่บ้านก็อินเรื่องการเมืองมาก จะเปิดช่องทีวีที่ถ่ายทอดสดจากเวทีปราศรัยทั้งวัน ซึ่งเราก็จะได้ยินเพลงก่อนขึ้นปราศรัย พวกเพลงปลุกใจ เราเห็นคนดูรายการเหล่านั้นในทีวีแล้วปากสั่น น้ำตาคลอ จนรู้สึกว่า เฮ้ย มันเอฟเฟคขนาดนั้นเลยเหรอ ก็เลยหยิบเพลงเหล่านี้ทั้งในแนวชวนเชื่อและปลุกใจเอามาทำงาน ระหว่างทำก็ค่อยๆ แตกไปเป็นประเด็นยิบย่อย

ทำไมถึงหยิบโมเม้นท์การยืนตรงเคารพธงชาติมาใช้ในงานเซตที่ชื่อ เดอะ รูทีนส์ (The Routine)

เซตนี้เป็นงานช่วงแรก ตอนนั้นเพิ่งกลับจากต่างประเทศ ยังคงคัลเจอร์ ช็อค เมื่อกลับบ้านที่เชียงใหม่ แล้วไปตลาดกับแม่ พอถึงเวลานั้นทุกคนก็หยุดนิ่ง เมื่อก่อนเราก็ทำมันจนเป็นกิจวัตรประจำวันโดยไม่ได้นึกอะไร  เพลงมาตอนเช้า 8 โมง และ 6 โมงเย็นก็ไม่ได้นึกอะไร เราก็หยุดเหมือนกับมันเป็นความออโตเมติก และเคยชิน จนเราเริ่มตั้งคำถามและอยากลองบันทึกโมเม้นท์ตรงนี้ไว้ จึงเลือกตลาดเป็นสถานที่ถ่ายทำ เพราะที่นี่ทำให้ได้เห็นชีวิต เห็นอะไรในอีกแง่มุมหนึ่ง เราลงไปเก็บฟุทเทตอยู่หลายวัน จนเราได้ภาพจังหวะพอดีเพื่อสื่อสิ่งที่เราต้องการ


The Routine (Still #3)
2011 l Single-Channel HD Video l 5 min 22 sec l sound
(ที่มาภาพ http://www.piyaratpiyapongwiwat.com)

คนเราต้องออกไปข้างนอกบ้างเพื่อที่จะมองกลับมา ในต่างประเทศค่อนข้างอิสระ มีเว็บไซต์ มีข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจ ที่ตอนอยู่เมืองไทยไม่สามารถเข้าไปดูได้ เพราะมีการปิดกั้นและโดนบล็อก พอยิ่งได้ไปเรียนต่างประเทศบวกกับความอยากรู้ แค่เคาะเดียวก็เปิดดูได้แล้ว มันเหมือนเป็นการเปิดโลกมาก ไม่คิดว่าจะมีอะไรแบบนี้ มีข้อมูลหลายอย่างที่ได้อ่าน คิด วิเคราะห์มาเปรียบเทียบ ตอนเราอยู่ไทย เราก็อ่านประวัติศาสตร์ที่ไทยเป็นคนเขียน พอเราไปต่างประเทศโอกาสได้ไปเห็นข้อมูลบางอย่าง จับต้นชนปลายต่อจิ๊กซอว์ มันก็ทำให้เกิดมุมใหม่ๆ เปลี่ยนมุมมองในการคิดเหมือนกัน

เสรีภาพนั้นส่งผลต่องานศิลปิน

ส่งผลมาก ถ้าอยู่ในประเทศหรือสังคมที่ไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก ก็ไม่มีทางที่คนทำงานจะสามารถคิดค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการทำงานได้อยู่แล้ว

เสรีภาพที่เมืองนอกต่างจากต่างประเทศไทยมาก เหมือนหน้ามือหลังมือ ยิ่งช่วงนี้อยู่ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ด้วยแล้วมันแทบจะขยับทำอะไรไม่ได้เลย ตอนเรียนที่ฝรั่งเศษ เสรีภาพทางการแสดงออกนั้นมีเต็มเปี่ยม ศิลปินทุกคนมีสิทธิที่จะพูด แสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะขัดกับอุดมการรัฐ หรือขัดกับนโยบายรัฐ ก็สามารถทำได้ต่างกับบ้านเราโดยสิ้นเชิง โดยคนดูหรือสาธารณะชน จะเป็นคนตัดสินเอง อีกทั้งไม่ค่อยเห็นข่าวว่ารัฐมาถอดงานออก เข้ามาจำกัด หรือลิดรอนสิทธิ

ปัจจุบันมีศิลปินรุ่นใหม่หลายคนที่พยายามทำและหลบเลี่ยงด้วยการไม่พูด ไม่วิพากษ์และไม่แอนตี้ตรงๆ แต่ใส่สัญลักษณ์ หรือรหัสต่างๆ เข้าไปในงานแทน

แล้วทำไมประเทศไทยถึงกลัวนักกับการแสดงความเห็นต่างๆ ของศิลปิน

นั่นสิ ไม่รู้เหมือนกัน ศิลปินบางคนเคยบอกว่า โดยทั่วไปแล้วพื้นที่ทางศิลปะเป็นพื้นที่ที่รัฐไม่ค่อยเข้ามายุ่งด้วยซ้ำ เลยคิดว่า เขาอาจกลัวการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เสียมากกว่า เช่น บก.ลายจุดที่ต้องรายงานตัว หลังแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่่ว่า ‘ไม่รับ ไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลทหารเผด็จการ’ เขากลัวการแสดงออกทางสัญลักษณ์ที่ไปวิพากษ์หรือต่อต้านเขา กลัวการปลุกระดมมวลชน หรือแม้กระทั่งกลัวนักศึกษา ล่าสุด กลุ่มพลเมืองโต้กลับที่ออกไปให้กำลังใจกลุ่มที่โดนจับ ถือลูกโป่งไปก็โดนยึดลูกโป่ง ซึ่งไม่เข้าท่า

“ถ้าอยู่ในประเทศหรือสังคมที่ไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก ก็ไม่มีทางที่คนทำงานจะสามารถคิดค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการทำงานได้”

ด้วยความที่พื้นที่ในการแสดงงานยังมีน้อยทำให้งานของศิลปินรุ่นใหม่หลายคนที่แสดงออกจุดยืน ความคิดวิพากษ์ ต่อต้านภาวะการที่อยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐบาลทหารนั้นไม่ได้ถูกเผยแพร่ งานของเรา (messages from nowhere to nowhere-2015)ถึงแม้ไม่ได้เป็นงานที่เล่นเรื่องการเมืองโดยตรง เน้นพูดเรื่องเสียงคนเล็กคนน้อย เสียงที่ไม่เคยถูกรับฟัง เรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่ น้ำท่วม น้ำไม่ไหล เศรษฐกิจไม่ดี นักท่องเที่ยวหนี การเข้าถึงสวัสดิการ ฯลฯ เห็นได้ว่าไม่ได้ไปแตะหรือวิพากษ์ชนชั้นปกครองโดยตรง แต่เมื่อประกอบกับประโยคที่หยิบใช้หลายคำซึ่งไม่ได้รุนแรง แต่กลับสุ่มเสี่ยงเมื่ออยู่ภายใต้สภาวะการณ์แบบนี้ จึงทำให้บางทีเราก็เลือกขอเซ็นเซอร์บางส่วนออกไปเอง เพื่อเป็นการปกป้องตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง

เชื่อไหมว่าศิลปะจะมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม

เชื่อ ทุกวันนี้จึงยังทำงานศิลปะอยู่ ถ้าคิดว่าศิลปะคือวัตถุเอื่อยเฉี่อย มีเพื่อขาย มีเพื่อตั้งไว้ที่บ้านเฉยๆ โดยไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เราคงไม่ทำงานศิลปะ เพราะเราคิดว่าชีวิตมันมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าสนใจ ที่เรายังทำอยู่ก็เพราะเราเชื่อว่าศิลปะเป็นสัญลักษณ์เล็กๆ ส่วนหนึ่งที่จะเข้าไปประกอบกับอีกหลายๆ ส่วนเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

เรานับถือและชื่นชมศิลปินนักแสดงหลายกลุ่มที่ต้องคดี เช่น กลุ่มละครประกายไฟ การจับกุมก็เหมือนกับเชือดไก่ให้ลิงดู ทำให้ศิลปินทุกคนอยู่ภายใต้สังคมแห่งความกลัว หลายคนพอทำงานศิลปะปากอาจบอกว่าไม่ได้กลัว แต่ทำไมเราจึงต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะเรารู้สึกว่าหากชนตรงๆ แล้วต้องเข้าไปอยู่ในคุก ศิลปินจึงต้องหากลยุทธ์ พลิกเเพลงไม่ให้สารที่สื่อนั้นตรงเกินไป

ถ้ามีโอกาสก็อยากแสดงในหอศิลป์ที่เเมสกว่าเดิม ที่ผู้ชมไม่เฉพาะเจาะจงมากนัก แต่เพราะงานของเราไม่ได้แสดงในด้านที่สวยงามนัก จึงยากที่หอศิลป์ต่างๆ จะดึงเข้าไปร่วมงานด้วย หอศิลป์สาธารณะใหญ่ๆมักได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ อย่าง กทม. หรือกระทรวงวัฒนธรรม จึงทำให้มีระบบจัดการ คัดสรร และประเมินคุณค่าที่เป็นแบบแผน ไม่ว่าจะเป็นจากคณะกรรมการและคนจัดการ

“(ในฝรั่งเศส) ศิลปินทุกคนมีสิทธิที่จะพูด แสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะขัดกับอุดมการรัฐ หรือขัดกับนโยบายรัฐ ก็สามารถทำได้ต่างกับบ้านเราโดยสิ้นเชิง โดยคนดูหรือสาธารณะชน จะเป็นคนตัดสินเอง อีกทั้งไม่ค่อยเห็นข่าวว่ารัฐมาถอดงานออก เข้ามาจำกัด หรือลิดรอนสิทธิ”

ภายใต้ภาวะแบบนี้ไม่มีหลักการและเหตุผลอะไรมารองรับ หากจะโดนจับก็ไม่รู้ว่าจะเป็นข้อหาอะไร อยู่ที่เขายัดมาให้ ยิ่งเราโตมาในครอบครัวคอนเซอร์เวทีฟมากๆ กฎ กรอบ ระเบียบ โรงเรียนรัฐ มาสายก็โดนจับแยกเข้าแถวให้เกิดความรู้สึกผิดบาป ละอาย ตอน ม.ต้น ก็ต้องตัดผมห้ามเกินติ่งหู หากเกินมาเขาก็ตัดโดยที่ไม่ได้ขออนุญาต พอไปเรียนโรงเรียนสหศึกษา ตอน ม.ปลาย เพื่อนผู้ชายโดนเอามือเเทรกเข้าไปในผม หากเลยออกมาครูก็จับกร้อน จับโกน ทุกคนอยู่ภายใต้ความกลัวเพื่อให้รักษาวินัย เสมือนสังคมพยายามทำให้เราเชื่อง จนเรารู้สึกต่อต้านในใจ ยิ่งพอเจอภาวะแบบนี้ มันจึงระเบิดออกมา ถ้าเราอยู่ในประเทศเสรี มีอิสระในการพูด เราอาจจะไม่ต้องมานั่งคุยกันตอนนี้เลยก็ได้ เราอาจได้ทำเรื่องอื่นที่คิดว่ามันน่าสนใจมากกว่านี้

แนวโน้มของวงการศิลปะในอนาคตจะเป็นอย่างไร

คิดว่าคนจะขยับมาทำประเด็นสังคมมากขึ้น ยิ่งพอมีอะไรกดทับ เหมือนรอวันที่จะปะทุและระเบิดออก ตอนนี้มีศิลปินหลายคนที่ขยับที่เข้ามาทำงานการเมือง เลือกวิพากษ์หรือพูดถึงประชาธิปไตยในทางอ้อม หรือบางคนที่พูดตรงๆ เลยก็มี

บ้านเรามีศิลปินหลายคนที่ไปเรียนต่อและกลับมาเป็นนักเคลื่อนไหว ไม่เพียงแค่ศิลปินเท่านั้น พวกเขายังกลับมาเป็นคิวเรเตอร์ เป็นนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ และนักเคลื่อนไหว หลายคนที่ได้คุยเล่าว่า ความคิดเขาเปลี่ยนจากการอ่าน จากตัวอย่างหลายๆ ตัวอย่างที่แตกต่างจากที่ที่เราจากมา ทั้งเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก และเรื่องรัฐสวัสดิการ ก่อนมา อ่านข่าวก็อาจจะอินแล้ว แต่เมื่อได้ไปอยู่ในที่นั้นจริงๆ มันได้เห็นผลพวงของการต่อสู้ ความคิดและมุมมองเราก็ขยับขยาย

บทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษาก็มีส่วนสำคัญ ที่เมืองนอกพวกเขาจะไม่มาครอบงำ มีชี้แนะบ้างแต่ก็ออกไปในเชิงการวิจารณ์ เน้นการสอนโดยศิลปิน การเวิร์คช็อปต่างๆ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ และเปิดกว้างจากประสบการณ์จริง และถึงแม้การทำงานจะยังมีโจทย์อยู่ แต่หากผลงานที่ออกมานั้นหลุดออกนอกโจทย์ที่ตั้งไว้ก็ไม่เป็นไร สุดท้าย งานเหล่านั้นก็จะถูกโชว์ในห้อง วิจารณ์โดยเพื่อนร่วมชั้นเรียน บางคนรุมสับ บางคนเถียงกันจนหน้าดำหน้าแดง ซึ่งนี่ช่วยทำให้เกิดวัฒนธรรมการวิจารณ์ที่ดี โดยมีอาจารย์เป็นเสมือนจิตแพทย์ที่คอยนั่งคุย และแลกเปลี่ยนว่าพวกเขาเห็นอะไรในงานเรา นักเรียนไม่ต้องเน้นสกิล แต่หนักไปทางประวัติศาสตร์ศิลป์ และปรัชญา ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อความคิดของเราจนทุกวันนี้

ต่างจากบ้านเราที่ขาดวัฒนธรรมการวิจารณ์ อาจเป็นเพราะระบบอาวุโส พวกพ้อง การอวย สรรเสริญ เยินยอกันนั้นมีมากกว่า แต่ก็แอบหวังว่าวัฒนธรรมการวิจารณ์นี้จะเกิดขึ้นในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท