‘สมัชชาแม่น้ำ’ เดินหน้าค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา

นักวิชาการ-NGO-ประชาสังคม-บริษัทเดินเรือ ผนึกกำลังจัดตั้ง “สมัชชาแม่น้ำ” คัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยาของรัฐบาล ประเดิมจัดล่องเจ้าพระยานำสมาชิกเครือข่ายและสื่อมวลชนกว่า 200 คนนั่งเรือสำรวจพื้นที่สองฝั่งโครงการ “ปริญญา” ม.ธรรมศาสตร์ จี้ สจล.ไม่ควรตั้งธงเดินหน้าโครงการ แนะต้องฟังเสียงประชาชนก่อน ไม่ใช่แค่แจ้งให้ทราบเพราะจะมีปัญหาตามมา ด้านฝ่ายศึกษาโครงการฯเตรียมเสนอร่างแผนพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา 12 แผนงาน 238 โครงการ และ EIA ภายในเดือนกันยายนนี้ 
 
 
 
โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) ระยะทางสองฝั่งรวม 57 กิโลเมตร (สะพานพระราม 7-บางกระเจ้า) ซึ่งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติรับทราบการจัดทำแนวคิดและการออกแบบเบื้องต้นของกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 และต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2558 ครม.มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณเบื้องต้น 14,000 ล้านบาทเศษ เพื่อเป็นเส้นทางสัญจร ทางขี่จักรยาน และสันทนาการของประชาชน แต่เมื่อมีกระแสเสียงคัดค้าน รัฐบาลจึงมอบหมายให้ กทม.ว่าจ้างให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จัดทำแผนแม่บทโครงการและออกแบบรายละเอียดโครงการช่วงแรกระยะทาง 14 กิโลเมตร (สะพานพระปิ่นเกล้า-สะพานพระราม 7) งบประมาณ 120 ล้านบาท ระยะเวลา 7 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม – กันยายน 2559 นั้น
 
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 14.00 น. สมัชชาแม่น้ำ (The River Assembly) ซึ่งเป็นเครือข่ายคัดค้านโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้จัดกิจกรรม "นับถอยหลังปักทางเลียบทำลายเจ้าพระยา" โดยนำนักวิชาการ อาจารย์ เครือข่ายสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจ ล่องเรือจากท่าเรือสาทร เขตบางรัก ไปยังบริเวณมัสยิดบางอ้อ เขตบางพลัด เพื่อสำรวจพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตามที่รัฐบาลมีโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 200 คน ซึ่งขณะที่เรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาได้มีการจัดเสวนาบนเรือด้วย โดยมีนักกิจกรรมทางสังคมและนักวิชาการเข้าร่วมหลายคน เช่น นายสุลักษณ์ ศิวลักษณ์, นายไกรศักดิ์ชุณหะวัณ, นายพิภพ ธงไชย, นางสาวรสนา โตสิตระกูล, นายมาโนช พุฒตาล, นายขวัญสรวง อติโพธิ, ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ฯลฯ
 
ทั้งนี้ผู้ที่ร่วมเวทีเสวนาทั้งหมดแสดงความไม่เห็นด้วยต่อโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญ คือ การขาดผังแม่บทของการพัฒนา ประชาชนมองไม่เห็นภาพรวมของการพัฒนา, ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนา กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นไปในลักษณะของการนำผลของการตัดสินใจมาประชาสัมพันธ์ต่อชุมชน, มีการบิดเบือนข้อมูลว่าชุมชนเห็นด้วยต่อการพัฒนาซึ่งไม่เป็นความจริง, การก่อสร้างใดๆ ในแม่น้ำเจ้าพระยาและชุมชนริมน้ำซึ่งเป็นมรดกทางวัฒธรรมที่สำคัญ ควรจะมีการประเมินผลกระทบก่อนการออกแบบ
 
นอกจากนี้ประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 (วันที่ 8 กรกฎาคม 2559) ที่ผ่านมา มีการปิดกั้นไม่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง, ไม่มีตัวแทนของสมาคมวิชาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญทางสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ, รูปแบบการใช้งบประมาณ 14,000 ล้านบาทยังขาดความชัดเจน, เสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายรุกล้ำลำน้ำตามกฎกระทรวง ว่าด้วยการปลูกสร้างริมน้ำต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของที่ดิน ฯลฯ
 
 
ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการกฎหมายมหาชน รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าตอนนี้มาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี 2550 จะไม่มีแล้ว แต่การจะทำโครงการใดๆ ที่จะเกิดผลกระทบต่อชุมชนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพของประขาชน ก็จะต้องประเมินผลกระทบและจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่มีส่วนได้เสียก่อน ดังนั้นการทำโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยาจึงต้องถามประชาชนก่อน ไม่ใช่แค่แจ้งให้ทราบ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีข้อมูลที่เพียงพอ ไม่ใช่การมีธงก่อนแล้วค่อยไปแจ้งประชาชน 
 
“สจล.อาจจะคิดว่าไม่มีมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว แต่ศาลปกครองเคยตัดสินมาแล้วว่า สิทธิอันนี้เป็นสิทธิที่ชนชาวไทยเคยมีตามประเพณีการปกครองประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงก่อนที่หน่วยงานของรัฐจะอนุมัติโครงการ เพราะหากไม่มีกระบวนการรับฟังอย่างแท้จริง รวมถึงการศึกษา ผลกระทบอย่างแท้จริง เมื่ออนุมัติไปก็จะเกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน ดังนั้น สจล.ควรจะเป็นคนกลาง ต้องฟังข้อมูลจากทุกด้าน เอาข้อมูลมานำเสนอว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร ไม่ใช่มีแต่ข้อดีเพียงด้านเดียว” ดร.ปริญญากล่าว 
 
นอกจากนี้ ดร.ปริญญายังกล่าวว่า เรื่องใหญ่มากของแม่น้ำเจ้าพระยา คือเจ้าพระยาเป็นรากฐาน ของวัฒนธรรม ชุมชน วัดวาอาราม บ้านเรือนริมแม่น้ำที่หลากหลาย การที่จะไปทำโครงการให้เกิดถนนหรือทางเรียบเป็นโครงสร้างวิศวกรวิ่งเลียบไปสองฝั่ง คือการทำลายต้นทุนของตัวเอง 
 
สำหรับ “สมัชชาแม่น้ำ” เกิดจากการรวมตัวกันของนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน (Ngo) ภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ), มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, สยามสมาคม, เครือข่ายต่อต้านการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา, กลุ่มกรีนพีซ ฯลฯ ส่วนภาคธุรกิจเอกชนที่สำคัญ เช่น สมาคมเรือไทย, บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา, บริษัทสยามริเวอร์ครุยซ์, บริษัทนัมเบอร์วันเฟอร์รี่ ซึ่งมีธุรกิจเดินเรือและท่องเที่ยว รวมทั้งร้านอาหารและที่พักบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฯลฯ รวมแล้วมีสมาชิกกว่า 40 องค์กร เริ่มเปิดตัวเมื่อเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา มีเป้าหมายสำคัญคือ การรวมพลังทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการออกแบบและจัดการแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน
 
 ทางด้านสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรุงเทพมหานครให้ทำการศึกษาและออกแบบโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chaopraya The River For All) ตั้งแต่เดือนมีนาคม-กันยายน 2559 ใช้งบประมาณจำนวน 120 ล้านบาท โดย รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน คณะทำงานได้ลงพื้นที่ครบทั้ง 33 ชุมชนแล้ว ผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้าตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ ทั้งในด้านการมีส่วนร่วมและโบราณคดีชุมชน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคณะทำงานได้ร่วมกับกรมศิลปากรและคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ศึกษาแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ทั้งสองฝั่ง เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจคุณค่าและนำไปสู่การอนุรักษ์สืบสานมรดกวัฒนธรรมต่อไป
 
ส่วนความคืบหน้าด้านการออกแบบนั้น คณะทำงานได้จัดทำร่างแนวคิดผังแม่บทระยะทาง 57 กิโลเมตร และระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร จากเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า-สะพานพระราม 7 ภายใต้แนวคิด “นาคนาม” (นาค-คะ-นาม) ซึ่งมีความหมายถึง การเชื่อมโยงทางจินตภาพของพญานาคซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนไทยและชาวตะวันออกเฉียงใต้เป็นเทพแห่งสายน้ำและท้องฟ้า สื่อถึงพลังสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ ความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ดั่งเช่นท้องน้ำเจ้าพระยา ในการพัฒนาพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อสืบสานวิถีริมน้ำวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ชุมชน โดยจะนำเสนอที่ประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จากนั้นจะนำไปปรับปรุงแก้ไขร่างแบบให้สมบูรณ์ ทั้งนี้คาดว่าการออกแบบพื้นที่ชุมชนหลายแห่งจะทยอยเสร็จตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายน 2559 นี้
 
“คณะทำงานได้นำเสนอร่างแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร ซึ่งมี แผนการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ12 แผนงาน รวม 238 โครงการ ประกอบด้วย 1.แผนงานจัดทำทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา 2.แผนงานปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน 3.แผนงานพัฒนาท่าเรือและจุดบริการสาธารณะ 4.โครงการพัฒนาศาลาท่าน้ำ 5.แผนงานพัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ 6.โครงการพัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ 7.โครงการปรับปรุงพื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์ 8.โครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชน 9.แผนงานการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน 10.แผนงานพัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ 11.แผนงานพัฒนาจุดหมายตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา และ 12.แผนงานพัฒนาสะพานคนเดิน” รศ.ดร.สกุลกล่าว
 
ผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากล่าวด้วยว่า จากการศึกษาสำรวจพื้นที่ริมฝั่ง 14 กิโลเมตร พบว่า 80-90% มีโครงข่ายถนนที่ทับโครงข่ายน้ำเดิม คณะทำงานได้เล็งเห็นความสำคัญของโครงข่ายน้ำที่จะแก้ไขปัญหาน้ำขังรอการระบาย รวมทั้งการถ่ายเทระบบนิเวศน์ จึงมีแนวคิดดึงระบบโครงข่ายน้ำเดิมกลับมาในพื้นที่ โดยทำท่อระบายน้ำ ระบบคลองใต้ถนน บูรณาการภูมิปัญญาดั้งเดิมและแนวความคิดสมัยใหม่เข้าด้วยกัน ทั้งนี้รายงานขั้นสุดท้ายและรายงาน EIA ฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จ และพร้อมนำเสนอต่อ กทม. และคณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นทางการภายในเดือนกันยายนนี้
 
รศ.สุพจน์ ศรีนิล ฝ่ายวิศวกรรมโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า ความคืบหน้างานวิศวกรรมนั้น คณะทำงานจะรองรับตามรูปแบบความคิดสร้างสรรค์ของฝ่ายสถาปัตยกรรมตามลักษณะของพื้นที่สำหรับชุมชนบางแห่งทางเดินจะอยู่บนพื้นดิน ส่วนโครงสร้างทางเดินที่จำเป็นต้องอยู่ริมน้ำจะวางใกล้แนวเขื่อนเดิมและทางเดินยื่นออกมาริมแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งยังได้ศึกษารูปแบบเสาแบบสปันมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 ซม. แบบเสาเดียว ทีสแปนหรือระยะห่าง 10-20 เมตร รับน้ำหนักได้ 150-200 ตัน โดยพื้นที่ทางเดินจะกว้างประมาณ 5-7 เมตร ขึ้นอยู่กับกายภาพในแต่ละพื้นที่ด้วย ทั้งนี้มีบางชุมชนฝั่งธนบุรีที่เห็นด้วยและต้องการให้ทำทางเดินในลักษณะโฟลตติ้งหรือลักษณะของแพลอยน้ำ ซึ่งคณะทำงานกำลังศึกษาอีกครั้งว่าจะเป็นแพชนิดใดที่จะอยู่นิ่งและไม่ลอยไปตามคลื่นกระแสน้ำ
 
ด้านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดทำแผนงานระยะเวลา 1 ปี (มีนาคม 2559-กุมภาพันธ์ 2560) เพื่อรองรับด้านที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและจะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานั้น
 
นายจีรศักดิ์ พูลสง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา พอช.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่ชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยาที่อยู่ในแนวโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าถึงสะพานพระราม 7 พบว่า มีชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยารวม 9 ชุมชน ประมาณ 252 ครัว เรือน นอกจากนี้ พอช.ยังได้จัดประชุมชาวบ้านในแต่ละชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการช่วยเหลือการรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาและจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ตามโครงการบ้านมั่นคง 
 
“จากการสอบถามความต้องการของชาวบ้านและการสำรวจข้อมูลที่อยู่อาศัยของ พอช.พบว่า มีแนวทางในการรองรับด้านที่อยู่อาศัยอยู่ 4 แนวทาง คือ 1.ย้ายขึ้นแฟลตกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) 2.ซื้อที่ดินเอกชนเพื่อสร้างบ้านใหม่ 3.หาที่อยู่อาศัยของการเคะแห่งชาติ เช่น บ้านเอื้ออาทร และ 4.ขอรับเงินเยียวยาและหาที่อยู่อาศัยเอง” นายจีรศักดิ์กล่าว
 
สำหรับแฟลต ขส.ทบ.นั้น ตั้งอยู่ใกล้กับรัฐสภาใหม่บริเวณสี่แยกเกียกกาย เป็นแฟลต 5 ชั้น 2 อาคารเชื่อมต่อกัน รวมทั้งหมด 64 ห้อง ขนาดพื้นที่ห้องละ 51 ตารางเมตร เดิมเป็นที่พักอาศัยของข้าราชการ ขส.ทบ. และต่อมาสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาได้ขอใช้แฟลต ขส.ทบ.เพื่อเป็นที่พักสำหรับข้าราชการรัฐสภา อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลมีโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รัฐสภาจึงมอบแฟลตให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถรองรับชาวชุมชนเขียวไข่กา, ปากคลองบางเขน และวัดสร้อยทอง รวม 40 ห้อง รวมทั้งรองรับชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่จำนวน 2 ชุมชนคือ ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า 19 ห้อง และชุมชนริมไทร 5 ห้อง ขณะนี้อยู่ในระหว่างการซ่อมแซมแฟลต คาดว่าภายในเดือนกันยายนนี้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจะเริ่มเข้าอยู่อาศัยได้ โดยต้องจ่ายค่าเช่าห้องเดือนละ 1,001 บาท
 
นอกจากนี้ยังมีบ้านเอื้ออาทรนครชัยศรี (ท่าตำนัก) อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม อยู่ห่างจากสะพานพระปิ่นเกล้าประมาณ 30 กิโลเมตร ยังมีห้องว่างสามารถรองรับผู้อยู่อาศัยได้หลายสิบครอบครัว ซึ่งการเคหะฯ ได้ลดราคาให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยาจากราคายูนิตละ 420,000 บาท เหลือ 400,000 บาท ขนาดพื้นที่ประมาณ 30 ตารางเมตร สามารถเข้าอยู่อาศัยได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ และที่ดินเอกชนบริเวณอำเภอบางใหญ่ จ.นนทบุรี ขนาดเนื้อที่ 2 ไร่เศษ ราคาขายประมาณ 12 ล้านบาทเศษ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจาซื้อขายที่ดิน 
 
สำหรับงบประมาณช่วยเหลือชาวบ้านในการจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่นั้น นายจีรศักดิ์กล่าวว่า พอช.จะสนับสนุนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบไม่เกินครัวเรือนละ 80,000 บาท โดยแยกเป็น 1. อุดหนุนที่อยู่อาศัยครัวเรือนละ 25,000 บาท และ 2.พัฒนาระบบสาธารณปโภคครัวเรือนละ 50,000 บาท และ 3.งบบริหารจัดการครัวเรือนละ 5,000 บาท ซึ่งทั้ง 3 รายการดังกล่าว พอช.ไม่ได้จ่ายให้ชาวบ้านเป็นเงินสด แต่จะอยู่ในรูปของงบอุดหนุน เช่น หากชาวบ้านจะไปอยู่แฟลต ขส.ทบ. ทาง พอช.ก็จะอุดหนุนงบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค (ค่าซ่อมแซมระบบไฟฟ้า, ประปา,ซ่อมห้อง) ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าเป็นระยะเวลา 3 ปี, ค่าประกันล่วงหน้า 3 เดือน ส่วนค่าเช่ารายเดือน เดือนละ 1,001 บาท ชาวบ้านจะต้องจ่ายเอง ส่วนในกรณีที่ชาวบ้านจะรวมกลุ่มจัดซื้อที่ดินแปลงใหม่เพื่อสร้างบ้าน พอช.จะสนับสนุนสินเชื่อไม่เกินครัวเรือนละ 300,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี ผ่อนชำระคืนภายใน 15 ปี รวมทั้งยังมีงบอุดหนุนที่อยู่อาศัยและพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ครัวเรือนละ 80,000 บาท (เช่นเดียวกับผู้ที่จะย้ายขึ้นแฟลต ขส.ทบ.และไม่ได้จ่ายเป็นเงินสด) 
 
“สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการอยู่อาศัยตามแนวทางดังกล่าว หรืออยากจะหาที่อยู่อาศัยเอง ขณะนี้ทาง พอช.กำลังขอความชัดเจนจากทางรัฐบาลว่าจะให้ความช่วยเหลือชาวบ้านกลุ่มนี้อย่างไร เช่น รับเงินเยียวยาแล้วย้ายออกจากพื้นที่ไปเลย” นายจีรศักดิ์กล่าว
 
ส่วนในกรณีที่รัฐบาลอาจจะไม่ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไปนั้น นายจีรศักดิ์กล่าวว่า ภาระหน้าที่ของ พอช.ก็คือทำให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง แม้ว่าจะไม่มีการดำเนินโครงการนี้ต่อ แต่ชาวบ้านก็จะมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ไม่ว่าจะเช่าแฟลต ซื้อแฟลต หรือสร้างบ้านใหม่ เพราะเป็นการอยู่อาศัยอย่างถูกต้อง ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกไล่รื้ออีกต่อไป นอกจากนี้ พอช.ก็ยังมีภารกิจที่จะสนับสนุนชาวบ้านต่อไปนอกเหนือจากเรื่องที่อยู่อาศัย เช่น การสนับสนุนเรื่องอาชีพ เศรษฐกิจ สวัสดิการชุมชน ฯลฯ ซึ่งก็คือการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ให้ชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนต่อไปได้ด้วยชาวชุมชนเอง
 
สำหรับชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและจะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีจำนวน 9 ชุมชน รวม 252 ครัวเรือน คือ เขตบางซื่อ 1.ชุมชนปากคลองบางเขนใหม่ ( 12 ครัวเรือน) 2.ชุมชนวัดสร้อยทอง (14 ครัวเรือน) เขตบางพลัด 3.ชุมชนวัดฉัตรแก้วจงกลณี ( 10 ครัวเรือน) เขตดุสิต 4.ชุมชนเขียวไข่กา ( 21 ครัวเรือน) 5.ชุมชนศรีคราม (10 ครัวเรือน) 6.ราชผาทับทิม ( 32 ครัวเรือน) 7.ชุมชนศาลเจ้าแม่ทับทิม (32 ครัวเรือน) 8.ชุมชนมิตรคาม 1 (66 ครัวเรือน) 9.ชุมชนมิตรคาม 2 (55 ครัวเรือน) นอกจากนี้ยังมีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่จำนวน 2 ชุมชน คือ ชุมชนองค์การทอผ้า (19 ครัวเรือน) และชุมชนริมไทร ( 5 ครัวเรือน) ซึ่งทั้ง 2 ชุมชนนี้จะรวมอยู่ในแผนงานที่อยู่อาศัยของ พอช.ด้วย รวมทั้งหมด 11 ชุมชน( 276 ครัวเรือน) ใช้งบประมาณรวม 125 ล้านบาท
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท