Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

“ทำงานก็เพื่อหวังค่าจ้างตอบแทน เพื่อมีเงินใช่จ่ายดูแลครอบครัว”

 

ทำงานก็ต้องหวังได้ค่าตอบแทนที่ดี มีสวัสดิการที่ดี เพื่อจะนำรายได้ไปจุนเจือครอบครัว นอกจากนี้ก็ต้องการมีงานที่มั่นคง มีนายจ้างที่ดี มองเห็นความสำคัญของลูกจ้าง ดูแลกันเสมือนคนในครอบครัว มีความอบอุ่น และมีความปลอดภัย แต่จะมีนายจ้างสักกี่คนที่ให้ความสำคัญกับลูกจ้างและเห็นลูกจ้างเสมือนคนในครอบครัว นายจ้างส่วนใหญ่มองลูกจ้างเพียงเป็นฟันเฟื่องซี่หนึ่งเท่านั้น เมื่อไม่ต้องการหรือชำรุดก็โละทิ้ง โดยไม่คำนึงว่าก่อนหน้านี้ฟันเฟืองซี่นั้นได้สร้างงาน สร้างผลกำไรสักเท่าไรให้กับตน

ดังเช่นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ได้ลอยแพคนงาน 83 คน ซึ่งคนงานส่วนใหญ่เป็นคนงานหญิง พวกเธอทำงานที่โรงงานนี้มานานกว่าสิบปี ช่วยสร้างผลกำไรให้กับบริษัทจำนวนมาก  แต่พวกเธอถูกลอยแพโดยไม่ได้รับค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์ใดๆ ที่ควรได้รับตามกฎหมาย จุดเริ่มเกิดขึ้นในต้นเดือนมิถุนายน 2558 นายจ้างประกาศปิดงานบางส่วนโดยอ้างว่าไม่มีงาน ภายใต้การใช้มาตรา 75 ของพระราชบัญญัติแรงงานคุ้มครองแรงงาน การปิดงานบางส่วนภายใต้มาตรา 75 นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง 75 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง แต่ระยะเวลาสามเดือนที่ประกาศปิดงานบางส่วนตั้งแต่ 8 มิถุนายน ถึง 7 กันยายน 2558  นายจ้างไม่เคยจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างแม้แต่บาทเดียวซึ่งในเรื่องนี้ลูกจ้างก็ได้ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ในวันที่ 8 กันยายน 2558 หลังสิ้นสุดการประกาศการปิดงานบางส่วนภายใต้มาตรา 75 คนงานเดินทางไปที่โรงงานเพื่อทำงานตามปกติ แต่พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในบริเวณโรงงาน และพบว่ามีใบประกาศที่ระบุว่า “โรงงานดังกล่าวถูกบริหารงานโดยบริษัทอื่นไปแล้ว” โดยประกาศลงไว้ในวันที่ 7 กันยายน 2558   

การลอยแพคนงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์ใดๆ นั้น เป็นเพียงเหตุการณ์ล่าสุดที่นายจ้างได้กระทำการละเมิดสิทธิแรงงาน แต่ที่ผ่านมานับแต่กลางปี 2556 นายจ้างพยายามอย่างหนักที่จะเปลี่ยนสัญญาจ้างงานของคนงานจาก “สัญญาจ้างงานที่ไม่กำหนดระยะเวลา” มาเป็น “สัญญาจ้างงานกำหนดระยะเวลาหนึ่งปี”   คนงานจึงได้รวมตัวกันเพื่อเจรจาและนำมาสู่การจัดตั้งสหภาพแรงงานในปลายปี 2556 ในระหว่างการจัดตั้งสหภาพแรงงานมีแกนนำคนงาน 10 คนถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็น และในต้นปี  2557 คณะกรรมการสหภาพแรงงาน 4 คนถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม  ทั้งนี้คนงานและสหภาพแรงงานได้ดำเนินการฟ้องร้องนายจ้างในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิของคนงานและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำให้กับพนักงานรายเดือน ไม่จ่ายโบนัสประจำปี 2556และ2557 ให้กับสมาชิกสหภาพแรงงาน ไม่จ่ายเงินกองทุนชื่นชมให้กับคนงาน เลิกจ้างแกนนำคนงาน 10 คนอย่างไม่เป็นธรรม เลิกจ้างคณะกรรมการสหภาพแรงงาน 4 คนอย่างไม่เป็นธรรม และล่าสุดเลิกจ้างคนงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์ใดๆ  ซึ่งมีสี่คดีอยู่ในศาลฎีกา หนึ่งคดีอยู่ในศาลแรงงานชั้นต้น ส่วนคดีเลิกจ้างแกนนำคนงาน 10 คนอย่างไม่เป็นธรรม ศาลฎีกามีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายให้กับลูกจ้างทั้ง 10 คน

ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ศาลแรงงานภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาและคำสั่งให้นายจ้างจ่ายโบนัสประจำปี 2557 ให้กับคนงาน 41 คน เป็นจำนวนเงินรวมทั้งหมด 336,798 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องจนถึงวันจ่าย แต่นายจ้างเพิกเฉยไม่มีการตอบสนองต่อคำพิพากษาและคำสั่งของศาลแรงงานแต่อย่างใด ต่อมาศาลแรงงานจึงมีหนังสือถึงกรมบังคับคดีให้แต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้

“ก่อนหน้านี้ฮักกันดีก๋ากับนายจ้าง ปี๋ใหม่ที “สวิงสเว่อ” กันขน๋าด แต่บะเดี๋ยวนี้ก๋า หือเปิ้นมาจ่ายเงินค่าชดเชยให้เฮา แล้วจะไปไหนก็ไป๋เต๋อะ (ภาษาเหนือ).” เสียงสะท้อนจากอดีตแรงงานหญิงคนหนึ่งที่นั่งรอผลการตรวจยึดทรัพย์ที่หน้าโรงงานที่เธอเคยทำงาน

ในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 มีกลุ่มคนงานจำนวนหนึ่งมานั่งรอที่หน้าโรงงานแต่เช้าด้วยใบหน้าที่มีความหวัง โดยวันนี้ตัวแทนคนงานจะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีมาทำการยึดทรัพย์เพื่อนำขายทอดตลาดในคดีโบนัสประจำปี 2557 เวลาล่วงเลยจนถึง 12.30 น. ตัวแทนคนงานได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีมาถึงหน้าโรงงานและได้พบกับตัวแทนของอีกบริษัทหนึ่งโดยอ้างว่ามีการซื้อขายโรงงานกันแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้แสดงเอกสารหลักฐานทั้งหมด โดยใช้เวลาประมาณสามชั่วโมงในการพูดคุยและดูเอกสาร  ต่อมาตัวแทนคนงานได้ออกมาแจ้งกับเพื่อนๆ ว่าทรัพย์สินของโรงงานถูกขายไปหมดแล้ว ไม่มีทรัพย์สินใดให้ยึด  ใบหน้าที่มีความหวังของกลุ่มคนงานแปรเปลี่ยนไปเป็นใบหน้าที่ซึมเศร้า แห้งแล้ง และหมดหวัง คำถามของผู้เขียนคือหนี้สินกว่า 10 ล้านบาทที่คนงานฟ้องร้องนายจ้างที่ยังอยู่ในกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานและศาลฎีกา จะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะแม้ว่าจะมีคำพิพากษาให้นายจ้างจ่าย ก็คงไม่จ่าย ทรัพย์สินก็ไม่มีให้ตามยึด ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว คนงานมิเพียงได้แค่กระดาษคำพิพากษาใบเดียวที่ระบุว่าพวกเขาเป็นผู้ชนะคดีเท่านั้นหรือ?

ทรัพย์สินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน เครื่องจักร ยานพาหนะ อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน และอื่น ๆ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 73 ล้านบาท ถูกขายไปในวันที่ 14 และ 15 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นายจ้างยังประกาศใช้มาตรา 75 กับคนงาน 83 คน โดยทรัพย์สินทั้งหมดไม่ได้ถูกขายไปไหนไกล แต่ขายให้กับอีกบริษัทหนึ่งของนายจ้างที่มีภรรยาของนายจ้างเป็นคณะกรรมการบริษัท บริษัทดังกล่าวถูกจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2558 ซึ่งทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการจัดตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาเพื่อมารับการถ่ายโอนทรัพย์สิน  เมื่อทรัพย์สินถูกขาย/โอนไปให้กับนิติบุคคลอื่นก่อนมีคำพิพากษา เจ้าหนี้ไม่สามารถตามนำยึดทรัพย์นั้นได้ นั่นเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่เปิดโอกาสให้กับนักลงทุนสามานย์เหล่านี้

นายจ้างที่แท้จริงเป็นชาวแคนาดา แต่ไม่มีชื่อของเขาในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับบริษัทแม้แต่ใบเดียว ที่ผ่านมาเขาได้เปิดบริษัทขึ้นมาทั้งหมด 5 บริษัท ซึ่งปิดไปแล้ว 2 บริษัท โดยเขาได้จ้างคนอื่นเช่น ฝ่ายจัดการ คนงาน คนขับรถ น้องภรรยา    ครูสอนดนตรี และภรรยา มาเป็นผู้ดำเนินการในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทและเป็นคณะกรรมการบริษัทแทนเขาทั้งหมด

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของนักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจโดยหวังเพียงผลกำไรอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงการทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม เพิกเฉยต่อการปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่น และไม่เคารพสิทธิของแรงงาน นอกจากนี้การจ้างบุคคลอื่น หรือ นอมินี มาเป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทและเป็นคณะกรรมการบริษัทนั้นถือว่าเป็นการจงใจที่จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบทางกฎหมาย

อาจเป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลที่มีแต่การส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ แต่ไม่คำนึงถึงสิทธิแรงงานและการเข้าถึงสิทธิของแรงงาน  จึงทำให้นักลงทุนสามารถที่จะหลีกเลี่ยงตามช่องทางที่เปิดไว้ให้ทั้งทางกฎหมายและนโยบาย ผู้เขียนมีคำถามส่งถึงรัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่า จะปล่อยให้คนงานต้องประสบปัญหาอย่างโดดเดี่ยว หรือถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและหน่วยงานรัฐต้องคำนึงถึงสิทธิแรงงาน เพื่อคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้แรงงานมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net