ความขัดแย้งทางความคิดของขบวนการทางประชาธิปไตย: ภาพสะท้อนของเฮียวกะ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวในการต่อต้านคณะรัฐประหารครั้งแรก จนถึงปัจจุบัน ภาพสะท้อนของสิ่งที่เด็กน้อยซึ่งอ่อนต่อโลกอย่างผมเห็นกลับไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างกลุ่มนักศึกษากับทหาร หากแต่เป็นการต่อสู้ของกลุ่มผู้ที่มีอุดมการณ์และความเชื่อมั่นในพลังประชาอย่างแรงกล้ากับคณะผู้ยึดครองอำนาจและบิดเบือนความชอบธรรมเข้าหาตัวเอง

และผลจากการไล่จับกุมนักศึกษา ปัญญาชน สามัญชนและชาวบ้านอย่างบ้าคลั่งเหมือนหมากระโจนเข้าหาเนื้อของคณะรัฐประหาร ทำให้ผมเห็นอีกการต่อสู้นึง มันเป็นการต่อสู้ที่ไม่ได้ใช้การออกอาวุธหรือสรรพกำลังใดๆ เป็นการต่อสู้ที่ไม่ได้แลกมาด้วยเลือดเนื้อ หากแต่เป็นการต่อสู้ที่จะก่อให้เป็นการตกผลึกทางปัญญาให้กับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง นั่นคือการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่มีความศรัทธาในอุดมการณ์และเชื่อว่าประชาชนกำลังรอคอยระยะเวลาที่ความเกลียดแค้นโกรธชังต่อผู้มีอำนาจจะปะทุและสร้างแรงกระเพื่อมให้ลุกฮือของเหล่าประชาชน เชื่อถึงเวลาที่พวกเขาเหล่านั้นจะระเบิดความคับแค้นออกมา

กับอีกพวกหนึ่งนั้น คือพวกที่เห็นทราบและไม่สนับสนุนกิจการของคณะรัฐประหาร หากแต่ก็ไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของเหล่านักศึกษาด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ที่มีอำนาจและมีอาวุธในถือครอง พร้อมที่จะขย้ำเราอย่างเลือดเย็นและไร้ซึ่งความปราณีโดยชอบธรรมด้วยข้ออ้างว่าการกระทำของเหล่าผู้เคลื่อนไหวนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ อีกทั้งยังมีกลุ่มบุคคลและประชาชนจำนวนหนึ่งสนับสนุนการกระทำเช่นนั้น ดังเช่นที่มีการจับกุมนักกิจกรรมไปคุมขังเพื่อพยายามเชือดไก่ให้ลิงดู พวกเขาเห็นว่าฝ่ายเสรีนิยมยังหลงระเริงไปกับความโรแมนติกทางอุดมการณ์ พวกเขาบอกว่าการลุกฮือของประชาชนนั้นจะไม่เกิดขึ้น เพราะจากรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ผ่านมานั้นไม่มีความตกผลึกอะไรที่มากพอจะทำให้คนส่วนใหญ่ออกมาร่วมขบวนได้

การเมืองซึ่งเป็นประเด็นที่ดูอ่อนไหวกับการ์ตูนญี่ปุ่นอันดูไร้แก่นสารมันคงอาจดูไม่เข้ากันนักเท่าไหร่ (ถึงแม้ว่าวิวัฒนาการของการ์ตูนจะเริ่มต้นมาจาก’อุดมการณ์ทางการเมือง’ก็ดี) แต่กลับน่าประหลาดใจที่ภาพของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษาที่มีหัวฝักใฝ่นิยมอุดมการณ์แห่งความเสมอภาคและประชาธิปไตยในครั้งนี้นั้น ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะหวนนึกถึงว่าจะเป็นภาพสะท้อนของช่วงตอนหนึ่งในอนิเมชั่นและมังงะของญี่ปุ่นที่ชื่อว่า “ปริศนาความทรงจำ ‘เฮียวกะ’ (ญี่ปุ่น:  氷菓)” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจและเค้าโครงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกัน

นิยายเรื่องนี้ เป็นหนังสือนวนิยายเล่มแรกในหนังสือชุด “นักสืบแห่งชมรมวรรณกรรมคลาสสิก” ซึ่งเนื้อเรื่องที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้นั้น จะขอกล่าวข้ามรายละเอียดปลีกย่อยไปเสีย

เอาล่ะ เรามาเริ่มเล่าเรื่องของ ‘เฮียวกะ’ และศึกษามันไปพร้อมๆกันดีกว่า

เรื่องเกิดขึ้นที่ชมรมวรรณกรรมคลาสสิก โรงเรียนมัธยมปลายคามิยามะ โรงเรียนที่เปี่ยมไปด้วยสีสันของวัยหนุ่มสาว ‘โอเรกิ โฮทาโร่’ เด็กหนุ่มที่ไม่มีท่าทีที่จะแสดงความกระปรี้กระเปร่าหรือพลังแห่งคนหนุ่มสาว ดำรงชีวิตด้วยปรัชญาแห่งความเรียบง่าย สงบ และเลือกที่จะไม่ข้องแวะกับธุระอันเสียเวลาสูญเสียการเผาผลาญพลังงานในชีวิต ผู้ซึ่งถูกพี่สาวขอร้องให้เข้าชมรมวรรณกรรมคลาสสิกซึ่งใกล้จะถูกปิดตัวลงเนื่องจากไม่มีสมาชิก ที่นั้นเองที่เขาได้พบกับ ‘จิทันดะ เอรุ’ ซึ่งเป็นลูกคุณหนูผู้มั่งมี เป็นทายาทสืบสกุลของตระกูลชนชั้นนำ (elite) ในเมืองนั้น จิทันดะ เป็นเด็กสาวที่เปี่ยมไปด้วยความสงสัย ความกระหายในความอยากรู้ต่อสถานการณ์อันน่าพิศวงที่เกิดขึ้นตรงหน้า และใสซื่อบริสุทธิ์จนไม่อาจรับได้ต่อความจริงๆอันโหดร้ายซึ่งขัดต่อภาพลักษณ์แห่งโลกอุดมคติของเธอ

หลังจากที่เด็กหนุ่มโฮทาโร่ได้แสดงศักยภาพในการไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องเร้นลับพิศวงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนคามิยามะด้วยการตั้งข้อสันนิษฐานและพิสูจน์ให้เด็กสาวจิทันดะผู้ช่างสงสัยด้วยการแสดงออกถึงความสามารถในการประเมินสถานการณ์ การตั้งข้อทฤษฏี การตั้งข้อกังขาต่อข้อสันนิษฐานของผู้อื่นการคาดเดาความเป็นไปได้และการใช้กระบวนการทางตรรกะอย่างชาญฉลาด ในที่สุดเด็กสาวก็ได้นัดเจอกับเด็กหนุ่มที่ร้านกาแฟเล็กๆแห่งหนึ่ง

 

(ที่มาภาพ: https://abandonedfactory.wordpress.com/2012/05/07/
hyouka-3-a-conclusion-beyond-my-imagination/)

แน่นอนครับ ว่ามันไม่ใช่การสารภาพรักอันแสนอ่อนหวานอย่างที่จะเกิดในอนิเมชั่นทั่วไป แต่มันคือการขอร้องที่จะให้เด็กหนุ่มช่วยไขข้อสงสัยของความทรงจำเกี่ยวกับคุณลุงผู้เป็นที่รักของเธอ ที่มีชื่อว่า ‘เซกิทานิ จุน’ ซึ่งได้หายสาบสูญไปเมื่อ 7 ปีที่แล้วในมาเลเซีย

เซกิทานิ จุน คือคุณลุงผู้สุภาพและใจดีของจิทันดะ ผู้ที่คอยปลอบโยนเธอยามเศร้า และตอบคำถามในทุกข้อสงสัยกับเธอ (ตรงนี้เองอาจทำให้เห็นว่าการที่จิทันดะมีความรู้สึกดีๆให้กับโฮทาโร่ เพราะโฮทาโร่มีความคล้ายคลึงกันกับคุณลุงของเธอ) แต่มาวันหนึ่งเธอได้ถามเรื่องของ ‘ชมรมวรรณกรรมคลาสสิก’ กับคุณลุงของเธอ ท่าทีนั้นเปลี่ยนไป คุณลุงของเธอมีท่าทีอึกอักและไม่อยากที่จะตอบ แต่จิทันดะก็คะยั้นคะยอให้คุณลุงเล่าให้ฟัง เมื่อการเล่าเรื่องราวทั้งหมดสิ้นสุดลง เด็กน้อยจิทันดะร้องไห้ออกมา ครั้งนี้คุณลุงของเธอไม่เข้ามาปลอบโยนอย่างที่เคยทำเช่นทุกครั้ง ข้อสงสัยเกี่ยวกับความทรงจำที่ขาดหายไปที่จิทันดะต้องการให้โฮทาโร่ไขข้อข้อใจของเธอให้ คือ “เพราะอะไรเธอถึงร้องไห้ออกมา” และ “ทำไมคุณลุงของเธอถึงไม่ปลอบโยนเธออย่างเช่นเคย”

ขอเท้าความย้อนหลังเล็กน้อย การที่ชมรมจะสามารถจัดตั้งเป็นชมรมและดำเนินกิจการชมรมโดยรับงบประมาณในการดำเนินกิจการจากโรงเรียนได้นั้นต้องมีการสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมซึ่งแต่ละชมรมมักจะนำมาออกนำเสนอในงานเทศกาลวัฒนธรรมโรงเรียนคามิยามะ ตรงนี้นี่เองที่เป็นจุดเชื่อมต่อของเรื่องที่ทำให้เหล่าผองเพื่อนแห่งชมรมวรรณกรรมคลาสสิกเริ่มที่จะตั้งสมมุติฐานที่มาของชื่อเล่นของงานเทศกาลคามิยามะว่า คำว่า “เทศกาลคันยะ” มาจากไหน

ประจวบเหมาะกับจดหมายจากพี่สาวของโฮทาโร่ซึ่งส่งมาจากอิสตันบูลทำให้ได้ค้นพบวารสารเล่มหนึ่งของชมรมวรรณกรรมคลาสสิกที่มีชื่อว่า


“เฮียวกะ”
(ที่มาภาพ: https://karice.wordpress.com/2012/12/28/p279/)

“คำนำ

ปีนี้งานวัฒนธรรมยังคงมาเยือนเช่นเคย นับเป็นเวลาหนึ่งปีหลังจากรุ่นพี่ ‘เซกิทานิ’ จากไป

ระยะเวลา หนึ่งปีเปลี่ยนรุ่นพี่จากวีรบุรุษให้กลายเป็นตำนาน งานวัฒนธรรมปีนี้ยังจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตลอดระยะเวลาห้าวัน ทว่า ณ มุมหนึ่งภายในรั้วโรงเรียนที่ปลื้มปิติกับตำนาน ข้าพเจ้ายังอดสงสัยไม่ได้อีกว่าอีกสิบปีให้หลังจะยังมีใครจำเรื่องนี้ของนักรบผู้เงียบสงบหรือวีรบุรุษผู้อ่อนโยนคนนั้นได้หรือไม่และชื่อ ’เฮียวกะ’ นี้ที่รุ่นพี่เป็นคนตั้งจะหลงเหลือจนวันสุดท้ายหรือเปล่า ทั้งการต่อสู้ การพลีชีพหรือกระทั่งรอยยิ้มในตอนนั้นของรุ่นพี่คงถูกพัดหายไปตามกระแสกาลเวลา

ไม่สิ เป็นแบบนั้นก็ดีแล้ว อย่าจดจำมันเสียดีกว่า เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นไม่เรียกว่าเป็นมหากาพย์ของวีรบุรุษอย่างเด็ดขาด ทั้งหมดจะค่อยๆ สูญเสียอัตวิสัยและกลายเป็นวรรณกรรมสมัยเก่า ณ ดินแดนไกลโพ้นในห้วงมิติแห่งประวัติศาสตร์แล้วสักวันหนึ่งเรื่องของพวกเราที่อยู่ในยุคปัจจุบันนี้ย่อมกลายเป็นวรรณกรรมสมัยเก่าในอนาคตเช่นกัน
13 ตุลาคม 1968”

ในที่สุด ชมรมวรรณกรรมคลาสสิกก็ค้นพบจุดเชื่อมโยงของชมรมวรรณกรรมคลาสสิก ความทรงจำที่ขาดหายของจิทันดะ ที่มาของชื่อย่อของงานเทศกาลคามิยามะ

โฮทาโร่ จากที่เคยนิ่งเฉยและปล่อยวางทุกอย่างกับกระตือรือร้นที่จะหาคำตอบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นคืออะไร ไม่ว่าจะเป็น “การเสียสละที่เป็นตำนาน” “การต่อสู้อย่างกล้าหาญ” “การเสียสละและการพลีชีพ”

ขอสรุปดังนี้

เซกิทานิ จุน คืออดีตประธานชมรมวรรณกรรมคลาสสิกเมื่อสามสิบปีก่อน งานเทศกาลของโรงเรียนคามิยามะนั้นได้จัดอย่างยิ่งใหญ่เป็นเวลาถึงห้าวัน แต่เมื่อมีคณะบริหารชุดใหม่เข้ามาจึงเลือกที่จะร่นระยะเวลาของงานเทศกาลเป็นสองวัน หากมองตามบริบททางประวัติศาสตร์ นั่นคือ “ยุคที่มีพลังบางอย่างถาโถมไปทั่วญี่ปุ่น” เหล่านักเรียนและชมรมต่างๆ ต่างแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายของคณะผู้บริหาร ทั้งโรงเรียนเต็มไปด้วยเสียงด่าทอ คำปราศรัย ป้ายรณรงค์ จนการชุมนุมนั้นยกระดับกลายเป็นนักเรียนทั้งโรงเรียนต่างร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียว สายชมรมวัฒนธรรมได้ก่อตั้งสมาพันธ์ขึ้นมาเพื่อเป็นหัวเรือหลักในการประท้วง

แต่ในสภาวะที่ตึงเครียดเช่นนั้น กลับไม่มีใครกล้าที่จะรับบทเป็นผู้นำสมาพันธ์เนื่องจากต่างประเมินสถานการณ์ได้อยู่แล้วว่าหากใครยอมรับตัวออกมาว่าเป็นแกนนำการก่อการทั้งหมดย่อมได้รับการลงโทษอย่างรุนแรงที่สุดแน่ จนในที่สุดเซกิทานิ จุน ประธานชมรมวรรณกรรมคลาสสิกก็ได้รับบทๆนั้น แต่ในการชุมนุมนั้นเองเหล่านักเรียนกลับทำการเกินกว่าเหตุ เมื่อถึงจุดที่การชุมนุมดุเดือดถึงขีดสุดนักเรียนทุกคนก็วิ่งออกไปที่สนามและตั้งแคมป์ไฟปราศัยกันอย่างรุนแรง เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อตอนนั้น สะเก็ดไฟจากแคมป์ไฟได้กระเด็นไปทำให้โรงเรือนของโรงเรียนไหม้เสียหาย

(ที่มาภาพ: https://otakuness.wordpress.com/2012/05/24/hyouka-05-review/)

ท้ายที่สุดจึงมีการประนีประนอม ให้งานเทศกาลจัดตามเวลาเดิม แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ เซกิทานิ จุน ถูกไล่ออกจากการเป็นนักเรียน

มันถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก กับการที่จะไล่นักเรียนคนหนึ่งออกด้วยเหตุผลที่สมควรกับการเป็นหัวเรือใหญ่ในการสร้างความเสียหายให้กับโรงเรียนอย่างรุนแรงกับการกระทำอันเกินกว่าเหตุ อีกทั้งยังเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูของผู้มีอำนาจ

ภาพหน้าปกของหนังสือเฮียวกะนั้น กระต่ายที่ถูกหมาป่ากัดคือเซกิทานิ จุน หมาป่าคือเหล่าอาจารย์ และกระต่ายที่ยืนรายรอบและเอาแต่มองคือเหล่านักเรียนนั่นเอง ส่วนชื่อเทศกาลคันยะนั้น ก็มาจากการอ่านคันจิอีกแบบของเซกิทานิ เป็นคันยะนั่นเอง และชื่อเฮียวกะนั้นมีความหมายตรงตัวว่า ของหวานเย็น เปรียบเปรยถึง ไอศกรีม ซึ่งแยกออกมาเป็นคำว่า “I Scream (ฉันกรีดร้อง)”

เซกิทานิ จุน ไม่ได้รับบทเป็นหัวเรือใหญ่ด้วยความเต็มใจ มีคนที่เป็นผู้ควบคุมสมาพันธ์นักเรียนอยู่เบื้องหลังอย่างลับๆ ไม่มีใครรู้จักรูปหน้าค่าตาของคนๆนั้น เซกิทานิ จุน ตกกลายเป็นจำเลยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเลือกที่จะยอมรับและเป็นโล่ให้กับทุกคนด้วยความเต็มใจ  แล้วปริศนาทั้งหมดของเฮียวกะก็คลี่คลาย

โอเรกิ โฮทาโร่ อาจจะเป็นบุคคลอย่างที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยต้องการปลุกให้เขาตื่น จากการประหยัดพลังงานในชีวิตและอยู่เฉยๆกับบ้าน ให้เขาลุกขึ้นมาเพื่อเริ่มที่จะทำอะไรสักอย่าง อย่างเช่นกับการที่เขาได้ถอดบทเรียนการต่อสู้ของเหล่านักเรียนในโรงเรียนของเขาเมื่อครั้งอดีต

เรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับกลุ่มนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้ พวกเขากำลังต่อสู้กับผู้มีอำนาจซึ่งมีเขี้ยวเล็บอย่างหมาป่าและสามารถที่จะกำจัดเราทิ้งอย่างเป็นเรื่องเล็กน้อยเช่นเดียวกับที่เซกิทานิ จุน ถูกกระทำ

คำถามที่เราได้มานั่งคิด อ่านคำโต้แย้งจากหลายมุมมองของฝ่ายที่เชื่อมั่นในวิถีประชาธิปไตย ทั้งฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็นพวกสัจนิยม (Realism) คือเชื่อว่าตอนนี้ประชาชนซึ่งไร้อำนาจอย่างพวกเรานั้นไม่มีคุณค่าในสายตาของคณะผู้เผด็จการหรอก การที่จะออกไปชุมนุมประท้วงนั้นยังเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายและไกลเกินเอื้อมที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ และฝ่ายที่ถูกเรียกว่า พวกอุดมคตินิยม หรือถูกมองไปไกลว่าเป็นพวกเพ้อฝัน (Idealism) ก็เป็นเพียงกระต่ายที่กระโจนไปให้หมาป่าขย้ำอย่างไร้คุณค่า ทีละตัว ทีละสองตัว

คอลัมนิสต์ชื่อดังท่านหนึ่งเขียนความเห็นไว้ว่า “ออกอาวุธเหมือนแมวตบกัน ต่อให้ทักษิณทุ่มกำลังมาถล่มเท่าไหร่ ประยุทธก็น้อมสนองกลับไปมากกว่านั้นอีกครึ่ง”

นั่นเป็นภาพสนองอย่างดีที่สุดที่ขบวนการประชาธิปไตยต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวและการเสียสละของพวกเขานั้นยังไม่อาจปลุกประชาชนทั้งประเทศให้ลืมตาตื่น หรือสนับสนุนการกระทำของพวกเขาได้

ถึงเวลาเสียที ที่ควรจะเปิดอกคุยกันอย่างสุภาพชนของทั้งสองฝ่ายซึ่งมีจุดมุ่งหมายคือการทำลายอำนาจป่าเถื่อนยุติธรรมของคณะรัฐประหารนี้ หากต้องการที่จะประเมินสถานการณ์และร่วมแนวทางในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาเพื่อประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิมนุษยชนอันแสนหอมหวาน หลังจากพวกเขานินทาตอแหลกันต่อกันลับหลังมานานแล้ว

วันนี้เราเสียกระต่ายไปกี่ตัว ที่ยอมพลีชีพเพื่อหวังให้มวลชนออกมาลุกฮือและเคียดแค้นชิงชังหมาป่า

หรือจะเป็นเพียงกระต่ายที่ยืนมองอยู่รอบข้างอย่างเฉยเมย ยืนมองเพื่อนในฝูงค่อยๆถูกขย้ำไปทีละตัวสองตัว

มันอาจจะเป็นสาเหตุเดียวกันกับที่จิทันดะร้องไห้ออกมา เพราะท้ายที่สุดการเสียสละของลุงเธอกลับได้รับความนิ่งเฉยของฝูงกระต่ายที่อยู่รอบข้างเป็นการตอบแทน

ส่วนคำว่า “ฉันกรีดร้อง” นั้น เป็นภาพแทนได้อย่างดีสำหรับวันที่ปล่อยตัว 14 นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หนึ่งในนั้นพูดไว้เมื่ออยู่ในเรือนจำว่า

“เพราะพวกคุณไม่ออกมากัน ผมจึงต้องออกไป”

ภูมิวัฒน์ แรงกสิวิทย์
นักศึกษา, คนว่างงาน, ผู้ป่วยจิตเวช

0000

อ้างอิง : HYOUKA, Honobu YONEZAWA 2001, KADOKAWA SHOTEN Co., Ltd., Tokyo through TUTTLE-MORI AGENCY,INC., Tokyo.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท