Skip to main content
sharethis

NDM ชี้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคือการคุมกำเนิดการรณรงค์ประชามติ ยันไม่แคร์ ไม่สน รณรงค์ไม่ผิดพร้อมฝากถึง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ถ้าจะจับคนที่ออกมาเคลื่อนไหว อธิบายให้ชัดว่าจับข้อหาอะไร ด้านวรเจตน์ผิดหวังไม่ได้เยี่ยมลูกศิษย์ หลังเรือนจำ บังคับใช้กฎ 10 คน

30 มิ.ย. 2559 10.40 น. ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM ได้แถลงข่าวต่อกรณีคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นเรื่องพ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ปกรณ์ อารีกุล หนึ่งในสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ได้ให้มีการตีความการใช้อำนาจ ตามพ.ร.บ. ประชามติอย่างกว้างขวาง เพื่อคุมกำเนิดการรณรงค์ "หลังจากนี้ก็อาจจะมี การตีความว่าการรณรงค์ต่างๆ ขัดต่อ พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งจริงๆแล้ว เราไม่ได้แปลกใจ ที่ศาลมีคำตัดสินแบบนี้ แต่ในส่วนของเรา ยืนยันว่าเราไม่ได้แคร์ ไม่ได้สน ประชาชนไม่ผิด เพราะสิทธิ์ในการรณรงค์เรื่องประชามติ เป็นสิทธิที่ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ยืนยันมาโดยตลอดว่าสามารถทำได้" ปกรณ์ กล่าว

ด้านวรวุฒิ บุตรมาตร หนึ่งในสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ระบุว่า การรับรอง พ.ร.บ.ประชามติ โดยศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด เพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ผิดต่อหลักการทำประชามติอย่างร้ายแรง เป็นกฎหมายที่มีโทษสูงเกินกว่าเหตุ ทั้งยังมีปัญหาการตีความว่าอะไรคือ การข่มขู่ ปลุกระดม และหยาบคาย ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและทหาร ได้เริ่มใช้กฎหมายในการเข้าจับกุมผู้ที่ออกมารณรงค์อย่างกว้างขวางแล้ว

ปกรณ์ ยังกล่าวฝากถึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่อกรณีที่ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่า หากมีนักกิจกรรมออกมาเคลื่อนไหวและทำผิดกฎหมายจะดำเนินการจับกุมให้หมด โดยปกรณ์ระบุว่า ตอนนี้นักกิจกรรมทั่วประเทศกำลังเริ่มออกมาเคลื่อนไหว ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐจะจับกุม ขอให้ระบุให้ชัดเจนว่าจะจับกุมข้อหาอะไร และระบุให้ชัดด้วยว่า สิ่งที่ตนทำนั้นผิดกฎหมายอย่างไร พร้อมทั้งฝากไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ขอให้ทำตามหน้าที่ตามหลักกฎหมาย เพราะการให้สัมภาษณ์รายวันของผู้มีอำนาจนั้น ไม่ถือเป็นกฎหมาย

 

วรเจตน์ผิดหวังไม่ได้เยี่ยมลูกศิษย์ หลังเรือนจำ บังคับใช้กฎ 10 คน ชี้ไม่มีความเห็นต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลควรหมดอำนาจตั้งแต่รัฐธรรมนูญถูกล้ม

13.45 น. ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ได้เดินทางมาเยี่ยมนักศึกษาทั้ง 7 คนที่ถูกจับกุม หลังจากออกไปรณรงค์เรื่องการทำประชามติ และแจกเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่สามารถเข้าเยี่ยมนักศึกษาได้ เนื่องจากเรือนจำบังคับใช้ กฏเข้าเยี่ยม 10 คน ซึ่งไม่รู้และไม่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า เนื่องจากเมื่อครั้งที่ 14 นักศึกษาถูกจับกุมเมื่อปีที่ผ่านมายังสามารถเข้าเยี่ยมได้

วรเจตน์ กล่าวต่อว่า วันนี้ตั้งใจเดินทางมาเพื่อให้กำลังใจนักศึกษา โดยเฉพาะรังสิมันต์ โรม ซึ่งถูกจับกุมคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ไม่ได้คิดว่าจะมาพูดเรื่องการประกันตัวหรือไม่ประกันตัว เนื่องจากเคารพในการตัดสินใจของลูกศิษย์

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วรเจตน์ตอบว่า ไม่ได้มีความคิดเห็นอย่างไรต่อคำตัดสิน แต่ก็ไม่ได้เกินความคาดหมาย ทั้งนี้ยังเห็นว่าโดยสภาพของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่อาจมีอำนาจในการวินิจฉัยอีกต่อไป ตั้งแต่รัฐธรรมนูญถูกล้มไป

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การบังคับใช้กฎหมายกับนักศึกษาลักษณะนี้เป็นการกลั่นแกล้งหรือไม่ วรเจตน์ตอบว่า ช่วงเวลานี้เราอยู่ในช่วงเวลาของการทำประชามติ และการทำประชามติมีหลักการคือต้องเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่าย

"ถ้าทำประชามติโดยที่ไม่สามารถรณรงค์ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี เราก็ยากที่เรียกการกระทำลักษณะนั้นว่าประชามติ" วรเจตน์ กล่าว

'ประชาธิปไตยใหม่' ร้องขอ กรรมการสิทธิฯ ยืนยันสิทธิเสรีภาพในการรณรงค์ พร้อมเชิญไปเยี่ยมเพื่อน 7 นักโทษประชามติ

เมื่อเวลา 15.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่หรือ NDM นำโดย แมน ปกรณ์ อารีกุล หนุ่ย อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ และโอ้ รักษ์ชาติ วงษ์อธิชาติ ได้เดินทางมาเพื่อยื่นหนังสือให้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมทั้งมอบเอกสารความเห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญสติ๊กเกอร์โหวตโนและลูกโป่งรณรงค์ไม่ผิดให้กับคณะกรรมการสิทธิ์ เพื่อขอให้คณะกรรมการสิทธิออกมายืนยันว่าการรณรงค์เป็นสิทธิทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิ เดินทางไปเยี่ยมเพื่อน 7 นักโทษประชามติที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

โดยมีชาติชาย สิทธิกลม ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ และอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกมารับเรื่อง

ทั้งนี้การจับกุมดำเนินคดีดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา จากกรณีมีนักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ (NDM) นักกิจกรรม รามคำแหง และกลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ รวม 13 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัวตั้งแต่วันนี้ที่หน้านิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ เนื่องจากไปแจกแผ่นพับและเอกสารให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ ต่อมาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยในจำนวนนั้นมีผู้ขอประกันตัว 6 ราย ที่เหลืออีก 7 รายยืนยันว่าไม่ได้ทำสิ่งใดผิดจึงไม่ขอประกันตัว ทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่นำตัวมาศาลทหารเพื่อขออนุญาตฝากขัง โดยที่ 6 ราย ขอประกันตัวและได้รับการปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและ ทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อกลางดึกคืน 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ 7 รายที่ไม่ยื่นประกันตัวนั้นถูกฝากขังที่เรือนจำดังกล่าว

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่

30 มิถุนายน 2559

เรื่องขอให้เข้าเยี่ยมผู้ต้องหาและร่วมสังเกตการณ์การรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
เรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ด้วยสถานการณ์ในประเทศไทยใน ที่ใกล้จะถึงวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เข้ามาทุกขณะ ได้ปรากฏเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กระทำการคุกคามประชาชนผู้รณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ โดยการเข้าจับกุมและแจ้งข้อหาแก่ผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรมแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด ในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ณ ตลาดเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 13 คน และการจับกุมและพยายามแจ้งข้อหาแก่ผู้จัดกิจกรรมทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ณ วงเวียนหลักสี เขตบางเขน กรุงเทพฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. เจ้าหน้าที่ใช้กำลังไม่เหมาะสมในการเข้าจับกุม โดยใช้ความรุนแรง เช่นการบีบคอและอุ้มตัวผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะที่เกินกว่าเหตุ

2. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองเป็นจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 แก่ผู้จัดและผู้เข้าร่วมในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ทั้ง 13 คน ทั้งที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 แล้ว ในทางปฏิบัติผู้รณรงค์จึงยังคงไม่มีหลักประกันเสรีภาพในการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ว่าการรณรงค์จะไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 แต่ผู้รณรงค์ก็อาจถูกแจ้งข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ได้อยู่ดี

3. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61(1) วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี ปรับสูงสุดถึง 2 แสนบาทแก่ผู้จัดกิจกรรมในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ทั้ง 13 คนโดยปราศจากอำนาจ เนื่องจากในมาตรา 5 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดให้ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. นี้

4. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามแจ้งข้อหาก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61(1) วรรคสอง และวรรคสามแก่นางสาวชนกนันท์ รวมทรัพย์ หนึ่งในผู้จัดกิจกรรมในวันที่ 24 มิถุนายน 2559 จากการที่ตรวจค้นรถยนต์ของนางสาวชนกนันท์แล้วพบว่ามีเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญอยู่ ทั้งที่ไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นใดที่ชี้ว่านางสาวชนกนันท์จะนำเอกสารเหล่านั้นออกมาแจกในกิจกรรมที่จัดขึ้น

5. จากข้อเท็จจริงแล้ว นายรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ หนึ่งใน 13 ผู้ที่ถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 มีฐานะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์กิจกรรมเท่านั้น มิได้ร่วมแจกเอกสาร ปราศรัย หรือแสดงสัญลักษณ์รณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญใดๆ เลย แต่กลับถูกจับกุมตัวและแจ้งข้อหาเช่นเดียวกันกับคนอื่นๆ

6. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ 25/2549 แก่ผู้จัดกิจกรรมในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ที่ไม่ยอมยื่นขอประกันตัว จำนวน 7 คนอีกด้วย

7. ในท้ายสุด ศาลทหารมีคำสั่งให้ฝากขังผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ผลัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ที่เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีผู้ยื่นขอประกันตัว 6 คน และผู้ไม่ยื่นขอประกันตัว 7 คน และมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังผู้จัดกิจกรรมในวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ทั้ง 7 คน

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่มีความเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ทั้งโดยการใช้กำลังและการใช้กระบวนการทางกฎหมาย แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลไทยได้กล่าวไว้ในการประชุมรายงานกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) ว่ารัฐบาลเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนนั้นไม่เป็นความจริง และยิ่งในสถานการณ์ที่เข้าใกล้วันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศและประชาชนไทย การที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลคุกคามผู้รณรงค์จนไม่สามารถจัดการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้จะส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน จนอาจตัดสินใจออกเสียงประชามติอย่างผิดพลาด และเกิดผลกระทบในทางลบต่อประชาชนเองได้

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้

1. เข้าเยี่ยมผู้ต้องหาประชามติทั้ง 7 คนในเรือนจำ เพราะการแสดงออกหรือเคลื่อนไหวรณรงค์อย่างสันติ ต้องได้รับความคุ้มครองจากหลักการสิทธิมนุษยชนสากล และพันธะสัญญาระหว่างประเทศ

2. ส่งเจ้าหน้าที่มาสังเกตการณ์การรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญของขบวนการประชาธิปไตยใหม่และกลุ่มอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐบาลมิให้มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้อีก

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยความช่วยเหลือจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประชาชนจะสามารถรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้โดยปราศจากการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลอย่างที่เคยเป็นมา

ขอแสดงความนับถือ
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net