นิธิ เอียวศรีวงศ์: ลงแดงกับจิตเภท

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ผมมีเหตุจำเป็นต้องกลับไปอ่านบทความ “บ้านเมืองเราลงแดง” ของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ใหม่ ก็เหมือนบทความเรื่องอื่นของท่าน คือนอกจากประเด็นหลักที่ต้องการเสนอแล้ว ยังมีอะไรสำคัญอื่นแฝงอยู่ในเนื้อหาอีกมาก อ่านใหม่ทีไรก็ได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมาก่อน คิดอะไรที่ไม่เคยคิดมาก่อน

กลุ่มคนที่เป็นแรงผลักดันสำคัญทั้งใน 14 ตุลา และ 6 ตุลาคือกระฎุมพีและคนชั้นกลางระดับกลางซึ่งเพิ่งขยายตัวขึ้นไม่นานนัก แต่ภายใต้ระบอบเสรีนิยมซึ่ง 14 ตุลานำมาให้ คือวิกฤตการณ์น้ำมัน, การพังสลายของแนวต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกัน, การถอนตัวของกำลังรบอเมริกันออกจากประเทศไทย, การเปิดเสรีด้านการต่อรองค่าแรงในประเทศ, การลงทุนจากต่างประเทศซึ่งชะลอตัวลง, การท้าทายต่อระเบียบแบบแผนทางสังคมซึ่งเคยประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวเขา (โดยลูกหลานของเขาเอง) และความน่าหวั่นวิตกอื่นๆ

ตรงกันข้ามกับที่กล่าวข้างต้น คือยาเสพติดที่กระฎุมพีและคนชั้นกลางเคยเสพตลอด 16 ปีที่ผ่านมา จนทำให้เขาประสบความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ หรือเริ่มวางฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจให้แก่ลูกหลานได้อย่างมั่นคง แต่ยาเสพติดนี้กำลังหายไปภายใต้ระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ได้รับการสนับสนุนจากพวกเขาเอง กระฎุมพีและคนชั้นกลางไทยจึง “ลงแดง” จนพากันโล่งอกคลายเงี่ยนจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ต่างหวังกันว่ายาเสพติดที่เคยชินกำลังจะกลับมาใหม่

แน่นอน เงื่อนไขของการเมืองภายในและระหว่างประเทศ ทำให้ยาเสพติดชุดนั้นไม่กลับมาอีกเลย ผมคิดว่ากระฎุมพีและคนชั้นกลางจึงต้องมีชีวิตอยู่ในภาพมายา ความสัมพันธ์มายา สัญลักษณ์มายา เศรษฐกิจมายา และการเมืองมายา เพื่อบรรเทาอาการ “ลงแดง” สืบมาจนทุกวันนี้

นี่เป็นเรื่องที่ผมคิดเอาเอง อาจารย์เบนไม่ได้พูดไว้ ทั้งนี้ เพราะมันมีอะไรบางอย่างที่พอเทียบกันได้ ระหว่าง 6 ตุลากับวิกฤตการเมืองไทยในทศวรรษที่ผ่านมา

กลุ่มคนที่มีความสำคัญทางการเมืองอย่างมากในวิกฤตการเมืองไทยที่ผ่านมาคือคนชั้นกลางระดับล่าง หรือสำนวนอาจารย์เบนคือ กระฎุมพีน้อย คนเหล่านี้เริ่มเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อตลาดมาก่อน 14 ตุลา แต่เป็นตลาดที่ถูกรัฐควบคุมอย่างใกล้ชิด 14 ตุลาช่วยปลดปล่อยพันธนาการของรัฐเหนือตลาดลง ไม่ได้หมายความว่ากลายเป็นตลาดเสรีจริง

หากแต่ว่าพันธนาการตลาดเกิดจากเอกชนผู้มีอำนาจในตลาด อาจโดยการสนับสนุนจากรัฐ แต่เป็นการสนับสนุนโดยอ้อม ไม่ใช่การเข้ามาเก็บพรีเมียมข้าวจากผู้ส่งออกโดยตรงอย่างที่เคยทำมา ค่าแรงไม่ได้มาจากคำสั่งของรัฐ แต่มาจากการต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกันในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ

คนชั้นกลางระดับล่างเติบโตมาเรื่อยๆ และขยายตัวอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปลายรัฐบาลเปรมเป็นต้นมา ในฐานะฐานเสียงสำคัญของ ส.ส. โดยเฉพาะจากต่างจังหวัด ทำให้รัฐจำเป็นต้องลงทุนไปในการพัฒนาชนบทมากขึ้น นับตั้งแต่การประกันราคาข้าว, การขยายบริการไฟฟ้าให้ทั่วถึง, การขยายโอกาสทางการศึกษาและการเข้าถึงสื่อมวลชน, การขยายสาธารณูปโภคในต่างจังหวัด เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน กระฎุมพีและคนชั้นกลางระดับกลางก็มีความสัมพันธ์กับคนในชนบทมากขึ้น นับตั้งแต่ทุนจำเป็นต้องสยายปีกไปใช้ประโยชน์ทรัพยากรท้องถิ่นโดยตรง นับ

ตั้งแต่เหมืองเกลือ, เกษตรตามพันธสัญญา, เขื่อนผลิตไฟฟ้า และธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการอพยพเข้าเมืองของคนชั้นกลางระดับล่างอีกจำนวนมาก จากชั่วคราวกลับกลายไปเป็นถาวรมากขึ้น ทั้งเพื่อช่วยเหลือครอบครัวเดิมหรือตั้งครอบครัวใหม่

เช่นเดียวกับคนชั้นกลางระดับกลางที่เติบโตมาในสมัยสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ได้เรียนรู้แบบแผนชีวิต (อุดมคติของชีวิตที่ดี, ระบบคุณค่า, ความสัมพันธ์ทางสังคม) ของกระฎุมพีชั้นสูง คนชั้นกลางระดับล่างก็ได้เรียนรู้แบบแผนชีวิตจากคนชั้นกลางระดับกลางที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตนด้วยเช่นกัน

ที่เหมือนกันอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนชั้นกลางระดับล่างเพิ่งเติบโตมาไม่นาน หากนับจากกลางสมัยเปรมก็ประมาณ 24 ปี (2525-2549) ในขณะที่กระฎุมพีและคนชั้นกลางระดับกลางเพิ่งขยายตัวก่อน 14 ตุลาเพียง 16 ปีเท่านั้น เหตุดังนั้น ทั้งสองกลุ่มนี้จึงมีประสบการณ์ทางการเมืองไม่มาก

กระฎุมพีและคนชั้นกลางรู้จักแต่การเมืองของเผด็จการทหารซึ่งน่าพอใจกว่าการเมืองเสรีประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลา ในขณะที่คนชั้นกลางระดับล่างรู้จักแต่ประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่ทำให้เขาได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐมากขึ้น และทำให้เขาไต่เต้าขึ้นมาสู่ความเป็นคนชั้นกลางระดับล่างได้

(ผมกล่าวตรงนี้เพื่อจะเตือนว่า ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่พึงคาดหวังว่าเสื้อแดงและแกนนำเสื้อแดงจะเป็นตัวแทนของประชาธิปไตยเต็มใบ เช่นเดียวกับที่ไม่พึงประเมินว่ากระฎุมพีและคนชั้นกลางไทยเป็นหัวหอกของประชาธิปไตยเช่นกัน)

คนไร้ประสบการณ์ทางการเมืองที่หลากหลายเช่นนี้แหละที่ “ลงแดง” ทางการเมืองได้ง่าย หากจะมีอาการ “ลงแดง” ในวิกฤตการเมืองครั้งล่าสุดนี้ ก็น่าจะเป็นกลุ่มคนชั้นกลางระดับล่างนี่แหละ เพราะได้เสพติดนโยบายรัฐที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกเขาบ้าง

อันเป็นนโยบายที่ดำเนินมาแล้วกว่าสองทศวรรษ (ผมไม่ได้หมายความว่านโยบายนี้ผิด) และเสพติดกับการเลือกตั้ง เพราะเป็นเงื่อนไขเดียวที่ประกันว่า รัฐจะมีนโยบายเช่นนั้นตลอดไป

เรากำลังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของคน “ลงแดง” หรือกึ่ง “ลงแดง” สองกลุ่ม ฝ่ายกระฎุมพีและคนชั้นกลางเสพติดเผด็จการทหาร และนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อเขา โดยไม่ต้องมองความทุกข์ยากของคนระดับล่าง คนชั้นกลางระดับล่างเสพติดนโยบายที่รัฐต้องช่วยให้เขาไต่เต้าได้สูงขึ้นไปกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตัวแบบ (model) “ลงแดง” อาจใช้เพื่อการวิเคราะห์วิกฤตการเมืองไทยช่วงนี้ได้ไม่ทะลุเท่าไรนักก็ได้

กระฎุมพีและคนชั้นกลาง “ลงแดง” หลัง 14 ตุลา ด้วยเหตุหลายอย่าง แต่เหตุอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยเลยคือเหตุทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีอนาคตที่ค่อนข้างมืดมนในช่วงที่เป็นประชาธิปไตยขณะนั้น และด้วยเหตุดังนั้นจึงหันไปสนับสนุน 6 ตุลา เพื่อคืนกลับไปสู่เผด็จการทหารที่ตนเองเคยชินและวางใจกว่า

แต่วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ซึ่งรุนแรงอย่างที่เราไม่เคยประสบมาก่อน กลับนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ทำไม ผมตอบไม่ได้ และยังไม่พบคำตอบที่น่าพอใจ แต่อีกส่วนหนึ่งของคำตอบน่าจะเริ่มกับการทบทวนข้อมูลบางอย่าง

เราเคยชินที่จะเรียกการประท้วงในเดือนพฤษภาคม 2535 ว่า “ม็อบมือถือ” ผมคิดว่านี่เป็นนิยามของผู้สื่อข่าวท่านหนึ่งที่ได้คลุกคลีกับผู้ประท้วง และพบว่ามีผู้พกพาโทรศัพท์มือถือ (ซึ่งมีราคาแพงในขณะนั้น) อยู่มาก ผมสงสัยข้อเท็จจริงครับ แต่ยังไม่อาจหารายงานข่าวที่ไม่เชื่อมโยงกับรายงานข่าวเรื่อง “ม็อบมือถือ” ได้ ที่ผมสงสัยก็เพราะผมอยู่ต่างจังหวัด ได้เห็นม็อบประท้วงในต่างจังหวัดว่าอยู่ในระดับคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปก็ไม่น้อย แต่จำนวนที่มากที่สุดคือคนชั้นกลางระดับล่าง ส่วนใหญ่ขี่มอเตอร์ไซค์มาร่วมประท้วง

หากม็อบที่ประท้วงในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับพลตรีจำลองและสันติอโศกอยู่บ้าง งานศึกษาเกี่ยวกับสันติอโศกบอกว่า ส่วนใหญ่ของสาวกเป็นคนชั้นกลางระดับล่าง

เช่นเดียวกับการรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ในต่างจังหวัดที่ผมอยู่ รถที่ติดธงเขียวส่วนใหญ่คือรถ “ใช้งาน” เช่นขนคนงานก่อสร้าง, ขนส่งของ, รถรับจ้าง, มอเตอร์ไซค์ ฯลฯ แม้รถส่วนตัวก็มีติดอยู่เหมือนกัน

ประเด็นของผมก็คือ บทบาทของคนชั้นกลางระดับล่างในการขับเคลื่อนพลังเพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร และสนับสนุนรัฐธรรมนูญที่เปิดให้มีการเลือกตั้งหลายระดับได้รับความเอาใจใส่จากผู้สนใจการเมืองไทยน้อยเกินไป จู่ๆ เขาก็โผล่มาเป็นมวลชนคนเสื้อแดง โดยมองไม่เห็นรากเหง้าการเติบโตในเวทีการเมืองของเขาเลย

และหากข้อสงสัยของผมถูก คนที่ชอบพูดว่า ประชาธิปไตยไม่ได้มีแต่การเลือกตั้ง ก็ต้องตอบด้วยว่า ในสถานะอย่างคนชั้นกลางระดับล่าง ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง เขาจะเข้าไปกำกับนโยบายสาธารณะได้อย่างไร ความไม่ใส่ใจต่อการขยายตัวของคนชั้นกลางระดับล่าง

นำไปสู่มโนภาพว่าชนบทไทยเต็มไปด้วยชาวไร่ชาวนาที่ถูกรัฐและทุนรังแก สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนคือมีรัฐที่ไม่อยู่ฝ่ายทุน แต่ทำหน้าที่ปกป้องคนเล็กคนน้อยในชนบท เผด็จการทหารหรือเผด็จการอะไรก็ตามจึงไม่น่ารังเกียจ หากเผด็จการเข้ามาทำหน้าที่อย่างนั้น

แต่หากเรายอมรับการขยายตัวของคนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งกลายเป็นส่วนใหญ่ของประชากรไทย เรากำลังพูดถึงรัฐที่พวกเขาต่อรองได้ ไม่ใช่รัฐอุปถัมภ์อีกแล้ว

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือกระฎุมพีและคนชั้นกลางถูกจับ “อดยา” มานาน จนน่าจะหาย “ลงแดง” กับยาเสพติดตัวเก่าไปแล้ว พวกเขาคงต้องยอมรับว่า ความรุ่งเรืองและมั่นคงทางเศรษฐกิจซึ่งตั้งอยู่บนการหนุนหลังของสหรัฐ จะไม่มีวันกลับมาอีก โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมย่อมเปลี่ยนลูกหลานเขาเสียยิ่งกว่าหนังสือฝ่ายซ้ายเพียงไม่กี่เล่มที่ถูกนำมาพิมพ์ใหม่หลัง 14 ตุลา

แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า กระฎุมพีและคนชั้นกลางหลัง 6 ตุลา ต้องหันไปบำบัดอาการ “ลงแดง” ของตนด้วยสิ่งที่เป็นมายาทั้งหลาย (ดูข้างต้น) มายาคือไม่จริง การหันไปยึดโครงสร้างรัฐตามอุดมคติซึ่งกระฎุมพีและคนชั้นกลางเองก็รู้ว่าไม่จริง คือการติดยาตัวใหม่นั่นเอง เช่น กองทัพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง ฉะนั้น หากยึดอำนาจก็จะทำให้เกิดความสงบสุขแก่บ้านเมือง เพราะกองทัพไม่มีเส้นสายกับใคร จึงไม่มีเหตุที่จะต้องคอร์รัปชั่น ฯลฯ อะไรทำนองนี้

กระฎุมพีและคนชั้นกลางก็รู้ว่าอุดมคติเช่นนี้ไม่จริง แต่หากไม่มีความไม่จริงเหล่านี้ให้เขายึดเหนี่ยว ชีวิตของเขาจะเผชิญความผันผวนของเศรษฐกิจ, สังคม, และวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นรอบตัวได้อย่างไร

(ผมคิดว่าจะเข้าใจคำพูดที่แย้งกันเองของนักคิดฝ่ายขวาหลายคนในช่วงนี้ได้ดีขึ้น หากยอมรับว่าพวกเขาติดยา ยิ่งกองทัพยึดอำนาจ ยิ่งต้องหลับตากับความจริงที่เขารู้อยู่เต็มอกมากขึ้น)

ประโยคสั้นๆ อันหนึ่งที่อาจารย์เบนพูดทิ้งท้ายไว้ในบทความ อาจารย์เบนพูดทำนองว่า หากไม่นับเลนินและพรรคบอลเชวิคแล้ว ไม่มีการปฏิวัติครั้งไหนจะประสบความสำเร็จได้ หากนักปฏิวัติไม่ได้ถูกมองว่ากระทำการเพื่อชาติ ท่านพูดเรื่องนี้เพื่ออธิบายว่า หลัง 6 ตุลา โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารซ้อนใน 2520 สถานะของนักศึกษาทั้งที่ต้องคดีในประเทศหรือหลบหนีไปร่วมกับคอมมิวนิสต์ในป่าหรือหลบออกต่างประเทศ เปลี่ยนไป แม้ผู้คนยังไม่เห็นด้วยกับความคิดของพวกเขา

แต่ไม่มีใครปฏิเสธว่า พวกเขาทำการทั้งหมดด้วยความรักชาติ เรื่องนี้อาจตรงกับที่อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล พูดถึง “ความเงียบ” ของฝ่ายขวาในปาฐกถาของท่านหลัง 6 ตุลาอีกหลายปี

ผมอ่านประโยคนี้ของอาจารย์เบนแล้วคิดถึงความปรองดองที่กระฎุมพีและคนชั้นกลางพูดถึงอยู่

ผู้ต่อต้านการรัฐประหาร มองกระฎุมพีและคนชั้นกลางที่สนับสนุนการรัฐประหารว่า ต้องการกีดกันมิให้รัฐใช้ทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือค้ำจุนคนระดับล่าง พูดอีกอย่างหนึ่งคือ กระฎุมพีและคนชั้นกลางสนับสนุนการรัฐประหารเพื่อประโยชน์ส่วนตัว คือจะกันให้รัฐใช้ทรัพยากรเพื่อประโยชน์ของกลุ่มตนเท่านั้น ตรงกันข้าม กระฎุมพีและคนชั้นกลางกล่าวหาคนที่ต่อต้านการรัฐประหารว่ารับเงินจากนักการเมืองที่เพลี่ยงพล้ำในการต่อสู้กับกองทัพ มีผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้งอย่างน่ารังเกียจ

ไม่มีฝ่ายใดยอมรับว่าฝ่ายตรงข้ามมีความรักชาติเลย หากจะมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต่างฝ่ายต่างคิดว่าจะนิรโทษกรรมเฉพาะ “คนโง่” ของแต่ละฝ่าย (คือกระทำไปด้วยความเขลา ไม่เกี่ยวกับความรักชาติ) หรือหากจะมีการเหมาเข่ง ก็จะเป็นเรื่องของการยื่นหมูยื่นแมว อย่างที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เคยเสนอไปแล้ว ไม่ใช่เพราะยอมรับว่าอีกฝ่ายหนึ่งกระทำไปด้วยความรักชาติ แม้ทำอย่างเข้าใจผิดหรืออย่างคิดสั้นก็ตาม

ฉะนั้น มองจากประโยคนั้นของอาจารย์เบน ก็หมายความว่า จะไม่มีฝ่ายใดได้ชัยชนะเลย ความขัดแย้งจะดำรงอยู่ตลอดไป จนถึงวันนี้และต่อไปในวันหน้าที่พอจะมองเห็นได้ จะไม่มีฝ่ายใดเลือก “ความเงียบ” เป็นทางออก ข้อกล่าวหาเรื่อง “อันธพาลการเมือง” และ “รับเงินทักษิณ” ยังดังเท่ากับก่อนหน้าการรัฐประหาร

น่ากลัวนะครับ เราอยู่ในสังคมที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างคนสองฝ่าย เสี่ยงที่จะลุกลามกลายเป็นความรุนแรงได้ทุกเมื่อ เพราะฝ่ายหนึ่งก็ “ลงแดง” เสพติดกับนโยบายที่เอื้อต่อการเพิ่มอำนาจของคนจน อีกฝ่ายหนึ่งก็อยู่ในอาการ “จิตเภท” คือแยกระหว่างความจริงและมายาไม่ออก

0000​

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนรายวัน เมื่อวันที่18 กรกฎาคม 2559

ที่มา: มติชนออนไลน์ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท