Skip to main content
sharethis

ผมคิดว่าถ้าเป็นตอนอายุ 20 ตอนนั้นยังโดดเรียนไปเที่ยวผับ คือยังคิดอยู่ว่าถ้าเราอายุ 20 เราจะกล้าหาญได้เท่ามันหรือเปล่า


 

"ผมเจอเคิร์กครั้งแรก ตอนที่เราจัดงานครบรอบ 3 ปีลูกชาวบ้านเมื่อ 3 ปีที่แล้ว มันก็ไปงานนั้น ตอนนั้นมันไปกับพวก อนุชา รุ่งมรกต แล้วก็ พรชัยยวนยี ภาพแรกที่เห็นไอ้เคิร์กก็คือมันทำกับข้าวอยู่ มันทำไก่อบฟางให้พี่ๆกิน ตั้งแต่เริ่มงานจนจบงานมันก็ทำอยู่อย่างนั้นตลอด ไก่เป็น 70 ตัวน่ะ นั่นคือครั้งแรกที่รู้จักมัน"

คำบอกเล่าครั้งแรกที่แมนปกรณ์ อารีกุล หนึ่งในสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เล่าให้เราฟังว่าเขารู้จักเคิร์ก สมสกุล ทองสุกใส หนุ่มนักศึกษาราม อายุน้อยที่สุด ในกลุ่ม 7 นักโทษประชามติ

แมนเล่าว่าหลังจากนั้น เขาได้เจอเธออยู่บ่อยๆ เวลานักศึกษารามมีกิจกรรมเคลื่อนไหว แต่เพิ่งมารู้ว่าตอนนั้นเด็กหนุ่มที่เขาเห็นยังเรียนอยู่มัธยมที่วัดบวร และยิ่งเห็นเคิร์กเด่นชัดขึ้นมาอีก เมื่อเคิร์กกับเพื่อน จัดกิจกรรมจุดเทียน respect my future ในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. แต่ไม่คิดว่าจะได้เจอกันอีกตอนน้องอยู่ในคุก

"เคิร์กมันเป็นคนพูดเพราะกับพี่ๆ ทุกคน จริงๆ แล้วผมก็ไม่ได้ถือสาอะไร เวลาน้อง เด็กรุ่นใหม่มันพูดมันคุยกับพวกเราแบบเพื่อน มันเป็นความคิดของกระแสเสรีนิยมของคนรุ่นใหม่ แต่กับเคิร์กมัน ครับพี่ ครับพี่ ตลอดทุกครั้งที่เจอกัน"

แมนเล่าว่าเขาเคยไปปากช่องกับเคิร์กครั้งหนึ่งตอนงานวันเกิดของลุงคำสิงห์(ลาวคำหอม) เคิร์กก็เหมือนเดิมเคยดูแลพี่ๆ ตลอด แล้วช่วงหลังเคิร์กมาอยู่ราม เขาเข้าไปทำชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งช่วงหลังก็ซบเซาไปนาน ก็คิดว่าน่าจะกลับขึ้นมาอีกครั้ง

"มาเจอมันอีกทีในคุกเลย ตกใจตอนแรกผมไม่รู้ว่าใครถูกจับบ้างตอนนั้นเราไปช่วยอีสานใหม่เดินขบวนอยู่ พอรู้ว่ามีคนถูกจับก็รีบกลับมากรุงเทพ ไม่รู้เลยว่า 13 คนที่ถูกจับนอกจากโรม รังสิมันต์ โรม กับปอ กรกช แสงเย็นพันธ์ แล้วมีใครบ้าง พอมารู้ว่ามีเด็กราแล้วมาเห็นเคิร์กก็เฮ้ย นี่มันไอ้เคิร์กนี่หว้า"

แมนอธิบายต่อว่า ความรู้สึกตอนนั้นเป็นความรู้สึกที่เหมือนจะภูมิใจที่น้องคนหนึ่งที่อายุแค่ 20 ปี แต่กลับมีความเชื่อมัน และมีจุดยืนว่าจะไม่ประกันตัว เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำไม่ผิด แต่ก็รู้สึกอีกว่าน้องไม่ควรต้องมาติดคุกด้วยเรื่องแบบนี้

"ไม่รู้คือ ผมคิดว่าถ้าเป็นตอนอายุ 20 ตอนนั้นยังโดดเรียนไปเที่ยวผับ คือยังคิดอยู่ว่าถ้าเราอายุ 20 เราจะกล้าหาญได้เท่ามันหรือเปล่า"

ในฐานะรุ่นพี่ในกลุ่ม(ไอ้)พวกนักกิจกรรม และรุ่นพี่ที่เคยเป็นศิษย์เก่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ แมนห่วงเคิร์กอยู่สองเรื่องคือ เรื่องเรียน เพราะเขาต้องลงทะเบียนเรียนในวันที่ 8 ก.ค. แต่ถ้าเขาถูกฝากขังต่อในผัด 2 ก็อาจจะลงทะเบียนเรียนไม่ทัน อีกเรื่องก็คือ เรื่องครอบครัว เพราะมันยากที่จะอธิบายให้พ่อแม่ฟังได้ว่า การออกมาทำกิจกรรมและติดคุกแล้วติดคุกมันคืออะไร

แมนพูดต่อไปว่า กรณีของตัวเองกว่าพ่อแม่จะเข้าใจก็นานพอสมควร แต่ก็ยังไม่รู้กรณีของน้องว่าเป็นอย่างไร ถ้าสื่อสารได้เขาอยากให้พ่อแม่เคิร์กเข้าใจว่า นี่คือสิ่งที่ลูกเชืาอว่าถูกต้อง และเขาเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบนี้ และทำแบบนี้ ไม่ใช่เป็นเด็กเกเร ตีรันฟันแทง หรือค้ายาเสพติด แต่มันคือการได้เผชิญหน้ากับความไม่เป็นธรรม และยืนขึ้นอย่างกล้าหาญเพื่อสู้กับมัน

ต่อกรณีที่มีสือสำนักหนึ่งพาดหัวข่าวว่า กลุ่ม NDM ที่ออกมาเคลื่อนไหวแล้วโดยจับกุมเป็นแค่เสื้อแดงไร้เดียงสา แมนเห็นว่า การกล่าวหาแบบนี้เป็นเรื่องที่ไร้จรรยาบรรณสื่อ อย่างแรกเขาเห็นว่ากลุ่มขบวนการประชาธิปใหม่เต็มไปด้วยความหลากหลาย และไม่ได้ยึดติดกับพรรคการเมือง และสีเสื้อ แต่มีการสรุปบทเรียนร่วมกันอย่างชัดเจนแล้วว่าปัญหาที่แท้จริงของทุกปัญหาคือปัญหาความไม่เท่าเทียมในโครงสร้างเชิงอำนาจ และที่สำคัญที่สุดภาพฝันตรงกลางร่วกันของพวกเขาไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ และอีกเรื่องหนึ่งที่ แมน โต้กลับอย่างดุเดือด เห็นว่า การพาดหัวลักษณะนั้นคือการดูถูกความคิด ความเป็นคนของเด็กคนหนึ่งๆ มากเกินไป

"ผมอยากรู้เหมือนกันนะว่าใครเป็นคนเขียน อยากรู้ว่าตอนเขาหนุ่มๆ เขาเคยมีไฟอยากลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมบ้างหรือไม่ ถ้ามีคุณไม่เห็นตัวคุณในตัวบ้างเหรอ"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net